TDRI เสนอนโยบายด้าน 'ขนส่ง-เกษตร-แรงงาน-SME' ให้พรรคการเมือง ช่วงเลือกตั้ง 2566

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1737 ครั้ง

ทีมวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ตั้งข้อสังเกตรวมทั้งมีข้อเสนอต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง 4 ด้านคือ นโยบายคมนาคมและขนส่ง นโยบายด้านเกษตร นโยบายด้านแรงงาน และนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ช่วงเลือกตั้ง 2566

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกรายงานเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566  โดยวิเคราะห์ในภาพรวมว่า แม้จะมีหลายนโยบายที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนประสบอยู่ แต่ก็ยังมีนโยบายจำนวนน้อยมากที่ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างแท้จริงในระยะยาว ทั้งในด้านการช่วยทำให้แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้น ภาคธุรกิจตลอดจนภาคเกษตรมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำนวนหนึ่งที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว เนื่องจากใช้งบประมาณมากเกินกว่าที่ฐานะทางการคลังของประเทศจะรองรับได้ มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณ หรืออาจสร้างบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยของประชาชนในการชำระเงินกู้

ในรายงานฉบับนี้ ทีมวิจัยจะนำเสนอข้อสังเกตต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง 4 ด้านคือ นโยบายคมนาคมและขนส่ง นโยบายด้านเกษตร นโยบายด้านแรงงาน และนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เราหวังว่าพรรคการเมืองจะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในรายงานนี้ไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายของตนให้สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิผลมากขึ้น

1. นโยบายด้านคมนาคมขนส่ง

นโยบายด้านการคมนาคมขนส่งที่พรรคการเมืองนำเสนอส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแนวนโยบายกว้างๆ ที่ขาดรายละเอียดสำคัญ ทั้งในส่วนของงบประมาณและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น  ทั้งนี้นโยบายที่ถูกนำเสนอมากที่สุดเป็นเรื่องการพัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Logistics Hub) การสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์และระบบรางเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการใช้อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ทั้งนี้ บางพรรคการเมืองเริ่มนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับนโยบายส่วนคมนาคมขนส่ง เช่น ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และกำหนดข้อจำกัดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นเป็นปัญหาที่ประชาชนสนใจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารระบบรางที่อยู่ในระดับสูง แต่การปรับลดค่าโดยสารของระบบรางอาจไม่สามารถทำได้มากเหมือนที่พรรคการเมืองเสนอ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาก  เราจึงเห็นว่าพรรคการเมืองควรพิจารณาระบบขนส่งมวลชนอื่นประกอบด้วยโดยเฉพาะรถเมล์ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงที่สุด 

มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เสนอให้เปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เราเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีและใช้งบประมาณไม่มาก  อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองควรมีนโยบายในการปรับปรุงรถเมล์ให้ครอบคลุมขึ้น ทั้งการกำหนดเส้นทางและจำนวนเที่ยวที่ให้บริการ และควรมีนโยบายในการให้เงินอุดหนุนบริการรถเมล์ที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพบริการให้ประชาชนอยากใช้มากขึ้น  และหากทำได้สำเร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจพิจารณากำหนดค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดทั้งระบบราง รถเมล์และเรือ ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารโดยรวมต่อเที่ยวการเดินทางลดลง และช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายด้านระบบขนส่งสาธารณะที่พรรคการเมืองเสนอส่วนใหญ่ยังมักจำกัดอยู่เฉพาะระบบขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่ประชาชนในต่างจังหวัดก็ขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพเช่นกัน ทำให้ยังต้องพึ่งพารถส่วนตัวและจักรยานยนต์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้รับการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการหรือร่วมตัดสินใจในการจัดระบบขนส่งในพื้นที่ของตน  

เราจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถจัดทำระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่ เช่น สนับสนุนจังหวัดขอนแก่นให้สามารถจัดทำระบบรางให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วเพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น    

ในด้านการขนส่งสินค้า พรรคการเมืองควรมีนโยบายจัดสร้างสถานีขนส่งคอนเทนเนอร์ (Container Yard) ในบริเวณชุมทางใหญ่ของระบบรางในภูมิภาคต่างๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และนครสวรรค์ เนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบรถไฟทางคู่ที่ลงทุนไว้แล้ว ลดปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้าจากทั่วประเทศจากการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าในประเทศและเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ เข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค 

นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หรือระบบรางเพิ่มเติม ควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายดังกล่าวไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันของมอเตอร์เวย์และระบบราง เพื่อไม่ให้แข่งขันกันเองและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ตลอดจนทำให้เกิดการกระจุกตัวในการพัฒนาเฉพาะบางพื้นที่ โดยควรพิจารณาลงทุนระบบรางในเส้นทางหลัก และระบบมอเตอร์เวย์ในเส้นทางเชื่อมโยงกับระบบรางไปยังพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ

2.  นโยบายด้านการเกษตร

แม้ว่าแทบทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายด้านการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อนโยบายนี้น้อยกว่านโยบายด้านสวัสดิการ  นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองครอบคลุม 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ (ก) การประกันรายได้ การอุดหนุนชาวนาและชาวประมง ที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4.57 แสนล้านบาท (ข) การถือครองที่ดินและสิทธิทำกินบนที่ดินของพรรคการเมือง 4 พรรค (ค) การใช้เทคโนโลยีการเกษตรของพรรคการเมือง 2 พรรค (ง) นโยบายด้านสินเชื่อและการพักชำระหนี้ของพรรคการเมือง 3 พรรค และ (จ) การจัดการน้ำ ของ 3 พรรค

กล่าวโดยภาพรวม นโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยซึ่งประกอบไปด้วยการที่เกษตรกรมีอายุสูงขึ้น ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มต่ำ การผลิตใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำและที่ดินมาก ซึ่งทำให้จะต้องปรับตัวอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในอนาคตภาคเกษตรยังจะได้รับแรงกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในส่วนของนโยบายให้เงินอุดหนุนเกษตรกร แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรที่เกิดจากภาวะราคาพืชผลตกต่ำและวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ผลการวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศพบว่า การอุดหนุนโดยไม่มีเงื่อนไขมักทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัว โดยเฉพาะทำให้ไม่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ประหยัดการใช้ทรัพยากร และลดปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจก 

นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียงคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายประกาศเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าอุทยานทับซ้อนกับที่ดินของเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรจำนวนมากอาศัยทำกินมาก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะใช้นโยบายป่าชุมชนและโฉนดชุมชน 

นอกจากนี้นโยบายการแจกที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่เสนอกันขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อีกต่อไป เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (สปก.) มาตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาลได้แจกที่ดินให้เกษตรกรถึง 36.4 ล้านไร่ (หรือ 24.4 % ของที่ดินการเกษตร) ทำให้ไทยเป็นประเทศที่แจกที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ก็ถึงทางตันจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ การจำกัดสิทธิของเกษตรกรไม่ให้ใช้ที่ดิน สปก. ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร คุณภาพของที่ดินไม่เหมาะต่อการเกษตร การที่เกษตรกรนำที่ดินที่ได้รับแจกไปขาย และการที่ลูกหลานของเกษตรกรไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรอีกต่อไป 

ในส่วนของปัญหาหนี้สิน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 90 มีหนี้สินสูงเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและไม่แน่นอน การไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย การขาดความรู้ทางการเงินและการที่สถาบันการเงินขาดข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้การทำสัญญาการชำระเงินไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดของเกษตรกร นอกจากนี้ การมีนโยบายพักชำระหนี้อย่างต่อเนื่องยังทำให้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ในขณะที่ยังไม่ได้จัดการกับหนี้เดิมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น  การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรจึงไม่ใช่สามารถทำได้โดยพักชำระหนี้ที่เคยทำมาในอดีต หรือยกเลิกการแบล็คลิสต์ของเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบการเงินของประเทศ 

เราจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในการคิดค้นนโยบายช่วยเหลือให้เกษตรกรเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้พรรคการเมืองควรคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ การขยายสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาที่ดิน การสนับสนุนให้เกษตรกรยากจนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร การปรับโครงสร้างหนี้และการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพและกระแสรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญากู้ยืมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรที่ครอบคลุม  

3. นโยบายแรงงาน

นโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน และการสร้างงานใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานไทยคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งหมายถึงความสามารถของคนงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ  แม้แต่พรรคการเมืองที่เสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้เสนอหลักคิดที่เชื่อมโยงค่าจ้างขั้นต่ำเข้ากับผลิตภาพแรงงาน  นอกจากนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่ได้เสนอนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าควรมีจำนวนเท่าใดและควรใช้แรงงานต่างด้าวอย่างไร ทั้งที่การมีแรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงต่ำจำนวนมากมีผลทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพิ่มผลิตภาพ 

ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนทำงานได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่นายจ้างปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ตลอดจนลดความสูญเสียต่างๆ ในการประกอบการ ผลิตภาพแรงงานยังเกิดขึ้นได้จากการที่แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นโดยการได้รับฝึกอบรมที่มีคุณภาพ

เรามีข้อเสนอแนะด้านนโยบายแรงงานต่อพรรคการเมืองดังนี้  หนึ่ง ควรกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่เหมาะสมที่ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่นายจ้างยังสามารถดำเนินธุรกิจได้  พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวเช่น 4 ปี โดยมีสูตรการคำนวณในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ชัดเจนตามผลรวมของ 1. อัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน 2. อัตราเงินเฟ้อ และ 3. อัตราการปรับเพิ่มเฉลี่ยในแต่ละปีเพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้  ทั้งนี้การพิจารณาองค์ประกอบทั้งหลายควรคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และอุตสาหกรรมด้วย  

การใช้สูตรดังกล่าว โดยกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายและระยะเวลาในการปรับไปสู่เป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนชีวิตและวางแผนธุรกิจของตนได้ โดยลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นายจ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สอง พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs เพิ่มผลิตภาพด้วยการลดความสูญเสียในการประกอบการ (ดูนโยบายด้าน SMEs ในส่วนที่ 4 ประกอบ) และใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานทักษะต่ำ ตลอดจนมีนโยบายในการฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้คนงานได้รับ “คูปองฝึกทักษะ” (Training Coupon) เพื่อสามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ   

สาม พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลงในระยะยาว โดยควรเหลือเฉพาะแรงงานสำหรับงานที่คนไทยไม่ต้องการทำและไม่สามารถทดแทนด้วยเครื่องจักร โดยควรประกาศแผนให้ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะลดจำนวนคนงานต่างด้าวเหลือเท่าใด ในอุตสาหกรรมใด และออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทั้งการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตและการให้สิทธิประโยชน์ของแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน  

4. นโยบายสนับสนุน SMEs  

มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพียง 2 พรรคเท่านั้น โดยในภาพรวมนโยบายให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การให้เงินทุนแก่ SMEs การยกเว้นและลดภาษีเงินได้ การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการ และการปรับแก้กฎหมายเพื่อช่วยปลดล็อคการประกอบธุรกิจของ SMEs  อย่างไรก็ตามยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายชัดเจนในการช่วย “เพิ่มผลิตภาพ” ซึ่งจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระยะยาว  

นโยบายตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนแก่ SMEs ของบางพรรคการเมืองน่าจะถูกเสนอขึ้นเพื่อสนองต่อ SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีความพยายามช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้แก่ SMEs จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น SME Bank บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่แล้ว แต่ SMEs จำนวนมากก็ยังไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จึงเข้าไม่ถึงเงินทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผลประกอบการไม่ดีและเสี่ยงที่สินเชื่อจะกลายเป็น NPL   

ส่วนนโยบายการเพิ่มลูกค้าให้แก่ SMEs ไม่ว่าจะเป็น “หวย SMEs” หรือการกำหนดให้การซื้อสินค้าจาก SMEs สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และการให้คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น อาจเพิ่มรายได้ให้แก่ SMEs ได้บ้าง แต่ก็จะเป็นการช่วยเหลือ SMEs ในระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่สามารถทำได้ในระยะยาวเพราะจะต้องใช้งบประมาณมาก เช่นเดียวกันกับโครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เคยช่วยกระตุ้นรายได้ของ SMEs ในช่วงสั้นๆ ที่โควิด-19 ระบาด  หรือโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่มีผลช่วย SMEs ไม่มากเพราะ SMEs ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้  ส่วน SMEs ที่เหลือเกือบทั้งหมดก็ถูกกีดกันออกจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ในส่วนที่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเฉพาะธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้ 

นโยบายช่วยเหลือ SMEs ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ควรพิจารณา ควรมุ่งช่วยเหลือให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การบริหารคลังสินค้า การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำบัญชี การตลาดและการส่งออก  อย่างไรก็ตาม SMEs แต่ละแห่งมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน  แนวทางสนับสนุน SMEs ที่เราแนะนำคือ การใช้ระบบ “วินิจฉัยธุรกิจ” คล้ายกับระบบ “ชินดัง” (Shindan) ของญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปเข้าไปวินิจฉัย SMEs แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนในด้านใด หลังจากนั้นก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้คำปรึกษาในเชิงลึกจนสามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น   ทั้งนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนบางส่วนในรูปของ “คูปองเพิ่มผลิตภาพ” (Productivity Coupon) และให้ SMEs ออกเงินสมทบบางส่วนด้วย  ทั้งนี้เมื่อ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพได้แล้ว ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้กลไกประกันสินเชื่อของ บสย. ประกอบด้วย   

เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคการเมืองในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจต่างๆ โดยเสนอให้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎหมาย” ซึ่งเคยใช้ได้ผลในต่างประเทศและบางหน่วยงานในประเทศไทยมาแล้วเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ SMEs โดยบังคับใช้ประกาศเรื่อง “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ” ให้เกิดประสิทธิผล เพื่อให้ SMEs ได้รับรายได้เร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น

 

คณะผู้จัดทำรายงาน
สุเมธ องกิตติกุล (นโยบายด้านคมนาคมขนส่ง) นิพนธ์ พัวพงศกร (นโยบายด้านการเกษตร) ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร (นโยบายแรงงาน) และ ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศและยศ วัชระคุปต์ (นโยบายสนับสนุน SMEs) 

 

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: