ไทย-ไต้หวันจับมือตรวจสอบการหลอกลวงผ่านสื่อโซเชียลให้แรงงานไทยหลบหนีหรือเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันอย่างผิดกฎหมาย แก้ปัญหายาเสพติดและสุราราคาถูกที่ทำลายสุขภาพแรงงานไทย
Radio Taiwan International รายงานเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ว่าการประชุมคณะกรรมการร่วมหารือไทย-ไต้หวัน ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแกนด์ เมย์ฟูล ไทเป เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ปิดการประชุมลงไปแล้ว ไทยและไต้หวันมีการหารือและบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สำคัญของแรงงานไทยหลายประเด็น อย่างเช่น จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อร่วมมือสกัดกั้นกลุ่มมิจฉาชีพโฆษณาผ่านสื่อโซเชียล อย่างเฟซบุ๊กและติกตอก หลอกลวงแรงงานไทยหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และชักชวนชาวไทยให้เดินทางมาทำงานในภาคการเกษตรในฐานะนักท่องเที่ยว เพิ่มการตรวจสอบล่ามและคนดูแลหอพัก ไม่ให้ยุยงแรงงานไทยหลบหนีเพื่อเก็บค่าใช้จ่าย เพิ่มการประชาสัมพันธ์และตรวจจับยาเสพติด การนำเข้ากัญชา รวมทั้งฝ่ายไต้หวันจะตรวจสอบมาตรฐานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูกที่ผลิตขายให้แรงงานไทยโดยเฉพาะ ซึ่งฝ่ายไทยสันนิษฐานเป็นสาเหตุทำให้แรงงานไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบกลายเป็นอัมพาตและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
การประชุมคณะกรรมการร่วมหารือไทย-ไต้หวัน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ในปีนี้ไต้หวันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน ประธานในที่ประชุมฝ่ายไต้หวัน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนากำลังแรงงานและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจ กรมควบคุมโรค กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ได้เชิญนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานประธานที่ประชุมฝ่ายไทยนำคณะฯ เดินทางมาร่วมการประชุมที่ไทเป นายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงานกล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า แรงงานไทยเป็นแรงงานต่างชาติกลุ่มหลักของภาคการผลิตและก่อสร้างในไต้หวัน ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ประกอบการไต้หวันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 66 จึงมีนายจ้างไต้หวันยื่นขอยกระดับหรือว่าจ้างแรงงานไทยเป็นแรงงานกึ่งฝีมือและได้รับการอนุมัติแล้ว 696 คน เทียบกับ 127 คน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 เพิ่มขึ้นร่วม 5 เท่าตัว โดยฝ่ายไต้หวันขอขอบคุณฝ่ายไทยที่ให้ความร่วมมือในการผลักดันโครงการนี้ ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า ไต้หวันเป็นตลาดต่างประเทศที่สำคัญของแรงงานไทย มีจำนวนแรงงานไทยทำงานอยู่มากที่สุด แต่มีปัญหาน้อยที่สุด กระทรวงแรงงานไทยขอขอบคุณฝ่ายไต้หวันที่ให้การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย ด้านนายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมพิธีเปิดการประชุมกล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลไต้หวันที่ให้การดูแลสุขภาพแรงงานไทยเป็นอย่างดี โดยในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง ได้จัดให้แรงงานไทยรับการฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า และหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนเบาลง ไทยและไต้หวันได้ฟื้นฟูความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา แรงงานและการลงทุน ฯลฯ อย่างใกล้ชิดเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
เห็นร่วมกันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย
การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารดูแลความเป็นอยู่ การทำงานและประเด็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยดังนี้ :
1. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือและเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายที่แรงงานไทยพึงทราบและเคารพปฏิบัติตามระหว่างที่ทำงานอยู่ในไต้หวัน อาทิ กฎหมายควบคุมรถจักรยานไฟฟ้า ต้องเคารพกฎระเบียบการจราจรและไม่เมาแล้วขับ กฎหมายการตรวจกักกันพืชและสัตว์ ไม่ซื้อหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศและผลของการเสพหรือค้ายาเสพติด ฯลฯ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจของไต้หวันกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2563 แรงงานไทยที่ต้องคดียาเสพติดและถูกจับกุมมีจำนวน 267 คน ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 225 คน ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 148 คน แม้จะมีแนวโน้มลดน้อยลง แต่สำนักงานตำรวจยังคงปฏิบัติการตรวจจับเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันแรงงานต่างชาติข้องแวะและตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ายาเสพติด นอกจากเพ่งเล็งและตรวจเข้มสถานที่ชุมนุมของแรงงานต่างชาติแล้ว ยังจะประสานกับสถานประกอบการ เดินทางไปประชาสัมพันธ์พิษภัยของยาเสพติดถึงในโรงงาน ป้องกันแรงงานต่างชาติตกเป็นผู้ต้องหาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยฝ่ายไทยยินดีจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ขณะที่แรงงานไทยเข้ารับการอบรมก่อนการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน
2. ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์เรื่องยาเสพติดให้โทษ โดยเฉพาะกัญชา ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยได้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้มีการปลูก บริโภคได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในไต้หวันยังคงจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 2 ในประเด็นของกัญชา กฎหมายไทยและไต้หวันแตกต่างกันมาก ฝ่ายไทยยินดีรับไปประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยทราบก่อนการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย และจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เสพหรือค้ายาเสพติด เพื่อที่หน่วยงานตำรวจไต้หวันจะติดตามและจับกุมตัวมาดำเนินคดี
จับมือตรวจสอบการหลอกลวงผ่านสื่อโซเชียล ให้แรงงานไทยหลบหนีหรือมาทำงานผิดกฎหมาย
3. ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือป้องกันและป้องปรามการหลบหนี เพิ่มการตรวจสอบการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อโซเชียล หลอกให้แรงงานไทยหลบหนี และชักชวนชาวไทยถือฟรีวีซ่าเดินทางมาทำงานภาคการเกษตร ซึ่งไต้หวันไม่ได้เปิดและถือว่าเป็นการทำงานอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งฝ่ายไต้หวันจะช่วยเหลือนายจ้างและบริษัทจัดหางานเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องพฤติกรรมของล่ามและพนักงานดูแลหอพัก เนื่องจากพบว่า ล่ามและพนักงานดูแลหอพักแรงงานไทยบางรายเป็นนายหน้าจัดหางานเสียเอง
หนุนแรงงานไทย ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทย ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ซื้อหาสุราราคาถูกจนเป็นที่ผิดสังเกตมาดื่ม ซึ่งจะคุกคามสุขภาพของแรงงานไทย รวมทั้งจะสุ่มตรวจสุราราคาถูกที่ผลิตขายแรงงานไทยโดยเฉพาะว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลของฝ่ายไทยพบว่า ในปี 2565-2566 พบว่าแรงงานไทยเจ็บป่วย/เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยบางรายมีประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูกที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายในกลุ่มแรงงานไทย สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่คุกคามต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงานของแรงงานไทย
หลังปิดการประชุม กระทรวงแรงงานไต้หวันได้จัดให้คณะฯ ของฝ่ายไทยเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หลังจากการเยี่ยมชม ฝ่ายไทยกล่าวชื่นชมการให้บริการของศูนย์ฯ ว่า ให้การอบรมแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ให้ได้รับรู้ข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ของตน ตั้งแต่เริ่มแรกที่เดินทางมาถึง จัดที่พักที่สะอาดและอาหารถูกหลักอนามัยและให้บริการดูแลอย่างอบอุ่น อีกทั้งช่วยทำเอกสารสำคัญทุกอย่างแล้วเสร็จในช่วงรับการอบรม 3 วัน 2 คืน อย่างเช่น ยื่นขอใบอนุญาตว่าจ้างและทำงาน บัตรถิ่นที่อยู่ เอาประกันภัยอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมทั้งเอาประกันสุขภาพ ช่วยลดขั้นตอนของนายจ้างและแรงงาน ไม่ต้องไปยื่นของทีละอย่างอีกต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ