เผยนักช้อปเมิน “การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก” หลังต้องรัดเข็มขัดสู้เงินเฟ้อ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1322 ครั้ง

เผยนักช้อปเมิน “การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก” หลังต้องรัดเข็มขัดสู้เงินเฟ้อ

VOA เผยภาวะเงินเฟ้อ รายได้ที่น้อยลง ประกอบกับราคาต้นทุนอาหารบางอย่างที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมารัดเข็มขัด ซึ่งหมายความว่า ปี 2023 นี้อาจจะเป็นปีที่ "การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก" หรือ “conscious consumerism” เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ผลิตสินค้าพวกนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ | ที่มาภาพประกอบ: Steady Glow Digital

VOA รายงานเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2566 ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ได้ยอมจ่ายเพิ่มเป็นพิเศษเพื่อซื้ออาหารออร์แกนิค และโปรตีนที่ทำมาจากพืช แต่ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ที่น้อยลง ประกอบกับราคาต้นทุนอาหารบางอย่างที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ทำให้ผู้บริโภคหลายคนต้องหันมารัดเข็มขัด ซึ่งหมายความว่า ปี 2023 นี้อาจจะเป็นปีที่ "การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก" หรือ “conscious consumerism” เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ผลิตสินค้าพวกนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวอย่างหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบคือ เนื้อเทียมที่ทำมาจากโปรตีนพืช

กระบวนการทำเนื้อเทียมจากโปรตีนพืชนั้น ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ ประมาณ 30%-90% แต่ข้อมูลจากคลังสมอง Good Food Institute เผยให้เห็นว่าเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เท่ากันถึงสองเท่า ทำให้เนื้อเทียมเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกผู้บริโภคที่ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายตัดออกไปเป็นรายการแรก ๆ

บริษัทวิจัยการตลาด Numerator กล่าวว่า 29.8% ของครัวเรือนในสหรัฐฯ ซื้อเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชในปีที่ผ่านมาถึงวันที่ 30 กันยายน คิดเป็น 1.1% ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของภาวะที่เรียกว่าการไม่แยแสต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทวิจัยการตลาด Kantar ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกือบ 100,000 คนใน 24 ประเทศ ต่อการใช้พลาสติก สัดส่วนของผู้บริโภคที่ “กังวลมาก” เกี่ยวกับการสร้างขยะและการใช้อย่างสิ้นเปลือง และลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น มีเพียง 18% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ลดลง 4% เมื่อเทียบกันปีต่อปี

ในขณะที่ 44% ของผู้บริโภคตอบว่าพวกเขาไม่สนใจและไม่ทำอะไรเกี่ยวกับการสร้างขยะจากพลาสติก ซึ่งเพิ่มจากปีก่อน 7%

รอยเตอร์รายงานด้วยว่าบริษัทที่เคยไปได้ดีจากกระแสการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกและยั่งยืน กำลังเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาที่ผลประกอบการจะลดลง

บียอนด์ มีท (Beyond Meat) ผู้ผลิตเบอร์เกอร์เนื้อเทียมที่ทำมาจากพืช ประกาศในเดือนตุลาคมว่าบริษัทจะปลดพนักงาน 19% ของแรงงานทั้งหมด และตั้งเป้าว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (operating cash flow) ของบริษัทจะเป็นบวกในครึ่งหลังของปี 2023 แต่ความต้องการเนื้อเทียมที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อสินค้าของบริษัทที่มีราคาสูง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มแรงกดดันทำให้มีกำไรน้อยลงเช่นกัน

ราคาของ pea protein isolate หรือโปรตีนจากถั่วลันเตา ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการทำเนื้อเทียมหลายประเภท ได้เพิ่มขึ้น 10% ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2021 ถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Mintec Benchmark Prices

การคาดการณ์ที่รวบรวมโดย Refinitiv แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบียอนด์​ มีท จะลดลง 1% ในปีนี้ และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะยังติดลบในครึ่งหลังของปี ส่วนยอดขายของ โอ๊ตลี (Oatly) ผู้ผลิตนมเทียมที่ทำมาจากข้าวโอ๊ต คาดว่าจะโต 25% แต่บริษัทอาจจะยังต้องระดมทุนเพิ่ม

ถึงอย่างนั้น มีสัญญาณว่าการบริโภคแบบมีจิตสำนึกยังพอมีหวัง นักวิเคราะห์จาก UBS กล่าวว่าการขึ้นราคาเมล็ดพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารสัตว์ อาจทำให้ราคาของเนื้อสัตว์พุ่งสูงขึ้นยิ่งกว่าราคาของเนื้อเทียม ซึ่งนั่นจะทำให้บริษัทเนื้อเทียมขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือการได้เห็นเนื้อเทียมมีราคาใกล้เคียงกับเนื้อแท้ หรือถูกกว่า อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่จะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2023 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: