วงเสวนาแนะนำสถาบันการเงินทำงานเชิงรุก-ปรับตัวเพื่อป้องปรามคอร์รัปชัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1195 ครั้ง


วงเสวนาชี้ สถาบันการเงินควรมีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น โดยคณะวิจัยนำเสนอความเสี่ยงด้านทุจริตในสถาบันการเงิน และเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างมาตรฐานของประเทศไทยและสากล พร้อมทั้งหยิบยกตัวอย่างกรณีทุจริตเงินคืนภาษีและกรณีการรุกกล้ำพื้นที่ป่าสงวน ขณะผู้แทน แบงก์ชาติ แจงต้องหาสมดุลของการคุม การเคลื่อนย้ายเงิน เพื่อไม่ให้คนทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจเดือดร้อน ผู้แทน ปปง. แนะสถาบันการเงินเพิ่มระบบมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหวทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ ด้านภาคประชาชนชวนใช้เทคโนโลยีตรวจสอบคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2566 ในเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง บทบาทของสถาบันการเงินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจัดโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

พลภคินทร์ พฤฒิวงศ์วาณิช และ จักรพงศ์ คงกล่ำ นักวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ร่วมนำเสนองานวิจัย เรื่อง "บทบาทของสถาบันการเงินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน" โดย พลภคินทร์ กล่าวถึงความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชันในสถาบันการเงินว่า มีทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากลูกค้าของสถาบันการเงิน เช่น การฟอกเงิน การสนับสนุนเงินให้แก่การก่อการร้าย การค้ายาเสพติด และความเสี่ยงที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินและผู้ทุจริตโดยตรง โดยกลไกการป้องกันเรื่องนี้ควรดำเนินตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนเงินให้ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มผู้แพร่อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงดำเนินตามแนวปฏิบัติป้องกันการรับสินบนและการทุจริตอื่นๆ ทั้งการมีกระบวนการตรวจสอบด้านคอร์รัปชันในการดำเนินงาน ตลอดจนการมีช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทย ในปี 2560 โดย กลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Group on Money Laundering: APG) ได้ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างแนวปฏิบัติในประเทศไทยกับสากลหลายด้าน เช่น สถาบันการเงินไทยยังใช้มาตรการการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้าอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence: EDD) กับลูกค้าในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ขณะเดียวกันการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ยังไม่ครอบคลุมผู้ให้บริการทางการเงินประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร และไม่ครอบคลุมประเด็นการกระทำผิด

ทั้งนี้ จักรพงศ์ หยิบยกกรณีศึกษา 2 กรณี ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่และบทบาทของสถาบันการเงินในการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน คือ การทุจริตเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม มูลค่า 4.3 พันล้านบาท ของบริษัทนำเข้า-ส่งออกแร่โลหะปลอม 25 บริษัท และการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยบริษัท เจบีบี จำกัด เพื่อประกอบกิจการโรงแรมอนันตรา สิเกา รีสอร์ท แอนด์ สปา

กรณีแรกสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ที่ธนาคารอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดสามารถนำใบขอเปิดบัญชีไปลงนามนอกสถานที่ได้ ซึ่งภายหลังพบว่ามีการปลอมลายเซ็นขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดช่องโหว่ที่ธนาคารไม่สามารถตรวจสอบการโยกย้ายเงินของผู้กระทำความผิดที่ทุจริตเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไปได้ เนื่องจากการโอนเงินแต่ละครั้งมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งแสนบาท ทำให้ไม่ต้องถูกตรวจสอบตามกฎหมาย แต่เมื่อรวมยอดแล้วพบว่าเป็นจำนวนหลักสิบล้านบาทต่อวัน รวมกว่าร้อยบัญชี ส่วนกรณีการรุกล้ำที่ดิน สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของธนาคารที่มีบทบาทในการป้องปรามการทุจริตแต่เพียงทางอ้อมเท่านั้น เนื่องจากเมื่อบริษัทลูกค้ามาขอสินเชื่อโดยเสนอที่ดินเป็นหลักประกัน ยังเป็นการยากที่ธนาคารจะล่วงรู้ว่าหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ลูกค้านำมาเป็นหลักประกันนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด รวมถึงกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งเน้นไปที่แนวทางการประเมินราคาหลักประกันและอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าบทบาทในการปราบปรามหรือตรวจสอบความผิดปกติของที่ดิน

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานกำกับดูแลว่า (1) ควรมีการเพิ่มบทลงโทษสำหรับสถาบันการเงินที่หละหลวมจนเอื้อให้เกิดการทุจริต (2) กำหนดให้ตัวกลาง อาทิ ทนายความ นักบัญชี และผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustees) มีหน้าที่รายงานข้อมูลตามกระบวนการ CDD (client due diligence) และเปิดเผยสถานะของตนกับสถาบันการเงิน (3) ปรับปรุงเกณฑ์การรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR) ของสถาบันการเงิน ให้ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมากขึ้น รวมถึงขยายการรายงาน STR ให้ครอบคลุมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ให้บริการโอนเงิน และ (4) ควรเปิดข้อมูลแปลงที่ดินและราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศให้เป็นข้อมูลเปิด (open data) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันได้มากขึ้น รวมถึงจัดทำและเผยแพร่หลักเกณฑ์ “ที่ดินมีพิรุธ” ให้สถาบันการเงินมีหน้าที่รายงาน

ถนอม โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงบทบาทของ ธปท. ที่เน้นไปที่การป้องกัน และคาดหวังให้สถาบันการเงินตระหนักถึงความเสียหายหรือสิ่งจะที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ ธปท. ดำเนินการ คือ การสร้างการรับรู้และขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งต้องมีกระบวนการที่รู้ว่า ลูกค้าเป็นใคร ทำธุรกรรมเกี่ยวเนื่องอะไร และธุรกรรมเหล่านั้นมีความผิดปกติตรงไหนหรือไม่

ทั้งนี้ ธปท. มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีแนวปฏิบัติและมาตรฐานในการรายงาน โดยธนาคารมีหน้าที่รายงานความผิดพลาดหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อ ธปท. ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน แต่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคาร รวมทั้งกรณีที่ธนาคารตรวจพบเองและกรณีที่ ธปท. ตรวจพบ

ปัจจุบัน ธปท. ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องวันต่อวัน หากเห็นความผิดปกติจะเข้าไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้น ธปท. มีบทกำหนดโทษค่อนข้างชัดเจนและรุนแรง กรณีที่ผิดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน โดยดำเนินการเอาผิดกับสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก แม้ที่ผ่านมา เราไม่ได้บังคับให้เปิดเผย แต่ขณะนี้ หากโดนปรับสถาบันการเงินต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ ถนอมกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายเงินด้วยว่ามีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ ทางกายภาพ อาจข้ามแดนหรือหิ้วไปที่ไหนตามต้องการ ซึ่งไม่ผ่านช่องทางของธนาคาร แต่ช่องทางอีกช่องทางคือผ่านการทำธุรกรรมของธนาคาร ซึ่งธนาคารจะเป็นเป้าใหญ่เพราะมีช่องการให้บริการทางการเงินค่อนข้างเยอะ ธนาคารก็จะต้องเพิ่มกระบวนหรือมีระบบงานกำกับ อย่างไรก็ตาม การควบคุมจะต้องสร้างสมดุล มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ประกอบธุรกิจสุจริต

“มุมแรกคือคุมเพื่อมิให้เกิดกรณีทุจริต หรือว่าเกิดการเคลื่อนย้ายเงินที่ผิดกฎหมายขึ้น แต่อีกมุมเราก็ต้องบาลานซ์ว่าคนที่ทำธุรกิจ คนที่จำเป็นจะต้องพึ่งพิงธุรกรรมของธนาคารเพื่อการดำเนินธุรกิจเขาก็มี สองจุดเราต้องบาลานซ์ให้ดี มิฉะนั้น หากทำข้างใดข้างหนึ่งหนักไป คนที่เสียประโยชน์คือคนบริสุทธิ์ คนที่ดำเนินธุรกิจเป็นปกติจะเดือดร้อน” ถนอมกล่าว

ศิริวรรณ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการส่วนกำกับและตรวจสอบ 1 กองกำกับและตรวจสอบ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า จากบทบาทหน้าที่ของ ปปง. ที่กำหนดให้กลุ่มสถาบันการเงินต้องจัดทำนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติ และการจัดการให้ลูกค้าแสดงตน รวมถึงการตรวจสอบเพื่อสร้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังต้องจัดให้มีมาตรการใหม่เกี่ยวกับการหลอกลวง เช่น กรณีคอลเซ็นเตอร์ ด้วย

โดย ปปง. รับรายชื่อบุคคลที่ถูกแจ้งความว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มากำหนดเป็นรายชื่อของสำนักงาน ปปง. จากนั้นจะส่งต่อไปให้ธนาคารระงับช่องทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากต้องการทำธุรกรรมต้องดำเนินการที่สาขาเพื่อแสดงตัวตนของเจ้าของบัญชีเท่านั้น วิธีนี้ก็สามารถการป้องกันบัญชีม้าได้ เพราะส่วนใหญ่เจ้าของบัญชีจะไม่เข้ามา

“มาตรการต่างๆ มีมากเพียงพอแล้ว แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในหลายเรื่อง เช่น การบริหารความเสี่ยง สถาบันการเงิน ณ ตอนนี้ จะต้องมีระบบมอนิเตอร์ตรวจจับผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัย ตรวจความเคลื่อนไหวทางการเงินของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบ ก็ต้องมีการรายงานเหตุอันควรมีธุรกรรมสงสัยมาทาง ปปง. ซึ่งรายละเอียดของระบบนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร”

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เงินผิดกฎหมายจะไปอยู่หลายที่ แต่สุดท้ายมักจบที่สินทรัพย์อย่างอื่นๆ เช่น ทอง บ้าน คริปโต ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก ด้วยเหตุนี้ ทาง ปปง. จึงได้กำหนดแนวทางว่า ผู้มีหน้าที่รายงานสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้มีสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ต้องรายงานตามกฎหมายฟอกเงิน รวมถึงการรายงานผู้มีธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย มาที่สำนัก ปปง. อย่างไรก็ตาม ปปง. ตรวจสอบได้แค่เฉพาะผู้ให้บริการในประเทศ หากเส้นทางการเงินเหล่านี้ไหลไปสู่ผู้ให้บริการต่างประเทศ ก็ยากที่เราจะติดตามเงินเหล่านี้ ต้องมาหารือว่าจะมีวิธีใดมาปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ได้

ด้านมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไทย มีการพูดถึงการแก้ปัญหาโยกย้ายเงินผิดกฎหมายมาตลอด เช่น มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านการทุจริต มีการระบุถึงมาตรการแก้ปัญหา แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายก็ยังเกิดขึ้นเต็มไปหมด เช่น พนันออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ น่าสนใจว่าแต่ละหน่วยงานทำงานเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร

“ในต่างประเทศ มีมาตรการทางภาษีที่ตรวจสอบว่าความร่ำรวยเกิดขึ้นมาจากไหน ในภาคธนาคาร ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งผู้ถูกกระทำ จากการรับรองใบอนุญาตต่างๆ โดยหน่วยงานภายนอก เช่น เอกสารรับรองที่ดิน และธนาคารในฐานะที่เป็นตัวกลางในการผ่านเงินต่างๆ หากมีกลไกที่สามารถตรวจสอบกระบวนการเคลื่อนย้ายเหล่านี้ก็จะช่วยได้”

มานะยังยกตัวอย่างเว็บไซต์ ACT AI https://actai.co/ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า ใครชนะการประมูลโครงการของรัฐด้วยเงินเท่าไร และเว็บไซต์ Corrupt 0 https://corrupt0.actai.co/ ระบบตรวจจับสายสัมพันธ์คนโกงที่แสดงข้อมูลภูมิหลังของนักการเมือง ทั้งสถานะทางการเงิน สายสัมพันธ์ คดีความ ข้อมูลการดำรงตำแหน่งในธุรกิจและการเมือง ซึ่งหากมีเว็บไซต์ลักษณะนี้ ธนาคารจะสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ว่าที่ลูกค้าอ้างอิงในเอกสารเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยสานต่อหากมีศักยภาพที่จะทำได้ หรือให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการแทนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: