กระทรวงพลังงาน ระบุโควตานำเข้า LNG 3 ปี ตามมาตรการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ระยะที่ 2 จะสิ้นสุดในปี 2566 นี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper) เร่งนำเข้า LNG ในโควตา 3.02 ล้านตัน ของปี 2566 ก่อนหมดเวลา คาดนำเข้าได้เต็มโควตาแน่นอน ด้าน กฟผ.จองนำเข้า 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะ Shipper รายอื่นๆ เตรียมจับมือกันนำเข้าเพิ่ม ส่วนโควตา LNG ปีต่อไปต้องรอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของไทย หรือ PDP ฉบับใหม่เสร็จก่อน เพื่อให้ภาครัฐพิจารณาว่าควรมีโควตานำเข้า LNG ต่อไปหรือไม่ | ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Center อ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงานรายงานว่า ปี 2566 จะเป็นปีสุดท้ายสำหรับโควตานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้มีโควตานำเข้า LNG เป็นเวลา 3 ปี ได้แก่ 1. ปี 2564 โควตาจำนวน 4.8 แสนตัน แต่มีการนำเข้าเกินโควตารวมถึง 6 แสนตัน 2.ปี 2565 โควตาจำนวน 4.5 ล้านตัน มีการนำเข้าจริงเพียง 1.3 แสนตัน และ 3. ปี 2566 โควตาจำนวน 3.02 ล้านตัน
โดยหลังจากนี้ต้องรอนโยบายจากภาครัฐว่าจะกำหนดให้มีโควตานำเข้า LNG ในปีต่อๆ ไปหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้โควตาดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและ กพช. พิจารณาเห็นชอบก่อน
สำหรับโควตานำเข้า LNG จำนวน 3.02 ล้านตันในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีการนำเข้าได้ครบตามโควตา เนื่องจากขณะนี้ผู้ขาย LNG ในตลาดโลก เริ่มทยอยปล่อยขาย LNG สัญญาระยะกลางออกมาแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ไม่มีการปล่อยขาย LNG สัญญาระยะยาวและสัญญาระยะกลางออกมาเลย มีเพียง LNG สัญญาระยะสั้น หรือ LNG Spot ที่ราคาแพงเท่านั้น โดยขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการซื้อ LNG สัญญาระยะกลางได้บ้างแล้ว
เบื้องต้นคาดว่าจะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้า LNG โควตาดังกล่าว รวมทั้งบริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด ที่กำลังพยายามจัดหา LNG และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper) รายอื่นๆ ก็คาดว่าจะจับมือกันเพื่อนำเข้า LNG เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มี Shipper รายอื่นๆ รายงานความชัดเจนในการนำเข้า LNG มายัง กกพ.
รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 กฟผ. ได้ดำเนินการจัดหา LNG สัญญาระยะสั้น สำหรับปี 2566 จนถึงปี 2570 ปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี ตามมติของ กกพ. วันที่ 5 เม.ย. 2566 ด้วยวิธีแข่งขันราคา เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยเรือขนส่ง LNG ลำแรกเข้าเทียบท่าสถานี LNG มาบตาพุด แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 การจัดหาและนำเข้า LNG ครั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการตาม (ร่าง) แนวปฏิบัติการจัดหา LNG ที่กำหนดโดย กกพ. สำหรับกลุ่มผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ และกลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรม และกิจการของตัวเอง ซึ่งได้ราคาต่ำกว่าราคาเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดของ กพช.
สำหรับผู้นำเข้า LNG ในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ระยะที่ 2 จะต้องเป็น Shipper ที่ กกพ. อนุมัติ ซึ่งปัจจุบันมี Shipper รายเดิม 1 รายคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และรายใหม่ทั้งสิ้น 7 รายประกอบด้วย
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ