ผลสำรวจหลัง 'ทรูควบรวมดีแทค' ข้อสงสัย 'ผูกขาด' จางลง คนหันมาชอบพรีเซ็นเตอร์คนใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 4657 ครั้ง


จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น "ทรูควบรวมดีแทค" บนโซเชียลมีเดียผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ของบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) พบภาพรวมก่อนการควบรวม ผู้บริโภคส่วนมากจะพูดถึง "การผูกขาดของตลาด" แต่หลังจากการควบรวมข้อสงสัยต่างๆ บนโลกโซเซียลได้จางลงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นประเด็นใหม่ๆ ที่ใกล้ตัว โดยเฉพาะ "ความชื่นชมในส่วนของพรีเซ็นเตอร์คนใหม่"

หากจำกันได้ ปลายปี ที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยสำหรับข่าวการควบรวมของ 2 ค่ายใหญ่ในไทยอย่าง true และ dtac ซึ่งกระแสข่าวของการควบรวมอย่างไม่เป็นทางการได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 เกิดเป็นกระแสของการพูดถึงโดยเฉพาะบนโลกโซเชียลกันอย่างล้นหลามในหลากหลายประเด็น รวมถึงตั้งข้อสงสัยว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นการควบรวมเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ หรือจะกลายเป็นการผูกขาดทางการตลาด

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นของดีลนี้ บนโซเชียลมีเดียผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ของบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการควบรวมแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคกลับมามองไม่ใช่เรื่องของความผูกขาด แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับจากการที่ผู้บริโภคจ่ายไป ทั้งในเรื่องของประสบการณ์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งทาง true และ dtac ค่อนข้างมีความได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ของเสาสัญญาณหลังการควบรวมกันที่ผู้บริโภคมองว่าสัญญาณสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้นและมีสัญญาณ 5G ที่ดีขึ้น อีกทั้งเรื่องของสิทธิพิเศษที่ได้รับหลากหลายขึ้น เช่น การดูถ่ายทอดสดฟุตบอล สิทธิพิเศษจากร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือความบันเทิงต่างๆ ที่ครบครัน รวมถึงการใช้พ้อยท์คะแนนแลกสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น

ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2566 พบว่ามีการพูดถึงประเด็นของการควบรวม true และ dtac มากกว่า 1.3 แสนข้อความและมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 7 ล้านเอ็นเกจเมนต์สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนบนโซเชียลเกี่ยวกับการควบรวมนี้อย่างเห็นได้ชัด

 

 

เมื่อดูประเด็นของการพูดถึงโดยแบ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและหลังการควบรวมพบประเด็นที่น่าสนใจจากผู้คนบนโซเชียลที่สรุปออกมาได้ดังนี้

ความสงสัยความกังวลและความหวังช่วง ‘ก่อนการควบรวม’ 

ตามที่ทราบกันว่าในประเทศไทยเองมีเครือข่ายโทรคมนาคมของภาคเอกชนที่เป็นยักษ์ใหญ่อยู่ 3 บริษัท คือ true dtac และ AIS  (แม้จะมี ค่ายที่  4 คือ NT บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ แต่ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงไม่นับรวมในที่นี้) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ข่าวออกมาว่าจะมีการควบรวมเกิดขึ้นในครั้งนี้จะทำให้ true และ dtac ถูกมองเป็นเชิงลบว่าเป็นการผูกขาดของตลาดที่เห็นจากในกราฟที่ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นในเชิงลบค่อนข้างสูงในช่วงแรกที่มีการปล่อยข่าวออกมา  ผู้บริโภคมองว่าถ้าหากเหลือผู้แข่งขันในอุตสาหกรรมน้อยลง อาจส่งผลให้การสร้างแรงจูงใจในการทำบริการหรือสินค้ามาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคจะลดลงตามไปด้วย 

 

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีเสียงของผู้บริโภคอีกกลุ่มมองในเชิงบวกว่าการควบรวมกันเป็นการทำเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจเพื่อจะไปต่อสู้กับเจ้าตลาด อีกทั้งควบรวมกันครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

รวมถึงแสดงความเห็นถึงความคาดหวังจากการที่ควบรวมกันในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งความคาดหวังในเชิงของประสบการณ์ที่ตัวเองจะได้รับ ความคาดหวังในเรื่องของความครอบคลุมของเสาสัญญาณที่มากขึ้น คุณภาพอินเทอร์เน็ตที่เสถียรขึ้น ความคาดหวังผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคา และ สิทธิพิเศษต่างๆ จากประสบการณ์ที่เขาคาดหวังจะได้รับ

แต่อีกมุมนึงผู้บริโภคคาดว่า การรวมกันแล้วจะทำให้ราคาสูงขึ้น การพัฒนาสินค้าของตัวเองน้อยลง เพราะไม่มีการแข่งขันกันในตลาด รวมถึงคาดว่าคุณภาพของอินเทอร์เน็ตลดลง 

ภาพความคิดเรื่องการผูกขาดเปลี่ยนเป็นความคาดหวังกับประสบการณ์ที่ได้รับ ‘หลังการควบรวม’

หลังจากการประกาศการควบรวมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ภาพของความสงสัย ความกังวลเรื่องของการผูกขาดกลับไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผู้บริโภคพูดถึง การพูดถึงในเชิงลบค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการพูดถึงในเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเรื่องของประสบการณ์ที่ได้รับ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งยังมีกระแสการพูดถึงชื่นชมต่อการใช้ พรีเซ็นเตอร์คนใหม่ อย่าง คุณนาย ณภัทร และ คุณใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอบอุ่นของการมีกันและกัน และ การรวมกันเพื่อชีวิตที่ดีกว่า 

รวมถึงหลังจากการควบรวมกันแล้ว ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในแง่มุมที่ต่างออกไป นั่นคือ ภาพของการผูกขาดหายไป แต่กลับเป็นความคาดหวังที่มุ่งไปใน เรื่องของประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้รับโดยตรง ในเรื่องของอินเทอร์เน็ต ราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงสิทธิพิเศษที่อยากได้เพิ่ม พร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป

ภาพรวม ‘ก่อนการควบรวม’ ผู้บริโภคส่วนมากจะพูดถึง

● การผูกขาดของตลาด

● ความกังวลในเรื่องของคุณภาพ การบริการ 

● ความคาดหวังในเรื่องของการบริการ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

หลังจากการควบรวม’ ข้อสงสัยต่างๆบนโลกโซเซียลได้จางลงค่อยๆเปลี่ยนเป็นประเด็นใหม่ๆที่ใกล้ตัว

● ความชื่นชมในส่วนของพรีเซ็นเตอร์คนใหม่

● ความหลากหลายของสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น

● ประสบการณ์ในเรื่องของสัญญาณที่ดีขึ้น ความครอบคลุมของเสาสัญญาณที่เพิ่มมากขึ้น

ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังคงมีความท้าทายให้ true และ dtac ได้ปรับตัวกันต่อไปเมื่อเรื่องของการผูกขาดไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนพูดถึง แต่อาจจะยังต้องมีการขยับตัวเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้รับและออกมายืนยันว่ายังคงใส่ใจในการพัฒนาตัวสินค้าและบริการที่ดีให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง 

เพราะหลังจากการประกาศควบรวมอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการและให้ความสำคัญคือประสบการณ์ดีๆ ที่พวกเขาควรได้รับจาก true และ dtac ทั้งในแง่การใช้งานที่ดีขึ้น ราคาที่คุ้มค่าเหมาะสม รวมไปถึงการบริการที่เหนือกว่าและสร้างความพึงพอใจในระยะยาวได้นั่นเอง

 

ที่มา: Wisesight

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: