สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ร่างกายแสดงความเป็นผู้หญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร หรือในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่าง ๆ มาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น จึงมักเกิดคำถามตามมาว่า “เสริมฮอร์โมนทดแทนดีไหม” วันนี้เรามีคำตอบ
วัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงเวลาที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศในระดับต่ำลงตามอายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สนับสนุนการพัฒนาของเต้านมและมดลูก ควบคุมการตกไข่ และมีผลต่อสภาพร่างกาย ผู้ที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ไม่ได้พบในทุกราย และความรุนแรงของอาการแต่ละคนจะไม่เท่ากัน อาการผิดปกติดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
ด้านร่างกาย มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก หนาวสั่น ผิวพรรณเริ่มแห้งและเหี่ยว หน้าอกมีขนาดเล็กลง มีอาการปวดข้อ ปวดหลัง ช่องคลอดแห้งและเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เวลาถ่ายปัสสาวะอาจมีอาการแสบขัด ในระยะยาวเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
ด้านจิตใจ มีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ เบื่อคนรอบตัวและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับยาก
การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) ใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างรุนแรง และไม่มีข้อห้ามในการใช้ ฮอร์โมนทดแทนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. Estrogen อย่างเดียว : ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ
- ชนิดใช้ภายนอก มีทั้งรูปแบบเจลทาเฉพาะที่และแบบแผ่นแปะ โดยยารูปแบบทาเฉพาะที่ช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดแห้งและคัน เป็นต้น
- ชนิดรับประทาน ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ และอาการที่เป็นปัญหาทางเพศ
2. Estrogen + Progestogen : มีทั้งรูปแบบทางผิวหนัง หรือ รับประทาน ได้แก่
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบเดือน (Cyclic regimen)
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen)
ฮอร์โมนทดแทนก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้ยาบางราย ได้ดังนี้
1. คลื่นไส้ คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดศีรษะไมเกรน
2. ฮอร์โมนแบบแปะผิวหนังพบว่าอาจมีการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แปะได้
3. ความเสี่ยงอื่นที่อาจพบได้ เช่น ภาวะเลือดออกในช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม (ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวไม่สมควรใช้) เป็นต้น
ทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน ได้แก่
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน หรืออาหารบางชนิดที่มีส่วนประกอบบางอย่างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง เช่น นมถั่วเหลือง ธัญพืช เป็นต้น
2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม คือ สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที
3. ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่
4. พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้แจ่มใส
เนื่องจากฮอร์โมนทดแทน มีทั้งประโยชน์และอาจเกิดโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานเอง และผู้หญิงที่มีอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องใช้ ระยะเวลาในการใช้ฮอร์โมนขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ หากพบมีความผิดปกติของร่างกายควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
ข้อมูลอ้างอิง
29_1
https://www.chulacancer.net/faq-list-page.php?id=332
การดูแลหญิงวัยหมดประจำเดือน (1) (1).pdf
รู้เท่าทันการใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
CPG แนวทางปฏิบัติการดูแลหญิงวัยทอง.pdf (policehospital.org)
เช็กอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง? | โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (siphhospital.com)
การใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองจำเป็นไหม? - บทความสุขภาพ โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน (doctor.or.th)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ