งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับไทย "กำหนดสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานของไรเดอร์ให้ชัดเจน-ปรับปรุงการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเท่าเทียมกัน-สนับสนุนให้ไรเดอร์สามารถรวมตัวและตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์ โดยการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้อาชีพอิสระสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้"
จากงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ที่ศึกษาไรเดอร์จำนวน 435 คน (ใน กทม. 320 คน และต่างจังหวัด 115 คน) ในช่วงปี 2564 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ข้อถกเถียงด้านการกำกับดูแล
รูปแบบการทำงานของไรเดอร์บนแพลตฟอร์มมีลักษณะเป็นงานรูปแบบที่ในปัจจุบัน เรียกว่างานแบบกิ๊ก (Gig Work) กล่าวคือรับงานและทำงานให้เสร็จเป็นครั้ง และรับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ในมุมนี้กฎหมายแรงงานจึงเกิดปัญหาในการตีความว่ามีความสัมพันธ์การจ้างงานแบบ นายจ้าง-ลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 หรือมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 เพราะเมื่อพิจารณาสภาพการทำงานของอาชีพไรเดอร์ พบว่ามีปัญหาในเรื่องการตีความ เช่น การรับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่รูปแบบและกระบวนการทำงานของไรเดอร์พบว่าคงถูกควบคุมโดยบริษัทแพลตฟอร์มอย่างเคร่งครัด แพลตฟอร์มมีอำนาจในการบังคับบัญชาควบคุมการทำงาน อาชีพไรเดอร์จึงมีสภาพการทำงานคล้ายไม่ต่างจากการเป็นลูกจ้าง ขณะที่เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ในการทำงาน และสัมภาระในการทำงาน ไรเดอร์ต้องเป็นผู้จัดหามาเอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายความสัมพันธ์ของการรับจ้างในสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 588 ช่องว่างในการนิยามนำไปสู่ปัญหาสำคัญในเรื่องสิทธิของแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม เนื่องจากการสิทธิแรงงานคุ้มครองทางสังคมตามกฎหมายผูกพันธ์กับสถานะทางกฎหมายที่ชี้วัดด้วยความสัมพันธ์การจ้างงาน บริษัทแพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากการตีความที่ยังคลุมเครือ ขณะที่ไรเดอร์เป็นผู้เสียประโยชน์ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่พึงได้
ปัญหาความสัมพันธ์การจ้างงาน
ใจความสำคัญของปัญหาสำหรับการคุ้มครองทางสังคมของอาชีพไรเดอร์คือความคลุมเครือของ ‘ความสัมพันธ์การจ้างงาน’ ดังที่ได้อภิปรายในส่วนก่อนหน้า สถานะของความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นตัวกำหนดสิทธิในฐานะแรงงาน และความคลุมเครือในการตีความทำให้เกิดข้อถกเถียงสำคัญที่เป็นปฐมบทของปัญหาที่ว่าความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นแบบใด สัญญาจ้างระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์ม เป็น ‘สัญญาจ้างแรงงาน’ หรือ ‘สัญญาจ้างทำของ’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานสองฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยผู้ที่ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในขณะที่หากได้รับการตีความว่าเป็นผู้ถูกจ้าง ผู้ที่ทำงานตามสัญญาจ้างทำของ จะได้รับการคุ้มครองด้านสภาพการทำงานประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งกำหนดสถานะให้เป็น “แรงงานนอกระบบ” หรือผู้ประกอบการ
แรงงานที่ทำงานตามสัญญาการจ้างแรงงาน ได้ถูกกำหนดนิติสัมพันธ์ในฐานะ “ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมี “นายจ้าง” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ โดยทั้งทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะผูกพันกันด้วย “สัญญาจ้าง” ซึ่งหมายถึง สัญญาไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือด้วยระบุวาจาชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนั้นลักษณะสำคัญของการเป็นแรงงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้
ประการแรก ลูกจ้างต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างเท่านั้น ซึ่งการทำงานภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้างเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นแรงงานภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน
ประการที่สอง ลูกจ้างต้องได้รับค่าตอบแทน หรือ “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาปกติของวันทำงาน รวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นถ้าลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติ หรือเกินชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้ จะถูกเรียกว่า “การทำงานล่วงเวลา” ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในรูปแบบต่างๆตามช่วงเวลาการทำงานนอกเวลา ได้แก่ ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานนวันหยุด, และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยค่าจ้างที่แรงงานจะได้รับต้องไม่ต่ำกว่า “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างที่ถูกกำหนดในพระราชบัญญัติ
ประการที่สาม แรงงานภายใต้สัญญาจ้างแรงงานต้องอยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและจัดสรรสิทธิประโยชน์ต่างๆและสวัสดิการที่ลูกจ้างพึงได้รับ ดังนี้ นายจ้างต้องจ่าย “เงินสมทบ” ให้กับลูกจ้าง ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้แก่ลูกจ้างเพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง รวมถึงจ่าย “ค่าชดเชย” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง และ “ค่าชดเชยพิเศษ” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะมีเหตุกรณีพิเศษที่กำหนดตามพระราชบัญญํติฉบับนี้
ในส่วนของแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานทีทำงานตามสัญญาจ้างทำของ จะถูกกำหนดสถานะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ได้กำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ว่าจ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” ซึ่งจะผูกพันกันด้วย “สัญญาจ้างทำของ” ซึ่งหมายถึง สัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น ดังนั้นสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของคือผลสำเร็จของงานที่จ้าง ตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ที่บัญญัติไว้ว่า อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจ้าง” ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
จากรายละเอียดกฎหมายสองฉบับที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ประเด็นแตกต่างระหว่างการจ้างงานตาม “สัญญาจ้างแรงงาน” และ “สัญญาจ้างทำของ” มีดังนี้
ประเด็นแรก ผลสำเร็จของาน ในสัญญาจ้างทำของ มีการตั้งเป้าหมายที่ผลสำเร็จของงานที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างป็นหลัก กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะได้ค่าตอบแทนจากผู้ว่าจ้างต่อเมื่อมีผลสำเร็จของงานเท่านั้น แต่ในกรณีสัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างได้ตกลงทำงานตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่ผลสำเร็จของงาน กล่าวคือลูกจ้างจะทำงานตามเวลา และยังคงได้รับค่าจ้างแม้งานจะไม่สำเร็จก็ตาม
ประเด็นที่สอง ค่าตอบแทน ในสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าตอบแทนแก่ผู้รับจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำ แต่กรณีสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างจะต้องให้ค่าตอบแทนตามเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้
ประเด็นที่สาม อำนาจบังคับบัญชา ในสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมการทำงานของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จตามที่ตกลงกันเท่านั้น แต่กรณีสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจในการบังคับบัญชาลูกจ้างให้ทำงานตามคำสั่ง กล่าวคือนายจ้างสามารถควบคุมการทำงานของลูกจ้างได้ทุกกระบวนการ
ประเด็นที่สี่ เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ในสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้จัดหาเครื่องมือในการทำงานเอง ส่วนสัมภาระถ้าผู้รับจ้างจัดหามาจะต้องจัดหาสัมภาระชนิดที่ดีด้วย เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่กรณีของสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาเครืองมือและสัมภาระให้กับลูกจ้าง
ประเด็นที่ห้า การรับผิดชอบต่อความเสียหาย ในส่วนของสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายที่ผู้รับจ้างได้กระทำแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้ แต่ในส่วนสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น
เมื่อพิจารณารูปแบบการทำงานของไรเดอร์ พบว่าไม่สามารถจัดประเภทให้อยู่ตามสัญญาการจ้างแรงงาน หรือสัญญาการจ้างทำของได้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไรเดอร์มีสภาพการทำงานที่คาบเกี่ยวกับทั้งแบบสัญญาการจ้างแรงงานและสัญญาการจ้างทำของ ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้
ประเด็นแรก เรื่อง ผลสำเร็จของาน พบว่าผลสำเร็จของานเกิดขึ้นเมื่อ ส่งผู้โดยสารถึงที่หมาย ส่งมอบของหรืออาหารให้กับลูกค้าสำเร็จแล้วเท่านั้น
ประเด็นที่สอง การจ่ายค่าตอบแทน พบว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้ไรเดอร์เกิดภายหลังจากผลสำเร็จของงานแล้วเท่านั้น นอกจากนี้บางบริษัทแพลตฟอร์มยังมีการหักส่วนแบ่งรายได้ของไรเดอร์ โดยเรียกว่าเป็น ‘ค่าธรรมเนียมการใช้แอปพลิเคชัน’ จากค่าตอบแทน และหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละสามของค่าตอบแทน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับการจ้างทำของที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักจากค่าจ้างเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ดังนั้นในประเด็นนี้จึงมีรูปแบบการปฏิบัติที่บริษัทปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะของสัญญาจ้างทำของ
ประเด็นที่สาม เรื่อง อำนาจบังคับบัญชา แม้ว่าอาชีพไรเดอร์จะถูกมองว่ามีความยืดหยุ่นในด้านเวลา มีอิสระในการทำงาน โดยสามารถเลือกเวลาทำงา และเลิกทำงานตามที่ตนเองต้องการได้ แต่ในกระบวนการทำงานดังข้อค้นพบในบทก่อนหน้าของรายงานฉบับนี้ พบว่าไรเดอร์ต้องอยู่ภายใต้สภาพการทำงานที่ถูกควบคุมและการบังคับบัญชาจากบริษัทแพลตฟอร์ม โดนบริษัทจะตั้งเงื่อนไขการทำงานที่ไรเดอร์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น บางบริษัทแพลตฟอร์มมีการกำหนดให้ไรเดอร์ต้องถ่ายรูปอาหารทุกครั้ง ก่อนจะนำไปส่งให้ลูกค้า หรือการออกกฎให้ไรเดอร์สวมชุดเครื่องแบบของบริษัทแพลตฟอร์มตลอดการทำงาน เป็นต้น ซึ่งถ้าไรเดอร์ไม่ปฏิบัติตามกฎของบริษัทแพลตฟอร์ม ก็มีโอกาสที่จะโดนลงโทษโดยการถูกปิดระบบการทำงานทั้งแบบชั่วคราว และแบบถาวร ดังนั้นอำนาจในการกำกับและควบคุมโดยบริษัทแพลตฟอร์มตลอดจนการทำโทษ มีลักษณะแบบสัญญาการจ้างแรงงาน ที่บริษัทแพลตฟอร์มไม่ได้กำหนดสถานะของไรเดอร์ในฐานะลูกจ้าง แต่มีการควบคุมการทำงานไรเดอร์ที่ไม่ต่างจากการมีสถานะลูกจ้าง
ประเด็นที่สี่ เรื่อง เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ในกรณีของไรเดอร์นั้น มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำงาน ดังนี้ รถจักรยานยนต์ หมวกกันน็อก สมาร์ทโฟน ชุดยูนิฟอร์ม และกระเป๋าใส่อาหารของบริษัทแพลตฟอร์ม ที่ไรเดอร์ต้องจัดหา ขณะที่เครื่องมือสำคัญอีกประการคือตัวแอปพลิเคชันที่บริษัทเป็นผู้พัฒนา ดังนั้นประเด็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานจึงมีความคลุมเครือไม่สามารถชี้ชัดได้เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนเป็นเจ้าของเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน
ประการที่ห้า เรื่อง การรับผิดชอบต่อความเสียหาย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นระหว่างการทำงานต่อบุคคลภายนอกการทำงาน เช่น กรณีที่ไรเดอร์ส่งอาหารให้ลูกค้าผิด พบว่าบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายในส่วนนี้ให้ ซึ่งเข่าข่ายสัญญาการจ้างแรงงานที่นายจ้างจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากลูกจ้าง
จะเห็นได้ว่าสภาพการทำงานของไรเดอร์มีความซ้อนทับทั้งแบบสัญญาการจ้างแรงงาน และสัญญาการจ้างทำ ดังนั้นปัญหาสำคัญของไรเดอร์จึงเป็นกรอบคิดการแบ่งประเภทแรงงานที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงาน สภาพการทำงาน และความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่
ประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับประเทศไทย
จากการสำรวจสภาพปัญหา ข้อถกเถียงทางกฎหมายของประเทศไทย กรณีศึกษาต่างประเทศ ผู้วิจัยได้สรุปประเด็นพิจารณาเพื่อนำไปสู่การหาทางออกผ่านกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการทางสังคม ดังนี้
1. การกำหนดสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานของไรเดอร์ให้ชัดเจน
ประเด็นที่สำคัญที่สุดของแรงงานคือสิทธิแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผูกติดกับความสัมพันธ์การจ้างงานตามกฎหมาย เมื่อสถานะความสัมพันธ์การจ้างมีความคลุมเครือดังเช่นที่เป็นอยู่ เกิดสภาวะสุญญากาศของการกำกับดูแลและคุ้มครอง ทำให้แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ส่งผลต่อปัญหาอื่นที่ตามมาอีกหลายประการ ประเด็นความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางที่สุดในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ สำหรับมุมมองจากนักวิชาการแรงงานส่วนใหญ่เสนอว่าให้มีการกำหนดนิยามไรเดอร์เป็นลูกจ้าง (employee) เนื่องจากสภาพการทำงานและปัจจัยอื่นๆ ที่นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าเข้าข่ายความสัมพันธ์การจ้างงาน นักวิชาการแรงงานเสนอให้นำทฤษฎีกระบวนการทำงาน (Labor Process Theory LPT) มาเป็นกรอบในการพิจารณา ขณะที่นักวิชาการส่วนหน่อยซึ่งโดยมากเป็นนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองว่างานลักษณะนี้มีความสัมพันธ์การจ้างงานแบบผู้รับจ้างหรือแรงงานอิสระ ทว่ายังไม่มีงานสำรวจความคิดเห็นของแรงงานว่ามองตัวเองในลักษณะใด รายงงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจและพบว่าแรงงานส่วนใหญ่พึงพอใจกับสถานะการเป็นแรงงานอิสระ ที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาทำงาน อย่างไรก็ตามผลสำรวจนี้เป็นเพียงผลสำรวจเบื้องต้น ผู้วิจัยพบว่า มีข้อจำกัดในประเด็นความเข้าใจของแรงงานต่อรูปแบบความสัมพันธ์การจ้างงานและความสำคัญของความสัมพันธ์ของการจ้างงานของผู้ให้ข้อมูล ส่วนหนี่งไม่เป็นประโยชน์จากการมีสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานแบบลูกจ้าง เพราะสิทธิประโยชน์จากความคุ้มครองทางสังคมไม่จูงใจให้ตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับการการคุ้มครอง รูปแบบการทำงานยังส่งผลให้ผู้ทำงานในอาชีพนี้บางส่วนมองผู้ประกอบอาชีพเดียวกันเป็นคู่แข่งที่ต้องแย่งกันทำงาน หรือมองผู้ประกอบอาชีพเดียวกันแต่ต่างบริษัทว่าเป็นคู่แข่ง จึงไม่ตระหนักว่าสถานะลูกจ้างจะทำให้สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานภานใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้สามารถต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างเป็นทางการภายใต้สิทธิของแรงงาน การกำหนดสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานของไรเดอร์ให้ชัดเจนจะทำให้สิทธิและการคุ้มครองทางสังคมมีความชัดเจนตามมาด้วย กรณีศึกษาในต่างประเทศหลายประเทศ มีตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่กรณีที่ความสัมพันธ์การจ้างงานระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์มมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 รูปแบบทั้งในสถานะแรงงานอิสระหรือลูกจ้าง ขึ้นอยู่กับกระบวนการในการทำงาน หรือเลือกในแนวทางการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองอาชีพไรเดอร์โดยเฉพาะ ดังเช่นประเทศสเปนที่มีการออกกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์(Rider law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มทุกแห่งในสเปนต้องจ้างงานไรเดอร์ในฐานะลูกจ้างของบริษัท
2. การปรับปรุงการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเท่าเทียมกัน
การคุ้มครองทางสังคมของแรงงานกลุ่มต่างๆ มีความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้มาตั้งแต่การสำรวจแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2548 แม้สำนักงานสถิติแห่งชาติจะระบุไว้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นครั้งแรกว่าเพื่อประโยชน์ในการขยายความคุ้มครองการประกันสังคมให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบได้เข้าถึงระบบประกันสังคมที่เหมาะสม (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2548) แต่จนถึงปัจจุบันรูปแบบการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานนอกระบบไม่ได้รับการพัฒนาให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ แม้จะมีการเพิ่มให้แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ใน พ.ร.บ. ประกันสังคม ในปี พ.ศ. 2556 โดยรัฐร่วมสมทบ จากการสำรวจพบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งให้เหตุผลที่ไม่ประกันตนว่าไม่ทราบว่ามีสิทธิในการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่าสิทธิประโยชน์ไม่จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน เพราะผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะไม่สามารถรับสิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคมได้ แต่จะต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นอกจากนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่คุ้มครองแรงงานที่ไม่ได้มีสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นลูกจ้าง ส่งผลให้การคุ้มครองในประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องหลักของแรงงานไรเดอร์ เช่น ค่าตอบแทน สภาพการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน การรวมกลุ่มเพื่อต่อรอง กลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้กลไกและกฎหมายอื่นในการเรียกร้องความเป็นธรรม ในหลายประเทศหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานและเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทแพลตฟอร์ม แต่กรณีของประเทศไทยผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลทำงานในลักษณะตั้งรับ กล่าวคือรอให้แรงงานมาร้องเรียนจึงดำเนินการและไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับแรงงานได้เนื่องจากกฎหมายไม่ครอบคลุม และยังไม่เคยมีข้อเรียกร้องใดที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแรงงาน
หากรัฐสามารถสร้างหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอและเสมอภาคแก่แรงงานทุกกลุ่ม ปัญหาในเรื่องการตีความสถานการณ์จ้างงานก็จะลดความสำคัญลง เพราะไม่ว่าสถานะการจ้างงานจะเป็นอย่างไรก็ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่แตกต่างกัน
3. การสนับสนุนให้ไรเดอร์สามารถรวมตัวและตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์ โดยการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้อาชีพอิสระสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
จากที่ได้ศึกษากรณีจากต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีบางประเทศที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องสิทธิให้กับไรเดอร์ผ่านการจัดตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์ตามกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งประเทศอังกฤษที่สหภาพแรงงานอิสระแห่งสหราชอาณาจักร (IWGB) พยายามจะผลักดันให้ไรเดอร์ของบริษัทเดลิเวอรูสามารถตั้งสหภาพแรงงานของบริษัทได้ โดยได้มีการเจรจาและต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มว่าอาชีพไรเดอร์ควรมีสิทธิตามกฎหมายในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพภายใต้อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the European Convention on Human Rights) แม้จะยังผลักดันไม่สำเร็จ แต่ความพยามของสหภาพแรงงานอิสระแห่งอังกฤษก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของขบวนการแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ความสำคัญของการมีสหภาพแรงงานคือการทำให้การเจรจาต่อรองและหาข้อตกลงที่เหมาะสม ระหว่างแรงงานและบริษัทแพลตฟอร์มโดยกลุ่มไรเดอร์สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย และอาจช่วยลดบทบาทของรัฐต่อข้อพิพาทแรงงาน
ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็ม |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ