รายงานใหม่แอมเนสตี้ชี้ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กในไทยเผชิญกับ 'ผลกระทบอย่างรุนแรง'

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 9920 ครั้ง

รายงานใหม่แอมเนสตี้ชี้ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กในไทยเผชิญกับ 'ผลกระทบอย่างรุนแรง'

 

รายงานใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชื่อ “We are Reclaiming Our Future” (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) เผยผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กในประเทศไทยเผชิญกับ 'ผลกระทบอย่างรุนแรง' จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ 

8 ก.พ. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวรายงานฉบับใหม่ระบุ ทางการไทยได้จับกุม ดำเนินคดี สอดแนมข้อมูล และข่มขู่เด็กที่ร่วมการชุมนุมประท้วงซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดี และยุติการคุกคามทุกรูปแบบที่ขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง

รายงานใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชื่อ We are Reclaiming Our Future” (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมประท้วงและนักกิจกรรมที่เป็นเด็ก 30 คนทั่วประเทศ ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างตั้งแต่ปี 2563- 2565 

เมื่อเปรียบเทียบกับการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมาในประเทศไทย การชุมนุมประท้วงครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่มีลักษณะแบบพ่อปกครองลูก (กล่าวคือ ผู้ใหญ่รู้ดีและมีอำนาจตัดสินใจแทนเด็ก) และอนุรักษ์นิยมอย่างเคร่งครัด เด็กผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กชนเผ่าพื้นเมือง และเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างมีบทบาทสำคัญในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้เช่นกัน

จนถึงปัจจุบันเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเกือบ 300 คนถูกดำเนินคดีอาญา บางคนเสี่ยงถูกจำคุกหลายปีเนื่องจากถูกกล่าวหาด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏข้อมูลว่า มีการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์กับเด็กในประเทศไทย ทั้งนี้ เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่มีการประกาศใช้ตามอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งปัจจุบันมีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เด็กๆ ที่ควรมีอนาคตอีกไกลต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบอย่างรุนแรง เพียงเพราะพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องประกันสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของเด็ก อย่างไรก็ดีผู้ชุมนุมประท้วงกลับต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายมากมาย  อันหมายรวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี”

 

ยุทธวิธีที่อันตราย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับยุทธวิธีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ปราบปรามสิทธิในการชุมนุมประท้วง ทางการมักติดตามหรือสอดแนมข้อมูลเด็กที่ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย มีการข่มขู่โดยตรงต่อเด็กที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมในการชุมนุมสาธารณะ และในระหว่างการตรวจสอบประวัติมีการถามข้อมูลที่ไม่จำเป็น ซึ่งก้าวก่ายและละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา เช่น มีการสอบถามว่า เด็กคนดังกล่าวเคยมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่

ชมพู่* เด็กผู้ชุมนุมประท้วงจากกรุงเทพฯ อายุ 13 ปี ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่่นแนลว่า เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตัวเธอ นับแต่เริ่มทำกิจกรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ในทำนองเดียวกัน นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อายุ 16 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวไปถึงที่บ้านและโรงเรียน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนก นอนไม่หลับ และเกิดความเครียด ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกติดตามสอดแนมอย่างต่อเนื่อง 

ในบางกรณี เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างมิชอบ เพื่อขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง อันนา นักเรียนที่เป็นนักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาบอกว่า เธอและเพื่อนถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเพื่อการคุ้มครองเด็ก ลากตัวออกมาจากร้านอาหาร เพราะเจ้าหน้าที่กลัวว่าพวกเธอจะชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงที่มีขบวนเสด็จ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้บันทึกข้อมูลกรณีที่เจ้าหน้าที่กดดันผู้ปกครองเพื่อข่มขวัญ     หรือขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในครอบครัว ในสองกรณีจากการเก็บข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่่นแนล ความตึงเครียดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วง

“หลังจากที่ครอบครัวทราบว่าผมเข้าร่วมกับขบวนการชุมนุมประท้วง เราก็เริ่มมีปากเสียงกันมากขึ้น” สถาปัตย์ กล่าว เขาได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 ตอนที่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอายุ 17 ปี ในจังหวัดปัตตานี “จากนั้นพ่อแม่ก็เริ่มทำร้ายร่างกายและกดดันผมด้วยวิธีการยึดค่าขนมและโทรศัพท์มือถือ ผมเลยต้องหนีออกจากบ้านและไปอยู่กับเพื่อน” 

“นอกจากถูกดำเนินคดีแล้วเด็กผู้ชุมนุมประท้วงบางคนยังอาจถูกผลกระทบเพิ่มเติม โดยอาจถูกผู้ปกครองตัดความสัมพันธ์ในครอบครัวกับพวกเขา หรือทำร้ายพวกเขา เนื่องจากถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่” ชนาธิปกล่าว

 

สภาพแวดล้อมที่เป็นปรปักษ์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่่นแนลได้ประเมินสภาพความปลอดภัยของการชุมนุมประท้วงอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปี 2563 และมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปี 2564 หลังจากตำรวจใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมประท้วงมากขึ้น และมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วง 

ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก สามคนอายุ 14, 15 และ 16 ปี ในขณะนั้น ถูกยิงด้วยอาวุธปืน ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของบุคคลที่ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐ ขณะอยู่ด้านนอกสถานีตำรวจนครบาลดินแดงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 

วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี เป็นหนึ่งในเด็กดังกล่าว เขาถูกยิงบริเวณลำคอและอยู่ในอาการโคม่าหลายเดือน เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากอาการบาดเจ็บ ภายหลังการเสียชีวิตของเขา ตำรวจยังคงล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน แม้จะมีการร้องขอจากพนักงานอัยการหลายครั้ง ทำให้การสอบสวนเกิดความล่าช้าอย่างมาก ในที่สุดพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องชายคนหนึ่งในข้อหาฆ่าคนตาย แต่การพิจารณาคดียังไม่เริ่มขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้พูดคุยกับทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งว่าความให้กับเด็กหลายคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทนายความได้อธิบายถึงการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ควบคุมตัว การทุบตีในระหว่างจับกุม และการใช้กระสุนยางระหว่างสลายการชุมนุม

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ใช้สายเคเบิ้ลไทร์เพื่อควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงวัย 12 ปี ระหว่างการสลายการชุมนุมในช่วงที่มีการต่อต้านรัฐบาลใกล้กับแยกดินแดงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งชื่อ สายน้ำ ซึ่งมีอายุ 17 ปีในขณะนั้นเล่าว่า เขาถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ

“หลังจากที่ผมถูกยิง ผมก็พยายามจะวิ่งหนีแต่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาดักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เขาจับผมไว้และกดให้ลงไปที่พื้น ผมจำได้ว่าเขาเตะและใช้อะไรก็ไม่รู้ที่แข็งเหมือนกระบองหรือด้ามปืนมาทุบตีผม เขาค้นตัวผมไปทั่วทั้งตัวและเอาสายเคเบิ้ลมามัดไว้ และก็เตะผมต่อ” เขากล่าว ทั้งบอกด้วยว่าได้ไปพบแพทย์ในเช้าวันถัดมาหลังได้รับการปล่อยตัว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก ยุติการข่มขู่และติดตามสอดแนมในทุกรูปแบบ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมสิทธิในการชุมนุมประท้วงของเด็กให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“เด็กผู้ชุมนุมประท้วงหลายๆ คนเพิ่งจะได้เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงใหม่ในการใช้ชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือการสมัครงาน สิ่งที่เราต้องการบอกกับทางการไทยไม่มีอะไรมากไปกว่า ขอให้หยุดขัดขวางอนาคตของพวกเขา และขอปล่อยให้พวกเขาได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างเสรี” ชนาธิป กล่าวทิ้งท้าย

 

*มีการปกปิดชื่อและนามสกุลด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

 

 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม

“ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา” สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย

“WE ARE RECLAIMING OUR FUTURE” CHILDREN’S RIGHT TO PEACEFUL ASSEMBLY IN THAILAND

“ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา” สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย

“WE ARE RECLAIMING OUR FUTURE” CHILDREN’S RIGHT TO PEACEFUL ASSEMBLY IN THAILAND

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: