เผยผลดำเนินงาน “กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566” ครอบคลุมดูแลประชากรผู้มีสิทธิ ร้อยละ 99.40 มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 164.98 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในรับบริการ 6.265 ล้านครั้ง ขณะที่หลายสิทธิประโยชน์ช่วยดูแลผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเกินเป้าหมาย อาทิ บริการเอชไอวี/เอดส์ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการจิตเวชเรื้อรังในชุมชน บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง และบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เป็นต้น สะท้อนประสิทธิภาพ สปสช. บริหารจัดการและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบบัตรทอง
ช่วงเดือน พ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ปีงบประมาณ 2566 สปสช. ได้ดำเนินการเพื่อดูแลคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทองฯ จำนวน 47.73 ล้านคน ให้เข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ตามสิทธิประโยชน์ ภายใต้งบประมาณที่รับการจัดสรรจำนวน 142,297,936,700 บาท (ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 61,842,091,100 บาท) เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,901.21 บาทต่อผู้มีสิทธิ โดยเป็นจำนวนที่รวมงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 506.07 บาทต่อผู้มีสิทธิ และงบบริการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับ- ผู้ให้บริการ 9.16 บาทต่อผู้มีสิทธิ ซึ่งในประกาศปี 2566 จะอยู่นอกงบเหมาจ่ายรายหัว โดยมีหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศร่วมให้บริการจำนวน 17,247 แห่ง
ผลงานภาพรวมปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้ดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ครอบคลุมประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 99.40 โดยมีผลการรับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 164.98 ล้านครั้ง จากเป้าหมายจำนวน 166.86 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 98.87 ขณะที่ผลการรับบริการผู้ป่วยในอยู่ที่จำนวน 6.265 ล้านครั้ง จากเป้าหมายจำนวน 6.494 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 96.48
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่บริหารจัดการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว ภาพรวมได้ให้การดูแลประชาชนเข้าถึงบริการตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน อาทิ บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยปี 2566 มีผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจำนวน 305,527 คน จากเป้าหมายจำนวน 299,420 หรือคิดเป็นร้อยละ 102.04 และดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อฯ จำนวน 3,372,839 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,135,165 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 107.58
บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการบำบัดทดแทนไต ปี 2566 มีจำนวนรับบริการสะสมรวม 92,666 คน (นับซ้ำในรายผู้ป่วยที่ได้รับบริการมากกว่า 1 วิธี ในรอบปี) ของเป้าหมายจำนวน 67,786 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 136.70 แยกเป็นบริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) สะสมรวมจำนวน 23,445 คน บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) สะสมรวมจำนวน 62,197 คน บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายใหม่จำนวน 284 คน และบริการรับยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไต ทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 2,852 คน นอกจากนี้ยังมีบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) สะสมรวมจำนวน 3,888 คน
บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงรับบริการจำนวน 4,269,315 คน ของเป้าหมาย 4,370,013 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.70
บริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน มีผู้ป่วยลงทะเบียนรับบริการจำนวน 13,107 คน จากเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 12,271 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 106.81 และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนฯ ที่ได้รับการติดตามเยี่ยมจำนวน 11,983 คน
การบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปี 2566 ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ทุกสิทธิ ทุกกลุ่มอายุที่ได้รับบริการสาธารณสุข หรือได้รับบริการตามแผนการดูแลรายบุคคลจำนวน 334,823 คน จากเป้าหมายจำนวน 210,941 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 158.73 โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เข้าร่วมโครงการ LTC จำนวน 7,179 แห่ง จากกองทุนฯ จำนวน 7,741 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 92.74
การเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในพื้นที่กันดารพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ สปสช. ได้รับจัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้หน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 186 แห่ง จำนวน 1,490.288 ล้านบาท โดยจ่ายตามเกณฑ์พื้นที่กันดาร/พื้นที่เสี่ยงภัย 168 แห่ง จ่ายตามเกณฑ์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 57 แห่ง และจ่ายตามเกณฑ์ทั้ง 2 เกณฑ์ 39 แห่ง
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะที่บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ สปสช. สนับสนุนการจัดบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว และเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพวิถีใหม่ ได้แก่ บริการร้านยาคุณภาพ บริการส่งยา/เวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ บริการสาธารณสุขระบบทางไกล บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ บริการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward) บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และบริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอกทั่วไป 42 กลุ่มโรค รวมถึงบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ผลดำเนินงานโดยรวมมีผู้ป่วยเข้าถึงทั้งสิ้นจำนวน 2,827,756 ครั้ง หรือร้อยละ 99.93 จากเป้าหมายจำนวน 2,829,846 ครั้ง
ส่วนบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีประชากรในพื้นที่ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยเรียนและเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการและทุพลภาพ และประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง ภาพรวมบริการนี้มีประชาชนรับบริการจำนวน 43,310,514 คน คิดเป็นร้อยละ 163.35 จากเป้าหมายจำนวน 26,514,000 คน
นอกจากนี้ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช. สามารถสร้างความคลุมสิทธิภายใต้ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประชาชนไทยทุกคนได้จำนวน 66,602,086 คน คิดเป็นร้อยละ 100.48 จากเป้าหมายจำนวน 66,286,000 คน
“จากรายงานการดำเนินงานกองทุนบัตรทองฯ นี้ ผลดำเนินงานไม่เพียงเป็นไปตามเป้าหมายเท่านั้น แต่หลายผลงานยังเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนฯ ของ สปสช. ที่ดูแลให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการให้กับประชาชน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ