เนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา HRDF เปิดจดหมาย 4 ฉบับ เสียงของแรงงานข้ามชาติและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทย ซึ่งปัจจุบันองค์กรได้รับเรื่องร้องเรียนประเด็นละเมิดแรงงานประมงปี 2565-66 จำนวน 16 เรื่อง มีผู้เสียหาย จำนวน 82 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้เปิดเผยจดหมาย 4 ฉบับ ที่แสดงความรู้สึกของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบนเรือประมง 4 คน ซึ่งมีจำนวน 2 คน ที่เจ้าหน้าของรัฐได้ลงความเห็นว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจากการค้ามนุษย์ ต้นปี พ.ศ.2566’ โดยมีรูปแบบการละเมิดที่เข้าองค์ประกอบการค้ามนุษย์ ได้แก่ การถูกทำร้ายทุบตีบนเรือประมง ถูกยึดเอกสาร การไม่ได้รับค่าจ้าง และบังคับใช้แรงงานตอนที่ลูกจ้างไม่ยินยอม นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยในเรื่องการทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สิน เช่น ถูกทำลายโทรศัพท์ส่วนตัว ใช้ไม้ทุบทำร้ายร่างกายขณะทำงานบนเรือประมง หรือการไม่ให้พักผ่อนแม้มีอาการเจ็บป่วยขณะทำงานอยู่บนเรือประมง สะท้อนถึงการทำงานที่ไม่มีวันหยุดและวันลาป่วยของแรงงาน
“ส่วนใหญ่เคสที่เข้าสู่การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มักจะต้องมีองค์ประกอบการถูกทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนมันจะเป็นเหมือนการทุบตีทำร้าย แต่ปัจจุบัน การค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ หรือแรงงานทาสสมัยใหม่ ที่ไม่ต้องไปถึงขั้นทุบตี ล่ามโซ่ หากมีลักษณะจำกัดอิสระภาพ การยึดเอกสาร การไม่จ่ายค่าจ้าง มันก็มีโอกาสเป็นแรงงานบังคับหรือค้ามนุษย์ได้เหมือนกัน หากองค์ประกอบอื่นๆครบถ้วนตามกฎหมาย” เพ็ญพิชชา กล่าว
“การทำงานของลูกเรือประมงกลุ่มนี้คือออกทะเล 11-12 วัน ไม่เกิน 16 วัน แล้วกลับขึ้นฝั่งประมาณ 2-3 วัน เพื่อเตรียมขนปลา เตรียมเรือประมงออกทะเลต่อ หน้าที่ของลูกเรือคือการเอาอวนลง ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ห้องเก็บน้ำแข็งใต้ท้องเรือ คัดแยกปลา ซ่อมอวน ช่วงเวลาการทำงานจะไม่ชัดเจนเหมือนงานประเภทอื่นๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น พายุ มีสัตว์น้ำมากน้อยบริเวณใด การทำงานของลูกเรือประมงมักเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายว่าด้วยการประมง และสถานการณ์การทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน คือสิ่งที่แรงงานข้ามชาติบนเรือประมงเจอใน 4 เคสนี้” เพ็ญพิชชา กล่าว
นอกจากนี้ เพ็ญพิชชา ได้อธิบายลักษณะการกระทำของนายจ้างที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในเรื่องของประมง โดยให้ข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าวว่า การที่เรือประมงจะออกจากฝั่งเพื่อทำการประมงได้นั้น เจ้าหน้าที่ของภาครัฐจะตรวจสอบเอกสารของนายจ้างและลูกจ้างให้ถูกต้องก่อนออกจากฝั่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือแรงงานประมงส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงเอกสารประจำตัวได้อย่างอิสระ โดยส่วนใหญ่หลายกรณีที่พบนั้น นายจ้างจะยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานประมงต้องอยู่ในสภาวะจำยอมไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือออกจากงานได้ นำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน หรือลักษณะของการค้ามนุษย์ต่อไป
เปิดจดหมาย 4 ฉบับ : ความรู้สึกของแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดความเป็นมนุษย์บนเรือประมงไทย
จดหมายฉบับที่ 1
(ไม่เปิดเผยชื่อผู้เสียหาย)
พวกเราลำบากมากไม่ได้ทำงานเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว อยากให้กระบวนการทางคดีสิ้นสุดเร็วๆนี้ ที่บ้านพ่อแม่พวกเรามีความลำบากมาก เล่มเอกสารของเราก็หมดอายุไปแล้ว พวกเราพี่น้องสองคนอยากกลับไปทำเล่มใหม่ที่ประเทศเมียนมา ครอบครัวของเราก็ลำบาก ตอนนี้ได้ยินว่ามีพายุเข้ามาทำให้บ้านเราได้รับความเสียหายและไม่มีที่อยู่ที่กิน อยากให้คดีพวกเราจบเร็วๆ ขอให้ท่านช่วยคดีพวกเราให้เสร็จเร็วๆนี้ พวกเราขอความช่วยเหลือจากองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราก็ไม่ได้อยากร้องอะไร เราทำงานให้นายจ้าง นายจ้างและลูกจ้างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่นายจ้างทำแบบนี้กับเรา ทำให้พวกเราได้รับผลกระทบ มีความลำบากมากกระทบต่อครอบครัวที่อยู่ประเทศเมียนมา การกินอยู่ปัจจุบันได้ผลกระทบจากการเกิดพายุเข้า เราไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้และยังมีการสู้รบยิงกันอยู่ ขอความช่วยเหลือว่าขอให้ท่านช่วยเหลือคดีของเราเสร็จเร็วๆ ขอบคุณที่ช่วยพวกเราทุกคน
จดหมายฉบับที่ 2
(ไม่เปิดเผยชื่อผู้เสียหาย)
ผมลำบาก แม่ผมก็ลำบาก ตอนนี้ผมได้ติดต่อกับแม่ ที่บ้านก็ความเป็นอยู่ไม่ค่อยดี ผมเป็นห่วงแม่ แม่ผมก็เป็นห่วงผมเช่นกัน ผมก็ไม่ได้ทำงานนานแล้ว ตอนนี้เป็นระยะเวลาได้ประมาณ 6 เดือนแล้ว คดีก็ยังไม่เสร็จ งานไม่ได้ทำ ช่วยให้คดีนี้ให้เสร็จเร็วด้วยได้ไหมครับ หากว่าคดีผมยังไม่เสร็จ การทำงานไม่ค่อยสะดวก พวกเราจนฐานะไม่ดีจึงได้ตัดสินใจมาทำงานประเทศไทย รู้สึกไม่สบายใจที่ได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ไม่อยากให้เกิด เราก็ทำงานให้นายจ้าง ทำไมพวกเขาทำไม่ดีกับเรา เราไม่มีฐานะก็เลยมาทำงาน รู้สึกไม่สบายใจ ตอนนี้บ้านเราก็พังหมดแล้ว ผมก็รู้สึกไม่สบายใจในประเทศนี้และไปไหนก็ไม่ได้ เราจะช่วยพ่อแม่เราอย่างไร คดีก็เรื่องหนึ่ง งานก็ไม่มี พ่อแม่เราก็อายุมากแล้ว แม่ก็เวียนหัวกับเรื่องเราทุกวัน ขอให้คดีเราเสร็จเร็วๆได้ไหม ในประเทศเมียนมาก็มีการสู้รบ งานก็ไม่มี เงินที่เรามีลงทุนในการมาทำงานที่นี่หวังว่าจะดีขึ้น ตอนนี้เราได้เจอกับความลำบาก คนไทยและท่านขอช่วยพวกเราด้วย เราก็เป็นห่วงความเป็นอยู่ของพ่อแม่ เราต้องมีงานเพื่อที่เราจะได้ช่วยพ่อแม่ หากไม่มีงานเราก็ไม่มีเงิน ทุกวันนี้เราก็รู้สึกไม่ดี ตอนนี้ตัวกับใจไม่อยู่แล้ว เราอยากให้คดีเราจบให้เร็วๆ ช่วยให้คดีเราจบให้เร็วด้วยครับ
จดหมายฉบับที่ 3
(ไม่เปิดเผยชื่อผู้เสียหาย)
ผมยังมีภรรยากับลูกที่ต้องดูแลรวมถึงแม่ที่ยังอยู่ที่ประเทศเมียนมา ตอนนี้ได้ยินมาว่ามีพายุเข้าทำให้บ้านผมเสียหายมากและไม่สามารถติดต่อกับแม่ได้หลังจากที่พายุเข้า ความเป็นอยู่ก็ลำบาก แล้วผมเหลือแต่แม่คนเดียวพ่อผมไม่มีแล้ว แม่ผมก็อายุมากแล้ว ขอให้ดำเนินให้คดีเราให้สิ้นสุดโดยเร็วที่สุดด้วย เราไม่ได้ทำงาน 5เดือนแล้ว งานก็ไม่มีหากคดีสิ้นสุด เราก็อยากกลับบ้านแล้ว ผมก็เป็นห่วงแม่ตอนนี้ก็ติดต่อกับแม่ยังไม่ได้ เป็นห่วงภรรยากับลูกด้วย ลูกก็ไม่กินนมแม่แล้ว ต้องซื้อนมผงที่ร้านให้ลูกดื่ม ขอให้ดำเนินการให้คดีพี่น้องเราสองคนให้เสร็จเร็วๆ ทางแม่ผมก็เป็นยังไงไม่รู้ อยากกลับบ้านแล้ว ผมขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเหลือเรา
จดหมายฉบับที่ 4
(ไม่เปิดเผยชื่อผู้เสียหาย)
พวกผมขอให้คดีผมสิ้นสุดเร็วๆครับ ครอบครัวผมที่อยู่ในหมู่บ้านผมก็ลำบาก แม่ผมเป็นยังไงไม่รู้ บ้านผมก็พังหมดแล้วเพราะพายุเข้าไม่มีที่อยู่ ความเป็นอยู่ก็ลำบาก ผมไม่ได้ทำงานจะได้5เดือนแล้ว เราไม่มีเงินที่จะส่งให้แม่ ผมอยากขอให้คดีผมเสร็จเร็วๆ เพราะ นายจ้างทำกับเราแบบนี้ เราเลยต้องร้องเรียน หากเขาไม่ทำกับเราแบบนี้ เราก็ไม่มีอะไรที่จะต้องร้องเรียน เราแค่มาทำงาน ผมขอบคุณทุกท่านสำหรับคนที่ช่วยเหลือเรา
HRDF ชี้ ปี 2565-2566 เรื่องร้องเรียนละเมิดแรงงานบนเรือประมงรวม มี 16 เรื่อง ผู้เสียหาย จำนวน 82 คน
เพ็ญพิชชา ยังระบุว่าขณะนี้ HRDF มีเคสที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อเดือนสิงหาคม 2565- พฤษภาคม 2566 ทั้งหมด 16 เรื่อง โดยมีแรงงานประมงที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 82 คน ซึ่งเป็นประเด็นละเมิดแรงงานที่เกิดกับลูกเรือประมงทั้งหมด เป็นเพศชายทั้งหมด ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้พูดถึงแค่แรงงานลูกเรือประมงแต่ยังรวมถึงกรณีอุตสาหกรรมแปรรูปต่อเนื่องประมง จึงมีกรณีที่เป็นผู้หญิงและครอบครัวของแรงงานประมงด้วย กรณีส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานเรือประมงไทยใน จังหวัดปัตตานี, ชุมพร, ภูเก็ต, ระนอง, ตรัง” เพ็ญพิชชา กล่าว
เพ็ญพิชชา กล่าวว่า แม้ว่ากรณีเคสส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา แต่การละเมิดสิทธิแรงงานประมง HRDF ยังพบกรณีของแรงงานสัญชาติไทยที่ไปทำงานในเรือประมงของประเทศมาเลเซียข้อสังเกตที่พบจากการเดินทางมาร้องเรียน คือ กรณีส่วนใหญ่แรงงานจะเข้ามาร้องเรียนต่อเมื่อปัญหาละเมิดได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น ค่าจ้างค่าแรง เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้เพราะถูกนายจ้างยึดเอกสาร การถูกทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสอบข้อเท็จจริงและส่งต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยหากดูข้อมูลจำนวนคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติปัองกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่เข้าสู่การพิพากษาของศาลทั่วราชอาณาจักร ปี 2565 มีจำนวนคดีการค้ามนุษย์ทั้งหมด 472 คดี โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานหรือบริการเกี่ยวกับประมง จำนวน 16 คดี และปี 2566 (ช่วงมกราคม-เมษายน 2566) มีทั้งหมด 185 คดี โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานหรือบริการเกี่ยวกับประมง จำนวน 2 คดี
นายจ้าง ‘เก็บ-ยึด’ เอกสารประจำตัวแรงงานการละเมิดสิทธิที่พบมากที่สุดจนนำไปสู่ขั้นการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมประมงไทย
จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานบนเรือประมง คงไม่พ้นเรื่องการที่นายจ้างยึดเอกสารของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จนกลายเป็นเหตุผลของการอยู่ในภาวะยอมจำนนของแรงงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนงานใหม่ หรือหนีออกจากการทำงานที่ไม่เป็นธรรมได้ โดยกรณีการยึดเอกสารของแรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนของแรงงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมา นายจ้างมักจะอ้างถึงเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานประมงที่ติดค้าง และแรงงานประมงต้องทำงานชดใช้หนี้สินที่เกิดจากการที่นายจ้างออกค่าใช้จ่ายเรื่องเอกสารให้แรงงานล่วงหน้า ข้อมูลที่ HRDF ได้จากการสอบถามแรงงานข้ามชาติ ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาท/คน การทำงานของแรงงานประมงจึงมีลักษณะของการทำงานขัดหนี้ ขัดดอกเบี้ย และนายจ้างมักจะใช้หนี้สินของแรงงานเป็นข้ออ้างในการเก็บเอกสารส่วนตัวของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการอ้างของนายจ้างโดยการใช้คำว่า ‘เก็บ’ มักจะใช้ต่อสู้ในเชิงคดีความว่าไม่ใช่การ ‘ยึด’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ต้องตีความทางกฎหมาย เพื่อสรุปชี้ชัดให้ได้ว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ว่าแรงงานข้ามชาติหรือใครก็ตามย่อมมีสิทธิในการเข้าถึงเอกสารประจำตัวของตนได้ตลอดเวลา
“บางทีนายจ้างมักจะอ้างว่าการเก็บหรือยึดเอกสารแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เพราะกลัวว่าแรงงานจะทำหาย ลักษณะการทำงานประมงทำให้เขาไม่สามารถเก็บเอกสารของตัวเองได้ แต่พอเป็นประเด็นเรื่องเอกสารการดำเนินการทางกฎหมายก็มีปัญหาเพราะไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการตีความระหว่าง การ เก็บ และ ยึด” เพ็ญพิชชา กล่าว
นอกจากนี้นอกจากนี้ยังพบรูปแบบการจ่ายเงินผิดวิธีของนายจ้าง กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานประมงระบุชัดว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แรงงานประมงโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายค่าแรงเป็นเงินสดได้ เจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อแสดงให้เห็นความโปร่งใสของนายจ้างไม่ให้ละเมิดเรื่องการจ่ายค่าแรงต่อแรงงานประมง แต่วิธีการละเมิดก็มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก สิ่งที่พบโดยทั่วไปคือ แรงงานประมงมักจะไม่ได้ถือบัตรกดเงินสดและบัญชีธนาคารของตนเอง โดยนายจ้างมักจะเป็นผู้เก็บบัตรกดเงินสดของแรงงานและสมุดบัญชีธนาคารของแรงงานไว้และโอนเงินเข้าออกบัญชีเพื่อให้มีหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ ขณะที่การจ่ายค่าจ้างจริงจะจ่ายด้วยเงินสด
“หลายเคสนายจ้างมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี มีเอกสารชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในสภาพความเป็นจริงแรงงานประมงได้รับค่าจ้างเป็นเงินสด ซึ่งปัญหานี้ได้รับคำแนะนำจากภาครัฐต่อแรงงาน คือ การให้ปากคำ การจดรายรับค่าจ้างในสมุดบันทึกด้วยตนเอง เป็นหลักฐานของแรงงาน แต่นายจ้างเขามีทั้ง statement บัตร ATM เวลาขึ้นศาลหลักฐานเหล่านี้จึงเป็นข้อเสียเปรียบต่อตัวแรงงานข้ามชาติที่จะพิสูจน์หลักฐาน” เพ็ญพิชชา กล่าว
‘บังคับแรงงาน-การค้ามนุษย์’ ความคลุมเครือของกฎหมายไทย สู่ปัญหาการตีความกฎหมายในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ถ้าเราดูตามสถิติว่าก่อนหน้านี้ไทยมีการดำเนินคดีเรื่องค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน จำนวนค่อนข้างสูง แต่ก็จะเห็นว่าจำนวนคดีลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งสามารถคิดได้ 2 ทาง ด้านหนึ่งคือรัฐมีมาตรการป้องกันดีขึ้น หรือในทางกลับกันคือไม่พบคดีเนื่องจากมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมกลับได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น สถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับการยึดเอกสารประจำตัวแรงงาน โดยกรมการจัดหางานก็มีเพียง 1 - 2 กรณี ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาร้องเรียนต่อภาคประชาสังคมจำนวนมากจากหลายหลายพื้นที่ ” เพ็ญพิชชา กล่าว
เพ็ญพิชชา กล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานบังคับเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยรับรองสัตยาบันในพิธีสารส่วนเสริมของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการต่อต้านการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ (P. 29 – Forced Labour Convention, 1930 (No. 29)) เมื่อรับรองอนุสัญญาฯ ฉบับนี้จึงตามมาด้วยการแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มเติมความผิดฐานบังคับใช้แรงงาน เข้าไปใน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่งจะเห็นว่า นิยามเรื่องการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย ถูกทำให้บรรจุเข้าไปผนวกอยู่กับ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
“ในปี 2022 รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (2022 Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมิได้ให้ความสนใจเฉพาะกรณีค้ามนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงการบังคับใช้แรงงาน และการใช้แรงงานเสมือนทาสในระบบการผลิตสมัยใหม่ด้วย ก็ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการบังคับใช้แรงงานของไทยยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบกรณีละเมิดแรงงานที่อาจเชื่อมโยงสู่การบังคับใช้แรงงาน และการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อตัวชี้วัดเรื่องการบังคับใช้แรงงาน ก็เป็นปัญหาหลักที่รายงานฉบับดังกล่าวระบุ ซึ่งกรณีที่เราพบบ่อยคือ ปัญหาการตีความกฎหมายเรื่อง การยึดหรือเก็บเอกสารประจำตัว ลักษณะการข่มขู่หรือขู่เข็ญให้ทำงาน การทำงานขัดหนี้หรือชดใช้หนี้ที่ไม่โปร่งใส การโกงค่าจ้างและการหักค่าจ้างโดยไม่ชอบ ความอิสระในการเปลี่ยนย้ายงาน และความสมัครใจในการทำงานหรือจำยอมต้องทำ” เพ็ญพิชชา กล่าว
นอกจากนี้ เพ็ญพิชชา ได้สรุปว่าปัญหาหลักที่ทำให้กรณีบังคับใช้แรงงานไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะความเข้าใจและการปรับใช้กฎหมายมาตรา 6/1 ว่าด้วย การกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“ความเข้าใจผิดที่มักจะพบเวลาพูดเรื่องแรงงานบังคับคือ มักจะถูกมองว่าต้องเข้าเรื่องค้ามนุษย์ก่อนถึงจะเป็นแรงงานบังคับได้ หรือ ต้องเกิดแรงงานบังคับก่อนถึงจะมีเรื่องค้ามนุษย์ได้ ทั้งที่ความจริงควรแยกพิจารณาเป็นคนละเรื่องกัน การที่ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่ง หรือ เป็นความผิดฐานหนึ่งในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผลที่เกิดขึ้นคือ ในหลายกรณี แม้ว่าจะพบองค์ประกอบที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตีความว่าไม่เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานก็มักจะตกไปด้วย” เพ็ญพิชชา กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ