ก.พาณิชย์ เผยธุรกิจ 'กิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาด' ขึ้นแท่นธุรกิจดาวเด่น เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113%

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1091 ครั้ง

ก.พาณิชย์ เผยธุรกิจ 'กิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาด' ขึ้นแท่นธุรกิจดาวเด่น เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113%

มูเตลูไทยเฟื่องฟูดันธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดขึ้นแท่นธุรกิจดาวเด่น เปิดรายได้รวมปลายปีเพิ่มขึ้นกว่า 113% ขณะที่สินทรัพย์ธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 50% โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาความเชื่อของผู้บริโภคมากที่สุด ขณะที่การพยากรณ์ดวงชะตาแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือนได้รับความนิยมสูงสุด แนะให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2566 ว่านายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตั้งแต่ปี 2563 เข้าสู่ปี 2566 มูเตลู หรือความเชื่อในศาสตร์เร้นลับ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเสริมดวงและโชคชะตาในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ผู้นับถือศาสตร์มูเตลู (สายมู) เชื่อว่าการบูชาและศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังจะช่วยส่งเสริมด้านการงาน การเงิน โชคลาภ และความรัก ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจและส่งพลังด้านบวกให้ชีวิต ผนวกกับเรื่องของความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวลและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน มีปัจจัยที่ไม่อาจคาดการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด อันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา ความเห็นต่าง รวมทั้ง การไม่สามารถปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ภาคธุรกิจสบโอกาสที่จะนำความเชื่อในมูเตลูมาใช้สร้างรายได้และผลกำไรมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงการบริหารจัดการ พบว่า มีการปรับตัวนำศาสตร์แห่งความเชื่อมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์) และประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกช่วงอายุมากขึ้น รวมทั้ง ใช้ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (Influencers) หรือผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์/ความรู้สึกกับลูกค้า ส่งผลให้' ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาด' มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ปี 2563 - 2565 ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 7.59 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือร้อยละ 81.8) ทุน 13.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 76.7) ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย หรือร้อยละ 20.0) ทุน 27.45 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 104.7)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 28.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.48 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.5) สินทรัพย์ 47.31 ล้านบาท (ลดลง 2.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5) กำไร 1.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.40 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.7) และ ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32.52 ล้านบาท หรือร้อยละ 113.1) สินทรัพย์ 71.07 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.76 ล้านบาท หรือร้อยละ 50.22) ขาดทุน 1.86 ล้านบาท (ลดลง 3.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 222.4) ทั้งนี้ ปี 2564 มีรายได้รวมและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปี 2563 แต่มีผลประกอบการขาดทุน แสดงถึงแนวโน้มของธุรกิจอยู่ในช่วงขยายการลงทุนรองรับการเติบโตหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 98.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.64 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากต่างชาติ 2 สัญชาติ คือ จีน มูลค่า 2.45 ล้านบาท (ร้อยละ 2.40) และ ฝรั่งเศส มูลค่า 0.98 ล้านบาท (ร้อยละ 0.96)

ปัจจุบัน ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อสนับสนุนการตลาดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีจำนวน 93 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (857,511 ราย) และมีมูลค่าทุน 101.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0005 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย (21.36 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 46 ราย (ร้อยละ 49.46) ทุนจดทะเบียน 60.33 ล้านบาท (ร้อยละ 59.16) รองลงมา คือ ภาคกลาง 22 ราย (ร้อยละ 23.66) ทุน 17.41 ล้านบาท (ร้อยละ 17.07) ภาคตะวันออก 6 ราย (ร้อยละ 6.45) ทุน 5.90 ล้านบาท (ร้อยละ 5.79) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ราย (ร้อยละ 6.45) ทุน 5.55 ล้านบาท (ร้อยละ 5.44) ภาคเหนือ 5 ราย (ร้อยละ 5.38) ทุน 1.29 ล้านบาท (ร้อยละ 1.26) ภาคใต้ 55 ราย (ร้อยละ 5.38) ทุน 9.40 ล้านบาท (ร้อยละ 9.22) และ ภาคตะวันตก 3 ราย (ร้อยละ 3.22) ทุน 2.10 ล้านบาท (ร้อยละ 2.06)

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อด้านโชคลางของคนไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) การพยากรณ์ (รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์) โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิบซี 2) พระเครื่องวัตถุมงคล 3) สีมงคล 4) ตัวเลขมงคล และ 5) เรื่องเหนือธรรมชาติ ส่วนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาด้านความเชื่อโชคลาง ส่วนใหญ่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ รองลงมา คือ บุคคลรอบข้าง และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อเพื่อส่งเสริมการตลาดในประเทศไทยมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจ หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือหรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือและต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น" รมช.พณ.สินิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: