กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเผยรายชื่อ '1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ปี 2566'

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 5023 ครั้ง


กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเปิดรายชื่อผลคัดเลือก "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ปี 2566 เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์อาหาร ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย แต่ทำเอาชาวเน็ตถกกันสนั่นหลายเมนู ชื่อแปลก ไม่เคยเห็น - อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมย้ำเป็นการเชิดชูอาหารถิ่น หลังคนท้องถิ่นไม่รู้จัก ไม่ใช่อาหารประจำถิ่น แต่เป็นการค้นหา “รสชาติที่หายไป”

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ออกประกาศ เรื่องผลการคัดเลือกกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 29 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste" ประจำปี 2566

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย และอาหารท้องถิ่น ต่อยอดสมุนไพรไทย สรรพคุณทางเลือกและส่งต่อเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นการ ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอาหารไทยพื้นถิ่น สู่อาหารจานเด็ดที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟพาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศให้ยั่งยืน

รายการอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ปี 2566 จำนวน 77 เมนู ดังนี้

1. ข้าวตอกตั้ง : กรุงเทพมหานคร

2. แกงมัสมั่นกล้วยไข่ : กำแพงเพชร

3. ยำไกน้ำของ (สาหร่ายแม่น้ำโขง) : เชียงราย

4. ตำจิ๊นแห้ง : เชียงใหม่

5. เมี่ยงจอมพล : ตาก

6. ทอดมันปลากราย : นครสวรรค์

7. แกงแคไก่พื้นเมือง : น่าน

8. หลนปลาส้มพะเยา : พะเยา

9. ยำส้มโอกระทงทองสูตรเมืองชาละวัน : พิจิตร

10. น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง : พิษณุโลก

11. ปิ้งไก่ข้าวเบือ : เพชรบูรณ์

12. น้ำพริกน้ำย้อย : แพร่

13. ข้าวส้ม โถ่โก้ : แม่ฮ่องสอน

14. ยำปลาแห้ง : ลำปาง

15. แกงฮังเลลำไย อำเภอเมืองลำพูน : ลำพูน

16. ข้าวเปิ๊บสุโขทัย : สุโขทัย

17. อั่วบักเผ็ด : อุตรดิตถ์

18. ข้าวแดะงา : กาฬสินธุ์

19. ปลาแดกบองสมุนไพร : ขอนแก่น

20. คั่วเนื้อคั่วปลา : ชัยภูมิ

21. เมี่ยงตาสวด : นครพนม

22. เมี่ยงคำ (โคราช) : นครราชสีมา

23. หมกหม้อปลาน้ำโขง : บึงกาฬ

24. ขนมตดหมา : บุรีรัมย์

25. แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง : มหาสารคาม

26. ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง : มุกดาหาร

27. อั่วกบ (กบยัดไส้) : ยโสธร

28. ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด : ร้อยเอ็ด

29. ส้าปลาน้ำโขง : เลย

30. ละแวกะตาม : ศรีสะเกษ

31. แกงหวาย : สกลนคร

32. เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าวโบราณ) : สุรินทร์

33. หลามปลาน้ำโขง : หนองคาย

34. เมี่ยงคำลำภู : หนองบัวลำภู

35. อู๋พุงปลา : อำนาจเจริญ

36. ข้าวต้มมัดบัวแดง อำเภอเมืองอุดรธานี : อุดรธานี

37. ลาบหมาน้อย : อุบลราชธานี

38. แกงส้มญวน : กาญจนบุรี

39. ต้มปลาร้าหัวตาล : ชัยนาท

40. ยำส้มโอ : นครปฐม

41. ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์ : นนทบุรี

42. เมี่ยงคำบัวหลวง : ปทุมธานี

43. แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง : ประจวบคีรีขันธ์

44. แกงเหงาหงอด : พระนครศรีอยุธยา

45. แกงหัวตาล : เพชรบุรี

46. แกงกะลากรุบ : ราชบุรี

47. ยำปลาส้มฟัก : ลพบุรี

48. แกงรัญจวน : สมุทรสงคราม

49. ต้มยำปลาทูโบราณ : สมุทรสาคร

50. แกงบวน : สิงห์บุรี

51. ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ : สุพรรณบุรี

52. ปลาแนม : อ่างทอง

53. ต้มส้มปลาแรด : อุทัยธานี

54. ลุกกะทิ หรือน้ำพริกกะทิชองพร้อมผักเคียง : จันทบุรี

55. หมูหงส์ : ฉะเชิงเทรา

56. ปลาคก : ชลบุรี

57. แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม : ตราด

58. น้ำพริกป่ามะดัน : นครนายก

59. แกงกะทินางหวาน : ปราจีนบุรี

60. แกงส้มผักกระชับ : ระยอง

61. ขนมย่างจากใจ : สมุทรปราการ

62. น้ำพริกกะสัง : สระแก้ว

63. ลาบหัวปลี : สระบุรี

64. ปลาจุกเครื่อง : กระบี่

65. แกงส้มหยวกกล้วยกับหมูสามชั้น : ชุมพร

66. โกยุก : ตรัง

67. ขนมปะดา : นครศรีธรรมราช

68. อาเกาะ : นราธิวาส

69. ข้าวยำ : ปัตตานี

70. อาจาดหู : พังงา

71. แกงขมิ้น : พัทลุง

72. น้ำซุปเมืองหลาง 9 อย่าง : ภูเก็ต

73. ข้าวยำโจร (ข้าวยำคลุกสมุนไพร) : ยะลา

74. ก็กซิมบี้ : ระนอง

75. ข้าวสตู : สงขลา

76. ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ : สตูล

77. แกงขมิ้นไตปลาโบราณ : สุราษฎร์ธานี

หลังจากมีการเผยแพร่ ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย รายชื่ออาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ปี 2566 พบเมนูพื้นถิ่นบางจังหวัดไม่คุ้นหู บางคนบอกขนาดเป็นคนจังหวัดนั้นแท้ ๆ ต้องไปหามาลิ้มลอง

เช่น ข้าวตดหมา จ.บุรีรัมย์ ได้ยินชื่อแล้ว กลิ่นจะหอมขนาดไหน, เมี่ยงตาสวด จ.นครพนม มีการแซวว่ากินไปตาต้องสวดไปไหม, ลาบหมาน้อย จ.อุบลราชธานี ชื่อแปลกทำเอางง แต่ที่จริงแล้วเป็นชื่อ พืชท้องถิ่นภาคอีสาน "ต้นหมาน้อย" วัตถุดิบสำคัญในเมนูนี้

แกงมัสมั่นกล้วยไข่ จ.กำแพงเพชร, ตำจิ๊นแห้ง จ.เชียงใหม่, แกงเหงาหงอด จ.พระนครศรีอยุธา, หมูหงส์ จ.ฉะเชิงเทรา, ข้าวตอกตั้ง กรุงเทพมหานคร นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่คนพื้นที่บอกไม่คุ้น

"แกงมัสมั่นกล้วยไข่" ต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่น

เมนูนี้ แกงมัสมั่นกล้วยไข่ จ.กำแพงเพชร ผู้คิดค้นนำกล้วยไข่มา ดัดแปลงเป็นเมนูอาหารคาวอย่างลงตัว ส่วนขั้นตอนการปรุงเริ่มจาก ตั้งกระทะ ใส่หัวกระทิ ตามด้วยพริกแกงมัสมั่นคนให้เข้ากัน ใส่เนื้อไก่หั่นลงไป ปรุงรสคลุกเค้าจนเข้าที่

พร้อมใส่ลูกกังวาน และ จึงใส่กล้วยไข่ต้มสุกลงไปคน เพิ่มความหอมด้วยด้วยหัวหอมคั่ว และ ถั่วลิสงคั่ว คลุกเค้าอีกครั้ง ก็พร้อมรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ

"ตำจิ๊นแห้ง" เป็นเมนู 1 จังหวัด อาหารโบราณคนไม่รู้จัก

เมนูถัดไป คือ ตำจิ๊นแห้ง เป็นเมนูอาหารที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก "จิ๊น" เป็นภาษาเหนือ หมายถึง "เนื้อ" ทำจากเนื้อส่วนสะโพกของควาย หรือ หมู เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง บอกว่า ตำจิ๊นแห้ง เป็นอาหารที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งถนอมอาหาร

วิธีทำ เริ่มจากหั่นเนื้อเป็นชิ้นบาง ๆ หมักด้วยน้ำเกลือแล้วนำไปตากแดด จากนั้นนำจิ๊นแห้งมาต้ม แล้วตำให้ละเอียด ตักใส่หม้อปรุงกับน้ำพริกลาบ และผัก

นายวัลลภ นามวงศ์พรหม รองประธานสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ ไขข้อข้องใจ การคัดเลือกเมนู 1 จังหวัด 1 เมนู ต้องการนำเสนออาหารโบราณที่คนรู้จักน้อย หรือ ไม่มีคนรู้จัก ยอมรับว่าเมนูตำจิ้นแห้ง ไม่ได้เป็นเมนูอันดับหนึ่ง แต่คณะกรรมการมีความห่วงใยในเรื่องของสุขภาพ จึงให้ตำจิ๊นแห้ง เป็นเมนูอาหารของ จ.เชียงใหม่

ย้ำเป็นการเชิดชูอาหารถิ่น หลังคนท้องถิ่นไม่รู้จัก ไม่ใช่อาหารประจำถิ่น แต่เป็นการค้นหา “รสชาติที่หายไป”

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ชี้แจงถึงประเด็นดราม่าอาหารประจำถิ่น ว่าเพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่คู่กับอาหารไทย และคู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก มายกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด

อีกทั้งจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาคทั้ง 4 ภาค เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร โดยต่อยอดจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรชุมชน

ซึ่งการประกาศเมนูอาหารทั้ง 77 รายการ และอาหารบางชนิดคนในท้องถิ่นอาจไม่รู้จัก แต่ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” อยากฟื้นกลับมา เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจ และสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ

ที่มา: Thai PBS | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: