เวทีวิเคราะห์นโยบายเกษตรกรเลือกตั้ง 66 ชี้ 'ประชานิยม' แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 5575 ครั้ง

เวที "วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง และข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 2566 : เพื่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตเกษตรกร" ชี้ 'ประชานิยม' แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 จัดโดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที "วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง และข้อเสนอสำหรับการเลือกตั้ง 2566 : เพื่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตเกษตรกร" เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ ปี 2566 คณะผู้จัดเห็นว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวนา เกษตรกร และความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรให้ความสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ภายใต้สถานการณ์ปัญหาต่างๆของประเทศและวิกฤตการณ์ระดับโลก ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายส่วนใหญ่มุ่งให้ความสำคัญกับการอุดหนุนราคาสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งพบว่ามีปัญหาและมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งควรที่ตัวแทนเกษตรกร นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายควรมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น เสนอแนะ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งพรรคการเมือง ประชาชนทั่วไปสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชาวนา

ประมวลข้อเสนอนโยบาย 8 พรรคการเมือง เกี่ยวกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ได้ประมวลนโยบาย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ.) โดยข้อมูลเน้นให้เห็นภาพรวมของข้อเสนอที่รวบรวมจากเว็บไซต์เพจของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งข้อเสนอด้านนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร มี 8 พรรคการเมืองที่ได้ระบุถึง ได้แก่ 1. เพื่อไทย 2. พรรคภูมิใจไทย 3. พรรคพลังประชารัฐ 4. พรรคชาติไทยพัฒนา 5.พรรคประชาธิปัตย์ 6.พรรคชาติพัฒนากล้า 7.พรรคก้าวไกล 8. พรรคไทยสร้างไทย โดยมีบางพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศนโยบาย

วิฑูรย์ สรุปย่อให้เห็นประเด็นสำคัญในการชูนโยบายของ 8 พรรค อย่าง พรรคภูมิใจไทย ชูเรื่องเกษตรร่ำรวย พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย แต่ไฮไลท์คือการชูเรื่อง contract farm พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน จะมีการขยายไปสู่พืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพด มะพร้าว ลำไย ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เน้นเรื่อง 3 ลด 3 เพิ่ม นโยบายคล้ายกับเวียดนาม ลดความเสี่ยงราคา 4 พืชเศรษฐกิจ ลดต้นทุน ชูเรื่องปุ๋ยประชารัฐ เพิ่มรายได้ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เน้น ประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่างพืชเศรษฐกิจ แต่ที่แตกต่างจากพรรคอื่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ ชูเรื่องการฟาร์มโคนม นมโรงเรียน และผลักดันเรื่องกองทุนประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อครัวเรือน ปลดล็อคประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU ออกโฉนดที่ดิน 1,000,000 แปลง ภายใน 4 ปี ในส่วนของ พรรคชาติไทยพัฒนา ชูคำขวัญ WOW Thailand เกษตรกรรมยั่งยืน คาร์บอนเครดิต แจกพันธุ์ข้าวฟรี เงินทุนเพาะปลูกพืช ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตร บ่อบาดาลขนาดใหญ่ทุกตำบล เพื่อบริโภคและการเกษตร พรรคก้าวไกล เกษตรไทยก้าวหน้า เสนอกระดุม 5 เม็ด เรื่องแรก ปฏิรูปที่ดิน ทำเรื่องระบบกองทุนส่งเสริมธนาคารที่ดิน ระบบภาษีที่ดิน แก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดิน เรื่องที่สอง ปลดหนี้เกษตรกร ยกหนี้เกษตรกรสูงวัย เช่าที่เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น เรื่องที่ 3 ระบบชลประทาน เพิ่มงบ 25,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อทำระบบชลประทานท้องถิ่น เรื่องที่ 4 สุราก้าวหน้า อาหารโรงเรียนที่มาจากชุมชน และเรื่องที่ 5 ยกระดับสินค้าที่รับรองมาตรฐานให้เกษตรกรฟรี ท่องเที่ยวเกษตร ส่งออกสินค้าคุณภาพ พรรคไทยสร้างไทย เปิดตลาดสินค้าเกษตร ตลาดแปรรูป ปรับโครงสร้าง และผลักดันโครงการ โขง ชี มูล บ่อน้ำ 1 ล้านบ่อ บาดาล 1 แสนบ่อ เกษตร BCG Model แก้ปัญหาสิทธิที่ดิน ปฏิวัติการใช้ที่ดิน สปก. ตั้งกองทุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อเกษตรกร รองรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาการเกษตรของเกษตรกร พรรคชาติพัฒนากล้า เกษตรสร้างชาติ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี – อุตสาหกรรม เกษตรพรีเมี่ยม ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตรแปรรูป โดยเสนอระบบ cloud factory สอนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่ผู้ผลิต ด้วยการค้าขายออนไลน์ การรวมกลุ่มบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรกร และผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในส่วนพรรคเพื่อไทย จุดสำคัญคือเรื่องราคาสินค้าเกษตรให้ขึ้นต่อเนื่อง เน้นรายได้เกษตรกรที่เคยสร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี เสนอการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เกษตรแม่นยำ AI มาช่วยในการเกษตร มีการปรับปรุงหน้าดิน และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทลายการผูกขาดในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กีดขวางความคิดสร้างสรรค์ของรายเล็กรายย่อย เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ผลไม้ แก้ปัญหาเรื่องระบบจัดการน้ำด้วยการสร้างคลองเชื่อมแม่น้ำสายหลัก อ่างเก็บน้ำแก้มลิง

ผลวิจัย 101PUB “นโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกร สร้างวงจรความยากจน-หนี้สินประเทศ เครื่องมือชูประชานิยมที่พรรคการเมืองใช้ช่วงเลือกตั้งแต่ไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาระยะยาว

วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัย 101PUB – 101 Public Policy Think Tank นำเสนอผลการศึกษาที่สำรวจสถานการณ์ความยากจนของเกษตรกรไทย เพื่อให้เห็นจุดบอดของนโยบายเงินอุดหนุนในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ ลงสู่วงจรแห่งความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยผ่านการอธิบาย การใช้งบประมาณเพื่อการอุดหนุนของรัฐบาล มีกรอุดหนุนราคาสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ซึ่งใช้งบประมาณอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 4.6 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท/ปี แต่ชีวิตของเกษตรกรก็ยังยากจน จึงควรตั้งคำถามว่านโยบายเงินอุดหนุนช่วยเกษตรกรได้จริงหรือไม่ โดยผลสำรวจชี้ว่ามีเกษตรกรจดทะเบียน ณ เดือนสิงหาคม 2022 ราว 9.2 ล้านคน คิดเป็น 13.9% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีครัวเรือนเกษตรกรทั้งสิ้น 8 ล้านครัวเรือน หรือ 29.0% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยจำนวน 9.2 ล้านคนนี้ ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุด ซึ่งร้อยละ 11.4 เป็นคนยากจน และร้อยละ 27 มีรายได้ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น 42% มีรายได้หลังหักรายจ่ายที่จำเป็นไม่พอชำระหนี้และลงทุนทำเกษตรรอบถัดไป นอกจากนี้ 34% ยังมีหนี้สินคงค้างมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง ซึ่งเท่ากับเสมือนล้มละลายไปแล้วด้วย ปัญหาความยากจนดังกล่าวมีสาเหตุเพราะการทำเกษตรมีรายได้ต่ำมาก ในปี 2017-2021 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาท/ปี หรือ 202.7 บาท/วัน น้อยยิ่งกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 328-354 บาท/วัน/คน ซึ่งหมายความว่า ถ้าคำนวณค่าแรงเกษตรกรในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนด้วย พวกเขาก็จะขาดทุน

วรดล กล่าวต่อว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปัญหาแรกและพื้นฐานที่สุดคือ เงินอุดหนุนฝังเกษตรกรให้ติดอยู่ใน ‘วงจรความยากจน’ ระยะยาว 2.เงินอุดหนุนช่วยไม่ตรงจุด เข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่ มากกว่ารายย่อย และ 3.เงินอุดหนุนไม่ยั่งยืน ช่วยเกษตรกรได้น้อยลง แต่ใช้งบเพิ่มขึ้น ถ้าเราคิดค่าแรงเกษตรกรเป็นต้นทุนทำเกษตร เกษตรกรขาดทุนเยอะมาก เกษตรกรจึงอยู่ในภาวะยิ่งทำยิ่งจน นโยบายเงินอุดหนุนแม้จะชูเป็นนโยบายสำคัญในช่วงหาเสียง เป็นนโยบายประชานิยมแต่ก็มีปัญหาหลายอย่าง ทำให้ตัวเกษตรจนมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น ประเทศมีหนี้สะสมมากขึ้น เพราะในทางทฤษฎีเมื่อกล่าวเรื่องการขาดทุนของเกษตรกร คือการ ชี้ให้เห็นของความไม่เหมาะสมของการลงทุน ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ คุณภาพสินค้าต่ำ และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็มีความเสี่ยงสูงในการบีบให้เกษตรกรไร้ทางเลือกในการจัดการผลผลิตในพื้นที่ดินของตนเองระบบโครงสร้างการทำเกษตรปัจจุบันผลักดันให้ขาดทุนเงินอุดหนุนจึงเหมือนเป็นการปัญหาระยะสั้นที่ไม่มีทางสิ้นสุดและไม่ช่วยให้เกษตรกรหลุดออกจากวงโคจรความยากจน ดังนั้น นโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรจะสร้างปัญหาระยะยาว เพราะเงินเหล่านี้รัฐบาลนำมาจากเงินกู้นอกงบประมาณ และไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐสภา และแต่ละปีกู้เงินมามากกว่าใช้หนี้ เบียดบังศักยภาพทางการคลัง ที่ควรจะใช้งบประมาณบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ ข้อเสนอสำคัญคือ เกษตรกรควรได้รับการเติมรายได้จากสวัสดิการในฐานะสวัสดิการพลเมือง เพราะคนจนทุกคนไม่ได้เป็นเกษตรกร และเกษตรกรทุกคนไม่ได้เป็นคนจน ให้ประชาชนทุกคนที่จำเป็นเข้าถึงเพียงพอ ควรจูงใจให้เงินสนับสนุนบางอย่างผูกกับเงื่อนไข ปรับปรุงการเกษตรเพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องของสวัสดิการเกษตรกรนั้นต้องทำเป็นตาข่ายทางสังคม เชื่อมกับสวัสดิการอื่นๆ นโยบายที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน เพราะการมองการแก้ปัญหาเกษตรกรทุกวันนี้เน้นที่นโยบายอุดหนุนเกษตรเป็นนโยบายที่เน้นแต่จะเติมรายได้ระยะสั้น แต่ไม่ช่วยเหลือเกษตรกรให้ออกจากวงจรที่ก่อให้เกิดหนี้สินได้จริง

วิเคราะห์ข้อเสนอสร้างสวัสดิการถ้วนหน้า การแก้ปัญหาด้วยเกณฑ์ความยากจนไม่ตอบโจทย์

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึง วิเคราะห์นโยบายและข้อเสนอนโยบายเกษตรของพรรคการเมืองว่า มีทั้งดีขึ้นและน่าเป็นห่วง เห็นตรงกันว่าเรื่องการอุดหนุนภาคเกษตรส่งผลลบมากกว่าบวก แต่ปัญหาใหญ่ที่คิดในฐานะสภาเกษตรกรฯ นโยบายยั่งยืนนั้น คือ นโยบายระยะยาวไม่มีใครนำมาหาเสียง เพราะ นโยบายประชานิยมเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก เรื่องหนี้สิน ค่าครองชีพ เป็นหัวใจในการได้คะแนน พรรคการเมืองแก้ปัญหาได้ทันควันคือสิ่งที่จะได้เสียง สิ่งที่ควรทำ คือ เสนอให้พรรคการเมืองมีแนวทางนโยบายที่อุดหนุนระยะสั้นและแนวทางนโยบายระยะยายควบคู่กันไป เพราะพรรคการเมืองมักจะบอกว่านโยบายด้านการเกษตรนั้นส่วนใหญ่บอกว่า “ดีมาก น่าทำ แต่ยาวไป” นโยบายที่ดี ที่ควรทำในระยะยาวและยั่งยืนต้องค้นหาให้ได้ถึงรากปัญหา แต่ปัญหาสำคัญที่ทุกพรรคยังคลุมเครือคือ “ที่ดินทำกินเกษตรกร” เกษตรกรอยู่ในพื้นที่ของรัฐมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน ที่เป็นพื้นที่ สปก. 3 ล้านครัวเรือน รวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของเกษตรกรในประเทศไทยที่ไม่มีสิทธิในที่ทำกินและไม่สิทธิทางกฎหมาย ดังนั้น นโยบายที่นำเสนอมาของแต่ละพรรคจึงทำไม่ได้จริงในหลายเรื่อง เพราะเกษตรกรจะติดเรื่องสำคัญ คือการไร้สิทธิในการทำเกษตรกรรมในพื้นที่รัฐหลายรูปแบบ เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด แต่ไม่สามารถปลูกพืชไม้เศรษฐกิจยืนต้นได้ เพราะจะติดเรื่องนิยามพื้นที่ป่า เช่น การปลูกไผ่ หรือการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำโรงงานแปรรูปในบางพื้นที่ก็ทำไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องที่ดิน เอกสารสิทธิ เกษตรกรหลายล้านครัวเรือนถูกจำกัดสิทธิ เพราะพื้นที่ไม่เปิดโอกาสให้ ติดปัญหาการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ถ้าเราแก้ปัญหารากเหง้าเรื่องนี้ไม่ได้ ก็เดินหน้าไม่ได้ 1 ล้านครอบครัวถูกจำกัดสิทธิ การแปรรูป การทำ SMEs ถูกจำกัดด้วยกฎหมายปฏิรูที่ดิน พ.ศ.2518 ซึ่งล้าสมัยไม่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีพรรคเดียวที่พูดถึงบ้างคือคือก้าวไกล แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ส่วนพืชเศษฐกิจ พืชไร่ 4 ชนิด มีปัญหาและจะมียาวนานต่อไป ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตัดงบเกษตรกร 4 ตัวนี้ ความจริงเชิงประจักษ์ก็คือประเทศไทยมีสินค้าเกษตรอื่นๆ การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ควรมาปรับใช้ผสมผสานด้วยกัน การทำเศรษฐกิจคู่ขนานถึงจะรอดได้ หมายถึงเกษตรกรสามารถออกแบบการใช้พื้นที่ได้อย่างสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าได้มากกว่าทางเดียวเฉพาะปลูกพืชส่งเสริม ทำให้เขามีรายได้มากกว่า 1 ทาง

ข้อเสนอของ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ การอุดหนุนเกษตรกรต้องมีนโยบายยั่งยืนระยะยาวด้วย มีทางเลือกการเกษตรมากกว่า 1 อย่าง กระจายอำนาจ ส่งเสริมการเกษตรให้ท้องถิ่นมีอำนาจ ให้บทบาท อบจ. อบต. ได้ทำ ทุกวันนี้เขาไม่สามารถทำได้รัฐอ้างว่างบประมาณซ้ำซ้อน งบการส่งเสริมยังกระจุกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ การแก้ไขจึงควรทำที่ท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง เพราะส่วนกลางตอบโจทย์พรรคการเมืองมากว่าเกษตรกร ในเรื่อง พ.ร.บ.ที่ดิน ต้องปรับให้ทันสมัยให้เหมาะสมกับสภาพสังคม เห็นอนาคตในระยะยาว พรรคที่น่าสนใจคือพรรคก้าวไกลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปฏิรูปที่ดิน การกระจายที่ดิน การเช่าพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น อาจมีปัญหาทางกฎหมาย เช่น พื้นที่ที่รัฐอนุญาตทำกินได้ แต่ไม่สามารถปลูกไม้ยืนต้นเพราะจะถูกป่าไม้ยึดที่คืน ติดคำนิยามว่า “ป่า” ในกฎหมายรัฐ การทำเกษตรครอบคลุมสินเชื่อการปลูกต้นไม้ด้วย การเน้นนโยบายที่มีความยั่งยืนควรปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ไม่เหมาะสมเน้นปลูกสัตว์และไม้ยืนต้นมากกว่าทำเกษตรเชิงเดี่ยว และอย่างพรรคประชาธิปัตย์เสนอเรื่อง โคนม นมโรงเรียน ควรมองให้ไกลถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่านมให้มากกว่านี้ เช่น ทำชีส ทำเนย เป็นต้น

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) กล่าวว่า เรื่องเงินอุดหนุนเกษตรกรนั้นมีช่องว่างมากมายที่ทำให้เกษตรกรที่ยากจนจริงๆเข้าไม่ถึงนโยบายนี้ เพราะใครจะได้เงินอุดหนุนต้องขึ้นทะเบียน และการขึ้นทะเบียนพร้อมมาด้วยเรื่องหลักฐานที่ดินทำกิน นี่เป็นส่วนสำคัญที่เกษตรกรที่เช่าที่ดินหมดสิทธิ หรือเกษตรกรที่ไร้สิทธิในที่ดินทำกิน พอพูดถึงนโยบายพรรคการเมืองสอดรับกับการเลือกตั้ง ผมคิดว่าเราจะเลือกพรรคไหนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริงๆ อยากพูดว่า ถ้าเลือกพรรคต้องคิดว่าจะได้คนแบบไหนมาด้วย พรรคพลังประชารัฐ ได้ใครมา เราเบื่อกับ 8 ปีที่ผ่านมาจะแย่อยู่แล้ว วิพากษ์วิจารณ์ก่อนว่า โจทย์ใหม่ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเกษตรเท่านั้น แต่คือการผลักให้เป็นเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งไม่มีพรรคไหนดันเรื่องนี้ ถ้าเกษตรกรหวังรายได้บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท เพราะบางพรรคบอกว่า เขาจะให้ 3,000 บาท แต่ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน สิ่งที่รัฐบาลเอาภาษีมาใช้ควรเป็นสิทธิทุกคน แต่นโยบายยังเน้นคำว่า “ยากจน” ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ที่มีปัญหา นโยบายเรื่องนี้ไม่พรรคใดพูดเรื่องนี้ชัดเจน แม้จะมีพรรคก้าวไกล พูดตอนปี 2562 ว่าจะผลักดันเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า” แต่ใช้ระยะเวลายาว ผู้สูงอายุ 2 ล้านคนใช้ต้นทุนเดิมมีอยู่แล้ว เบี้ยยังชีพ 8 หมื่นกว่าล้าน ทีมแก้กฎหมายผู้สูงอายุ พรรคพลังประชารัฐปัดตกเรื่องกฎหมายเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย จาก 8 พรรคการเมือง มีไม่กี่พรรคที่เอาเรื่องบำนาญถ้วนหน้า

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้รายงานของ101 Public Policy Think Tank เน้นประเด็นเรื่องช่วงจำนำข้าวใช้ 8.8 แสนล้าน แต่จำนำข้าวไม่ได้มีแค่เงินอุดหนุนยังมีส่วนที่ขายด้วย รัฐบาลนี้ที่อยู่มา 8 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านเพื่ออุดหนุนเกษตรกร ถ้ารวมตัวเลขการอุดหนุนตลอด 8 ปี มันจำนวนมหาศาล ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆที่ตัวเองว่านัก ปัญหาสำคัญคือเงินมหาศาลเหล่านี้ที่ไปอุดหนุนไม่ได้ไปสู่การพลิกโฉมเกษตรกร มันไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตแบบนี้ ซึ่งในแง่นี้ไม่เห็นว่ามีนโยบายพรรคไหนเสนอเรื่องการแก้ปัญหาที่แท้จริง การวิจารณ์เงินอุดหนุนเกษตรกร ต้องนึกถึงค่าพรีเมี่ยมข้าวในอดีตที่เก็บจากชาวนาด้วย ต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวนาเกษตรกรที่รัฐอุดหนุนด้วย อย่างกรณีนโยบาย นาอินทรีย์ล้านไร่ก็เลิกไปแล้ว ชาวบ้านก็กลับมาทำนาแบบเก่า มันแสดงให้เห็นว่าการผลักดันงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพอะไรที่ทำให้ชาวบ้านเขาสามารถผลิตข้าวต่อได้ ประเด็นที่ 2 เกษตรกรชาวนาชาวไร่ ส่วนหนึ่งก็คือเกษตรกรรายย่อย นโยบายทุกพรรคเลยไม่พูดเรื่องเกษตรกรในพื้นที่ป่าและทะเล คนที่พึ่งฐานทรัพยากรธรรมชาติคนเหล่านี้จะส่งเสริมเขาอย่างไร นอกจากไม่พูดถึงยังมีนโยบายซ้ำเติม คือ BCG ส่งเสริมเอกชนปลูกป่าขายเครดิตคาร์บอน กฎหมายนี้จะไปเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ปรับระบบโครงสร้างป่าไม้ที่เกษตรกรรายย่อย เรื่องนี้หายไปเลย นโยบายครั้งนี้ไม่มีใครพูดถึงทั้งที่จะมีคนมากมายที่ได้ผลกระทบ ประเด็นที่ 3 เรื่องปัจจัยการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การกระจาย มีบางพรรคพูดเรื่องธนาคารที่ดินเล็กๆน้อยๆ ควรจะต้องมีการพูดถึงปฏิรูปที่ดินกันอย่างจริงจัง คิดถึงเชิงเรื่องของการพลิกโฉมเกษตรกร เราถึงจะเห็นปัญหา ประเด็นสุดท้าย ไม่มีเกษตรกรแบบเดี่ยวๆอีกแล้ว เกษตรกรมีชีวิตหลากหลายไม่มีใครปลูกข้าวอย่างเดียว ประเด็นเมื่อชีวิตทำมาค้าขายด้วย เกษตรกรรายย่อยด้วย ต้องมีตลาด ต้องด้นชีวิตหลายหน้า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรมันต้องครอบคุลมชีวิตถ้วนหน้า การถ่ายโอนมาเรื่องท้องถิ่นจึงสำคัญมาก การมองเรื่องตลาดชุมชน ท้องถิ่น ขยายตลาด โดยสรุปเราต้องการนโยบายครอบคลุมเกษตรกรที่เปลี่ยนหน้าไปเป็นผู้ประกอบการ และนโยบายต้องครอบคลุมเรื่องของตลาด นโยบายต้องสนใจภาพใหญ่ ถ้าเห็นแต่ชาวนาเกี่ยวข้าวอย่างเดียวเป็นนโยบายไม่ได้อีกต่อไป

ดร.ไชยยะ คงมณี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นโยบายเน้นที่การเมืองมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเกษตร งานวิจัยล่าสุดที่ทำทั้งประเทศ สรุปว่า ทิศทางนโยบายในอนาคต สิ่งที่เราเห็นคือ โลกกำลังเปลี่ยน ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินปกติ ถ้าปล่อยให้ระบบทุนนิยมดำเนินการเต็มฟังค์ชั่น การปรับเปลี่ยนมูลค่าเพิ่ม โลกเปลี่ยนโครงสร้างผลิต โครงสร้างบริโภค ช่วงนี้รัฐบาล 4 ปี จะตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า คือคน 70 เปอร์เซ็นต์ จะไม่มีความมั่นคงในอาชีพ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ 14 เปอร์เซ็นต์เป็นคนรุ่นใหม่ ภาระของพรรคการเมืองที่ออกนโยบายเพื่อโครงสร้างต้องไปแตะที่ขีดความสามารถ เกษตรกรรมไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างเดียว แต่มีปัญหาเรื่องอาหารที่ปลอดภัย ไม่เห็นนโยบายพรรคไหนที่ทำเรื่องอาชีพเกษตรกรมั่นคงได้อย่างไร ดังนั้น ทิศทางการพัฒนา ที่บอกว่า ปลอดภัย มั่นคง เกษตรผาสุก ออกจากพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ก็ต้องนำไปสู่คำถามว่าไปสู่อะไร การอุดหนุนที่ทุกพรรคทำ ไปเน้นเรื่อง “รายได้ กับ ต้นทุนปัจจัยการผลิต” แต่แทบไม่มีนโยบายที่มีการอุดหนุนเพื่อการพัฒนา และการเตรียมรับมือวิกฤตทางสภาวภูมิอากาศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน แม้เกษตรกรบอกว่าจะทำบริโภคในครัวเรือนแต่ต้องแข่งขันในตลาดได้ contract farming ไม่ได้การรันตีเรื่องความมั่นคง และความเป็นธรรม เรื่องของการแข่งขันเราจะเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างไร นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ความไม่มั่นคงทางรายได้อาชีพ ความเสมอภาค มันต้องเกิดให้ได้ ต้องมาดูนโยบายว่าเหล่านี้เน้นเรื่องปัจจัยการผลิต มากกว่าศักยภาพ ทุกพรรคการเมืองยังเป็นโครงสร้างนโยบายเดิม นโนบายไม่ทันกระแสโลก ผู้ผลิตและปลายทางตลาดโลกต้องการคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น คือเราจะสร้างอย่างไร นโยบายที่พรรคการเมือง “การวางรากฐานการเปลี่ยนรูป การเปลี่ยนเกษตรไปแบบใหม่” transformation การเปลี่ยนรูปไปสู่เกษตรยุคใหม่ มั่นคง ผาสุกมากขึ้น รายได้ต้องมาจากการแข่งขันไม่ใช่การอุดหนุน ประเด็นเรื่องการอุดหนุนมันสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง อุดหนุนเพื่อการพัฒนา ปรับโครงสร้าง หรืออยู่ในระบบเกษตรต่อ ราคาเกษตรไม่ได้อยู่ในระบบตลาดจะทำอย่างไร สินค้าเกษตรที่ทำหน้าที่ชุมชนวัฒนธรรมเหล่านั้นมีแนวโน้มจะพัฒนาอย่างไรซึ่งไม่ได้อยู่ในตลาดที่รัฐส่งเสริม

เสียงจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรทางเลือกต่อพรรคการเมือง

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า นโยบายการถือครองที่ดินเป็นปัญหามาตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ต้องทำ ที่พรรคก้าวไกล เขียนไว้ พรรคอื่นไม่ได้ระบุ ผมเห็นว่าความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ความผิดพลาดของเกษตรกรรายบุคคล การถ่วงดุล เรื่องที่ดิน เป็นประการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่หลุดพ้นจากวงจรปัญหาความยากจน นอกจากนี้ที่น่ากังวลคือนโยบายคาร์บอนเครดิตของพรรคชาติไทย มันเป็นการเฉไฉไม่ใช่แก้ปัญหา มีกลุ่มทุนปล่อยคาร์บอนแล้วเอาเงินไปฟาดหัวให้ชาวบ้านปลูกป่า นโยบายนี้มีปัญหาแน่ๆ ส่วนการเสนอเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี ใช้ AI ทำการเกษตรของพรรคเพื่อไทย ประเทศญี่ปุ่นมีการถกเถียงว่าการใช้ AI ดีจริงหรือไม่ ทำให้ชาวนาได้กำไรจริงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องชี้ให้เห็นข้อมูลที่ส่งเสริมเกษตรกรส่วนใหญ่อย่างไร และสิ่งที่น่ากังวลของพรรคภูมิใจไทย เสนอนโยบายทำ contract farm พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ซึ่งนโยบายนี้ดูเหมือนจะไม่ได้เน้นเรื่องปัญหาของระบบเกษตรพันธะสัญญาแต่เหมือนจูงใจฝ่ายทุนให้และผลักภาระให้เกษตรกรแบกรับไว้ การมองนโยบายเดี่ยวโดยไม่มองเรื่องอดีตและความเป็นธรรมของนโยบายจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล

คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึง การมีนโยบายรองรับสังคมสูงวัยในกลุ่มเกษตรกร และการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ลดหนี้เพิ่มรายได้ ภายใต้นโยบายที่เสนอมา ยังคิดว่าไปไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องการจัดรูปภาคเกษตรแบบใหม่ แก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคเกษตร เรื่องจัดการผลผลิตนั้น สิ่งสำคัญคือสังคมการเกษตรในภาคชนบท คนสูงวัยถูกทอดทิ้ง คนหนุ่มสาวอยู่นอกถิ่น เด็กเกิดใหม่มีไอคิวต่ำ เรามีนโยบายไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไร contract farming พูดเรื่องเกษตรแนวใหม่ต่างๆ เข้าสู่เกษตรเต็มรูป เกษตรนิเวศน์ไม่มีใครพูดถึง มันสะท้อนว่าความรู้เกษตรของชาวบ้านไม่มีส่วนในการนำมาเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีพรรคไหนเอาความรู้ท้องถิ่น มาแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย และไม่สามารรถโยงไปกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างปัญหาโลกรวนที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ตอนนี้

กนกพร ดิษฐ์กระจันทร์ เกษตรกรอินทรีย์ อ.อู่ทอง กล่าวถึง ชีวิตของการทำอาชีพเกษตรกรที่ไม่มีสวัสดิการ โดยเสนอว่า รัฐสวัสดิการควรเข้าถึงแรงงานในระบบและนอกระบบซึ่งไม่ใช่รวมแค่เกษตรกร แต่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ผ่านมานโยบายเกษตรที่เน้นส่งเสริมสามารถเห็นได้ว่าไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง เช่น เกษตรดิจิตอล แปลว่าอะไร เมื่อคุณยังไม่ได้พัฒนาชีวิตเรื่องหนี้สินเกษตร ต้นทุนต่างๆ นอกจากนี้ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ไร้คุณภาพ ผลผลิตที่คุณภาพทำให้ประเทศไทยส่งออกสู้ต่างประเทศไม่ได้ การส่งเสริมพืชที่ไม่ได้คุณภาพมาแข่งขัน เน้นการปลูกพืชบางชนิดเดี่ยวๆ มันสะท้อนความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา รวมไปถึงเรื่องการควบคุมราคาปุ๋ยราคาต้นทุน นอกจากนี้การพัฒนาเกษตรต้องครบทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่พืชไม่กี่ชนิด ไม่มีนโยบายด้านเกษตรในระบบนิเวศน์ ที่ไปเห็นผลผลิตอื่นๆที่ได้ผลกระทบ

ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึง นโยบายพรรคการเมืองเน้นเรื่องการอุดหนุนเรื่องการจุนเจือ ในขณะที่นโยบายสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไม่ปรากฎเลย พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ เคยบอกจะผลักดัน พ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืน แต่ก็ถูกผลักดันจริง เราพูดเสมอว่าเกษตรกรไม่เหมือนอาชีพอื่นๆเพราะทำอาชีพบนวิถีของตัวเอง นิเวศน์เฉพาะของตนเอง งานของเกษตรกรจึงต้องมองแตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ เกษตรกรต้องการทักษะเสริมและนโยบายที่เฉพาะยืดหยุ่นเพื่อรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด โควิด และการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างมาก อีกเรื่องคือการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานเกษตรคือเรื่องสำคัญ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาต้องมีบทบาทมากกว่าคนสูงวัย ตัวละครหรือตัวเล่นเหล่านี้ทำให้เกษตรต้องเปลี่ยนจากการทำเกษตรเดี่ยวๆมาเป็นอาชีพ เป็นผู้ประกอบการ ภาควิชาการต้องมาหนุนพัฒนาความเข้มแข็งให้พวกเขาอยู่ได้ทำได้ อีกเรื่องสำคัญคือ ข้อเสนอจากนักวิชาการในเรื่องของปัญหานโยบายเชิงเกษตรไม่เคยมาประมวลให้ประชาชนได้เห็นในช่วงการเลือกตั้ง มีแต่องค์กรอิสระเข้ามาแทนที่

ผู้ใหญ่หนึ่งฤทัย ไทรม้า เกษตรกร นนทบุรี การรุกล้ำที่ดินใช้เกษตรกรเป็นตัวเชื่อมและหาประโยชน์ ไม่มีพรรคไหนจริงใจ มองว่าเกษตรกรคือภาระ ตัวถ่วง และเวลาหาเสียงจะเอาปมด้อยเกษตรกรมาพูดเพื่อเอาคะแนนนิยม และถึงเวลาก็เพิกเฉยไป สภาพดิน สภาพน้ำ สภาพอากาศ เราพูดถึงเพื่อพัฒนาเกษตรกร เราต้องพยุงราคาข้าว ราคาอ้อย ไม่มีใครพูดเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนที่เกษตรกรเผชิญเลย การที่ถูกบีบคั้นจากแรงกดดันและการเปลี่ยนแปลงทำให้เกษตรกรจับฟางเส้นสุดท้ายก็คือการขายที่ให้นายทุน ความมั่นคงอาหารเปลี่ยนไป

คุณวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัย 101PUB – พลิกโฉมเกษตรกรรม ตอนนี้ข้อเสนอหลายพรรคไม่ได้มองเงินอุดหนุนว่าเป็นมาตรการระยะสั้น แต่มองว่าไปเรื่อยๆ มีเรื่องการอุดหนุน ประกันรายได้ อีกข้อเสนอนึงที่อาจตีความได้ว่าเป็นเรื่องอุดหนุนราคาเกษตร ที่พรรคภูมิใจไทยอธิบาย contract farm เนื้อแท้ คือ โครงการจำนำข้าวแบบยิ่งลักษณ์ ภูมิใจไทย คือมีนโยบายแบบรับจำนำ ประชาธิปัตย์ เงินช่วยต้นทุนชาวนา รวมไทยสร้างชาติแถลงว่าขยายตัวช่วยต้นทุนชาวนานา จาก 1 พันเป็น 2 พัน 5 ไร่แรก เชื่อว่ามีอีกหลายพรรค ที่จะปล่อยเซอร์ไพรซ์ ปล่อยตอนท้ายๆ เช่น พลังประชารัฐ เสนอค่าแรง 425 บาท เราหวังว่าจะทำเรื่องเงินอุดหนุนเปลี่ยนไปเป็นสวัสดิการเป็นสิทธิที่พึงมีในฐานะมนุษย์ และพลิกโฉมได้

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า คือวันแรกที่ทุกพรรคไปเป็นรัฐมนตรีเกษตร ทุกคนไม่ว่ามาจากพรรคไหน เขาก็จะได้รับข้อมูลเหล่านี้แล้วปล่อยผ่านไป ในมุมของผม กล้าพูดในฐานะคนปฏิบัติงานจริง สิ่งที่เราไม่เห็น คือปัญหาโครงสร้างการทำงานแบบกระทรวงเกษตร ที่เป็นอุปสรรค เสนอว่าให้ยุบกระทรวงเกษตร เพราะรูปแบบการจัดการแบบกระทรวงไม่ไม่มีประสิทธิภาพ การพูดเรื่องอนุรักษ์ พูดเรื่อง BCG การออกแบบนโยบายเพื่อให้บริหารการเกษตรต้องออกแบบใหม่ ดังนั้นจึงมองว่า ฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคไหนต่อให้ก้าวไกล ก็คิดได้แค่นี้ ฟังค์ชั่นมันบีบให้ต้องทำแบบเดิมๆ กระบวนการจัดการนโยบายเกษตรทั้งระบบ ประเด็นต่อมาเรื่องกระจายอำนาจ ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพมากพอ การปฏิรูปได้ต้องเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ซึ่งกลุ่มนี้จัดงบการบริหารราชการแผ่นดินต้องส่งเสริมชาวบ้าน เกษตรกร และพวกเขาควรเลือกผู้ว่าฯเองได้ ต่อมางบประมาณด้านการเกษตร มันแทรกอยู่ในหลายกรมกองมาก ไปดูว่างบอยู่ในอาหารและยาเท่าไหร่ ในแทรกอยู่ในกรมอนามัย สนง.เศรษฐกิจฐานชีวภาพเท่าไหร่ เบี้ยหัวแตกแบบนี้ไม่เห็นเอกภาพ เงินอุดหนุนประมง โครงการน้ำมันเขียว ทำไมเราต้องอุดหนุน เพราะประเทศไทยส่งทูน่าอันดับ 1 ของโลก นโยบายของประชาธิปัตย์ เรื่องอุดหนุนประมงท้องถิ่น ชุมชนละ 100,000 บาท เห็นพรรคเดียวที่พูดเรื่องนี้ ชุมชนประมงชาวบ้าน ประมงรายใหญ่ปัญหาอ่าวไทยไม่มีปลาจับ ไปจับปลาเพื่อนบ้านแล้วเกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ ผมกำลังจะบอกว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำในมหาสมุทรมันไม่ใช่ทรัพยากรสัญชาติไทย ต้องปฏิบัติการตามหลักสากล ดังนั้นเราจำเป็นต้องพูดเรื่องโครงสร้างจัดการนโยบายเกษตร กลไกของรัฐส่วนไหนที่ให้ท้องถิ่นทำ เรื่องไหนกระทรวงทำ รูปแบบสภาเกษตรที่ไม่ใช่หน้าที่ให้คำปรึกษา เราควรทำอย่างไรให้มันทำงานได้ในความเป็นจริง

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เราเสนอหลายเรื่องยากมาก เรื่อง พ.ร.บ เกษตรกรรมยั่งยืน สภาเกษตรฯ เสนอ แต่ถูกตีตก 3-4 ประเด็น ที่จะนำเสนอคือ เรื่องการกระจายอำนาจ ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเรื่องอาชีพของเกษตร เรื่องนโยบายต่างประเทศ เรื่องการปรับตัวของกระทรวงเกษตร พรรคการเมืองพูดเรื่องการปรับตัวเกษตรกร เราต้องพูดถึงการปรับตัวของกระทรวงเกษตรด้วย ราคาพืชผล ราคาพืชไร่ ราคา ข้าว น้ำมันปาล์ม ข้าวโพด พรรคการเมืองเขาจะทำให้ราคาสูงได้อย่างไร ในเมื่อเราแข่งขันในระดับโลก ต้นทุนเราสูงกว่าต่างประเทศเยอะ เราแข่งขันในราคาโลก อันนี้คือคำถามใหญ่ สิ่งที่เราอยากจะทำคือ หาพืชที่เหมาะสมมาทำมากขึ้น เช่น พื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ สามารถทำปศุสัตว์ ไม้ยืนต้น การใช้ที่ดินควรให้เกษตรกรได้ประโยชน์ตามลักษณะที่ดิน ตามความเหมาะสม

ข้อเสนอแนะจากเวที

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวข้อเสนอว่า ต้องมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและไม่พิสูจน์ความจน 2.การศึกษาถ้วนหน้าตลอดช่วงอายุ ต้องมีเรื่องนี้ 3.เรื่องสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมป้องกันเสมอภาค การจ่ายค่ารักษาคนทุกกองทุนเท่ากัน 4.เรื่องภัยพิบัติ คนที่ประสบภัยต้องได้รับอย่างเหมาะสมทันท่วงที 5.บำนาญผู้สูงอายุ บนเส้นความยากจน ปรับเปลี่ยน ให้ทันทุก 3 ปี ทุกคนได้ถ้วนหน้า ให้มีกรรมการดำเนินการ มีระบบมีส่วนร่วมภาคประชาชนไปบริหาร การเน้นเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกคน ในระยะไกลคือหลักประกันรายได้ ในหลายประเทศในโลกนี้ เริ่มพูดหลักประกันรายได้ตามช่วงอายุ ถ้ามีรายได้ต่ำกว่าเท่านี้ ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ เอาทุกคนเข้ามาสู่ระบบภาษี พี่น้องแรงงานเข้ามาสู่ระบบภาษี ใครมีรายได้ไม่เพียงพอ มีรัฐสวัสดิการประกันเรื่องรายได้ มีรายได้แค่ไหน เงินอุดหนุน หลักประกัน อุดหนุนครัวเรือนไม่ได้อุดหนุนรายบุคคล เอามาอยู่ใมระบบภาษีและจัดเรื่องหลักประกันรายได้ การว่างงาน รายได้ต่ำ ไม่ใช่ถ้วนหน้าแต่มีเกณฑ์บนฐานการดำเนินชีวิตเป็นนัยสำคัญ และหลักประกันด้านที่ดิน สวัสดิการเรื่องที่ดิน เราจะอุดหนุน ที่ดินที่อยู่อาศัยคนมีบ้านของตัวเองได้ ที่ดินการเกษตร จะกระจายทรัพยากรกระจายอย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องคิดต่อ อันถัดมา รัฐสวัสดิการเรื่องการกระจายระบบขนส่งสาธารณะ ให้กระจายไปทุกหัวเมือง การขนส่งสาธารณะ ที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรพึ่งพา นำผลผลิตออกสู่ตลาดได้ และสุดท้าย สวัสดิการเรื่องโทรคมนาคม ถ้าบอกว่าจะให้ไป AI ในเรื่องนี้ยังไม่พร้อม ช่วงโควิดระบาด มีปัญหาที่สะท้อนเรื่องนี้ว่าขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นธรรม

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวทิ้งท้าย เรายังมีปัญหาการผูกขาดระบบการกระจายอาหารที่อยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่ มีการปล่อยให้ควบรวมกิจการ ปล่อยให้ค้าปลีกรายเดียวถือครองตลาดร้านสะดวกซื้อเกิน 80 % นโยบายการอุดหนุนการผลิตเชิงเดี่ยวทั้งหลายนั้นไม่ใช่ทำให้เกษตรกรรายใหญ่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่เบื้องหลังคือคงการผลิตเกษตรเพื่อป้อนให้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนไหว พ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืนถูกสกัด ปัจจุบันเรายังคงมีปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร เด็กไทยที่ขาดสารอาหารที่ทำให้เตี้ยแคระแกร็น ตัวเลขอยู่ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ สถิติเมื่อเทียบกับละตินอเมริกาสถานการณ์ไทยนั้นแย่กว่ามาก ความมั่นคงทางอาหารของเด็ก สะท้อนปัญหาระบบโภชนาการ และความปลอดภัยในเรื่องอาหาร โดยผลสำรวจล่าสุด ตลาดที่เป็นค้าส่งทั่วไปผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้เมื่อไปเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ประเทศเขายอมรับได้แค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ มูลนิธิการศึกษาไทยไปสำรวจ พบ 63 เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทยได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตอนนี้อาหารของเด็กมีปัญหามาก ซึ่งส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กด้วย จึงอยากเสนอให้ใช้รัฐสวัสดิการมาตอบโจทย์ปัญหาเรื่องเหล่านี้ ถ้าเราจะสร้างระบบสวัสดิการที่ทำเกิดเงื่อนไขการเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม เปลี่ยนอาหารเด็กให้ปลอดภัย เพียงพอ ประเด็นผมเสนอคือ ใช้โมเดลแบบประเทศเดนมาร์ก และหลายประเทศในยุโรป มียุทธศาสตร์เรื่องการปรับเปลี่ยนการผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างปี 2009 ประเทศอิตาลี เปลี่ยนอาหารในโรงเรียนเป็นอินทรีย์ 40 เปอร์เซ็นต์ เดนมาร์กก็เช่นกัน เราสามารถแก้ปัญหาจุดวิกฤตเรื่องอาหารของประเทศไทย ลดปัญหาการใช้สารเคมีที่ไม่ปลอดภัยในระบบการเกษตรด้วยระบบรัฐสวัสดิการ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวข้อเสนอว่า ความต้องการเปลี่ยนผ่านพลิกโฉมโครงสร้างการผลิต สังคมไทยไม่สามารถจ่ายเงินแสนกว่าล้านงบประมาณอุดหนุนเกษตรไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนการผลิต ข้อเสนอคือการอุดหนุนระยะสั้นยังจำเป็นต้องมี เพราะเกษตรกรถูกขูดรีดมายาวนาน เวลาราคาสูงก็ถูกเก็บค่าพรีเมี่ยม ภาษีส่งออก แต่ควรออกแบบการอุดหนุนระยะสั้นให้มีเงื่อนไขเรื่องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของเกษตรกรเพื่อรองรับการแก้ไขในระยะยาว ขยายความอุดหนุนเพื่อการพลิกโฉม มีวิธีคิดเดิมของพรรคการเมืองได้เสนอเยอะมาก เช่น นาอินทรีย์ล้านไร่ เริ่มต้นได้แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะภาพชัดว่าพี่น้องกลับมาสู่แบบเดิมไม่สามารถขายข้าวแบบอินทรีย์ได้แตกต่างจากข้าวเคมี บทเรียนความล้มเหลวมีตัวอย่างมากมาย ชาวบ้านเองมีบทเรียนประสบการณ์ที่ล้มเหลวและสำเร็จ เช่น การสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ยโสธร ประกาศเป็นจังหวัดอินทรีย์ บทเรียนตลาดสีเขียวท้องถิ่นที่เชื่อมผลผลิตกับโรงพยาบาล อบต. และเห็นว่าเกษตรกรจำนวนมากผูกติดกับระบบฐานทรัพยากรท้องถิ่น เช่นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า เราจึงไม่สามารถมองเกษตรกรเพียงแค่รูปแบบการผลิต และการแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมเงินอุดหนุนแบบเดิมๆ

ดร.ไชยยะ คงมณี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เห็นว่าปัญหาสำคัญคือกลไกการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น บทเรียนเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีแต่มีปัญหาทางปฏิบัติ ตัวเองอยากเสนอให้มีการเปลี่ยนการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมาเป็นการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น เรามีงานศึกษาชัดเจนที่บอกว่าสวนยางผสมผสานมีรายได้มากกว่ายางเชิงเดี่ยวมาก การพัฒนาตลาดโดยเกษตรกรไม่มีใครนำเสนอเรื่องนี้ นี้เป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอดการแข่งขันได้ในยุคที่ภาคธุรกิจแข็งแกร่ง เกษตรกรอ่อนแอ เราต้องปรับเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรสัก 1 ล้านราย และที่พรรคการเมืองเสนอแล้วคือการสร้างมาตรฐานต่างๆ ที่ทั่วโลกยอมรับ งานวิจัยก็ยังมีการพูดถึงกันน้อย การลดความเสี่ยงด้วยการสร้างกองทุนเสถียรภาพรายได้เกษตรกร ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจพัฒนาเป็นนโยบายได้

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวเสนอเพิ่มเติม ประเด็นเกษตรกรสูงวัยกับคนรุ่นใหม่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง เรื่อง “แรงงานคืนถิ่น” การจะให้คนรุ่นใหม่กลับไปสู่การเกษตรต้องการกองทุนเพื่อพัฒนาทักษะ บางคนออกจากโรงงานไป อายุ 38-40 ต้องการกองทุนที่เข้าถึงง่ายทำให้เขาได้เรียนรู้ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทดลองตลาด อุดหนุนช่วยเพื่อการปักหลักในท้องถิ่นได้ยั่งยืน ข้อเสนอที่2 เรื่องหนี้สิน เมื่อพูดถึงปัญหานี้มักจะไปติดเรื่องวินัยทางการเงิน แต่หนี้สินคือวิกฤตครอบครัว ปัญหาครอบครัว คนทำงานเมือง-อุตสาหกรรม ที่อยากกลับบ้านแต่มีหนี้ เขาติดเครดิตบูโรทำอะไรไม่ได้ สร้างความเครียดมหาศาล มันต้องการการช่วยเหลือหนี้สิน การผ่อนปรน ยืดหนี้ ดังนั้น เรื่องแรงงานคืนถิ่นในระบบเกษตร ต้องการการอุดหนุนระยะสั้นเพื่อการปรับเปลี่ยน ภาครัฐควรเริ่มจากมีข้อมูล ทำเพื่อให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนนำไปสู่โอกาสที่ดีกว่า การเพาะปลูกเป็นวัฒนธรรม การเกษตรเป็นวัฒนธรรมและเป็นทักษะ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ การเกษตรแข่งขันไม่ได้เชิงเปรียบเทียบในภูมิภาค มันต้องการไปนำไปสู่ขั้นที่สร้างสินค้านวัตกรรม ดังนั้น ข้อเสนอสำคัญคือต้องการองค์กรที่รับผิดชอบทางนโยบาย อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ถนัดทำงานกับเกษตรกร หาความรับผิดชอบ กลไก องค์กร ที่พัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรม เช่น โลกปัจจุบันสนใจ แป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าว ไม่มีกลูเต็น แต่นวัตกรรมเหล่านี้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้หรือไม่ ไม่มีองค์กรที่รับผิดชอบร่วมกับเกษตรกรในการพัฒนาสินค้านวัตกรรม ต้องทลายความเชื่อเรื่องพืชเชิงเดี่ยว เพราะปัจจุบันชี้แล้วว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่สามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนที่ทำให้อยู่ได้ อ้อย กับข้าวโพด กินพื้นที่เยอะมาก เราไม่ปฏิเสธพืชเหล่านี้ แต่ต้องเป็นหน้าที่บริษัทอุตสาหกรรมที่ต้องเพิ่มผลิตภาพโดยการทำงานร่วมกับเกษตรกร

สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอว่า 1.สร้างความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญ สถาปนานโยบายความรู้ท้องถิ่น วิจัย ชาวบ้านเข้าถึงทุนในการศึกษา ไม่ควรอยู่ที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว งานความรู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่มาควรจากท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงข้างล่างขึ้นข้างบน 2. นโยบายการรองรับการปรับตัวของสังคมสูงวัย มันสัมพันธ์กับการกลับบ้าน การพึ่งพิงวัยแรงงาน สังคมไทยภาคเกษตรเองยังไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราไปทำงานกับคนคืนถิ่น เขามีครอบครัว มีความรู้ฟื้นท้องถิ่น รองรับการกลับบ้านสร้างแรงจูงใจ กองทุนให้คนกลับบ้าน ผ่าน ธกส. มีเงินคนตั้งหลักในหมู่บ้าน แก้ปัญหาระบบผูกขาดการผลิต หรือเกษตรพันธสัญญา 3. นโยบายความมั่นคงทางอาหาร การปกป้องพื้นที่อาหาร เรื่องเหล่านี้ต้องหยิบขึ้นมาให้ อบต. ระดับท้องถิ่น สร้างอาหารอย่างเพียงพอ เรื่องอาหารปลอดภัยในระดับท้องถิ่น การยกเลิกสารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ กล่าวว่า นโยบายเกษตรกรรมมันพันกับเรื่องสวัสดิการ กับการปรับเศรษฐกิจภาพใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเกษตรเท่านั้น โครงความคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับนโยบาย ไม่ใช่แค่เพียงเกษตร แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และความความมั่นคงของมนุษย์ ที่ไม่ใช่จำกัดที่ กระทรวง พม. เราจะจัดเวทีตลาดนัดนโยบาย ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยง โดยสถาบันวิจัยสสังคมจุฬาฯ จะร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และภาคีอื่นๆ ในช่วงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

 

ที่มา: มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: