แนะขยายโอกาสการศึกษาแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 2129 ครั้ง

นักวิชาการแนะขยายโอกาสการศึกษาแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น เพิ่มผลิตภาพแรงงานยกระดับศักยภาพการแข่งขัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมการสภาการศึกษา แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขจึงจะหลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง การจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาควรได้รับการสานต่อ รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มเงินให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อทำให้ครอบครัวรายได้น้อยหรือครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีทักษะในการทำงาน มีรายได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีความสามารถในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่ามาตรการประชานิยมแจกเงินทั้งหลาย การจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณเพิ่มให้กองทุนเสมอภาคการศึกษา 8,000 ล้านเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม ส่วนนโยบายแจก Tablet 31,000 ล้านบาท เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีต้องดำเนินการจัดซื้ออย่างโปร่งใส ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน นโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน หากสามารถดำเนินการได้จะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศในระยะยาว คุณภาพการศึกษาไทยนั้นตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องทั้งที่มีการมีทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากให้กับ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่งบประมาณจำนวนมากได้ใช้ไปกับงบประจำและงบบริหารจัดการ นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการจัดโครงสร้างองค์กรแบบรวมศูนย์เข้าสู่กระทรวง แทนที่จะมีการกระจายอำนาจ กระจายงบไปสู่สถานศึกษา การใช้งบประมาณก็ยังไม่ได้มุ่งตรงไปที่สถานศึกษามุ่งเป้าไปที่นักเรียนนักศึกษา มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาครูอาจารย์ นักวิจัย หรือ มุ่งเป้าไปที่แรงงานในการพัฒนาทักษะผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบการศึกษาไทยและการจัดการงบประมาณทางด้านการศึกษาวิจัยต้องมีการปฏิรูปใหญ่ และ ต้องเปลี่ยนเป็นระบบ Demand-side Financing มุ่งไปที่ตัวผู้เรียน ลดความเป็น Supply-side Financing ที่มุ่งจัดสรรงบไปกองอยู่ที่กระทรวง

ประเมินในเบื้องต้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในระยะ 6 ปีแรกของแผนการศึกษาแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนการดำเนินการล้วนสะดุดมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง และสะดุดลงอย่างหนักสุดจากวิกฤตการณ์โควิด และเกิด Learning Loss ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากในช่วงล็อคดาวน์ ตัวชี้วัดต่างๆที่อยู่ในแผนระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2565) ของแผนการศึกษาชาติ (พ.ศ. 2560-2579) จึงบรรลุตามเป้าหมายไม่ถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นมิติการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ (Access) มิติความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity) มิติคุณภาพการศึกษา (Quality) มิติประสิทธิภาพ (Efficiency) มิติการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ในขณะที่แผน 5 ปี ระยะที่สองเริ่มต้นในช่วงรอยต่อของรัฐบาลประยุทธ์และรัฐบาลเศรษฐา มีความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และ จนขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่า ใครจะมาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ใครจะมีเป็นทีมงานในการบริหารนโยบาย และ จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาหรือไม่ สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติอย่างไร ฉะนั้น แผน 5 ปีระยะที่สองจึงอาจมีความล่าช้าในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ 
   
ในส่วนการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อ (หากพิจารณาจากแผนเดิม 15 ปี) และยุทธศาสตร์ 6 ข้อ (ตามแผนที่มีแก้ไขเพิ่มเติมเป็น 20 ปี) นั้นพบว่ามียุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา มีความคืบหน้าพอสมควร ส่วนยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดี ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลงคนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ดี ล้วนไม่มีความคืบหน้าและยังห่างไกลการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา และหากนำเอาแผนเดิมก่อนปรับปรุงจาก 20 ปีเป็น 15 ปี ยิ่งเห็นถึงความอ่อนแอลงของระบบการศึกษาไทยอย่างชัดเจนและจะเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่วงรั้งให้ประเทศไทยรั้งท้ายที่สุดในเอเชียตะวันออก เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษาฯภายใต้รัฐบาลใหม่ต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น ในแผนการศึกษาแห่งชาติระยะที่สอง (พ.ศ. 2566-2570) มีตัวชี้วัดหลายตัวที่ในระยะที่หนึ่งยังไม่บรรลุเลยฉะนั้นในระยะที่สอง รัฐบาลใหม่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น ด้านความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา ดัชนีความเสมอภาคของอัตราการเข้าเรียนระดับการศึกษาพื้นฐานตามฐานะทางเศรษฐกิจและพื้นที่ลดลง ร้อยละของเด็กในวัยเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการศึกษาเต็มตามศักยภาพเพิ่มขึ้น ผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา 15 ปี เป็นต้น ทางด้านคุณภาพการศึกษา เช่น ร้อยละของผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเป็นที่พอใจของสถานประกอบการเพิ่มขึ้น จำนวนงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น 

ทางด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ประชากรวัยทำงานมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละของแรงงานที่ขอเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อยกระดับคุณวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้น ทางด้านประสิทธิภาพ มีการปรับระบบการจัดสรรเงินไปสู่ด้านอุปสงค์หรือตัวผู้เรียน มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระและความรับผิดชอบของสถานศึกษา ทางด้านตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการศึกษาดีขึ้น จำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่ติดอันดับ 200 อันดับแรกของโลกเพิ่มขึ้น อันดับความพึงพอใจของผู้ประกอบการต่อผู้จบอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสายสามัญ ตัวชี้วัดตามเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติหลายตัวยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแม้นกระทั่งเกณฑ์ตัวชี้วัดในระยะแรก หากจะทำให้บรรลุเกณฑ์ตัวชี้วัดในระยะที่สองดีขึ้น รัฐบาลใหม่ต้องทุ่มเททรัพยากรต่างๆในการทำงานเพื่อให้เป็นตามเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจน หากพยายามแล้วไม่สามารถทำได้ ควรมีการปรับเปลี่ยนแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศ  

ช่วงการ “ล็อกดาวน์” โควิดยาวนาน มีโรงเรียนและครอบครัวจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาทางออนไลน์ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้ นโยบายการแจก Tablet จึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการเพื่อให้นักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส นักเรียนต้องได้ Tablet ที่มีคุณภาพเพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ตนขอเสนอว่า แทนที่ รัฐบาลหรือหน่วยราชการจัดซื้อให้ ขอให้แจกเป็นคูปองให้ครอบครัวของนักเรียนไปจัดซื้อจัดหาเองจะดีกว่า จะสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมาก   

รศ.ดร.อนุสรณ์ คาดการณ์ว่าจากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งจะนำสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมด ซึ่งโรงเรียนของรัฐและเอกชนต้องใช้เวลาเสริมสร้างทักษะชดเชยที่ขาดไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และ ประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ  

ควรมีการจัดตั้งกองทุนขนาด 2,000 ล้านบาทใหม่เพิ่มเติมหรือใช้กลไกกองทุนทางการศึกษาที่มีอยู่แล้วเพื่อปฏิรูปบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ใช้กองทุนนี้ในการให้ “ทุนการศึกษา” “ทุนฝึกอบรม” “ทุนวิจัย” ให้กับบรรดาครูอาจารย์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระบบอุดมศึกษาในสาขาที่ประเทศขาดแคลน นอกจากนี้  มีความจำเป็นต้องทบทวนแผนการศึกษาชาติใหม่ โดยนำเอายุทธศาสตร์จากแผนการศึกษาชาติฉบับ 15 ปีที่ถูกตัดทิ้งไปให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ไม่ว่า จะเป็น ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ในยุทธศาสตร์มีการเสนอแผนดำเนินการให้ โรงเรียนของรัฐ มีสภาพเป็น “นิติบุคคล” ได้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกในการบริหารงานบุคคล มีเสนอให้มี ระบบครูสัญญาจ้าง ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น 

องค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร Unicef สหประชาชาติ ธนาคารโลก  (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงว่า ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มบทบาทของ กยศ ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น มีความจำเป็นในการต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการผ่านระบบการให้ทุนการศึกษา และ ต้องเพิ่มงบทุนการศึกษาให้เพียงพอโดยเฉพาะทุนการศึกษาในการเรียนสาขาวิชาชีพต่างๆ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นและถือเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ในส่วนของแผนการศึกษาชาติที่เป็นแผนปฏิบัติการ ได้เสนอ สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ “แต้มต่อ” ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนมีไม่มากเปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนรวยหรือฐานะปานกลาง ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจน หลายเท่าตัว 5-10 เท่า   ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต สังคมและชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ Disruptive Technology ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวพลิกโฉมครั้งใหญ่และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อพลวัตดังกล่าว กองทุนต่างๆในระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวตามพลวัตเหล่านี้ด้วย งบประมาณควรถูกกระจายไปที่สถานศึกษาโดยตรงมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินจากด้านอุปทาน มาเป็น ด้านอุปสงค์มากขึ้น โดยจะจัดสัดส่วนที่เหมาะสม จัดตั้งกองทุนเงินให้เปล่า ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านการบริหารและจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศ ปรับโครงสร้างการบริหารราชการตามแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา เปลี่ยนสถานศึกษาที่มีความพร้อมให้เป็นนิติบุคคล แยกบทบาทของรัฐในฐานะผู้กำกับและบทบาทในฐานะผู้จัดการการศึกษาให้ชัดเจน ปรับระบบให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะ Chartered School มากขึ้น จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา ปรับหลักสูตร กระบวนการการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย เพิ่มการเรียนรู้ จัดตั้งสถาบันพัฒนากรรมการสถานศึกษา การยกระดับคุณวุฒิกำลังแรงงาน เป็นต้น  

“การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักของการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทุนมนุษย์ และรองรับการศึกษา การเรียนรู้ และความท้าทายที่เป็นพลวัตของโลกศตวรรษที่ ๒๑” ต้องการได้พลเมืองของประเทศและของโลกที่เป็น คนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งมีเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา ๕ ประการ ได้แก่ ๑) การเข้าถึง (Access)  ๒) ความเท่าเทียม (Equity)  ๓) คุณภาพ (Quality) ๔) ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ๕) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ที่พลเมืองส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้บริบทของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งปัญญา (Wisdom – Based Society) การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (Lifelong Learning) และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Supportive Learning Environment) เพื่อให้พลเมืองสามารถเรียนรู้และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถยกฐานะและชนชั้นทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างความผาสุกร่วมกันในสังคมของชนในชาติ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่า

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การศึกษาเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มิติใหญ่ๆ ได้แก่

1. มิติด้านปริมาณ ซึ่งหมายรวมถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา (Mankiw, Romer and Weil, 1992) และการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยให้กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อที่จะได้รับความรู้ที่มากเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานในอนาคต (Barro and Lee, 1993)

2. มิติด้านคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต (Hanushek and WoBmann, 2007)

3. มิติด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึง ความแตกต่าง ในผลลัพธ์ของการศึกษา ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

แนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ดี ควรที่จะต้องมีการพัฒนาในทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นคุณภาพอาจจะได้แรงงานที่จบมาแล้วมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การทุ่มทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการตัดโอกาสในการพัฒนากลุ่มเด็กที่มีศักยภาพที่สูง เช่นเดียวกัน การพัฒนาในมิติเชิงคุณภาพโดยไม่ได้พิจารณาในมิติความเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นเอกเทศ อาจจะทำให้เกิดความแตกต่างของผลการเรียนของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทำให้คุณภาพของผลลัพธ์ทางการศึกษามีความแตกต่าง กันมาก และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด

เมื่อย้อนกลับมาดูสถิติและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย จะพบว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาทั้ง 3 มิติ โดยข้อมูลสถิติจากธนาคารโลก บ่งชี้ถึงช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นปฐมศึกษา โดยมีเพียงร้อยละ 93 ของ เด็กในวัยเรียนที่เข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นดังกล่าว งานวิจัยของ Prasartpornsirichoke and Takahashi (2013) บ่งชี้ถึงความสำคัญของการขยายการเข้าถึงการศึกษาให้ครอบคลุม ถึงระดับชั้นมัธยม ข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรของประเทศจากฐานข้อมูลของ Barro and Lee (2013) พบว่าประชากรวัยทำงานของไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ปี ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.05 ปี) ถึง 3.75 ปี

ในด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ข้อมูลผลการประเมินความรู้ของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ TMISS (The Trends in International Mathematics and Science Study) ในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าความสามารถของเด็กนักเรียนไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาต้น จำนวนมากถูกจัดในระดับแย่ (Poor) และ ในปีนี้และปีหน้าคงจะแย่ลงกว่าระดับที่เป็นอยู่อีกจากการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ สำหรับปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของไทยนั้นรุนแรงกว่าที่เราคิดมาก และเรายังไม่มีองค์ความรู้ในการเข้าใจมันเพราะยังไม่พบว่ามีงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการทำความเข้าใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยตรง งานวิจัยที่พบโดยมากจะมุ่งเน้นที่ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งได้ถูกสะท้อนเป็นประเด็นทางด้านเชิงปริมาณเป็นหลักเท่านั้น 

การพัฒนาผลิตภาพแรงงานและผลิตภาพทุนให้สูงขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง มาตรการประชานิยมแจกเงินจะแย่งเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มผลิตภาพของสังคมได้ การเพิ่มผลิตภาพจะทำให้นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนขั้นต่ำไม่ก่อปัญหาต้นทุนต่อภาคธุรกิจและภาคการผลิต ค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงเป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานในเอเชียเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆอีก เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ และ รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียร์มาร์ ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของแรงงานในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิดก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ขณะเดียวกัน มีนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยตกออกจากระบบการศึกษาและเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ในช่วงล็อคดาวน์ปิดโรงเรียนปิดมหาวิทยาลัย ปัญหาการตกออกจากระบบการศึกษาและการสูญเสียการเรียนรู้จำนวนมากจะเกี่ยวพันกับคุณภาพแรงงานในอนาคตที่อาจด้อยลงหากไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเสียตั้งแต่ตอนนี้  

ผลิตภาพแรงงานไทยโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง  ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต นอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษที่แล้วก็เพิ่มน้อยอยู่แล้ว 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ก็ทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน 

รศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ ข้อแรก ขอให้คณะกรรมการไตรภาคีได้ตอบสนองต่อมาตรการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ มีเงินออมและสามารถลดหนี้สินของครัวเรือนได้ รวมทั้ง ควรปรับเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ข้อสอง รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย ขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีแล้ว หากรัฐบาลใหม่ชุดนี้รับรองอนุสัญญาจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในระดับองค์กร อันเป็นพื้นฐานให้ประชาธิปไตยทางการเมืองมีความเข้มแข็ง ข้อสาม แก้ปัญหาความยั่งยืนทางการเงินในอนาคตของกองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะกองทุนชราภาพ ข้อสี่ ขอให้รัฐบาลใหม่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 (เกี่ยวกับการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับความเป็นธรรมทางด้านสวัสดิการและการจ้างงาน ข้อห้า ขอให้รัฐบาลใหม่ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เฉพาะส่วนที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๓ มาตรา ๒๗ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ข้อหก ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ให้หนี้ที่เกิดจากเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อเจ็ด ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ และ ข้อแปด ขอเสนอให้สร้างโอกาสให้หญิงและชาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว มีงานที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดความสำเร็จโดยจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค ความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อเก้า เสนอให้ แรงงานข้ามชาติ สามารถเป็น สมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยได้ หรือ สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานร่วมกับแรงงานไทยได้ ข้อสิบ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวมนั้น ต้องอาศัยทั้งการยกระดับผลิตภาพของแรงงาน ผลิตภาพของทุน ผลิตภาพจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตภาพของระบบราชการและระบบการเมืองไปพร้อมกัน จะอาศัยแต่ผลิตภาพของแรงงานในระบบการผลิตย่อมไม่เพียงพอ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงาน ครัวเรือน และ กิจการต่างๆย่อมเพิ่มสูงขึ้น และขณะนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีก็ทะลุ 90% ไปแล้วเมื่อบวกกับหนี้นอกระบบจะแตะเกือบ 100% จึงมีความจำเป็นที่ครัวเรือนและกิจการต่างๆต้องปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ด้วยการลดภาระหนี้สินที่ไม่จำเป็น เพิ่มรายได้ เพิ่มทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ (กรณีผู้ใช้แรงงานและครัวเรือน) มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการและเพิ่มโอกาสในการลงทุน (กรณีกิจการต่างๆ) ในระดับนโยบายนั้น ควรสนับสนุนเพื่อพัฒนาภาวะแวดล้อมทางการเงินเพื่อให้เกิดการเข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ เปิดเสรีภาคการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินอย่างแท้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน  สำหรับมาตรการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยและเกษตรกรของรัฐบาลใหม่ตลอดจนมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรนั้น ควรคำนวณภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและต้องจัดสรรเงินงบประมาณมาอุดหนุนเพิ่มเติมด้วย ขณะนี้เองภาระหนี้ของรัฐบาลยังค้างค่าชดเชยหรือติดหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่เหลือเงินงบประมาณมาดำเนินมาตรการกึ่งการคลังเพียง 18,000 ล้านบาท เพราะข้อกำหนดไว้ใน มาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ลดสัดส่วนการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 จาก 35% ลงเหลือ 32% ของวงเงินงบประมาณ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: