แอมเนสตี้แถลงหลังเอกชัยถูกสั่งจำคุก 1 ปี ข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 31251 ครั้ง

แอมเนสตี้แถลงหลังเอกชัยถูกสั่งจำคุก 1 ปี ข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยชี้ การตัดสินจำคุก 1 ปี 'เอกชัย หงส์กังวาน' กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยเห็นว่าเนื้อหาเป็นการยั่วยุกามารมณ์ ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) ถือว่าเป็นการข่มขู่ คุกคาม เพื่อลดบทบาทนักกิจกรรมในเมืองไทย การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือปิดปาก กลั่นแกล้ง และเลือกปฏิบัติโดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำคุก 1 ปี เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยเห็นว่าเนื้อหาเป็นการยั่วยุกามารมณ์ ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) ทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทันที

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้รับการรับรองในหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อบทที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

"การตัดสินจำคุก 1 ปี 'เอกชัย หงส์กังวาน' ถือว่าเป็นการข่มขู่ คุกคาม เพื่อลดบทบาทนักกิจกรรมในเมืองไทย การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือปิดปาก กลั่นแกล้ง และเลือกปฏิบัติโดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ ‘สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก’ เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย"

ในปี 2557 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก หมายความรวมถึงการแสวงหา รับ และนำเข้าข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ด้วย

หลักการข้างต้นยังได้รับการรับรองและขยายความในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 31 และ 34 ถึงพันธกรณีของรัฐในทุกองคาพยพ ในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้สิทธิดังกล่าว อีกทั้งยังระบุให้รัฐประกันว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองจากการกระทำของเอกชนที่อาจแทรกแซงการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รัฐเองยังมีหน้าที่ไม่เข้าไปแทรกแซงและดำเนินการเพื่อรับรองความเป็นกลางของผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้บุคคลสามารถเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น

ในปี 2565 บนเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 ของประเทศไทย ประเทศไทยรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 218 ข้อจากทั้งหมด 278 ข้อ โดยรัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกใน 7 ข้อจาก 18 ข้อ รวมถึงข้อเสนอแนะที่ให้แก้ไขพ.ร.บ.คอมฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอีกด้วย

ทั้งนี้ ถ้อยคำในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อกังวลถึงความคลุมเครือในการตีความ มาตราดังกล่าวยังนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับเนื้อหาบนโลกออนไลน์ แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อการเอาผิดการกระทำต่อ "ระบบ" คอมพิวเตอร์และนำมาสู่การบังคับใช้อย่างพลการและอาจละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างร้ายแรงนั้น ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายและความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย

เอกชัยเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ตลอดการเคลื่อนไหวทางการเมือง เอกชัยถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 30 คดี ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นครั้งที่ 4 รวมถึงถูกทำร้ายถึง 6 ครั้ง ถูกเผารถยนต์ 2 ครั้ง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ข้อมูลพื้นฐาน

เอกชัย หงส์กังวาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบอกเล่าประสบการณ์ในเรือนจำรวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย ช่วงวันที่ 23 เมษายน 2560 โดยแบ่งเนื้อหาเป็นตอนๆ ทั้งหมด 14 ตอน เป็นมูลเหตุให้ เขาถูกกล่าวหาจาก พ.ต.ต.เอกพล แสงอรุณ ว่าข้อความดังกล่าวเป็นการนำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลนั้นประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตามเอกชัยยืนยันว่าข้อความดังกล่าวไม่มีลักษณะลามกอนาจาร เป็นการบอกเล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โพสต์บทความเล่าเรื่องราวในเรือนจำดังกล่าว เป็นการเขียนในแนวนวนิยาย ไม่ได้ได้มีเจตนาโพสต์เพื่อสื่อสารไปในทางลามก แม้จะมีถ้อยคำบางส่วนที่ไม่สุภาพ และมั่นใจว่าไม่เป็นความผิดตามนิยามของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

28 เมษายน 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงในอาญา จากนั้นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์เดิม 100,000 บาท ต่อมาเอกชัยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทั้งศาลฎีกายังไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกาคำพิพากษา ทำให้เอกชัยถูกคุมขังเป็นเวลากว่า 5 เดือน ในระหว่างการยื่นฎีกาถึง 5 เดือน นับตั้งแต่ 19 เมษายน 2565 เนื่องด้วยเอกชัยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในขณะยังอยู่ในเรือนจำ เขาจึงเขียนฎีกาคำพิพากษาด้วยตนเอง ต่อมาได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565

6 กรกฎาคม 2566 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ของเอกชัย หงส์กังวาน กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยเห็นว่าเนื้อหาเป็นการยั่วยุกามารมณ์ ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) ทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทันที หลังอ่านคำพิพากษา เอกชัยพยายามแถลงโต้แย้งศาลเรื่องการนับโทษจำคุก ที่ไม่เป็นไปตาม ป.อาญา มาตรา 54 ซึ่งควรจะคำนวณโทษจำคุกเหลือ 10 เดือน 20 วัน แต่ศาลยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะเพิ่มหรือลดก่อนก็ได้

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อ ปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1,916 คน ใน 1,226 คน โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 ไม่น้อยกว่า 178 คน ใน 196 คดี ในจำนวนนี้มี 162 คดี ซึ่งนับเป็นร้อยละ 74 ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ที่ถูกดำเนินคดีควบคู่กับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: