จับตา: การลงทุนทางการศึกษาที่แตกต่างระหว่าง “รวยกับจน” กรณีศึกษา กทม.

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 6148 ครั้ง


เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2566 เพจการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานว่าเหลือเวลาอีกราว 1 เดือนก็จะปิดเทอมใหญ่ของนักเรียนกันแล้ว ว่ากันว่าปิดเทอมใหญ่เด็กมักจะหัวใจว้าวุ่น แต่สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองแล้วน่าจะวุ่นวายใจเช่นเดียวกับทุกๆ ปี โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่สถานะของครอบครัวที่ไม่ได้เรียกว่า “รวย”

หากนับเฉพาะเด็กๆอนุบาลจนถึงนักเรียนที่ต้องเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ม.3 ที่มีอายุราว 15 ปีลงมาพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมตัวเตรียมค่าใช้จ่ายไว้อย่างไรบ้าง สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยมีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพ.ศ.2564 ไว้ ว่าสำหรับครอบครัวเด็กที่ “ยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ล่าง”นั้นหากอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯจะมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6,600 บาท ต่อ1 คน ส่วนค่าเฉลี่ยทั้งประเทศของเด็กกลุ่มเดียวกันนี้อยู่ที่ 2,610 บาทต่อคนต่อปี

ซึ่งมีความแตกต่างอยากมากกับเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันแต่อยู่ในครอบครัว “รวยที่สุดเฉพาะ 10 เปอร์เซ็นต์แรก”หากอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯจะมีค่าใช้จ่ายโดนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 78,200 บาทต่อ 1 คน ส่วนค่าเฉลี่ยทั้งประเทศของเด็กในกลุ่มเดียวกันนี้อยู่ที่ 42,700 บาทต่อคนต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบแล้วการลงทุนด้านการศึกษาของครอบครัวเด็กที่ “ยากจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ล่าง”กับ ครอบครัว “รวยที่สุดเฉพาะ 10 เปอร์เซ็นต์แรก” ทั้งประเทศมีความแตกต่างกันถึง 40,090 บาทต่อคนต่อปี นี่เป็นเพียงบางส่วนของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ (ดังภาพ)

ส่วนข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญาตรีไว้ว่า หากเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.6 ล้านบาท หากเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท และหากเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 20.1 ล้านบาทตลอดระยะเวลาเล่าเรียน

*ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องเตรียมตัวในการวางแผนการเรียนของคุณลูกไว้แต่เนิ่น ๆ ว่าลูกควรจะเรียนที่ไหน โดยประเมินรายได้และค่าใช้จ่ายปัจจุบันของครอบครัว การเดินทางจากบ้านไปยังสถานศึกษา ระยะเวลาของการศึกษาเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของลูกว่ารวมเป็นเงินเท่าไร และหากเตรียมเงินไว้เพียงพอแล้วจะต้องพยายามลดรายจ่ายส่วนใดและหารายได้เสริมในช่องทางใดเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้จ่ายในครอบครัวมีความคล่องตัวอยู่เสมอ* (ข้อมูลจาก: bot.or.th, admissionpremium.com, finnomena.com/fundtalk)

การศึกษาคือสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกๆ มิติ การมีบุตรควรจะได้รับการวางแผนนอกจากเรื่องสุขภาพพ่อแม่แล้วเรื่องการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดการส่งต่อความยากจนไปถึงลูกหลานรุ่นต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: