ประปาหมู่บ้าน: ที่ผ่านมาเขาแก้กันอย่างไร? ในอนาคตเราจะแก้กันอย่างไร?

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล 4 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 37203 ครั้ง


"ประปาหมู่บ้าน" ยังคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของระบบประปาที่มีอยู่แล้วแต่เสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของระบบประปาที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่บริหารแล้วขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำดิบ .. ปัญหาของประปาหมู่บ้านไม่ได้เป็นปัญหาใหม่แต่มีมานานแล้ว ปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งแต่ก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ผมใช้เวลาในการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ผ่านการตั้งคำถาม 2 คำถามว่า “ที่ผ่านมาเขาแก้กันอย่างไร?” และ “ในอนาคตเราจะแก้กันอย่างไร?”

“ที่ผ่านมาเขาแก้กันอย่างไร?” จำเป็นต้องเท้าความว่า .. ระบบประปาหมู่บ้านเกิดขึ้น เพราะ ความต้องการใช้น้ำของประชาชนเพิ่มขึ้นเร็วเกินกว่าที่รัฐส่วนกลางจะบริหารจัดสรรให้ได้ และเร็วเกินกว่าที่การประปาส่วนภูมิภาคจะดูแลให้ครอบคลุมได้

แม้รัฐส่วนกลางจะมอบอำนาจ/หน้าที่/ภารกิจให้แต่ละพื้นที่จัดทำบริการน้ำประปา แต่งบประมาณในการจัดทำ/ซ่อมแซมไม่ได้มาพร้อมกันในทันทีทันใด

#ปัญหาขยักที่หนึ่ง คือ งบประมาณไม่เพียงพอ ไม่พอทั้งในการสร้างระบบใหม่ ไม่พอทั้งในการซ่อมแซม

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในแต่ละปีงบประมาณ รัฐส่วนกลางก็มีงบอุดหนุนในการแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้านอยู่ตลอด (ทั้งงบซ่อมและงบสร้าง) แม้แต่ในปี 2565 ก็มีงบอุดหนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

แต่ปัญหาก็ไม่จบ เพราะ เมื่อซ่อม/สร้างแล้วแต่ผู้ดูแลรับผิดชอบไม่สามารถบริหารจัดการบำรุงรักษาได้ สุดท้ายระบบประปาหมู่บ้านก็พังเหมือนเดิม และต้องวนกลับไปที่การหางบเพื่อซ่อม/สร้างใหม่

ปัญหาขยักที่สอง คือ การบริหารจัดการให้ระบบประปาหมู่บ้านมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการบำรุงรักษา ทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล มีมาตรฐานและคุณภาพ

ณ ปัจจุบันรัฐส่วนกลางก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ มีงบอุดหนุนรายปีที่ให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศยื่นขอเข้าไป (เพื่อซ่อม/สร้าง)

มีนโยบาย/คำแนะนำ/คู่มือ/การกำหนดมาตรฐาน จากกระทรวงต่างๆเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้รับผิดชอบระบบประปาหมู่บ้านในแต่ละหมู่บ้านได้นำไปปฏิบัติตาม

และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ก็มีหนังสือจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ทุกอปท.ทั่วประเทศจัดทำ รายงานสถานะการดำเนินการประปาหมู่บ้าน และต้องรายงานทุกวันที่ 10 ของเดือน เริ่ม 19 มิถุนายน เป็นต้นไป (http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2023/6/29493_1_1686554491706.pdf) .. ซึ่งรายงานสถานะที่ว่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดงบประมาณต่อไป

“ในอนาคตเราจะแก้กันอย่างไร?” ก็ไม่พ้นการแก้ไขที่งบประมาณ การกำกับดูแล และการบริหารจัดการ .. ข้อเสนอจากพรรคก้าวไกลและจากคุณพริษฐ์ (ไอติม) มี 3 ข้อ

1. จัดสรรงบประมาณเฉพาะ (ระยะยาว) เพื่อทำให้คนไทยมีน้ำประปาที่สะอาดและดื่มได้ ไม่ใช่แค่ซ่อม/สร้างแท็งก์น้ำตัวกรองที่ต้นน้ำ แต่รวมถึงปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำทั่วประเทศ และการติดตั้งตัว sensors ต่างๆเพื่อวัดผลตั้งแต่ต้นท่อยันปลายท่อ

2. กำกับดูแลคุณภาพน้ำประปาทุกประเภทในประเทศไทยผ่าน #พรบน้ำประปา ที่จะเปลี่ยนนโยบาย/คำแนะนำ/คู่มือ/การกำหนดมาตรฐาน/ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ให้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกพื้นที่ในการเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดและเพียงพอ

3. เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ทลายข้อจำกัดในด้านองค์ความรู้และจำนวนบุคลากรของผู้รับผิดชอบระบบประปาในแต่ละพื้นที่ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบจากการขอสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งจะปลดล็อกให้เอกชนสามารถประกอบกิจการประปาได้ .. ในอนาคตผู้ให้บริการน้ำประปาในแต่ละพื้นที่อาจมีทั้ง (1) รัฐ (2) เอกชน และ (3) รัฐและเอกชน

อย่างไรก็ดีข้อเสนอข้างต้นยังไม่เป็นที่สิ้นสุดครับ เรายังเปิดรับความเห็นจากพ่อแม่พี่น้อง หากท่านใดมีข้อเสนออื่นๆในการทำให้น้ำประปาสะอาดมีคุณภาพอย่างยั่งยืน .. มาร่วมกันครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกในเพจณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: