ไทยพัฒนา 'พันธุ์ข้าวใหม่' รับโลกรวนจาก 'เอลนีโญ' ได้แล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 36762 ครั้ง


ไบโอเทค-สวทช. จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อวดโฉมพันธุ์ข้าวใหม่รับโลกรวนจากเอลนีโญ พร้อมต่อยอดให้ใช้ประโยชน์สาธารณะ และเชิงพาณิชย์

เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2566 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม - ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน “NSTDA-KU Rice Field Day 2023” งานแสดงพันธุ์ข้าวใหม่รับโลกรวนจากเอลนีโญ ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2566 เพื่อเผยแพร่สายพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมวิกฤตที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ องค์ความรู้ด้านข้าว ศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้าว และนวัตกรรมปรับปรุงพันธุ์ข้าว พร้อมจัดแสดงพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวน เช่น ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานโรคและแมลง และมีคุณภาพหุงต้มและโภชนาการตามความต้องการของตลาด เพื่อมุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ เผยแพร่สู่เกษตรกร และต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยมี ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ เกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมในงาน

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. จัดงาน NSTDA-KU Rice Field Day 2023 เพื่อแสดงศักยภาพสายพันธุ์ข้าวดีเด่นรับมือกับเอลนีโญที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำในภาคสนามแปลงนา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำสายพันธุ์ข้าวไปใช้ประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็ว และเปิดห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ และห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจีโนมทางการเกษตร เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและพืชอื่น ๆ ที่รวดเร็วตามต้องการ เท่าทันบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำ และจัดแสดงสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณสมบัติดีเด่นที่เกิดจากผลงานวิจัยร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานมานานกว่า 20 ปี ให้กับนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกร สามารถนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และ สายพันธุ์ข้าวดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์ต่อไป

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า งาน NSTDA-KU Rice Field Day 2023 เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานทั้งสองนำสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไบโอเทค และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งในประเทศ เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และต่างประเทศ เช่น Rockefeller Foundation, The Generation Challenge Programme (GCP) มาจัดแสดง รวมทั้งโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่ สายพันธุ์ข้าวที่จัดแสดงในงานนี้ เป็นพันธุ์ข้าวที่ลดผลกระทบของเอลนีโญ และลานีญา ที่นับจากนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตข้าวของประเทศ พันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวนนี้ มีคุณสมบัติต้านทานสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ซึ่งพร้อมแล้วที่จะเผยแพร่สู่เกษตรกร และเป็นสายพันธุ์ข้าวศักยภาพสูงที่พร้อมให้หน่วยงานต่างๆ นำไปวิจัยต่อยอด รวมถึงเป็นงานแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ การนำเสนอความก้าวหน้าทางจีโนมิกส์ และการให้บริการเชิงวิชาการ ซึ่งเน้นข้าวและพืชสำคัญทางเศรษฐกิจรวมทั้งพืชมูลค่าสูง เทคโนโลยีการประเมินลักษณะอย่างรวดเร็วโดยใช้ภาพถ่ายและระบบดิจิทอล เทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคข้าวด้วยภาพถ่าย และการให้บริการประเมินลักษณะ biotic & abiotic stress ซึ่งเป็นการประเมินลักษณะความเครียดของพืชจากสิ่งแวดล้อมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เช่น ต้านทานโรคและแมลง ทนร้อน ทนน้ำท่วม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงระบบการคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ RiceFit การศึกษาการใช้น้ำของข้าวและ greenhouse gas emission ในนาข้าวของประเทศ รวมถึงชีวภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย ทั้งนี้มุ่งหวังให้การจัดงานนี้มีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศไทยรองรับ climate change และสังคมผู้สูงอายุ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทย ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อยอดแบบก้าวกระโดด และนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นต่อไป

สำหรับพันธุ์ข้าวรับโลกรวนที่จัดแสดง ประกอบด้วย พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และต้านทานโรคขอบใบแห้ง เช่น พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม / พันธุ์ข้าวหอมนาเล ทนน้ำท่วม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวหอมจินดา ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวธัญญา6401 ต้านทาน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคขอบใบแห้ง / พันธุ์ข้าวหอมสยาม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ / พันธุ์ข้าวหอมสยาม 2 ทนน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะต่อยอดใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ เชิงพาณิชย์ และเผยแพร่สู่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวใหม่อื่นๆ ที่พร้อมจะขึ้นทะเบียนพันธุ์ ทั้งข้าวโภชนาการสูง ข้าวหอมพื้นนุ่ม พื้นแข็ง ทั้งต่อช่วงไวแสงและไม่ไวต่อช่วงแสง รวมทั้งข้าวเหนียวอีกด้วย

โอกาสนี้ ยังมีการเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านข้าวที่ตั้งอยู่ในศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้แก่ ห้องแล็บดีเอ็นเอเทคโนโลยี ห้องแล็บวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก เช่น ความหอมของข้าว และห้องแล็บวิเคราะห์จีโนม (Genotyping Lab) ที่ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม

ดร.วินิตชาญ รื่นใจชน หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค สวทช. และ ดร ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เปิดเผยว่า ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ไบโอเทค และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย สำหรับงานวิจัยด้านชีวโมเลกุล โรงเรือนปลูกพืชทดลองสำหรับงานประเมินลักษณะต่าง ๆ ห้องเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์และแปลงทดลองขนาดเล็กสำหรับงานคัดเลือกไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมาได้สร้างองค์ความรู้ในการสืบหาและระบุยีนที่มีความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และระบบปรับปรุงพันธุ์ข้าว Rice Breeding Platform รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณสมบัติตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคโนโลยีด้าน Marker Assisted Selection (MAS) ในระดับประเทศและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มุ่งเน้นสร้างความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ เน้นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว เน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค และข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค พันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมีความทนทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช และปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำและศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมีบริการวิชาการ AgriOmics ในหลายส่วน เช่น ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ให้บริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวหอมมะลิและพันธุ์ข้าวต่าง ๆ เพื่อการส่งออกและรองรับการวิจัย การให้บริการตรวจสอบการปลอมปนของสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม รวมถึงยังมีบริการใหม่ด้านการวิเคราะห์จีโนมพืช ได้แก่ การวิเคราะห์ Whole Genome Sequencing (WGS), Transcriptome sequencing (RNA-seq) และ Metagenome sequencing เพื่อการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่ครอบคลุมด้าน Agri-genomics (พันธุศาสตร์พืช)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: