ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลัง MoU 8 พรรคการเมืองภายใต้การนำของพรคก้าวไกล มีการแก้ปัญหาปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งสื่อทุกสำนักมองไปที่สามพรรคการเมืองก้าวไกล+ประชาชาติ+เป็นธรรม โดยชูธงยุบกอ.รมน. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบศอ.บต. พาทหารกลับบ้าน กระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในโลกโซเชี่ยลก็มีวาทกรรม ระวังไทยจะเสียด้ามขวาน แบ่งแยกดินแดน ระวัง มุสลิมจะตกเป็นเครื่องมืออเมริกา เริ่ม เหมือนที่กรุงเทพมหานครปลุกผีล้มเจ้า อเมริกาแทรกแซงไทย ถึงขั้นว่าอเมริกาจะมาตั้งฐานทัพ อย่างไรก็แล้วแต่คนพื้นที่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า
#ไม่ว่า จะอเมริกา เสรีนิยม
#อำนาจนิยม ที่กดขี่คนชายแดนภาคใต้ผ่านกฎหมายพิเศษ ซ้อมทรมาน
#คนชายแดนใต้ หรือมุสลิมก็ต้องเท่าทัน มีสติ
#เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องปลุกผีอเมริกาที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ด้วย
รอมฎอน ปันจอร์ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ผู้ที่พรรคมอบหมายดูแลชายแดนใต้ให้ทัศนะว่า
“การกระจายอำนาจ การปฏิรูปงานความมั่นคง ลดบทบาทของกองทัพและทหารลงในงานการเมือง เป็นทิศทางใหญ่ของรัฐบาลก้าวไกล เราเชื่อว่าถ้าลดบทบาทของกองทัพลง แล้วเพิ่มบทบาทของพลเรือน รัฐสภา ภาคประชาสังคม หรือประชาชนเข้าในกระบวนการสันติภาพ เราอาจจะได้เห็นโฉมหน้าของการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่”
"ยุบ กอ.รมน.-ยุบ ศอ.บต-พาทหารกลับบ้าน" ไม่ใช่นโยบายสุดโต่ง แต่เป็นการยกระดับกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ผ่านกลไกรัฐสภา
“การยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. การพาทหารกลับบ้าน” โดนมองจากสังคมว่าเป็นแบบสุดโต่ง (radical) ”กัณวีร์ สืบแสง" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ให้ทัศนะว่า “นโยบายดังกล่าวนั้นไม่ใช่แบบสุดโต่ง (radical) หรอกครับ ในทางกลับกันแท้จริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นแบบที่เรียกว่าทำได้จริง (practical) เสียมากกว่า และนโยบายของพรรคเป็นธรรมนั้น ได้นำมาจากการปฏิบัติงานจริงๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตามประสบการณ์ที่ผมได้มีมาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่กับองค์การสหประชาชาติการพาพี่น้องทหารกลับบ้านและการทำความสะอาดถนนให้ปราศจากจากด่านความมั่นคงนั้น จะเป็นตัวชี้วัดของการนำกระบวนการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนมาปรับใช้ให้ถูกรูปแบบครับ”
คำว่า “พาทหารกลับบ้าน” ไม่ใช่ชาวปาตานีหรือคนชายแดนใต้รังเกียจพี่น้องทหารหรอกครับเชื่อผม แต่การที่ทหารมีอำนาจมากล้น จากการที่รัฐบาลมอบดาบให้มีกฎหมายพิเศษต่างๆ ในพื้นที่ที่ทำให้ทหารเหมือนมีเกราะพิเศษที่คิดอยากตรวจ ค้น อายัด จับ คุมขัง และอื่นๆ ได้อย่างไม่มีความผิด เพราะใช้กฏอัยการศึก และแค่ ผบ.หน่วยก็ก็สามารถประกาศใช้ได้ !! มันประหลาดและดูมหัศจรรย์มากมายกับประเทศไทยปี 2566 ที่ยังใช้กฏอัยการศึกที่มีมากว่า 100 ปีที่ไม่เคยปรับปรุงให้ทันสมัยเลย ที่น่าแปลกคือกฏอัยการศึกนี้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญไทยเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ทั้งปรับปรุง ทั้งโดนฉีกขาดด้วยรองเท้าบู๊ท แต่กฏอัยการศึก มิเคยเปลี่ยนแปลง !! มันต้องเปลี่ยนครับ มันไม่ควรให้การประกาศกฏอัยการศึกสามารถประกาศได้ด้วยทหาร เปรียบกับร่างกายมนุษย์ หากเราอยากหยิบปากกาสักด้าม สมองจะเป็นตัวคิดว่าเราอยากหยิบ แล้วนิ้วมือจะทำหน้าที่หยิบปากกาขึ้นมา มิใช่นิ้วมือเป็นตัวสั่งสมองว่าอยากหยิบ พูดง่ายๆ ทหารคือกลไกในการนำกฏอัยการศึกไปใช้ แต่คนที่จะพิจารณาประกาศกฏอัยการศึกต้องเป็น “รัฐสภา” รัฐสภาต้องทำหน้าที่เหมือนสมอง ทหารต้องทำหน้าที่เหมือนนิ้วมือ บ้านเรามันกลับตาลปัตรกันไปหมด โครงสร้างการบริหารจัดการทั้งหมดมันกลับหัวกลับหางมาอย่างยาวนาน และไม่มีใครเคยลองทำให้มันกลับมาสู่สภาวะปกติสุข ช่องทางการพาทหารกลับบ้านของพรรคเป็นธรรมมีด้วยกัน 2 แนวทางและต้องควบคู่กันไป คือ 1. ทำโดยตรงโดยการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ปาตานี /ชายแดนใต้ทั้งกฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคงทั้งพื้นที่ หากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับถูกยกเลิกและถูกใช้ไปอย่างสากลโลกแล้ว ทหารจะถูกพากลับบ้าน คงเหลือไว้แค่กำลังพลที่จำเป็นต้องอยู่บริเวณชายแดน ที่ต้องทำหน้าที่ทหารอย่างแท้จริง 2. การดำเนินการคู่ขนาน คือ การยกระดับการเจรจาสันติภาพให้ไปสู่การเมือง รัฐสภาเป็นสถานที่ที่ต้องมีการถกแถลงกันเรื่องการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพ ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลการเจรจาได้ มิใช่เก็บไว้แค่หน่วยความมั่นคงอย่างเดียว จะต้องมีกการตรากฎหมายรองรับการสร้างสันติภาพในปาตานี /ชายแดนใต้ รวมถึงการพิจารณาให้คู่เจรจากับรัฐไทยสามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ เพื่อร่วมรับฟังปัญหาจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ด้วย สิ่งนี้จะแสดงความจริงใจจากรัฐไทย ทำไมต้องยกระดับการเจรจา ?? ให้หน่วยความมั่นคงเขาทำไปไม่ดีเหรอ ?? ทุกท่านครับ 18 ปีกับ 4.9 แสนล้านบาท เงินภาษีจากทุกคนในประเทศไทยได้ถูกใช้ไปกับแผนงาน/โครงการด้านความมั่นคงและพัฒนาในปาตานี พวกเราทุกคนต้องทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ ประชาชนต้องสามารถตั้งกระทู้ตรวจสอบและถามไถ่ได้ครับ ที่ผมเสนอมาทั้งหมดนี้ ผมอยากยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีใครหรอกครับที่เกลียดทหาร หรือกลับไปเปรียบเทียบกับร่างกายมนุษย์ หากเราไปหยิบของคนอื่นมา คงไม่มีใครไปด่าทอ “นิ้ว” ที่ไปหยิบของคนอื่นมา แต่ “สมอง” ต่างหากที่เป็นตัวสั่งการ “รัฐบาล” ที่บิดเบี้ยวนี่ต่างหากที่ทำให้ทหารต้องมาเผชิญหน้ากับพี่น้องประชาชน และไม่ต้องกลัวครับ ว่าทำไมผมถึงไม่พูดหรือไม่มีมาตรการใดๆ เลยต่อคู่เจรจากับรัฐไทย เพราะหากทุกอย่างที่ผมกล่าวข้างบนสามารถบรรลุได้แล้ว ประชาชน/ประชาสังคมที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะเป็นผู้ตัดสินเองว่าเค้าจะเลือกอะไร
อย่างไรก็แล้วแต่ในเชิงวิชาการนั้นหากจะดำเนินนโยบายทั้งหมดโดยเฉพาะ ยุบศอ.บต. แทนที่ด้วยการกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แม้จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าแต่ก็เปิดพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในรายละเอียดจะทำอย่างไรเมื่อไร อย่างไร แบบไหน ให้กระทบน้อยที่สุดเกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด อย่างไรก็แล้วแต่สำหรับผู้เขียนแล้วข้อเสนอหนึ่งที่อยากจะให้พิจารณาก่อนกระจายอำนาจเต็มรูปแบบคือการกระจายอำนาจทางการศึกษาก่อนเพื่อวางรากฐานการกระจายอำนาจการปกครองให้ยั่งยืน
ทำไมต้อง ต้องกระจายอำนาจทางการศึกษาชายแดนภาคใต้?
พื้นที่ปาตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทางการศึกษา โดยสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการศึกษาทางอิสลาม และเป้าหมายของการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Learning Outcomes; LOs) ประการสำคัญ คือ การพัฒนามนุษย์ทั้งทางกายและทางจิตใจอย่างสอดประสานกัน ด้วยเหตุนี้ การจัดโครงสร้างของระบบการศึกษา ตลอดทั้งหลักสูตร และรายวิชา ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา จึงจำเป็นต้องคิดออกแบบให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นเลิศทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างมีดุลยภาพ รวมทั้งระบบของการบริหารจัดการหลักสูตร ผู้เรียน บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ตลอดทั้งโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ จำเป็นต้องถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของระบบการศึกษาระดัลประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะการบริหารจัดการศึกษาด้วยระบบปอเนาะ และทั้งกระทรวงวัฒนธรรม ในส่วนของระบบการศึกษาปฐมวัยในรูปแบบศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา เพื่อนำมาสู่การออกแบบกลไกบริหารจัดการการศึกษาระดับท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง อันจะรับประกันการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของพื้นที่และยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ตนเองได้โดยแท้จริง
ดังนั้น ภาพอนาคตรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาที่ปรารถนา รวมทั้งตัวแบบและแนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ จึงมีความสำคัญยิ่ง
สำหรับหัวใจของการกระจายอำนาจทางการศึกษานั้นต้องกระจายทั้งอำนาจการบริหารจัดการ คนและงบประมาณ เพื่อสามารถร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ มิใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นแต่ทุกพื้นที่การศึกษาในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอันจะนำไปสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษามากมายและจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เท่ากับสถาการณ์โลกในอนาคตที่สำคัญสุดมันจะเป็นรากฐานการกระจายอำนาจการปกครองที่พรรครัฐบาลในอนาคตภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่จะยุบกอ.รมน. ศอ.บต.แทนที่ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
*หมายเหตุ: สำหรับข้อเสนอแนะนี้ผู้เขียนนำมาจากการเป็นคณะทำงานการจัดทำภาพอนาคตรูปแบบการบริหารการจัดการศึกษา ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะเชิงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้#จัดโดยมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพร่วมกับสมาคมสมาพันธ์โรงเอกชนภาคใต้ ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี เพื่อยกร่างตัวแบบและแนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ [หมายเหตุอ่านเพิ่มเติมใน: นวัตกรรมการศึกษามากมาย ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้]
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ