ครม.ไฟเขียวใช้งบ 1.56 พันลบ. เดินหน้าโครงการโคบาลชายแดนใต้

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1822 ครั้ง

ครม.ไฟเขียวใช้งบ 1.56 พันลบ. เดินหน้าโครงการโคบาลชายแดนใต้

ครม. อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ให้กรมปศุสัตว์ยืมเพื่อใช้ดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ วงเงิน 1,566.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี ในอัตราดอกเบี้ย 0% มีระยะเวลาโครงการ พ.ศ. 2565-2572 | ที่มาภาพ: ศอ.บต.

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการโคบาลชายแดนใต้ของกรมปศุสัตว์นี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเมืองปศุสัตว์ ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP และเพิ่มปริมาณโค พร้อมทั้งปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด

โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

1.ระดับต้นน้ำ ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทยในหมู่บ้าน จำนวน 1,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา)

2.ระดับกลางน้ำ จัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center)

3.ระดับปลายน้ำ ส่งเสริมร้านตัดแต่ง แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโค (Butcher Shop) 5 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การใช้งบจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงิน 1,566.20 ล้านบาทในครั้งนี้ เพื่อดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในส่วนระดับต้นน้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อให้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย จำนวน 1,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา) โดยให้แต่ละกลุ่มวิสาหกิจโคไทยจัดทำคอกกลางในหมู่บ้านแห่งละ 1 คอก สำหรับเลี้ยงแม่โคพื้นเมืองกลุ่มละ 50 ตัว เพื่อผลิตโคลูกผสมไทยทาจิ และปลูกพืชอาหารสัตว์ (หญ้าสยาม หญ้าแพงโกล่า หญ้าซิกแนล หญ้าเนเปียร์ และข้าวโพด) จำนวน 20 ไร่ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1)ระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว 2)ระยะที่ 2 เกษตรกร 440 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 22,000 ตัว 3)ระยะที่ 3 เกษตรกร 500 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 25,000 ตัว

สำหรับแผนชำระเงินคืนภายใน 7 ปี กรมปศุสัตว์จะนำเงินกู้ที่ได้รับคืนจากกลุ่มวิสาหกิจโคไทยที่เข้าร่วมโครงการ ส่งคืนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยเกษตรกรจะต้องคืนเงินต้นให้กรมปศุสัตว์ 25% เป็นจำนวน 4 งวด คือ ทุกสิ้นปีที่ 4 ปีที่ 5 ปีที่ 6 และปีที่ 7 ส่วนที่มาของรายได้กลุ่มวิสาหกิจโคไทย เช่น การขายลูกโคตั้งแต่ปีที่ 2-7 ปีละ 600,000 บาท ขายแม่โคปลดระวางในปีที่ 8 จำนวน 800,000 บาท ขายมูลโคของแม่โคและลูกโคทั้ง 8 ปี ปีละ 86,400 บาท และขายพืชอาหารสัตว์ ปีละ 304,500 บาท

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้เห็นชอบ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565-2571) โดยให้ใช้งบประมาณทั้งหมดจากการกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่เป็นหน่วยดำเนินการยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) โดย เมือวานนี้ (26.ม.ค.65) ได้มีการลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กับวิสาหกิจชุมชนนำร่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 13 กลุ่ม และจังหวัดนราธิวาส 1 กลุ่ม รวมวงเงินทั้งสิ้น 54 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง สามารถเจาะตลาดฮาลาลโลก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 7 ปีของโครงการโคบาลชายแดนใต้ รัฐบาลตั้งเป้าหมาย มีกลุ่มวิสาหกิจโคไทยเข้าร่วมโครงการ 1,000 กลุ่ม เกษตรกร 10,000 ราย ได้แม่โคพื้นเมือง 50,000 ตัว แบ่งเป็น ระยะนำร่อง 3,000 ตัว ระยะที่สอง 22,000 ตัว ระยะที่สาม 25,000 ตัว ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจโคไทย สามารถกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับปีที่ 1-3 ปลอดการชำระหนี้เงินต้น ปีที่ 4-7 ชำระคืนเงินต้นร้อยละ 25 ต่อปี และปลอดดอกเบี้ย 7 ปี

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ มากไปกว่านั้น ภายใต้โครงการนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) จำนวน 3 แห่ง (จังหวัดปัตตานี สตูล และนราธิวาส) และจัดตั้งร้านตัดแต่ง แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโค (Butcher Shop) จำนวน 5 แห่ง ส่วนแผนการทำงานเริ่มด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงแม่โคพันธุ์พื้นเมืองที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในคอกกลางของหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกขับเคลื่อน รวมถึงมีการส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่มปลูกพืชอาหารสัตว์ กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มขุนโค กลุ่มแปรรูปเนื้อโค และกลุ่มจำหน่ายเนื้อโค

“รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่น การส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP เพิ่มปริมาณโคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่เป็นความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และตลาดฮาลาลโลก สร้างอาชีพที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่การผลิตโคอีกด้วย”น.ส.รัชดา กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: