สื่อ BenarNews รายงานเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 ว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกว่า 300 คน เข้าตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติและเตรียมมอบบัตรประชาชนให้ | ที่มาภาพ: BenarNews
BenarNews รายงานเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 ว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกว่า 300 คน เข้าตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติและเตรียมมอบบัตรประชาชนให้เพื่อให้ได้สิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนในเวลาหลังสี่เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ ระหว่างวันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา
ในครั้งนี้ ประชาชนผู้ไร้สัญชาติไทย จากพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ที่เข้ารับการตรวจดีเอ็นเอ กล่าวว่า ตนหวังว่าเมื่อมีบัตรประชาชนแล้วจะเพิ่มความสะดวกในการประกอบอาชีพของตนเองได้
“ผมไม่มีบัตรประชาชนเพราะว่าตอนเด็กอาศัยอยู่กับพ่อในประเทศมาเลเซีย แต่ปัจจุบัน อายุ 34 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีประชาชน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิการศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่เคยเดินทางไปรักษาโรงพยาบาล เพราะไม่มีเอกสารที่สามารถยืนยันตัวตนได้ แต่วันนี้รู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลไทยได้ดูแล ถ้าได้บัตรประชาชนก็จะเอาไปหางานทำ เพิ่มช่องทางรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว” ผู้ขอรับบัตรประชาชนที่ขอสงวนชื่อและนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัวกล่าวกับเบนาร์นิวส์
ข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ระบุว่า ในตอนสิ้นปี 2560 มีบุคคลไม่มีสัญชาติใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 13,905 คน แบ่งเป็น ยะลา 1,423 คน, ปัตตานี 1,596 คน, นราธิวาส 1,236 คน, สตูล 490 คน และสงขลา 9,160 คน
ในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้ดำเนินโครงการตรวจสารพันธุกรรม ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเริ่มกิจกรรมเป็นครั้งแรก ณ สถานกงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู มาเลเซีย จากนั้น ในปี 2561 ศอ.บต. ได้เริ่มการตรวจดีเอ็นเอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก มีผู้ได้รับบัตรประชาชนเรียบร้อยแล้ว 699 คน ในนั้นเป็นเด็กที่เกิดในมาเลเซีย 90 คน
เมื่อนับจำนวนผู้ได้สัญชาติไทยรายใหม่ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการมอบบัตรประชาชนไปแล้วกว่า 2,200 คน โดยมีญาติพี่น้องที่เป็นคู่เทียบดีเอ็นเอกว่า 4,000 คน ตามสถิติของ ศอ.บต.
“กิจกรรมวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของประชาชนที่ไม่มีตัวตนทางทะเบียนราษฎรที่ขาดสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความมนุษย์บนผืนแผ่นดินไทยมาโดยตลอดทำให้การดำเนินชีวิตทั้งสิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษา การทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ” พล.ร.ต. สมเกียรติ กล่าว
“สาเหตุหลักมาจากประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความลำบากยากจน หรือไม่มีความรู้และไม่เห็นความสำคัญของงานทะเบียนราษฎร” พล.ร.ต. สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
กิจกรรมการตรวจสารพันธุกรรมในสัปดาห์นี้ จัดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อ.เมือง ยะลา, อ.ปานะเระ, จ.ปัตตานี หรือ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีประชาชนเข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม 312 คน และมีบุคคลอ้างอิงจากพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้าร่วม 686 คน
การตรวจสารพันธุกรรม เป็นความร่วมมือของ ศอ.บต. ส่วนราชการในพื้นที่ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โดยแบ่งกระบวนการเป็น 5 ขั้นตอน คือ 1. การซักประวัติ 2. การตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม 3. การตรวจสอบเอกสาร 4. การพิมพ์ลายมือ และ 5. การถ่ายภาพ
หลังจากนั้น ข้อมูลการตรวจจะถูกส่งเข้าห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อเทียบกับบุคคลอ้างอิงว่ามีความสัมพันธ์กับคนมีสัญชาติไทยจริงหรือไม่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 120 วัน ถ้าพิสูจน์ว่ามีสัญชาติไทยจริงก็จะมีการออกบัตรประชาชนให้แก่บุคคลที่ร่วมกิจกรรมต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ