แอมเนสตี้เรียกร้องทางการลาวสอบสวนการยิงสังหาร ‘แจ็ค’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนวัย 25 ปี โดยทันที

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 พ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 38607 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องทางการลาวสอบสวนการยิงสังหาร ‘แจ็ค’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนวัย 25 ปี โดยทันที

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการลาวเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ยิงสังหาร “แจ็ค” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเลือดเย็น โดยเขาถูกยิง ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

3 พ.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่า "อานุซา หลวงสุพม" หรือ "แจ็ค" อายุ 25 ปี ได้โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในลาว และมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในสื่อโซเชียล เขาถูกยิงสองนัดโดยบุคคลซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

โจ ฟรีแมน รักษาการรองผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านการสื่อสารประจำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าทางการลาวต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ครบถ้วนรอบด้าน เป็นอิสระ และเป็นกลาง ต่อเหตุการณ์การสังหารอันเป็นที่น่าสะเทือนขวัญของนักกิจกรรมเยาวชนที่กล้าออกมาพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในลาว ไม่ควรมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนใดถูกฆ่าเพียงเพราะการทำงานของเขา

แจ็คเป็นผู้วิจารณ์การเมืองและสังคมลาวอย่างแหลมคม เขาทำเพจเฟซบุ๊กสองเพจ โดยมีชื่อเป็นคำแปลภาษาไทยว่า “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” และ “สทล. - สาธารณรัฐ” ทั้งสองเพจนี้เผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยรวมไปถึงปัญหามลพิษฝุ่นควันในลาว สิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยกับเพื่อนนักกิจกรรมสองคนของแจ็ค ซึ่งบอกว่าการยิงสังหารครั้งนี้ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นและส่งผลให้ประชาชนลาวรู้สึกเกรงกลัวที่จะแสดงความเห็นที่แหลมคมเกี่ยวกับปัญหาสังคมยิ่งขึ้นไปอีก

“ผมสะเทือนใจอย่างมากกับการเสียชีวิตครั้งนี้ และก็กลัวมากว่า อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับผมด้วย” หนึ่งในเพื่อนนักกิจกรรมที่ทำงานกับแจ็ค เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟัง

เพื่อนคนดังกล่าว ซึ่งไม่ประสงค์จะระบุชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย บอกว่า เขาไม่ได้ไปเยี่ยมแจ็คที่โรงพยาบาลเพราะกลัวจะตกเป็นเป้าสอดแนมของทางการ เขากังวลว่ากำลังตกเป็นเป้า หากทางการพบว่าเขาเป็นเพื่อนของแจ็ค

“ผมนอนไม่หลับเลยในช่วงสองคืนที่ผ่านมา กลัวจนทำอะไรไม่ถูก ช่วงนี้ผมคงจะต้องหยุดการเคลื่อนไหวสักพักหนึ่ง” เขากล่าวเสริม

คลิปเหตุการณ์ยิงสังหาร ถูกเผยแพร่ตามรายงานข่าวของ ลาวพัดทะนาเดลินิวส์ สื่อซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับทางการลาว และได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางในบรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จวบจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม ทางการลาวยังไม่ได้ระบุตัวผู้ก่อเหตุ แม้จะมีคลิปวิดีโอเป็นหลักฐาน

ลาวเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิต ตามข้อ 6 และสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกตามข้อ 19 อย่างไรก็ดี รัฐบาลลาวยังคงควบคุมสื่อมวลชนเกือบทั้งหมด และที่ผ่านมา ลาวมีประวัติของการปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน

“ประชาคมนานาชาติ และหน่วยงานของสหประชาชาติ ต้องเรียกร้องให้ทางการลาวรับประกันให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โจ ฟรีแมนกล่าว

 

ข้อมูลพื้นฐาน

แจ็ค เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงในลาว เพจ “ขับเคลื่อนด้วยคีย์บอร์ด” มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 41,000 คน ส่วนเพจ ”สทล.-สาธารณรัฐ” มีผู้ติดตามกว่า 6,800 คน

การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระและการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในลาว เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง และปรากฏกรณีการทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนบางกรณี ซึ่งไม่ได้รับการคลี่คลายแม้จะผ่านไปหลายปี ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 สมบัด สมพอน ผู้นำภาคประชาสังคม ถูกบังคับสูญหายเข้าไปในรถกระบะของบุคคลซึ่งระบุตัวตนมิได้ หลังถูกตำรวจเรียกให้หยุดตรวจที่เวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือได้รับข่าวสารจากเขาอีกเลย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้บันทึกข้อมูล การจับกุมสามนักสิทธิมนุษยชนชาวลาว รวมทั้งสุกาน ชัยทัด สมพอน พิมมะสอน และหลอดคำ ทำมะวง ในเดือนมีนาคม 2559 หลังจากพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบที่ด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 พวกเขายังได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก วิจารณ์รัฐบาลลาวเกี่ยวกับปัญหาการทุจริต การตัดไม้ทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อมาพวกเขาทั้งสามคนได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ถึง 20 ปี ภายหลังการพิจารณาคดีลับเมื่อเดือนเมษายน 2560 ภายหลังศาลมีคำพิพากษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 อ๊อด ไชยะวง อดีตสมาชิกกลุ่ม 'ลาวเสรี' ซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน การทุจริต และปัญหาสิ่งแวดล้อมในลาว ได้หายตัวไปจากบ้านที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น เขาอยู่ระหว่างการลี้ภัยในประเทศไทย และเพิ่งจะเข้าพบกับผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนสุดโต่งและสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ก่อนที่ผู้รายงานพิเศษจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการต่อไป ณ ประเทศลาว ในเดือนกันยายน 2565 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติชี้ว่า การหายตัวไปของอ๊อด อาจเป็นการตอบโต้เอาคืนจากการที่เขาให้ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: