จับตา: การชักจูงให้ผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ถือว่าผิดจริยธรรมการแพทย์

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3479 ครั้ง


จาก ประกาศจุดยืน เรื่อง การผ่าตัดคลอด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๖) โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ได้ระบุถึงการผ่าคลอดไว้ 8 ประเด็นสำคัญดังนี้

1. การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง

2. ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก

3. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด

4. การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติ โดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

5. การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป

6. การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์

7. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

8. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: