3 เดือนแรกปี 65 จับกุมค้า 'นกกรงหัวจุก' 15 คดี ยึดได้ 2,380 ตัว มูลนิธิสืบฯ ค้านปลดพ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 7313 ครั้ง


สื่อ Thai PBS เกาะติดประเด็น 'นกกรงหัวจุก' กรมอุทยานฯ เปิดตัวเลขการจับกุมลักลอบค้าเพียง 3 เดือนแรกของปี 65 พบ 15 คดี ยึดได้ 2,380 ตัว ส่วนใหญ่เป็นลูกนก ชี้ช่วยได้ 1,000 ตัว อัตรารอดต่ำแค่ 20% ขณะที่ในระบบมีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง แล้วกว่า 90,000 ตัว - มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกฯ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.ทรัพยากรฯ และกรมอุทยานฯ ค้านปลดนกกรงหัวจุกพ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง งัด 3 เหตุผลประชากรในธรรมชาติลด สถิติจับกุมรอบ 8 ปีสูง เพาะเลี้ยงไม่สามารถทดแทนนกในธรรมชาติ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดพิจารณาความเป็นไปได้ปลดนกกรงหัวจุก พ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง กระบวนการแก้ระเบียบเอื้อคนเลี้ยง ผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่กลุ่มคนเลี้ยง-ธุรกิจกรง หนุนปลดบัญชี เหตุสร้างรายได้ และเป็นวิถีชีวิต | ที่มาภาพ: Thai PBS

ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2565 Thai PBS รายงานว่านายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ Thai PBS ว่าจากการรวบรวมข้อมูล "นกปรอดหัวโขน" หรือที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกนิยมเรียกว่า "นกกรงหัวจุก" พบว่า ในช่วงปี 2563 มีการลักลอบจับกุมลดลง เนื่องจากจำกัดการเคลื่อนที่ แต่ในปี 2564 สถิติจับกุมใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 คือ จับกุมนกปรอดหัวโขน 38 คดี ยึดนกได้ 500 ตัว

“ในปี 2565 มีนัยยะสำคัญเพราะเพียง 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.- 28 มี.ค.มีการจับกุมทั้งหมด 15 คดี ได้ผู้ต้องหา 13 คน และยึดนกได้ 2,380 ตัว ซึ่งนกที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นลูกนก”

เส้นทางค้า "นกปรอดหัวโขน" จากเหนือสู่ใต้

นายเผด็จ กล่าวถึงเส้นทางค้านกว่า นกกรงหัวจุกในภาคเหนือ มีปริมาณลดลง แต่การกระจายตัวยังมีอยู่ และยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ขณะที่นกสัตว์ป่าของกลาง ส่วนใหญ่พบลักลอบจับจากภาคเหนือ และเคลื่อนมาทางภาคใต้

จึงอนุมานได้ว่า เขารวบรวมจากที่เพาะพันธุ์ได้ แต่ไม่ใช่สถานที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และอีกกรณีไปล้วงรังจับในพื้นที่ป่า แต่ไม่น่าจะมาจากแหล่งเดียว เพราะจับได้ถึง 1,000 ตัว จึงยากที่จะชี้ชัดว่า มาจากธรรมชาติหรือแหล่งใด

ช่วยได้ 1,000 ตัว อัตรารอดต่ำแค่ 20%

นายเผด็จกล่าวอีกว่า การจับกุมยึดของกลาง นกหรือสัตว์ขนาดเล็ก มีอัตราการรอดชีวิตน้อยมาก อัตราการตาย ระหว่างเดินทางเพราะเป็นลูกนก ยังไม่โตเต็มวัย ต้องป้อนอาหาร 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง และถ้านำมาอนุบาลแล้วอัตราการตายจะลดลง เว้นแต่ว่าจะบอบช้ำระหว่างการเดินทาง อัตรารอดน้อย โอกาสเติบโตแข็งแรงคืนธรรมชาติได้ไม่มาก

มีอัตราการรอดชีวิตของนกของกลางอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่นกของกลาง มีขนาดเล็กและเป็นนกที่ยังไม่โตเต็มวัย ปัจจัยการเดินทางทำให้มีอัตราการตายจำนวนมาก และเมื่อนำมาอนุบาลแล้วจะกลับมาแข็งแรง เติบโต และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่มาก

“ยกตัวอย่างกรณีที่ลักลอบขนนกกรงหัวจุก 1,000 ตัว แต่อาจจะรอดตายแค่ 200 ตัวเท่านั้น คนที่รักสัตว์เห็นข่าวในลักษณะนี้คงทำใจยากสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นได้ว่า หากเมื่อใดที่มีความสมดุลระหว่างสัตว์ที่เพาะพันธุ์ได้ เชื่อว่าคนจะหันมาหาของที่ถูกกฎหมายมากขึ้น”

เมื่อถามว่า จากต้นทางถึงปลายทางราคาเท่าไหร่ นายเผด็จอธิบายว่า เนื่องจากตอนที่ได้มาไม่มีต้นทุน พ่อค้านกแค่ไปหาดักตามธรรมชาติ ราคาที่ปล่อยออกมาจะไม่สูง ใช้การรวบรวมได้จำนวนมากๆ ก็ลักลอบขนออกมาขาย ได้มาเท่าไรก็ไปขายแข่งกับกลุ่มที่เพาะพันธุ์ขายถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีต้นทุนในการสร้างกรง เลี้ยงดู

“นกเถื่อนเหล่านี้ไปตีตลาดนกที่ได้รับการเพาะพันธุ์มาอย่างถูกต้อง เนื่องจากได้มาแบบง่าย ๆ ราคาจะถูก เหมือนกับราคาถูกได้ในราคาสูง เขาอาจจะมองว่าคุ้ม”

อนุญาตเพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง 91,151 ตัว

นกทุกตัวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องมีหลักฐานการได้มา และเครื่องหมายทะเบียนห่วงขา จากกรมอุทยานฯ ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ (ม.ค.-มี.ค.65) รายงานว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง นกปรอดหัวโขน ในระบบ 91,151 ตัว จำแนกเป็น

ผู้ขอเพาะพันธุ์ จำนวน 1,369 คน จำนวน 18,169 ตัว
ผู้ขอค้า จำนวน 412 คน จำนวน 27,299 ตัว
ผู้แจ้งครอบครอง 9,815 คน จำนวน 45,683 ตัว

ขณะที่ในแต่ละปี เจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีผู้ล่า ผู้ค้า และผู้ครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก คดีจับกุมปี 65 จำนวน 15 คดี ของนกกลาง 2,380 ตัว

มูลนิธิสืบฯ ค้านปลด 'นกกรงหัวจุก' พ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง

กรณีที่ประชุมคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อแสดงเจตนาคัดค้านการปลดนกกรงหัวจุก (นกปรอดหัวโขน) ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ด้วยเหตุผลดังนี้

ปลด-ไม่ปลดไม่มีผล พบประชากรลด

ปัจจุบันแม้นกปรอดหัวโขน Red-whiskered Bulbul : Pycnonotus jocosus หรือที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกนิยมเรียกว่านกกรงหัวจุก ประชาชนสามารถเลี้ยง และเพาะขยายพันธุ์เองได้จำนวนมาก หากรวมทั่วประเทศแล้วมีมากกว่าหลายแสนตัว สร้างรายได้ให้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนกปรอดหัวโขน เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ และจำหน่ายได้ตามกฎหมาย

“การไม่ถอดออกจากสัตว์ป่า​คุ้มครองไม่น่าจะส่งผลกระทบแต่อย่างใด”
จากข้อมูลการสำรวจของชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และนักดูนกจากทั่วประเทศได้ช่วยกันทำการสำรวจประชากรนกปรอดหัวโขนอย่างต่อเนื่องมามากว่า 20 ปี พบว่าประชากรในธรรมชาติของนกชนิดนี้ มีจำนวนลดลงไปถึง 90% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาสำคัญของการลดจำนวนลงของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากร ธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พบว่ายังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถยืนยันสถานภาพของประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติได้อย่างแน่ชัด และจากการประเมินด้วยการพบเห็นในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่พบการกระจายในบางพื้นที่แล้ว

สถิติ 8 ปีนกถูกจับ 18,096 ตัว

นอกจากนี้ ข้อมูลการรายงานสรุปผลคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของนกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2549–2551 มีจำนวน 16,353 ตัว และช่วงปี พ.ศ. 2555–2563 จำนวน 18,096 ตัว ซึ่งจะเห็นว่านกปรอดหัวโขนยังคงมีจำนวนการล่าที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ให้เห็นว่ายังคงมีการลักลอบล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่นกปรอดหัวโขนยังอยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย

ขณะที่สถานภาพนกปรอดหัวโขนในประเทศไทย จากข้อมูล (ร่าง) ทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำหรับกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังปี 2563 กล่มุ นก National Threat Status (ONEP 2020) ถูกจัดอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) เนื่องจากยังคงถูกลักลอบนำมาจำหน่ายเพื่อการค้า ซึ่งนกปรอดหัวโขนมีความสำคัญในระบบนิเวศเนื่องจากเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืชป่า สร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งนกในกรงเลี้ยงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ในระบบนิเวศได้

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดพิจารณาความเป็นไปได้ปลดนกกรงหัวจุก พ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า หลังจากมีข่าวว่าทางศอ.บต.ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้เชิญคณะทำงานอนุบัญญัติกฎหมายลูกเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่า สรุปว่า จะต้องมีการตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ กลุ่มนักอนุรักษ์ เพื่อหารือให้เร็วที่สุด

นายเผด็จบอกว่า กรอบของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งการกระจายพันธุ์ สถานะของประชากรนกในธรรมชาติ สถิติการจับกุม รวมทั้งต้องมาทบทวนเรื่องกระบวนการการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เพาะพันธุ์ ผู้ที่อยากมีไว้ครอบครอง ถ้ามีช่องทางสะดวกมากขึ้น ก็อาจจะเป็นช่องทางให้กระแสปลดนกกรงออกจากบัญชีลดลง เพื่อนำมาประกอบทิศทากรมว่ามีความเห็นอย่างไร

“เราไม่ได้มีธงว่าจะปลดพ้นบัญชี ไม่ได้จะไปต่อสู้กับใคร แต่เอาข้อมูลทางวิชาการ เอาสิ่งที่เป็นจริง สุดท้ายสังคม จะเป็นผู้ที่ไปกดดันกับผู้มีอำนาจ เราไม่มีธงใดๆ”

แรงผลักดันจากพื้นที่หรือใบสั่งการเมือง?


คนภาคใต้ มองว่านกกรงหัวจุกเป็นวิถีชีวิต ทุกบ้านแขวนกรงนกไว้ที่บ้าน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวถึงกรณีการผลักดันของ พล.อ.ชัยชาญ ว่าเป็นใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ ว่าไม่มองว่าเป็นการเมือง แต่เป็นเพราะคนภาคใต้ มองว่านกกรงหัวจุกเป็นวิถีชีวิต ทุกบ้านแขวนกรงนกไว้ที่บ้าน บางบ้านลูกนกได้มาจากเพื่อนบ้าน มาขออนุญาตครอบครองไม่ได้ จนรู้สึกถูกจำกัด อย่างที่บอกต้องมองอย่างรอบด้าน ต้องรับความจริงว่าเป็นวิถีของคนใต้ ตื่นมาก็เห็นนกชนิดนี้แล้ว

“ไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่ควรอยู่ในกรงขัง แต่มุมมองที่แตกต่างมองว่า สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์เลี้ยง ยอมรับว่า นกกรงหัวจุกในธรรมชาติลดจำนวนลงจริง แต่ยังไม่ถึงการสูญพันธุ์ไป เพราะยังเพาะพันธุ์ได้ เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เลี้ยง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย”

ทบทวนขั้นตอนเพาะเลี้ยงแทนปลดพ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ขณะนี้ความเป็นไปได้ที่จะปลดพ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ยังเป็นเรื่องของอนาคต ระยะสั้นสิ่งที่จะทำเพื่อปลดล็อกคือ การทบทวนกระบวนการอนุญาต การขอขึ้นทะเบียน เพาะพันธุ์และการค้านก

เพราะประเด็นปัญหาคือ เช่น ผู้เลี้ยงบางคนมีพ่อแม่พันธุ์ 50 คู่ นกออกลูกมารายวัน เขาต้องทำบัญชีว่าลูกนกออกจากพ่อแม่คู่ไหน และถ้าจะขายต้องให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ บางครั้งระยะทางไกล 200 กม.จะเอานกมาแจ้งครอบครองก็ยุ่งยาก

“แต่พอแจกจ่ายลูกนกที่แม้จะมีพ่อแม่ถูกต้อง แต่สถานะลูกนกที่ออกมาคือ นกผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายจะจำหน่ายจ่ายแจกให้ใครไม่ได้ ทั้งที่ไม่ใช่นกป่า นกเถื่อน ลักษณะนี้มีเยอะ ส่วนใหญ่จึงครอบครองแบบไม่ถูกต้อง ”

นายเผด็จ ยอมรับว่า หากจะมีการทบทวนกระบวนการอนุญาตใหม่ หรือปลดพ้นสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็ยังมีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น แต่ก็เข้าใจทุกฝ่ายทั้งอยากให้ปลด และฝ่ายที่คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะให้ปลดนกกรงหัวจุกออกบัญชี แบบที่เคยมีกรณีนกเขาชวา

“กรมอุทยานฯ ต้องดูข้อมูล ข้อดี ข้อเสียรอบด้าน อย่างน้อยรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนว่าจะมีความเห็นอย่างไร และสุดท้ายก็ต้องเข้าคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่มีรมว.ทส.เป็นประธาน”

ธุรกิจเชื่อมต่อขายกรงนก

ขณะที่ผู้ประกอบการขายกรงนกออนไลน์ มองว่าการปลดล็อกในครั้งนี้คือโอกาสทองสำหรับธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกับนกกรงหัวจุกทั้งกรงนก ผ้าคลุมกรง ถ้วยน้ำ ตะขอ ที่ต่างต้องใช้ช่างฝีมือในการรังสรรค์งานศิลป์ เพื่อส่งต่อความสวยงาม และเอกลักษณ์ท้องถิ่นบนสนามแข่งนกกรงหัวจุก โดยราคามีตั้งหลักพันจนถึงหลักแสนบาท

“ยอดสั่งกรงนกมีต่อเนื่อง แต่จากการจับกุมผู้เลี้ยงรวมถึงการแข่งขัน ทำให้ผู้เลี้ยงหลายคนเลิกเลี้ยงนกกรงไป ยอดขายกรงก็ลดลงไปด้วย และการขึ้นทะเบียนเลี้ยงนกก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน หากปลดล็อกได้จริงยอดขายต้องดีขึ้นแน่นอน”

ไม่ใช่คนภาคใต้เท่านั้น ที่เลี้ยงนกกรงหัวจุก แต่ลูกค้าที่สั่งเข้ามามีออร์เดอร์ จากทั่วประเทศตั้งแต่เหนือสุดของประเทศไทย บ่งบอกถึงความนิยมได้อย่างชัดเจน

ผู้ประกอบการขายกรงนกยังมองว่า การปลดล็อกในครั้งนี้จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคใต้เพิ่มมากขึ้นอีก 2 เท่า จากเดิมที่คาดว่ามีเงินหมุนเวียนเฉพาะใน จ.สงขลา ถึงหลักล้านบาท

 

ที่มา Thai PBS [1] [2] [3]



ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: