ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแนะสารพัดวิธี 'ป้องกัน กำจัด ลดจำนวนยุง' ด้วยแนวทางธรรมชาติ - รัฐบาลเตือนประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย” | ที่มาภาพประกอบ: News Medical
ยุงเป็นแมลงดูดเลือดที่กัดแล้วทำให้เกิดอาการคัน และสามารถแพร่กระจายโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ไวรัสเวสต์ไนล์ ซิกา ไข้เลือดออก และมาลาเรีย รายงานปี ค.ศ. 2021 จากองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี 2020 มีผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 241 ล้านรายและมีผู้ผู้คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียถึง 627,000 รายอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีหลายวิธีที่ผู้คนสามารถทำได้เพื่อป้องกันตัวเองจากยุง หรือลดจำนวนยุง เช่นการทำให้พวกมันสืบพันธุ์ได้ยากขึ้น
แบคทีเรีย 'Bacillus thuringiensis israelensis' (Bti)
แบคทีเรียที่เรียกว่า Bacillus thuringiensis israelensis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Bti ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการฆ่าลูกน้ำของยุง | ที่มาภาพ: ScienceDirect
เจสสิก้า แดมิอาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสวน ซึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้กับสำนักข่าว AP โดยในเรื่องล่าสุดแดมิอาโนกล่าวว่า การควบคุมที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ซึ่งเธอได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีลดจำนวนยุงในที่อยู่อาศัยด้วย
อาจดูเหมือนยากที่จะหลีกเลี่ยงยุง บางพื้นที่ของโลกมีประชากรยุงหนาแน่น ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำอาจพบยุงมากกว่าที่อื่น ๆ แต่ก็มีมาตรการหลายอย่างที่สามารถทำได้เพื่อลดจำนวนยุงให้น้อยลง
ทั้งนี้ ยุงต้องการน้ำเพียงไม่ถึงหนึ่งเซนติเมตรสำหรับการวางไข่ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ครั้งละหลายร้อยฟอง ดังนั้นให้ตรวจสอบดูว่าบริเวณที่อยู่อาศัยมีน้ำขังหรือไม่ ซึ่งน้ำนั้นถูกเก็บกักไว้ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในภาชนะขนาดเล็ก เช่น ของเล่นเด็ก ฝาถังขยะ หรือหม้อหุงต้ม ควรกำจัดน้ำขังเหล่านั้นแม้ว่าปริมาณจะดูเล็กน้อยก็ตาม โดยการทำรูที่ด้านล่างของภาชนะที่สามารถกักเก็บน้ำที่ไม่ต้องการได้ ส่วนแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ในบ่อและอ่างน้ำของนก สามารถใช้วิธีบำบัดด้วยสารเคมีได้
แดมิอาโน แนะนำแบคทีเรียที่เรียกว่า Bacillus thuringiensis israelensis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Bti ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการฆ่าลูกน้ำของยุง ทั้งนี้ Bti มีอยู่หลายชนิดให้เลือก โดยแต่ละชนิดมีวัตถุประสงค์ในการฆ่าแมลงที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องดูให้แน่ใจว่าซื้อ Bti ที่ใช้สำหรับฆ่ายุงโดยเฉพาะ
Bti มีหลายรูปแบบด้วยกันรวมถึงผลิตภัณฑ์รูปวงแหวนที่เรียกว่า "Mosquito Dunks" วงแหวนเหล่านี้จะลอยอยู่ในน้ำและให้การปกป้องเป็นเวลา 30 วัน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า Mosquito Dunks ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และสัตว์อื่น ๆ และแมลงอื่น ๆ รวมถึงผึ้งด้วย
นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างกับดักยุงเองได้ โดยการใส่ฟาง หญ้าแห้ง หรือตัดหญ้าหนึ่งกำมือใส่ลงในภาชนะสีเข้มที่เติมน้ำ ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลาหนึ่งถึงสองวัน จากนั้นใส่ mosquito dunk ลงไป
หากในบริเวณนั้นมียุงจำนวนมาก ให้วางภาชนะหลาย ๆ ใบไว้รอบ ๆ บริเวณนั้น กระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุจะเป็นตัวดึงดูดแมลง โดยพวกมันจะวางไข่ในน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว จากนั้นให้เปลี่ยนน้ำและเติมสารเคมีใหม่ทุก ๆ 30 วัน เพื่อยับยั้งการสืบพันธุ์ยุงรุ่นต่อไป นอกจากนี้ยุงยังชอบอยู่ในที่มีพืชรกร้าง ดังนั้นควรจัดสวนให้เป็นระเบียบ อย่าปล่อยให้ต้นไม้สูงจนเกินไป
แดมิอาโนแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการฉีดพ่นสเปรย์ที่มีสารเคมีที่เป็นพิษ เพราะอาจเป็นการคุกคามแมลงชนิดอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ได้ เธอเตือนด้วยว่าสารเคมีเหล่านี้ควบคุมได้เพียงส่วนเล็ก ๆ ของประชากรยุงที่โตเต็มวัยเท่านั้น และว่าสารพิษที่ใช้กำจัดยุงนั้น จำเป็นต้องใช้หลายครั้งในหนึ่งฤดูกาลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ต้นไม้กันยุง (Mosquito Plants)
ตัวอย่างของ "ต้นไม้กันยุง" หรือ “Mosquito Plants” ที่มีน้ำมันหรือสารเคมีที่สามารถขับไล่ยุง| ที่มาภาพ: Wikimedia Commons
เธอกล่าวต่อไปว่า "ต้นไม้กันยุง" หรือ “Mosquito Plants” นั้นมีน้ำมันหรือสารเคมีที่สามารถขับไล่ยุง แต่ต้นไม้ดังกล่าวจะไม่กันยุงเว้นแต่ว่าสารเคมีเหล่านั้นจะถูกปล่อยออกมา โดยปกติแล้วจะเกิดจากการบดใบ ดังนั้นแค่มีต้นไม้แบบนี้ไว้รอบ ๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวเองจากยุง เช่นการติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่างหรือปิดประตูหน้าต่างไว้ สวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาว และลดเวลาที่อยู่นอกบ้านในช่วงหัวค่ำถึงเช้าตรู่ ซึ่งยุงจะออกล่าเหยื่อมากที่สุดในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ยุงมีประโยชน์บางอย่างด้วย เช่นการที่เป็นแมลงผสมเกสร ซึ่งหมายความว่าช่วยให้พืชบางชนิดขยายพันธุ์ นอกจากนี้พวกมันยังเป็นอาหารของสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะนกและค้างคาว ปลาและเต่าบางชนิดก็กินลูกน้ำยุงอีกด้วย แต่แดมิอาโนกล่าวว่า การกำจัดยุงตามที่อยู่อาศัย ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
เตือนประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย”
เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และเกิดน้ำท่วมขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ เช่น โรคไข้ซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนอาจเจ็บป่วยจากยุงลาย เนื่องจากปีนี้มีการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางและไปทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะได้มากขึ้น เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัด โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่สาธารณะดังกล่าว อาจมีภาชนะที่มีน้ำขังและมีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่น ๆ
นายอนุชากล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคได้แนะให้ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก โดยขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผ่านกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยการ
1) ป้องกันการเกิดของยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุงลาย เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่
2) ป้องกันยุงกัด เช่น การทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เป็นต้น
3) ป้องกันการเสียชีวิต โดยหากมีบุตรหลานหรือคนในครอบครัว มีไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดหรือไข้ลดแต่กลับมาสูงอีก ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรรับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพรินและ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้นและเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ซิกาได้
“ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่าง ๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ตามมาตรการ 3 เก็บเพื่อป้องกัน 3 โรค ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และรับการรักษาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
ที่มา
ผู้เชี่ยวชาญแนะสารพัดวิธีป้องกัน - กำจัด - ลดจำนวนยุง ด้วยแนวทางธรรมชาติ (VOA, 2/9/2022)
รัฐบาลห่วงใยประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย” (เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 4/9/2565)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ