กรมโรงงานฯ ยกระดับคุมเข้มไซยาไนด์ สั่งผู้นำเข้า-ครอบครองอัปเดตปริมาณเรียลไทม์ ดีเดย์ 15 มิ.ย.นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 37745 ครั้ง

กรมโรงงานฯ ยกระดับคุมเข้มไซยาไนด์ สั่งผู้นำเข้า-ครอบครองอัปเดตปริมาณเรียลไทม์ ดีเดย์ 15 มิ.ย.นี้

กรมโรงงานฯ ยกระดับคุมเข้มโพแทสเซียมไซยาไนด์ หลังมีผู้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ดีเดย์ 15 มิ.ย.นี้ ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ในทุกกิจการ ต้องอัปเดตปริมาณการครอบครองแบบเรียลไทม์ ยกเว้นในกิจการชุบโลหะขนาดเล็ก ต้องรายงานทุก 3 เดือน ห้ามโฆษณา-ขายทางออนไลน์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2566 ว่านายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตราย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่โพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แต่ภายหลังปรากฏข่าวว่า มีผู้นำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปกำจัดสัตว์ หรือต้องสงสัยนำไปใช้ก่อเหตุฆาตกรรม กรมโรงงานฯ จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วน แนบท้ายใบอนุญาต เพื่อยกระดับกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ได้เชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เข้าให้ข้อเท็จจริง และชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ รวมถึงรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขพิเศษนี้จะใช้ไปจนกว่าคดี น.ส.แอม จะถึงที่สุด เพื่อนำเป็นหลักพิจารณาถึงความจำเป็นในการแก้ประกาศในกฎหมายฉบับใหญ่ ซึ่งจะต้องนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณา

สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่กำหนด ได้จัดกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้า ก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร ในรูปแบบเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น และต้องรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองแบบเรียลไทม์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้า ก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร และต้องรายงานปริมาณการครอบครองทุก 3 เดือน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

อีกทั้งกำหนดให้ใบอนุญาตฉบับใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี และต้องมีข้อมูลผู้จำหน่าย (Trader) และผู้ใช้ (End User) ประกอบการพิจารณาอนุญาต หากพบว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตฯ และต้องแจ้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกกรณี ทั้งนี้ หากตรวจพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้ มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ยังได้ขอความร่วมมือ สคบ. ห้ามโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ และอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศกรมโรงงานฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขการโฆษณา และนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป

สำหรับภาพรวมการใช้โพแทสเซียมไซยาไนด์ ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้นำเข้า 6 ราย ร้านค้าปลีกที่ขออนุญาตครอบครองเกิน 1,000 กิโลกรัม มี 2 แห่ง ส่วนการใช้งานพบว่า มีการใช้ในโรงงาน 300 แห่ง ร้านทอง 2,000 แห่ง และใช้ในห้องแล็บ 100 แห่ง

จากสถิติพบว่า ปี 2563 มีการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์ 87 ตัน ปี 2564 นำเข้าปริมาณ 100 ตัน ปี 2565 นำเข้า 77 ตัน และปี 2566 นำเข้ามาแล้ว 17 ตัน

“หลัง 15 มิ.ย. หากตรวจพบว่าไซยาไนด์ในสตอกของรายใดหายไปแล้วไม่แจ้งว่าหายไปไหน กรมโรงงานฯ จะยกเลิกใบอนุญาตทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรารู้แล้วว่า ไซยาไนด์ที่ผู้ต้องหานำไปใช้ มาจากผู้นำเข้ารายใด แต่ก็ยังไม่สามารถบอกแหล่งที่ขายไซยาไนด์เป็นโรงงานหรือแล็บใด เพราะการครอบครองไม่ถึง 100 กิโลกรัม ไม่ต้องรายงานการครอบครอง” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: