นักวิชาการชี้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในสถานประกอบการ

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 39888 ครั้ง

นักวิชาการชี้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในสถานประกอบการ

นักวิชาการชี้การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในสถานประกอบการ สนับสนุนรัฐมนตรีแรงงานทวงค่า Service Charge 10% ให้พนักงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ให้ผู้ประกันตน เสนอปฏิรูประบบแรงงานรับมือ AI และสร้างความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน

5 พ.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการเลือกตั้งกรรมการหรือบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคม ศกนี้เป็นการเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมครั้งแรกในรอบ 33 ปีนับจากที่มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ การเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมทั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในระบบประกันสังคมและสถานประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้มีลงทะเบียนผู้ขอใช้สิทธิน้อยเกินไป ไม่ถึง 1% ของผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง การที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกับสังคมขยายเวลาการลงทะเบียนออกไปเป็นเรื่องที่เหมาะสม และ ควรตั้งเป้าให้มีผู้มาลงทะเบียนมาขอใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกให้ได้อย่างน้อย 30% หรือคิดเป็นผู้ประกันตน 3.6 ล้านคน เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีความเป็นผู้แทนของผู้ประกันตนได้ดีขึ้น หากมีผู้ไปใช้สิทธิน้อยเกินไป ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการประกันสังคมจะไม่ได้เป็นผู้แทนของเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตน และ อาจจะได้ผู้ที่มีความสามารถจัดตั้งคะแนนเสียงมากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมซึ่งขณะนี้มีเม็ดเงินประมาณ 2.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.96% ของจีดีพีประเทศ ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญ ต่อผู้ประกันตนจึงควรมาใช้สิทธิในการดูแลเม็ดเงินสมทบของตัวท่านเอง หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้คนที่คุณสมบัติเหมาะสมหรือไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันน้อยเกินไป จะกลายเป็นข้ออ้างในกลับไปใช้ระบบสรรหาแบบเดิมได้ และ การปฏิรูประบบประกันสังคมและระบบแรงงานแบบมีส่วนร่วมอาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐไทยควรยอมรับอนุสัญญา ILO 87/98 สิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในสถานประกอบการ และ ควรให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 102 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบประกันสังคม เพื่อรับประกันความครอบคลุมทั่วถึงของระบบประกันสังคม เสริมสร้างโครงสร้างทางกฎหมายและการสนับสนุนทางการเมือง อันเป็นบ่อเกิดของระบบประกันสังคมที่ประสิทธิภาพ ยั่งยืนและตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคม

ต่อไป กองทุนประกันสังคมควรพัฒนาการดำเนินการของกองทุนชราภาพให้สามารถจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุนให้กับสมาชิกทราบเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ โดยนำระบบการบันทึกมูลค่าเงินในรูปของหน่วยและมูลค่าต่อหน่วยรายเดือนหรือรายสัปดาห์ (Monthly or Weekly Unitization) มาใช้เพื่อรับรู้ผลการดำเนินงานของกองทุนในรูปของมูลค่าต่อหน่วยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละเดือนหรือสัปดาห์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข ได้นำระบบรายงาน มูลค่าสินทรัพย์ส่วนสมาชิกมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งมีการรายงานเป็นรายวัน (Daily Unitization)

ผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสำหรับประชาชนยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม มีประชาชนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน แม้นกระทั่งสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในส่วนของผู้ประกันตนในระบบประกันตนนั้น แม้นจะมีสวัสดิการที่ดีกว่าแรงงานนอกระบบประกันสังคม แต่เรายังสามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้อีกโดยเฉพาะการบริการทางการแพทย์ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆของประกันสังคมนั้นได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา กรณีของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้นถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการทางการแพทย์ที่เสียภาษีสองต่อ ต่อแรก คือ การเสียภาษีทั่วไป และ ต่อที่สอง คือ การหักเงินสมทบกองทุนสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างระบบบริการสาธารณสุข 3 ระบบ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการระบบประกันสังคม ระบบบัตรทอง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ถูกตอกย้ำทุกครั้งที่ประชาชนไปใช้บริการที่โรงพยาบาล ทุกคนจะถูกถามว่าใช้สิทธิอะไร ถ้าเป็นสิทธิข้าราชการ หรือจ่ายเงินเองหรือมีระบบประกันเอกชน ก็จะได้บริการอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นระบบประกันสังคมหรือบัตรทองก็จะได้บริการอีกแบบหนึ่ง ตัวตัดสินใจ คือ ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และจริยธรรมของโรงพยาบาล ของธุรกิจยาและของแพทย์เอง ยังโชคดีที่จรรยาบรรณของวิชาชีพทางการแพทย์ในไทยนั้นมีความเข้มแข็ง หลายโรงพยาบาลต้องประสบปัญหาทางการเงินและขาดทุนอย่างหนักจากงบสนับสนุนที่ไม่เพียงพอและต้องทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์เกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่

ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เฉลี่ยปีละ 7.6-7.7 แสนล้านบาท หรือ อย่างต่ำ 4.5% ของจีดีพี โดยมีกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุด แม้นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี คือ อยู่ที่ไม่เกิน 5% ประเทศสแกนดิเนเวียจะอยู่ที่ 29-30% ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสังคมต่องบประมาณของไทยจะอยู่ที่ 20% กว่าๆและมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่อย ๆ ภาวะดังกล่าวสะท้อนรายได้ภาษีต่อจีดีพีต่ำและยังขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก

คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) จะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องลดภาระทางการคลังด้วยการดำเนินการในนโยบาย 3 ด้านดังต่อไปนี้ คือ พัฒนาระบบการออมเพื่อชราภาพให้ขยายขอบเขตและเข้มแข็งขึ้น การปฏิรูประบบแรงงาน และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพหรือไม่ อย่างไร

รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้มากขึ้น สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ตามปกติ และที่สำคัญ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ ระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และ หลายอย่างสมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และ สามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุน การกดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มากและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง ใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบแรงงานนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ ข้อแรก การปฏิรูประบบค่าจ้าง ต้องปฏิรูประบบค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อความเป็นธรรมและทำให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพของครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน แรงงานและลูกจ้างไม่ควรถูกเอารัดเอาเปรียบ ขอสนับสนุนรัฐมนตรีแรงงานทวงค่า Service Charge 10% ให้พนักงาน เนื่องจากนี้มีสถานประกอบการมากกว่า 50% ที่คิด Service Charge กับลูกค้า 10% แล้วไม่นำเงินส่วนนี้ให้กับพนักงงานลูกจ้างผู้ให้บริการ แต่เก็บเป็นรายได้เพิ่มเติมให้ผู้บริหารหรือกำไรเพิ่มให้เจ้าของกิจการ ถือว่าไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ สถานประกอบการใดที่คิดค่า Service Charge เกิน 10% และ ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้

ข้อสอง ปฏิรูประบบค่าจ้างตามทักษะและผลิตภาพของแรงงานเพื่อขีดความสามารถทางธุรกิจ ค่าจ้างของแรงงานที่มีทักษะแห่งอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่างๆ และ รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียร์มาร์ ขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ ต้องมีการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ AI ยังทำแทนไม่ได้ให้โดดเด่นผ่านระบบการศึกษา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะใหม่ๆป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต ข้อสาม การปฏิรูประบบสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ข้อสี่ การพัฒนาความรู้ ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อห้า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงาน ข้อหก การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับลูกจ้างและการส่งเสริมความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ข้อเจ็ด การพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรนายจ้างและแรงงาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: