ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจง 11 ข้อ จากกรณีนายปริเยศ อังกูรกิตติ ฟ้องร้องประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกับพวก ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพง | ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Center รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งกรณี นายปริเยศ อังกูรกิตติ ฟ้องร้องประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกับพวก ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าแพง
โดยเมื่อเวลา 9.30 น. ของวันที่ 10 ก.ค. 2566 ศาลฯ นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 65/2566 ระหว่าง นายปริเยศ อังกูรกิตติ โจทก์ และ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน จำเลย โดยศาลได้ตรวจคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องฉบับใหม่ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 16 มิ.ย.2566 แล้ว เห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน จึงให้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไร มีองค์กร หน่วยงาน หรือใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน และมีมติที่ประชุมอย่างไรบ้างในแต่ละขั้นตอน และให้จัดส่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) รายงานการประชุมและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) มีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้สูง และเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนกำลังผลิตส่วนเกินไว้สูงและเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเหตุใด
3. หน่วยงานของท่านมีการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) บ้างหรือไม่ มีวาระการทบทวนทุกปีหรือไม่ หรือกี่ปีต่อครั้ง และมีการทบทวนแผน PDP ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ เพราะเหตุใด ตามมติ กฎ ระเบียบใด
4. หน่วยงานของท่านพบว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นหรือไม่ หากพบว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น พบเมื่อใด และหน่วยงานของท่านได้ดำเนินการอย่างไร
5. เหตุใดจึงต้องมีการอนุมัติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชน (IPP) 1,400 เมกะวัตต์ และมีการอนุมัติขณะปริมาณไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่มีปริมาณเกินความต้องการหรือไม่ และเหตุผลใดจึงไม่มีการเปิดประมูล อาศัยอำนาจตามกฎหมาย มติ กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใด และให้จัดส่งสัญญาจัดซื้อไฟฟ้า จากเอกชนโรงไฟฟ้าหินกอง
6. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเท่าใด และมีกำลังไฟฟ้าเท่าใด เกินความต้องการของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ในแต่ละปีโรงไฟฟ้าแต่ละโรงผลิตปริมาณไฟฟ้าได้จำนวนเท่าใด และมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแต่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาหรือไม่ ถ้าหากมี มีจำนวนกี่โรงและแต่ละโรงได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเท่าใดต่อปี รวมเป็นเงินที่ต้องจ่าย ค่าตอบแทนตามสัญญาทั้งหมดเท่าใด และให้จัดส่งสัญญาจัดซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
7. ปริมาณไฟฟ้าที่จัดซื้อ ปริมาณไฟฟ้าที่ส่งมอบให้ กฟผ. ในแต่ละสัญญาจ้าง เงินค่าจ้าง และการชำระเงินค่าจ้าง หรือแผนการใช้ไฟฟ้าหรือการสำรองการใช้ไฟฟ้าหรือจัดซื้อไฟฟ้าในอนาคตให้จัดส่งสัญญาจัดซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
8. มีวิธีและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่ผลิตไฟฟ้าอย่างไร ใช้เงินจากงบส่วนใด ให้ส่งข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี มาประกอบการพิจารณา
9. เหตุใดต้องจ้างเอกชนผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนมากกว่า กฟผ. และเหตุใด กฟผ.ไม่ผลิตไฟฟ้าเอง
10. มีวิธีการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) อย่างไร วิธีคิดคำนวณ ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักวิชาการและสากลหรือไม่ อย่างไร อ้างอิงจากอะไร หน่วยงานใดเป็น ผู้รับผิดชอบในการคิดคำนวณ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่
11. ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชนในกรณีที่ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ตามข้อ 6. ถูกนำมารวมเป็นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งให้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เมื่อหน่วยงานข้างต้นมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังศาลแล้ว ให้โจทก์ตรวจสอบเอกสารดังกล่าว หากประสงค์จะคัดค้านให้ยื่นคำร้องขอคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานจัดส่งหนังสือมายังศาล หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ ให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 12 ก.ย. 2566 เวลา 09.30 น. ตามที่มีวันว่างตรงกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ