ยังคงยืนหยัดเสนอเปลี่ยนจาก 'จะนะเมืองอุตสาหกรรม' สู่ 'จะนะเมืองการศึกษา'

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) | Shukur2003@yahoo.co.uk 15 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 18502 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วันที่ 12 พ.ย. 2566 การจัดเวที ครั้งที่ 4 ภายใต้ โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ห้องประชุมโรงเรียนอิสลามวิทยานุเคราะห์ ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

วัตถุประสงค์ในการประชุมในครั้งนี้เพื่อทราบข้อเสนอแนะอนาคตการศึกษาอิสลามในพื้นที่จากตัวแทนสถาบันการศึกษาต่างๆที่จัดการศึกษาด้านอิสลามศึกษา ซึ่งมีตัวแทนผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนเอกชน สถาบันปอเนาะ ศูนย์อบรมประจำมัสยิดครูสอนศาสนา อัลกุรอานตามบ้าน และนักพัฒนาชุมชน ที่ทำงานด้านการศึกษา ต่างสะท้อนถึง สภาพการดำเนินงานด้านจัดการศึกษา “อิสลามศึกษา” ในอดีต ปัจจุบัน และคาดหวังในอนาคต ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่า ควรออกแบบให้สามารถจัดการศึกษาอิสลามอย่างมีคุณภาพ สามารถนำไปปฏิบัติสู่วิถีชีวิตในเชิงประจักษ์ อีกทั้งสามารถต่อยอดในการประกอบอาชีพ ในขณะที่ผู้เขียนสะท้อนว่า อำเภอจะนะนั้นมีจุดเด่นโดยจัดการศึกษาทุกรูปแบบโดยบุคคล เอกชนชุมชน แม้กระทั่งสายอาชีพบูรณาการอิสลามศึกษาถึงสองแห่งคือวิทยาลัยเทคโนโลยีสันติวิทย์ กับวิทยาลัยโฮเรซอน จัดตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปี อีกทั้งผู้ใหญ่ หรือเรียกว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ตามมัสยิด บ้านปราชญ์ชุมชนในเชิงจิตอาสา ดังนั้นผู้เขียน ยังคงยืนหยัดเสนอ เปลี่ยนจากจะนะเมืองอุตสาหกรรมสู่ “จะนะเมืองการศึกษา”แก้ปัญหาการศึกษาของชุมชนจะนะและพื้นที่ใกล้เคียง และน่าจะไม่มีประชาชน ชุมชน Ngo คัดค้านและสอดคล้องกับแนวคิด Soft Power ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้หากจะเปลี่ยนจาก “เมืองอุตสาหกรรม” เปลี่ยนเป็น “จะนะเมืองการศึกษา”นั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สามารถอาศัยความตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่เคยเป็นช่องทางในการทำโครงการ เรียกว่า “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จะมีการสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม โดยช่องทางตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต. ระบุว่าในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อาจกำหนดให้เขตพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้เช่นกัน

ในขณะที่ มุหัมหมัด ล่าเม๊าะ สะท้อนว่าทำไมจึงเสนอ”จะนะเมืองแห่งการศึกษา”ว่า “จะนะเป็นเมืองอุลามาฮฺ มีสถาบันการศึกษามากมายเป็นต้นทุนที่จะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการศึกษา อันจะส่งผลดีทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ต่อประเทศชาติในอนาคตซึ่งในอดีตจะนะจะมีอุลามาอ์ (ผู้รู้) มีการเปิดสอนนักเรียนเป็นระบบปอเนาะ(โรงเรียนกินนอน)หลายแห่ง ครูผู้สอนคนทั่วไปเรียกว่า #โต๊ะครู หรือเรียกว่า #บาบอ หรือ #โต๊ะเย๊าะ เป็นคนสอนนักเรียนทุกวิชา ทั้งนิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาหลักไวยกรณ์ เตาฮีด(หลักการยึดมั่น) และอื่นๆ โดยมีผู้สอนคนเดียว ปัจจุบันบางปอเน๊าะก็ยังมีการเรียนการสอนแบบเดิม เช่น ปอเน๊าะท่ามะกรูด ที่เปิดขึ้นใหม่แต่สอนแบบเดิมก็มีเช่น ปอเน๊าะบอตาดทุ่งคำ บ้านแค ปอเนาะบอหวัง ป่าระไม บางปอเนาะเมื่อโต๊ะครูเสียชีวิตก็กลายปอเน๊าะร้างคือไม่มีนักเรียน บางแห่งก็พัฒนาไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

โต๊ะครูจะนะในอดีต สมัยที่การเดินทางยังไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน หลายคนที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ กลับมาเปิดปอเนาะ มีไม่น้อยที่เขียนตำราการเรียนการสอนทั้งที่ตีพิมพ์แล้ว และยังไม่ได้ตีพิมพ์ก็มีจากที่กล่าวมาจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของการทำให้จะนะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการศึกษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันจะนะมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งที่จบจากในและต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก มากมาย กระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆในและต่างประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชนนอกจากนี้ปัจจุบันยังมีที่กำลังศึกษาในต่างประเทศอีกมากมาย คนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทั้งโดยเฉพาะ ในด้านการพัฒนาประเทศในยุคโลกไร้พรมแดนเป็นconnecter ที่มีประสิทธิภาพให้กับภาครัฐได้เป็นอย่างดีในการพัฒนาเศรษฐกิจนักเศรษฐศาสตร์หรือแม้กระทั่งสภาพัฒฯและทางรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่อีกมิติหนึ่งเราอาจจะคิดไม่ถึงว่า การพัฒนาท้องที่ด้วยการสร้างสถาบันการศึกษามันก็จะเป็นการพัฒนาที่ทุกคนได้รับตามสัดส่วนและศักยภาพของแต่ละบุคคลอย่างทั่วถึง ดังนั้นผมจึงเสนอการพัฒนาจะนะให้เป็น #เมืองแห่งการศึกษา ผลที่ได้จะมีหลาย ๆ ด้าน เช่น

1. ด้านทรัยากรมนุษย์เป็นการพัฒนาคนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศให้มีความรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาให้คนมีความรู้ความเข้าใจด้านมนุษยธรรมและคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับประเทศชาติ

2. นักเรียนนักษาศึกษาเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในการกระจายรายได้เป็นผู้บริโภคที่ดี และสถาบันการศึกษาจะทำให้เกิดกิจกรรมอื่นตามมามากมายเช่น เกิดธุรกิจร้านอาหาร เสื้อผ้า และการบริการสาธารณะอื่นๆ เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการสร้างงานที่ดี

ปัจจุบันจะนะมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 10,000 คน กระจ่ายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทุกคนกินอาหารวันละ 3 มื้อ เฉลี่ยวันละ100 บาท ก็จะทำให้มีเงินไหลเวียนอยู่ในจะนะอย่างน้อยวันละ 1,000,000 บาท เงินเหล่านี้ก็กระจายไปสู่ภาคส่วนต่างๆในสังคม ชุมชนทุกระดับ

3. สร้างสุขภาพที่ดี เมื่อคนมีการศึกษาก็จะมีความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้หลักการบริโภคของอิสลามว่าอะไรฮาลาล (อนุญาต)ฮะรอม (ไม่อนุญาต) ว่าอะไรกินได้ กินไม่ได้และอาหารที่ดีเหมาะสมกับร่างกายกินเข้าไปแล้วไม่ให้โทษ (Taiyibat) เป็นอย่างไรยางที่ฮาลาลแต่ไม่ให้โทษกับบางคน

4. จะนะเป็นเมืองที่มีทรัพยากรทั้งเขา ป่า นา เล เป็นทุนทางทรัพยากรที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว มีชายหาดที่สวยงาม บางแห่งมีปะการัง มีปลาการ์ตูน ถ้าเรามีสถาบันการศึกษาที่รองรับนักศึกษาจากนานาชาติได้ อาจจะเป็นการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติเหมือนกับหลายประเทศที่มีทุนให้นักศึกประเทศต่างๆคนเหล่านี้เมื่อจบไปก็จะกลับไปเป็นนักประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่ดีที่สุดให้จะนะด้วย

ถ้าจะนะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการศึกษารองรับนักศึกษาจากอาเซี่ยน จากต่างชาติโดยเฉพาะจะนะเป็นเมืองผู้รู้(อุลามาฮฺ)และเป็นประตูสู่ปัตตานี หรือ ฟาฏอนี ที่ได้รับสมญานามว่า ระเบียงมักกะฮฺ เมื่อปัตตานี เป็นระเบียง. จะนะก็คงเป็นบันไดขึ้นไประเบียง ชื่อเสียงของพื้นที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองผู้รู้ที่น่าจะพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติได้ อันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่ชี้ให้เห็นช่องทางการพัฒนาในอนาคต

จากการสังเกตพบว่า ที่ไหนที่สร้างสถาบันการศึกษา เป็นโรงเรียน เป็นมหาวิยาลัย ก็จะเกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามไปด้วย ผิดกับพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใครต่อใครอยากจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะมีปัญหาทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อากาศเหม็น ฝุ่นละออง PM 2.5 น้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากรในพื้นที่และอื่นๆแต่ก็จำเป็นต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก

สถาบันการศึกษาเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจ เช่นที่ตำบลรูสะมีแล ปัตตานี มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่อ.ยะรังมีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่อ.ท่าศาลนครศรีธรรมราช มีมหาวทยาลัยวลัยลักษณ์ และอีกหลายพื้นที่ที่มีสถาบันการศึกษา ทำให้การกระจายรายได้ มีการสร้างงาน การพัฒนาในด้านต่างๆตามมามากมาย เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า change for the beater

ปัจจัยที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาจะนะให้เป็นเมืองการศึกษา

1. บุคลกรที่มีความรู้ทุกประเภท ทุกระดับหลายสาขา

2. นกเขาชวา ต้องยอมต่างชาติรู้จักจะนะด้วยนกเขาชวา ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศปีละหลายสิบล้าน

3. วัฒนธรรมของคนในพื้นที่มีความเชื่อเดียวกันกับประชากรในอาอาเซี่ยนและโลกอิสลาม ทั้งนี้เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่กำหนดให้การศึกษาเป็นสิ่งวายิบ(จำเป็น)สำหรับมุสลิมทุกคน ปัจจุบันนักเรียนมุสลิมจากโรงรียนเอกชนสอนศาสนาฯไปศึกษาต่อในประเทศมุสลิมทั้งอาเซี่ยน โลกอาหรับ และในยุโรปเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งที่ได้รับทุนจากประเทศต่างๆและใช้ทุนเอง จะนะมีต้นทุนที่จะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการศึกษาในอนาคต เป็นหนึ่งทางเลือกที่สอดคล้องกับต้นทุนของพื้นที่

สำหรับมุหัมหมัด ล่าเม๊าะ นั้นเป็นนักพัฒนาชุมชนที่เป็นที่รู้จักในอำเภอจะน จังหวัดสงขลา ปัจจุบันนอกจากเปิดร้านเอียดสกรีน ที่ตลาดจะนะ ยังทำงานจิตอาสา ในหลายตำแหน่ง เช่น
-ประธานกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาบ้านพ้อแดง
-กรรมการซะกาตตมัสยิดเร๊าะหม๊ะบ้านพ้อแดง
-ประธานกองทุนการศึกษานักเรียน รร.พัฒนา

สำหรับภาคประชาชนก่อนหน้านี้ได้ทำยุทธศาสตร์ “จะนะเมืองการศึกษา”โดยมีรายละเอียดดังนี้

เป้าประสงค์

1. ส่งเสริมและพัฒนาให้จะนะเป็นเมืองแห่งการศึกษาที่มีความพร้อมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น

2. สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการบนฐานของชุมชน (Community-based entrepreneurship)

กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาให้จะนะเป็นเมืองแห่งการศึกษาที่มีความพร้อมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น

แนวทางการดำเนินงาน

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบรูณาการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา

2. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงหน่วยงานในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้เกิดการบรูณาการ ทั้งองค์ความรู้และทรัพยากรมาสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มีความเป็นผู้ประกอบการโดยมีชุมชนเป็นฐาน (Community-based entrepreneurship) รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แนวทางการดำเนินงาน

1.ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรชุมชน

กลยุทธ์ที่ 3 การผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย

แนวทางการดำเนินงาน

1. การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ภาครัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอกับบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่

2. พัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในด้านการเป็นผู้ประกอบการที่มีชุมชนเป็นฐาน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบรูณาการการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและศาสนา มาใช้ในการเป็นผู้ประกอบการบนฐานชุมชน (Community-based entrepreneurship)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: