นักวิชาการแนะออกแบบนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3296 ครั้ง

นักวิชาการแนะควรออกแบบนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวยากจน หากแจกเฉพาะคนจนใช้งบประมาณ 6.7 หมื่นล้าน-2.2 แสนล้าน ถ้าแจกคนรวยด้วยอรรถประโยชน์เงินแจกลดลง

8 ต.ค. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าความไม่แน่นอนในเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของค่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาทะลุเพดานหนี้ 32 ล้านล้านดอลลาร์ ขบวนการออกจากดอลลาร์ การลดการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองหันไปถือทองคำมากขึ้น (De-Dollarization) เกิดมากขึ้นตามลำดับหากสหรัฐอเมริกายังแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ การขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระบบการเงินระหว่างประเทศในฐานะเงินสกุลหลักจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหน้าจากการที่ไม่มีเงินสกุลอื่นหรือเงินในรูปแบบอื่นๆมาทดแทนได้ในเวลาอันสั้น แต่ปัญหาภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ล่าสุด (ตัวเลข ณ ส.ค. 2566) หนี้สาธารณะทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 32.91 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความมีเสถียรภาพมั่นคงของดอลลาร์

การที่หนี้สาธารณะทะลุเพดานก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการปิดหน่วยงานรัฐ รัฐบาลขาดสภาพคล่อง หากไม่ขยายเพดานหนี้ชั่วคราว ขณะเดียวกันการขยายเพดานไป เรื่อยๆทุกปีเมื่อมีการจัดทำงบประมาณก็ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้สาธารณะ ประเด็นความยุ่งยากและปัญหาในการขยายเพดานหนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และจะทำให้ บทบาทของเงินดอลลาร์ บทบาทของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง เรื่อย ๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศได้เพิ่มสัดส่วนของ “ทองคำ “ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทองคำเป็นสิ่งที่หนุนหลังค่าเงินที่มีความมั่นคงมากกว่า เงินเฟียต (Fiat Money) ที่ออกโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ธนาคารกลางยุโรป (เงินยูโร) ธนาคารกลางจีน (เงินหยวน) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (เงินเยน) การเก็บสะสมทองคำเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจต่อเงินดอลลาร์และสกุลเงินท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย เวลาเรานึกถึงเงินที่มั่นคง เรามักจะนึกถึงทองคำเสมอ มนุษย์พยายามสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษ อุปทานของทองคำที่ถูกขุดขึ้นมาใหม่มีปริมาณน้อยกว่าอุปทานที่มีอยู่เดิมจึงทำให้มูลค่าทองคำไม่ผันผวน มีความมั่นคง และ สามารถเก็บรักษามูลค่าดีมาก การสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษจึงยังไม่สำเร็จ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เงินเฟียต เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นและรับรองให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน โดยสิ่งที่นำมาใช้ไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกผูกติดกระดาษธนบัตรกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเวลาเศรษฐกิจมีปัญหาถดถอย เงินเฟียตจึงเหมือนเป็นหนี้ภาระผูกพัน ที่ธนาคารกลางออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ เชื่อมั่นในระบบการเงินและธนาคารกลาง การที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีหนี้สินจำนวนมากและเป็นปัญหาเรื้อรังมากนานมากย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ต่อเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลก เพียงแต่ว่า ตอนนี้ยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทน ดอลลาร์ ได้ในช่วงหนึ่งหรือสองทศวรรษ ดอลลาร์สหรัฐฯจึงยังรักษามูลค่าไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มเมื่อปี ค.ศ. 2008 ธนาคารกลางได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing-QE)เพิ่มปริมาณเงิน (พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาวิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดเป็นระยะๆ จนกระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านจึงเริ่มทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) ทำให้ค่าเงินเสื่อมค่าลงจากเงินเฟ้อสูง

ระบบการเงินโลกที่เราใช้อยู่เวลานี้ยังคงมีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance - CeFi) ขณะที่ได้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Finance – DeFi) ขยายตัวและมีต้นทุนทางการเงินต่ำลงมาก แนวโน้มดังกล่าวทำให้ เงินเฟียต (Fiat Money) ไม่ว่าสกุลไหนย่อมมีบทบาทลดลงในระบบการเงิน โดยสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่มากขึ้นตามลำดับ คือ เงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ หากเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำหน้าที่พื้นฐานของเงินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น หน่วยในการวัดมูลค่า (Unit of Account) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) หรือ หน่วยในเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่าธนาคารกลางจีนถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมูลค่าสูงถึง 859,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จีนจึงเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หากจีนขายสินทรัพย์ดอลลาร์ออกมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศย่อมเกิดแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์และฐานะทางการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกา และ จีนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งที่เราคาดการณ์ได้ก็คือ จีนน่าจะค่อยๆทยอยลดการถือครองดอลลาร์ จะไม่ขายออกมาจำนวนมากๆครั้งเดียว เพิ่มการถือทองคำพร้อมเพิ่มบทบาทเงินหยวนในฐานะเงินสกุลหลักของโลกซึ่งจีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากกว่านี้เพื่อให้ธุรกรรมซื้อขายเงินหยวนมีความคล่องตัว รวมทั้งบทบาทเพิ่มขึ้นของเงินสกุลดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซีและบิตคอยน์ ระบบการเงินทางเลือกใหม่แบบไร้ศูนย์กลางจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆในระบบการเงินระหว่างประเทศ

ระบบการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary System) ของโลกนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่และนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินระหว่างประเทศเดิมล่มสลายลงและเกิดระบบการเงินระหว่างประเทศใหม่เกิดขึ้นทดแทน 3 ครั้งในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา คือ ปี ค.ศ. 1914, ค.ศ. 1939 และ ค.ศ. 1971 และ คาดการณ์ได้ว่า ภายในไม่เกิน 10 ปีนี้คงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลังการล่มสลายของระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำมามากกว่า 52 ปี (นับแต่ปี ค.ศ. 1971) ระดับการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับอัตราการออมที่ลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบทุนนิยมโลกที่อยู่บนฐานของเงินที่ไม่มั่นคง (เงินดอลลาร์ มีความผันผวนสูง) มีความเปราะบางอย่างยิ่ง

เงินบาทอ่อนอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการควรปล่อยตามกลไกตลาด คาดหลังเดือนพฤศจิกายนแข็งค่าขึ้น ค่าเฉลี่ยทั้งปี พ.ศ. 2565 ของเงินบาทอยู่ที่ 35.6 ซึ่งเป็นปีที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากต้นปี 65 ที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33-34 บาท อ่อนค่าลงโดยไตรมาสสามของปี 65 อยู่ที่ 36.42 ไตรมาสสี่ขอวปี 65 อยู่ 36.32 เลยดึงให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีมาอยู่ที่ 35.6 ในปี พ.ศ. 2565 ส่วนในปี พ.ศ. 2566 นั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรก และ ไตรมาสสอง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33.92 และ 34.98 ตามลำดับ ในเดือนสิงหาคมปีนี้ (66) เงินบาทยังคงอยู่ที่ระดับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ โดยก่อนหน้านี้ช่วง 7-8 เดือนแรก เงินบาทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 34-35 มีบางช่วงได้เห็นตัวเลข 33 บาทต่อดอลลาร์ เพิ่งมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนโดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกันยายนต่อเนื่องมาถึงเดือนตุลาคม ได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้งหนึ่ง การที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.05 บาทต่อดอลลาร์) ช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นผลจากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้นด้วย ตามรายงานดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด การจ้างงานเพิ่มขึ้นแม้นค่าจ้างปรับเพิ่มแบบชะลอตัวลง ถ้อยแถลงของ เฟด ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlements) ประเมินว่า ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีมูลค่าสูงกว่าจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกถึง 25-30 เท่าตัว มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันไม่ต่ำ 5.5-5.6 ล้านล้านดอลลาร์ เกือบ 2,000 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ จีดีพีโลกอยู่ที่ประมาณ 80-85 ล้านล้านดอลลาร์ พึงรำลึกว่า การแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศนั้นไม่ใช่กระบวนการผลิตสินค้า จึงทำให้ปริมาณมูลค่าการซื้อขายไม่ปรากฎรวมอยู่ในตัวเลขจีดีพีโลก มูลค่ามหาศาลในตลาดแลกเปลี่ยนเงินจึงมีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจน้อยมาก และ ธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไร ความไม่สมบูรณ์ของตลาดปริวรรตเงินตราหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ลดทอนผลประโยชน์แท้จริงจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างต่อประชาชนให้ลดลง

รูปแบบ หรือ Pattern การเคลื่อนไหวของเงินบาทปี 2566 คล้ายปี 2565 แข็งค่าต้นปี อ่อนค่าลงครึ่งหลังของปี แต่ปี 2566 ปลายปีเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่ามากกว่าปี 2565 เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่า ปัจจัยที่มีผลกดดันในเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้เป็นเรื่องระยะสั้น ชั่วคราว โดยเฉพาะเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทย ภาคส่งออกไม่สามารถขยายตัวฟื้นตัวเป็นบวกได้ ส่วนเงินไหลเข้าจากภาคท่องเที่ยวต่างชาตินั้นชะลอตัวลงในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมเพราะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น เชื่อว่า ปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนสถานการณ์จะพลิกกลับได้ จะดึงให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีของเงินบาทปี 2566 ไม่ต่างไปจากปี 2565 (35.60) มากนัก คือ อยู่ที่ประมาณ 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสล่าสุดกดดันต่อตลาดพลังงานและตลาดการเงินโลก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ดอลลาร์สหรัฐฯทรงตัวเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก แต่ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงความแข็งแกร่งของสหรัฐฯและดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง สงครามในตะวันออกกลางครั้งนี้ ไทยควรวางตัวเป็นกลาง แสดงจุดยืนไม่เห็นกับสงครามและการใช้ความรุนแรง ขอให้ “อิสราเอล” และ “กลุ่มฮามาส” เจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว มีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลเกือบ 30,000 คน อยู่ในพื้นที่สงครามสู้รบราว 5,000 คน การอพยพแรงงานไทยกลับหรือไม่นั้นเป็นเรื่องความสมัครใจของแรงงานแต่ละคน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการพัฒนาทักษะอนาคตสำหรับแรงงานไทย ที่ AI ทำแทนไม่ได้ ใช้งบประมาณในการเดินหน้าลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรมรวมทั้งการฟื้นและสร้างเศรษฐกิจบนฐานการลงทุนอย่างยั่งยืน มากกว่า บนฐานการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ควรออกแบบนโยบายแจกเงิน ดิจิทัล วอลเลตใหม่ โดยปรับเปลี่ยนและทบทวนหลักเกณฑ์ในการแจกเงินใหม่ ไม่ให้แบบถ้วนหน้า ไม่ควรแจกเงินให้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แม้นแจกคนกลุ่มนี้ไปก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด ไม่มีความจำเป็นต้องแจกให้ บุคคลผู้มีรายได้สูง ผู้บริหารภาคเอกชน ข้าราชการระดับสูง เป็นต้น การทบทบวนเกณฑ์และใช้งบประมาณน้อยลงจะช่วยลดความเสี่ยงทางการคลัง เม็ดเงินที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกู้เงินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเนื่องจากสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 13-14% เท่านั้น นอกจากนี้ยังจะทำให้มีเม็ดเงินเหลือไปใช้ในโครงการอื่นๆ ที่มีประโยชน์ หรือ เพิ่มเม็ดเงินให้กับครอบครัวที่ยากจนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ แทนที่จะให้ 10,000 บาท อาจให้ 20,000-30,000 บาทก็ได้ การมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวยากจน ครอบครัวหนี้สินล้นพ้นตัว กลุ่มเปราะบาง (ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่ไม่มีงานทำ) โดยไม่แจกแบบถ้วนหน้าทั่วไป จะทำให้ รัฐบาล สามารถแจกเงินเพิ่มขึ้นมากพอที่จะนำไปลงทุนประกอบอาชีพเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนและกับดักแห่งการเป็นหนี้ได้

จากรายงานวิจัยล่าสุดของธนาคารโลกได้วิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ พบว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเมื่อปี 2531 ที่มีสัดส่วนคนยากจนมากกว่าร้อยละ 65 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 10 ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2558- 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 อีกทั้ง จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 นี้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเวลานี้ จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ในขณะที่ อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 หากใช้ฐานข้อมูลก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโควิดคนยากจนจะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านคน หลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด หากเอาตัวเลขจดทะเบียนคนจนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะอยู่ที่ 13 ล้าน ต่อมา เมื่อปีที่แล้ว เปิดให้มีการมาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนเพิ่มขึ้นมาที่ 22.20 ล้านคน หากแจกกันเต็มที่เลยเพื่อไม่ให้มีใครตกหล่น 22.20 ล้านคนจะใช้เงินเพียง 2.22 แสนล้านบาท หรือ หากใช้ฐานตัวเลขคนจนของธนาคารโลก 6.7 ล้านคน ก็จะใช้เงินงบประมาณ 67,000 ล้านบาท เทียบกับ แบบถ้วนหน้าอายุ 16 ปีขึ้นไปโดยไม่เลือกว่ารวยหรือจน จะใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท

การแจกเงิน 2.22 แสนล้านให้กับคนมีรายได้น้อยยากจนหรือมีรายได้ปานกลางระดับล่างมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่างจากการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 5.6 แสนล้านอย่างมีนัยยสำคัญ เพราะคนรวยมีอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคจากเงินโอนหรือเงินได้รับแจก 10,000 น้อยกว่า คนยากจนอย่างมาก เพราะคนยิ่งยากจนมากเท่าไหร่และมีหนี้สินมากด้วย จะมีอัตราความโน้มเอียงการใช้จ่ายการบริโภคจากเงินโอนหรือเงินได้รับแจกมากเท่านั้น ได้มาทั้ง 10,000 บาทก็จะเอาไปใช้จ่ายหมด จำนวนหมุนรอบของเงินก็จะมากกว่า แจกให้คนรวย บรรดาผู้มีรายได้สูงอาจไม่ใช้สิทธิ ไม่ต้องการรับเงินแจกก็มี ผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายต่ำมาก หากเป้าหมายของนโยบายนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆจะไม่บรรลุผล การแจกเงินให้คนรวยจึงไม่ตรงเป้าหมาย และ อาจเป็นการยัดเยียดเอาเงินที่รัฐบาลไปกู้มาแจกให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยที่พวกเขาไม่ต้องการและไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล การแจกเงินมุ่งเป้าไปที่คนยากจนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจึงเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบความคุ้มค่าบาทต่อบาท มูลค่าอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของเงินนั้นลดลงน้อยกว่ามูลค่าอรรถประโยชน์ของสินค้าทั่วไปตาม กฎแห่งการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Law of Diminishing Marginal Utility) ขณะเดียวกัน อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของรายได้หรือเงินที่ได้รับ 1 บาทย่อมมีความหมายต่อคนที่มีรายได้ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน มากกว่า คนที่มีรายได้สูงอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: