กรมสุขภาพจิตชี้ครอบครัวมีส่วนสำคัญในสังเกตพฤติกรรมผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 4123 ครั้ง

กรมสุขภาพจิตชี้ครอบครัวมีส่วนสำคัญในสังเกตพฤติกรรมผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำสังคมร่วมใจเฝ้าระวังพร้อมแจ้งเหตุที่อาจนำมาซึ่งความรุนแรง ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ชี้ครอบครัวมีส่วนสำคัญในสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไม่ขาดการรักษา กินยาอย่างสม่ำเสมอ | ที่มาภาพประกอบ: Joe Skinner Photography (CC BY-NC-ND 2.0)

กรมสุขภาพจิต รายงานว่าจากกรณีที่ชายวัยกลางคน ถือมีดตัดอ้อยบุกเข้าไปบริเวณโรงเรียนเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ครูและนักเรียนหลบหนีกันอย่างชุลมุน สร้างความตระหนกให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จากข้อมูลเบื้องต้นพบเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่กินยาต่อเนื่อง กรมสุขภาพจิตเน้นย้ำหากพบผู้มีความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติสุขภาพจิต สามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ทันที พร้อมขอความร่วมมือครอบครัวและญาติขอผู้ป่วยจิตเวชช่วยกันสอดส่องให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอาการกำเริบ ทั้งนี้หากผู้ป่วยปฏิเสธการรับประทานยา สามารถประสานงานไปยังหน่วยงานที่รักษาหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีอื่น เช่น เปลี่ยนเป็นยาฉีดต่อไปเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะผลักดันผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดให้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของระบบสาธารณสุข และบูรณาการการรักษาโดยการให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติ แต่ถึงอย่างไรก็ตามมาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กัน คือการเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกต พฤติกรรม สัญญาณเตือนของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา

1. มีภาวะอันตราย 2. มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น มีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการตาม มาตรา 27 ซึ่งหากประชาชนท่านใดพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323

นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันการรับยาของผู้ป่วยจิตเวชนั้นสะดวกและสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ป่วยในระบบสามารถทำได้โดยการรับผ่านหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน แต่ปัญหาที่พบคือการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จนบางรายอาการกำเริบและนำไปสู่การก่อความรุนแรง ซึ่งทั้งนี้ครอบครัวต้องให้ความร่วมมือสอดส่องให้ผู้ป่วยรับประทานต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว หรือความผิดปกติที่เคยมีเช่น หูแว่ว ประสาทหลอนจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นไม่ได้แปลว่าหายขาดต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมออย่าหยุดยาเอง รวมไปถึงต้องห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากปฏิบัติตามที่กล่าวมา จะไม่มีปัญหาอาการกำเริบและมีโอกาสหายสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยครั้งแรก แต่หากปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีโอกาสป่วยเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ต้องพึ่งยาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่มีเป็นโรคประจำตัวทั่วไป ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ยอมกินยา เพราะคิดว่าไม่ได้ป่วยหรือเชื่อว่าตนหายดีแล้ว ซึ่งหากญาติหรือครอบครัวพบว่าผู้ป่วยไม่รับประทานยา ให้รีบประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขที่ดูแลเพื่อหาทางวางแผนการรักษารูปแบบอื่น และปรับเป็นให้ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์นาน เพื่อป้องกันอาการกำเริบต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: