“สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 38923 ครั้ง


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โชว์ “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาตินำ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน รับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เตรียมโชว์ “สะแกราชโมเดล วว.” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กำหนดจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ โดย วว. จะจัดแสดงนิทรรศการผลงาน“สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในกรอบการบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืน สนับสนุนการวิจัยโดย วช. ณ บูธ AL 1 ในโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชตชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บูรณาการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการปรับตัวและเสริมสร้างอาชีพของชุมชนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จากความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช ซึ่ง วว. โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศนพ. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ 2) โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชีวมณฑลสะแกราชและการปรับตัวของชุมชนด้วยการส่งเสริมอาชีพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้องค์ความรู้จากป่าสะแกราช และ 3) โครงการการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

“...ผลการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว วว. และพันธมิตรบูรณาดำเนินงานใน 2 ด้านหลัก คือ 1) การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ติดตามพลวัตป่าไม้ธรรมชาติและป่าฟื้นฟู เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่สถานีวิจัยฯ พัฒนาฐานข้อมูลชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมพัฒนาแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและความหลากหลายทางพืชพรรณจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของชุมชน และ 2) โครงการการพัฒนาชุมชนโดยรอบพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่าแบบผสมผสานในพื้นที่เกษตรกรรมและป่าเสื่อมโทรม การใช้ประโยชน์เห็ดป่าในอนาคต เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมของไม้มีค่าในพื้นที่ป่าสะแกราชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อบรมให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะเชื้อเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ในกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนกล้าไม้แก่ชุมชน จัดตั้งศูนย์การเพาะเชื้อเห็ดในพื้นที่ พร้อมจัดทำแปลงสาธิตพืชกินได้ โดย วว. และพันธมิตร ดำเนินงานในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน โดยรอบแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชา ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลอย่างยั่งยืนต่อไป...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวถึงผลการดำเนินงานจากโครงการฯ ว่าประกอบด้วย องค์ความรู้และฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา ดังนี้ 1) องค์ความรู้ของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการปรับตัวของพรรณไม้และการสืบต่อพันธุ์พืชในระบบนิเวศป่าไม้ 2) องค์ความรู้ทางด้านอุทกวิทยาที่บ่งชี้การลดลงของปริมาณน้ำท่า 45-59% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในระบบนิเวศป่าไม้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เพื่อการเตรียมรับมือกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ 3) องค์ความรู้ชนิดพรรณไม้ในระบบนิเวศป่าไม้ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่สีเขียว 4) องค์ความรู้ทางด้านการผลิตกล้าไม้เศรษฐกิจและไม้ยืนต้นกินได้ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาที่สามารถรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

5) องค์ความรู้ในการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 6) ฐานข้อมูลมวลชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศป่าไม้ 7) ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟูในป่าสะแกราช ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG 8) ฐานข้อมูลแหล่งเมล็ดพันธุ์ไม้วงศ์ยางและพันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งในการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้เพื่อเพาะกล้าไม้ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ 9) ธนาคารสายพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้นอกถิ่นกำเนิด (ex situ) อันเป็นหลักประกันแหล่งเชื้อพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แนวทางการพัฒนาพื้นที่ป่าสะแกราชในอนาคต

นายเฉลิมชัย จีรพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. กล่าวว่าผลการศึกษาจากโครงการฯ และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ป่าสะแกราชในอนาคต มีดังนี้

ระยะสั้น: วว. นำองค์ความรู้ที่ได้มาจัดทำเป็นนโยบายและผลักดันการดำเนินงานในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช

ระยะปานกลาง-ยาว : 1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566–2570 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อันเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลิมา (Lima Action Plans) ที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก 2. ผลักดันให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในถิ่นกำเนิด (in situ) และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ 3. จัดตั้งศูนย์การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินผลกระทบ และการแจ้งเตือนในการป้องกันและรับมืออันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระยะยาว: พัฒนาศักยภาพ คุณค่า และนิเวศบริการ ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของของพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: