ผลสำรวจพบคนไทย 37.5% ไม่อยากเสียภาษี เพราะ 'เงินไม่พอ-หวั่นรัฐนำไปจัดสวัสดิการไม่ทั่วถึง'

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 6635 ครั้ง

ผลสำรวจคนไทย 6,970 คน เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2565 พบ 37.5% ไม่ยินยอมให้เก็บภาษี เพราะ "ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี-กังวลว่าการจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง-ไม่มีหลักเกณฑ์/กฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้" ช่วงต้นปี 2566 'สภาพัฒน์ฯ' เปิดผลศึกษา 'ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมิติการเป็นแหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ' พบการเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด แต่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพียง 12.2% ของภาษีทั้งหมด ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แนะดึงแรงงานนอกระบบเข้าฐานภาษี-ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท

ช่วงต้นปี 2566 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เสนอ 'ผลการสำรวจการความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565' ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการสำรวจนี้ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ซึ่งสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นใน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ต.ค. 2565 โดยสรุปความเห็นของประชาชนต่อสวัสดิการของรัฐ 7 รายการดังนี้

ผู้ได้รับสวัสดิการของรัฐส่วนใหญ่ระบุไม่มีปัญหาในการใช้บริการ

1.การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ พบกว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 97 ระบุว่าไม่มีปัญหาการใช้บริการและพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 3.0 มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า

2. สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนพบว่าประชาชนร้อยละ 80.6 ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.2 เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย

3.สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่าร้อยละ 2 มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น

4.ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล แยกเป็น การสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้สถานพยาบาลตามประเภทสถานพยาบาล พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 76.8 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 1 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 70.4 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.6 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตร้อยละ 86.5 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ

5.สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่ม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 93.5) จัดสวัสดิการศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน(ร้อยละ 78.6) และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี( ร้อยละ 85.9)

พบคนไทย 37.5% ไม่อยากเสียภาษี เพราะ 'เงินไม่พอ-หวั่นรัฐนำไปจัดสวัสดิการไม่ทั่วถึง'

6.การจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบกว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 ยินยอบให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม และประชาชนร้อยละ 37.5 ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้

7.การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนลงทะเบียนร้อยละ 84.2 ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ร้อยละ 15.8 ประสบปัญหา ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วยงานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ผลศึกษาสภาพัฒน์ฯ 'ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมิติการเป็นแหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ'

เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช. ได้ศึกษาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในมิติการเป็นแหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากรายได้ภาษีในปัจจุบันมีสัดส่วนแค่กว่า 13% ต่อจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มากขึ้น

การเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ภาษี เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดยในปี 2564 มีรายได้จากการเก็บภาษีทั้งสิ้น 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.5% ของรายได้รัฐทั้งหมด แต่หากย้อนกลับไปดูในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รายได้ภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ระดับต่ำมาโดยตลอด ทำให้ต้องขาดดุลงบประมาณมาตลอด

ขณะที่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดปี 2566 จะมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการถึง 3 ล้านล้านบาท และปี 2585 จะสูงถึง 6.5 ล้านล้านบาท

โดยภาษี นอกจากเป็นแหล่งรายได้ ยังเป็นเครื่องมือรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การปรับเพิ่มภาษี เพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ด้วย ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพียง 12.2% ของรายได้ภาษีทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก มื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ใน OECD

อย่างไรก็ดี หากดูสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี 2564 เก็บได้ 3.38 แสนล้านบาท หรือ 12.2% ของรายได้ภาษีทั้งหมด แต่ถ้าไปดูอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ช่วงปี 2556-2564 จะพบว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ปีละ 1.6% เท่านั้น ซึ่งต่ำมาก

“ปี 2564 มีผู้ยื่นแบบฯ ทั้งสิ้น 10.8 ล้านคน แต่มีผู้จ่ายภาษีแค่ 4.2 ล้านคน คือจ่ายแค่ 38% เท่านั้น และส่วนใหญ่มาจาก ภ.ง.ด.91 คือผู้มีเงินได้ประจำถึง 2.8 ล้านคน อีก 1.4 ล้านคนมาจาก ภ.ง.ด.90”

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย ถือว่าเก็บได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ใน OECD

“มีการศึกษาว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย ยังไม่ได้ช่วยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำได้เท่าไหร่นัก ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เราพบ ก็คือ แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี ซึ่งจากการสำรวจแรงงานมีรายได้ที่ถึงเกณฑ์เสียภาษี 19 ล้านคน แต่ข้อมูลสรรพากรพบว่า ยื่นแบบฯ แค่ 10.8 ล้านคน”

นอกจากนี้ การหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ก็พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือมีรายได้พึงประเมินตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับประโยชน์มากกว่า กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลาง ทั้งในแง่การหักค่าใช้จ่าย และการหักลดหย่อนภาษี

แนะดึงแรงงานนอกระบบเข้าฐานภาษี-ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท

นางสาววรวรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ สศช. คือ

1.ต้องมีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของคนบางกลุ่ม เพื่อให้ผู้มีเงินได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้มากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ให้รัฐมีฐานข้อมูลสำหรับจัดทำนโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อีกด้วย

2.ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท เนื่องจากการกำหนดให้มีการยกเว้นในอดีตนั้นเป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมบางประการ ซึ่งควรมีการทบทวนถึงความจำเป็นที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม

3.ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน พิจารณาทบทวนเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและอัตราลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น อีกทั้งจะต้องทบทวนรายการลดหย่อนบางประการที่อาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงมากเกินไป

และ 4.สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี โดยการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี อันจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 

ที่มา
ครม.รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ ปี 65 (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 31 ม.ค. 2566)
สศช. แนะต้อนแรงงานนอกระบบเสียภาษี จี้ทบทวน “หักลดหย่อน” (ประชาชาติธุรกิจ, 3 มี.ค. 2566)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: