Rocket Media Lab: ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 4,781 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 พ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1762 ครั้ง

 

  • ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน จากทั้งหมด 70 พรรค เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 673 คน คิดเป็น 14.08% มีผู้สมัครที่ย้ายพรรค จำนวน 1,212 คน คิดเป็น 25.35% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 2,896 คน คิดเป็น 60.57%
  • ในการเลือกตั้งปี 2566 มีอดีต ส.ส. จากปี 2562 กลับมาลงสมัครในนามพรรคเดิมถึง 209 คน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบรายภูมิภาค ก็จะพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 72.65% และน้อยสุดที่ภาคตะวันตก 35% 
  • อดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิม มีจำนวน 152 คน พบว่าย้ายไปพรรคอื่นมากที่สุด รวม 104 คน โดยย้ายไปพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด 49 คน รวมไทยสร้างชาติ 36 คน เพื่อไทย 12 คน พลังประชารัฐและไทยสร้างไทย พรรคละ 3 คน และชาติพัฒนา 1 คน 
  • ปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกจำนวน 10,824 คน พบว่ายังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิมเพียงแค่ 382 คน ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิม จำนวน 10,442 คน พบว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด 9,379 คน และย้ายไปพรรคอื่น 826 คน และย้ายไปลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอื่นจำนวน 237 คน ใน 49 พรรค 
  • พรรคที่มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดก็คือพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 207 คน โดยเป็นอดีต ส.ส. 36 คน และอดีตผู้สมัคร 171 คน รองลงมาก็คือไทยสร้างไทย จำนวน 132 คน เป็นอดีต ส.ส. 3 คน และอดีตผู้สมัคร 129 คน อันดับ 3 คือพรรคภูมิใจไทย โดยมีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นจำนวน 128 คน เป็นอดีต ส.ส. 49 คน อดีตผู้สมัคร 79 คน 
  • หากพิจารณาเพียงแค่อดีต ส.ส. (ทั้งปี 2562 และก่อนปี 2562) จะพบว่าพรรคที่มีอดีต ส.ส. ย้ายเข้ามามากที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย จำนวน 49 คน ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. จากปี 2562 ทั้งหมด โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 25 คน พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 12 คน พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน

 

จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 4,781 คน* ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?

เลือกตั้ง 66 ผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุดกว่า 60% ผู้สมัครหน้าเก่าส่วนมากมักจะย้ายไปพรรคอื่น 

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น ที่ลงสมัครในนามพรรคเดิมในปี 2566

2. ผู้สมัครที่ย้ายพรรค หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. ที่ย้ายไปลงสมัครพรรคใหม่ในปี 2566

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน จากทั้งหมด 70 พรรค ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 673 คน คิดเป็น 14.08% มีผู้สมัครที่ย้ายพรรค จำนวน 1,212 คน คิดเป็น 25.35% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 2,896 คน คิดเป็น 60.57%

และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 14.98% และน้อยที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 12.78% ส่วนผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายพรรค มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันตก คิดเป็น 29.02% และน้อยที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 20.88% และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 66.34% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 56.53%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าในส่วนของผู้สมัครที่เคยลงสนามการเมืองระดับชาติมาแล้ว เมื่อการเลือกตั้งเวียนกลับมาอีกครั้งมักจะเกิดการ ‘ย้ายพรรค’ มากกว่าการลงสมัครในนามพรรคเดิม ซึ่งจำนวนที่ทำให้ตัวเลขผู้สมัครย้ายพรรคสูงกว่าผู้สมัครพรรคเดิมนั้นอยู่ในส่วนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรวมทั้งประเทศสูงกว่าหมื่นคน แต่หากมองเป็นสัดส่วนแล้วจะพบว่าผู้สมัครที่ได้รับเลือก หรืออดีต ส..ส. นั้นมีการย้ายพรรคมากกว่า ซึ่งสูงถึงเกือบหนึ่งในสามเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งในปีนี้ พบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดในทุกภาค ในขณะที่ผู้สมัครพรรคเดิมก็มีสัดส่วนน้อยที่สุดในทุกภาคเช่นเดียวกัน 

*ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน นับจากวันรับสมัครและไม่ได้ลบจำนวนผู้สมัครที่ถอนการสมัครและถูกตัดสิทธิจาก กกต. หลังจากนั้นออก 

ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม 

เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คนจากทั้ง 70 พรรค เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 673 คน โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. อดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 209 คน คิดเป็น 31.05%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 382 คน คิดเป็น 56.76% 

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 8 คน คิดเป็น 1.19%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 8 คน คิดเป็น 1.19%

5. อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 12 คน คิดเป็น 1.78%

6. อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 54 คน คิดเป็น 8.02%

เมื่อพิจารณาในส่วนของอดีต ส.ส. จะพบว่าในปี 2562 มี ส.ส. รวมทั้งหมด 361 คน* ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และจากการเลือกตั้งซ่อม โดยจากข้อมูลจะเห็นว่า มีอดีต ส.ส. จากปี 2562 กลับมาลงสมัครในนามพรรคเดิมถึง 209 คน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบรายภูมิภาค ก็จะพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 72.65% และน้อยสุดที่ภาคตะวันตก 35% 

ในขณะเดียวกันอดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิม มีจำนวน 152 คน พบว่าย้ายไปพรรคอื่นมากที่สุด รวม 104 คน โดยย้ายไปพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด 49 คน รวมไทยสร้างชาติ 36 คน เพื่อไทย 12 คน พลังประชารัฐและไทยสร้างไทย พรรคละ 3 คน และชาติพัฒนา 1 คน ไม่ลงสมัคร 29 คน และย้ายไปลงปาร์ตี้ลิสต์อีก 19 คน แยกเป็น เพื่อไทย 9 คน พลังประชารัฐ 3 คน ก้าวไกลและรวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 2 คน ไทยภักดี ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย พรรคละ 1 คน 

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของอดีตผู้สมัคร ส.ส. จะพบว่า ในปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกจำนวน 10,824 คน พบว่ายังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิมเพียงแค่ 382 คน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบรายภูมิภาค ก็จะพบว่ามีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 3.9% และน้อยสุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 2.67%

ในขณะเดียวกันอดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ในนามพรรคเดิม มีจำนวน 10,442 คน พบว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด 9,379 คน และย้ายไปพรรคอื่น 826 คน และย้ายไปลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอื่นจำนวน 237 คน ใน 49 พรรค 

ผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายพรรค

เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คน จากทั้ง 70 พรรค เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายพรรคจำนวน 1,212 คน ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้

1. อดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 92 คน คิดเป็น 7.59%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 857 คน คิดเป็น 70.71%

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 7 คน คิดเป็น 0.58%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 92 คน คิดเป็น 7.59%

5. อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 11 คน คิดเป็น 0.91%

6. อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 153 คน คิดเป็น 12.62%

จากข้อมูลจะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 1,212 คน ที่เป็นผู้สมัครย้ายพรรค ย้ายไปพรรค

1. พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 207 คน (อดีต ส.ส. 36 คน อดีตผู้สมัคร 171 คน) 

2. พรรคไทยสร้างไทย จำนวน 132 คน (อดีต ส.ส. 3 คน อดีตผู้สมัคร 129 คน) 

3. พรรคภูมิใจไทย จำนวน 128 คน (อดีต ส.ส. 49 คน อดีตผู้สมัคร 79 คน)

4. พรรคเพื่อไทย จำนวน 106 คน (อดีต ส.ส. 14 คน อดีตผู้สมัคร 92 คน) 

4. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 98 คน ( อดีต ส.ส. 6 คน อดีตผู้สมัคร 92 คน) 

6. พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 81 คน 

7. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 60 คน

8. พรรคไทยภักดี จำนวน 59 คน

9. พรรคคลองไทย จำนวน 57 คน

10. พรรคไทยศรีวิไลย์ จำนวน 31 คน 

11. พรรคก้าวไกล จำนวน 28 คน

12. พรรคเพื่อชาติไทย จำนวน 24 คน

13. พรรคชาติพัฒนากล้า จำนวน 22 คน 

14. พรรคพลังสังคมใหม่ จำนวน 20 คน

15. พรรคไทยสมาร์ท จำนวน 19 คน

16. พรรครวมแผ่นดิน จำนวน 18 คน

17. พรรคแนวทางใหม่ จำนวน 17 คน

18 พรรคทางเลือกใหม่ จำนวน 13 คน

19. พรรคเพื่อชาติ จำนวน 12 คน 

20. พรรคประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 9 จำนวน 

21. พรรคประชากรไทยและพรรคราษฎร์วิถี พรรคละ 8 คน

22. พรรคพลังปวงชนไทย จำนวน 7 คน

23. พรรคชาติไทยพัฒนา (อดีต ส.ส. 2 คน) และพรรคช่วยชาติ พรรคละ 6 คน 

24. พรรคไทยเป็นหนึ่ง จำนวน 5 คน 

25. พรรคไทยก้าวหน้าและพรรคเปลี่ยน พรรคละ 4 คน

26. พรรคไทยพร้อม พรรคประชาชาติ และพรรคประชาไทย พรรคละ 3 คน

27. พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่ออนาคตไทย และพรรคเส้นด้าย พรรคละ 2 คน

28. พรรคชาติรุ่งเรือง พรรคไทยชนะ พรรคไทยธรรม พรรคเปลี่ยนอนาคต พรรคพลัง พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคพลังประชาธิปไตย และพรรคพลัง พรรคละ 1 คน

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าพรรคที่มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นมากที่สุดก็คือพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 207 คน โดยเป็นอดีต ส.ส. 36 คน และอดีตผู้สมัคร 171 คน รองลงมาก็คือไทยสร้างไทย จำนวน 132 คน เป็นอดีต ส.ส. 3 คน และอดีตผู้สมัคร 129 คน ซึ่งทั้งสองพรรคถือเป็นพรรคใหม่ในการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ ในขณะที่อันดับ 3 คือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่เคยลงเลือกตั้งมาก่อนแล้ว โดยมีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นจำนวน 128 คน เป็นอดีต ส.ส. 49 คน อดีตผู้สมัคร 79 คน อันดับสี่คือพรรคเพื่อไทย โดยมีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 106 คน เป็นอดีต ส.ส. 14 คน อดีตผู้สมัคร 92 คน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่าเป็นพรรคไทยรักษาชาติมากที่สุด 30 คน ซึ่งพรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาย่อยของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องด้วยสมาชิกพรรคและผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคส่วนใหญ่มาจากอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยเดิม และทายาทของนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย โดยหากมองในแง่นี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่นจำนวน 98 คน เป็นอดีต ส.ส. 6 คน อดีตผู้สมัคร 92 คน อาจจะอยู่ในอันดับที่สี่แทนที่พรรคเพื่อไทย

แต่หากพิจารณาเพียงแค่อดีต ส.ส. (ทั้งปี 2562 และก่อนปี 2562) จะพบว่าพรรคที่มีอดีต ส.ส. ย้ายเข้ามามากที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย จำนวน 49 คน ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. จากปี 2562 ทั้งหมด โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 25 คน พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 12 คน พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน อันดับสองคือพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 36 คน โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 18 คน พรรคประชาธิปัตย์ 22 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 14 คน ภูมิใจไทย 12 คน เพื่อชาติ 10 คน และเพื่อแผ่นดิน 1 คน โดยใน 36 คนนี้เป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 2 คน อันดับสามคือพรรคเพื่อไทย 14 คน โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด 6 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังชล และพรรคสามัคคีธรรม พรรคละ 1 คน โดย 3 พรรคหลังเป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562

จะเห็นได้ว่า ใน 42 พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตในปี 2566 นี้ ทุกพรรคการเมืองมีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น และมีเพียง 6 พรรคการเมืองเท่านั้นที่มีอดีต ส.ส. แบบแบ่งเขตย้ายเข้ามา ซึ่งก็คือพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคที่เหลือล้วนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสิ้น 

ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ 

เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 4,781 คนจาก 70 พรรค เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ข 2,896 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*

1. ประกอบอาชีพส่วนตัว 1,196 คน คิดเป็น 41.3%

2. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 729 คน คิดเป็น 25.17%

3. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 464 คน คิดเป็น 16.02%

4. นักธุรกิจ 317 คน คิดเป็น 10.95%

5. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 224 คน คิดเป็น 7.73%

6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 147 คน คิดเป็น 5.08%

7. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 115 คน คิดเป็น 3.97%

8. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 79 คน คิดเป็น 2.73%

9. นักวิชาการ/นักวิจัย 54 คน คิดเป็น 1.86%

10. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 35 คน คิดเป็น 1.21%

11. นักการเมืองระดับชาติ 8 คน คิดเป็น 0.28%

*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 2,896 คนมาจากประกอบอาชีพส่วนตัว 1,196 คน คิดเป็น 41.3% ซึ่งเป็นเพราะผู้สมัครหลายๆ คนไม่ได้ระบุอาชีพที่เฉพาะเจาะจง หรือระบุประสบการณ์การทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งในใบสมัครที่ยื่นต่อ กกต. หรือในทางการประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย จึงทำให้ผู้สมัครที่ถือเป็นหน้าใหม่มาจากกลุ่มนี้มากที่สุด ความน่าสนใจก็คือในกลุ่มผู้สมัครหน้าใหม่ที่ประกอบอาชีพส่วนตัวนั้น พรรคก้าวไกลพบว่าประกอบอาชีพทนายมากที่สุด ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พบว่าเป็นเกษตรกรมากที่สุด 

อันดับสองคือ นักการเมืองระดับท้องถิ่น 729 คน คิดเป็น 25.17% ซึ่งก็คืออดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ที่ก้าวขึ้นมาลงการเมืองในสนามระดับประเทศ อันเป็นหนทางของนักการเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่มักเริ่มจากการเมืองในระดับท้องถิ่นมาก่อน และที่น่าสนใจก็คือกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย โดยมีสัดส่วนสูงที่สุดที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ 503.96% เลยทีเดียว

อันดับสามคือข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 464 คน คิดเป็น 16.02% ซึ่งมีทั้งข้าราชการการปกครอง การศึกษา และข้าราชการทหารหรือตำรวจ จะเห็นได้อย่างชัดเจนในพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สมัครหน้าใหม่อันดับสอง และส่วนมากเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นข้าราชการด้านการศึกษาและข้าราชการตำรวจ หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข้าราชการสาธารณสุขและการศึกษา 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

หมายเหตุ

  • ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ
  • ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต
  • การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562
  • ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
  • ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: