จับตา: รู้ทันผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 3083 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่าปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สมุนไพร ซึ่งเป็นผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ นำมาใช้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ปัจจุบันคนทั่วไปนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาและป้องกันโรค เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเลือกใช้ และเพื่อความสะดวกและประโยชน์ในการได้รับข้อมูลจากฉลากบรรจุภัณฑ์อย่างครบถ้วน

“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร”ครอบคลุมไปถึง ยาจากสมุนไพร ที่มีทั้งยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร และยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้สำหรับการรักษา บรรเทา ป้องกันโรคหรือ ให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ของร่างกายมนุษย์

แต่สำหรับ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” สามารถสังเกตได้จากลักษณะดังต่อไปนี้ 

1) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแท้ เช่น ผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรแคปซูล100%” อาจพบการใช้ผงบอระเพ็ดแทนฟ้าทะลายโจร

2) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ หรือแสดงวัน เดือน ปีที่สิ้นอายุ ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น จดแจ้งผลิตภัณฑ์กับ อย. ในชื่อ “ABC” หมดอายุ 10/67 แต่นำมาจำหน่ายในชื่อ “AAA” หมดอายุ 10/70

3) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงชื่อ เครื่องหมายของผู้ผลิต หรือที่ตั้งสถานที่ผลิต ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจรหรรษา” ฉลากระบุผลิตโดย บริษัท หรรษา จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตจาก บริษัท เริงรื่น จำกัด

4) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงฉลากหรือเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ฟ้าทะลายโจรB ตอนขึ้นทะเบียนระบุสรรพคุณ “ลดไข้” แต่ตอนจำหน่ายระบุสรรพคุณในฉลากเป็น “รักษาโรคความดัน เบาหวาน ยับยั้งเซลล์มะเร็ง”

5) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียด หรือจดแจ้งไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. แต่อ้างว่ามีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร แต่ใช้เลข อย. ของผลิตภัณฑ์อื่นมาแอบอ้าง

6) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียด จดแจ้ง หรือมีค่าคลาดเคลื่อนผิดจากเกณฑ์ที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนด เช่น “ฟ้าทะลายโจรDD” ขึ้นทะเบียนตำรับโดยระบุมีสาร Andrographolide 60 mg. แต่ผลิตออกมาจำหน่ายจริงมีสาร Andrographolide เพียง 15 mg.

ผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์จาก อย. ที่ www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งตามกฎหมายผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร ขึ้นต้นด้วยอักษร “G” หรืออักษร “K” เช่น G 123/45, K 123/45 และควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากพบว่ารายละเอียดไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาตอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ชื่อผู้ผลิต ชื่อผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ เลขทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปริมาณส่วนประกอบและสารสำคัญ การกล่าวอ้างสรรพคุณ ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะอาจทำให้ไม่ทราบแต่ละรายละเอียดสำคัญเช่น มาตรฐานการผลิต แหล่งผลิตที่แท้จริง ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เสี่ยงได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน และเสียโอกาสในการรักษา

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/Law01-Herbal-Act-01.pdf

https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2366

https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0121.PDF

https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/Law01-Herbal-Act-01.pdf (P.41)

https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2141

https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2099

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: