ผลวิจัยชี้ 'ชาติอาเซียน' นิยมสหรัฐฯ มากขึ้นในยุค 'ไบเดน'

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 17833 ครั้ง

ผลวิจัยชี้ 'ชาติอาเซียน' นิยมสหรัฐฯ มากขึ้นในยุค 'ไบเดน'

ผลสำรวจชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ชี้ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นเลือก 'สหรัฐฯ' มากกว่า 'จีน' หากจำเป็นต้องเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ณ ขณะนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจเริ่มแสดงประสิทธิผลแล้ว

VOA รายงานว่าผลสำรวจชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่เปิดเผยช่วงต้นเดือน ก.พ. 2023 แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นเลือกสหรัฐฯ มากกว่าจีนหากจำเป็นต้องเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ณ ขณะนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจเริ่มแสดงประสิทธิผลแล้ว

ผลสำรวจที่ใช้กลุ่มตัวอย่างในแถบอาเซียน 1,308 คน ชี้ว่า ความนิยมที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 57.0% จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว เป็น 61.1% ในการสำรวจปีนี้ ขณะที่ความนิยมที่มีต่อจีนลดลงมาอยู่ที่ 38.9%

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า หากต้องเลือกว่าจะยืนข้างใครระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เลือกยืนข้างจีนมากกว่า ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนอีก 7 ประเทศเลือกยืนข้างอเมริกามากกว่า รวมทั้งประเทศไทย โดยตัวเลขของไทยอยู่ที่ 56.9% สำหรับผู้ที่เลือกสหรัฐฯ และ 43.1% สำหรับผู้ที่เลือกจีน

ชารอน ซีอาห์ นักวิชาการอาวุโสแห่งศูนย์ Asean Studies Centre ของ ISEAS-Yusof Ishak กล่าวว่า "สถานะของรัฐบาลไบเดนในอาเซียนดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมาก" โดย 77% ของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเมื่อปี 2020 ระบุว่า ระดับการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลดลงอย่างมากภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเทียบกับตัวเลขเกือบ 40% ที่บอกว่าสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในอาเซียนลดลงภายใต้รัฐบาลไบเดน

สหรัฐฯ เพิ่มกิจกรรมด้านความมั่นคงในแถบอาเซียนมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่หลายประเทศแสดงความกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในน่านน้ำรอบ ๆ ไต้หวันและทะเลจีนใต้

แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างในอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า จีนคือประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงจากระดับ 54.4% เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ 41.5% ในปีนี้ และมีถึงเกือบ 50% ของผู้ที่มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนจะยกระดับขึ้นในอนาคต ที่เชื่อว่าอิทธิพลของจีนอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้

ซีอาห์ แห่งศูนย์ Asean Studies Centre กล่าวว่า ความกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนในแถบอาเซียนนั้นมีอยู่มานานแล้ว แต่การที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลิกใช้ยุทธวิธีซ่อนความแข็งแกร่งและรอเวลา จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะรับมือการตอบโต้หรือการโต้กลับของจีน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็มีประเด็นความเชื่อมั่นเช่นกัน เพราะในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของประเทศในอาเซียนในด้านการรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศ แต่ตัวเลขนี้ก็ลดลงจากระดับ 36.6% เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ 27.1% ในปีนี้

ขณะเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ยังคงมีมุมมองด้านบวกต่อกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อความรุ่งเรืองของอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ขณะที่มากกว่า 40% ยังคงไม่แน่ใจ โดยสหรัฐฯ เปิดตัวกรอบความร่วมมือดังกล่าวต่อประเทศสมาชิกรวม 13 ประเทศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในส่วนของความกังวลด้านต่าง ๆ กลุ่มตัวอย่าง 82.6% บอกว่า กังวลต่อความไร้ประสิทธิภาพและความเชื่องช้าของอาเซียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่ 73% กังวลว่าอาเซียนจะกลายเป็นสนามประลองของชาติมหาอำนาจ และชาติในอาเซียนอาจกลายเป็นตัวแทนของมหาอำนาจเหล่านั้น ส่วน 60.7% กังวลต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียน และ 37.2% กลัวว่าอาเซียนจะไม่สามารถฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: