มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เผยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาคดีที่ลูกเรือประมงไทยจำนวน 32 คน ฟ้องนายจ้างหลอกให้ไปทำงานประมงในประเทศโซมาเลีย แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างระหว่างตกค้าง และเงินส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ เมื่อปี 2562 โดยพิพากษาให้จ่ายเงินชดเชย 9,043,023.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
12 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) แจ้งข่าวว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กรณีลูกเรือประมงไทยจำนวน 32 คน ฟ้องนายจ้างคนไทยได้หลอกให้ลูกจ้างไปทำงานประมงในประเทศโซมาเลีย โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างระหว่างตกค้าง และเงินส่วนแบ่งมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งลูกเรือประมงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 ล่าสุดนายจ้างได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาอีกครั้งเป็นเหตุให้ลูกเรือทั้ง 32 คนยังคงไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยตามการฟ้องร้อง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่สู้คดียาวนานและยังคงไม่ได้รับเงินแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว
สรุป 2 ประเด็นสำคัญของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ประเด็นที่หนึ่ง การพิจารณาเรื่องความเป็นนายจ้างและความรับผิดชอบของจำเลย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องตามศาลแรงงานกลางซึ่งวินิจฉัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง นาย น. ผู้เป็นจำเลย กับนายจ้างชาวอิหร่าน เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและผลกำไรจากการทำประมง ซึ่งเป็นการแบ่งงานกันทำในลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ และจำเลยยังมีอำนาจสั่งการบังคับบัญชาโจทก์ทั้ง 32 คน ดังนั้น จำเลยจึงเป็นนายจ้างของโจทก์ซึ่งต้องรับผิดตามการฟ้องร้อง
ประเด็นที่สอง การพิจารณาเรื่องความรับผิดชอบค่าชดเชยและค่าเสียหาย ศาลพิพากษาให้ จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้ง 32 คน ซึ่งประกอบด้วย ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ส่วนแบ่งมูลค่าของสัตว์น้ำ เงินในระหว่างตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือให้จำเลยเดินทางกลับประเทศไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,043,023.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2562 ปรากฏข่าวว่าลูกเรือไทยที่ไปทำงานประมงในน่านน้ำโซมาเลียได้ถูกลอยแพ อีกทั้งนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างค่าแรง และท้ายที่สุดลูกเรือได้ร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคมและสถานกงสุลในกรุงไนโรบี จนกระทั่งลูกเรือทั้ง 32 คนได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย (ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/282745)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ (Sr Law) และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (Stella Maris) ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยสนับสนุนทนายความเป็นผู้แทนลูกเรือทั้ง 32 คน ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างตกค้าง ส่วนแบ่งตามมูลค่าจับสัตว์น้ำ และค่าเดินทางกลับประเทศไทย
วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลย จ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชยอื่น ๆ ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ทั้ง 32 คน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาศาลชั้นต้นใน ใบแจ้งข่าว: ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้ลูกเรือไทย) อย่างไรก็ตาม จำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อลูกเรือทั้ง 32 คน จนนำมาสู่คำพิพากษาของศาลแรงงานอุทธรณ์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ซึ่งต่อมาจำเลยยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาอีกครั้งเป็นเหตุให้ลูกเรือทั้ง 32 คนยังคงไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยตามการฟ้องร้อง
คณะทำงานภาคประชาสังคมมีความเห็นว่าคดีความนี้เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการทำประมงในต่างประเทศ ตลอดจนความรับผิดชอบของตัวการที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทผู้ว่าจ้างแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญในการให้ความคุ้มครองแรงงานประมงไทยที่ออกไปทำการประมงในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากระยะเวลาในการดำเนินคดีจะพบว่า การดำเนินคดีทางกฎหมายใช้เวลายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 4 ปี ปัจจุบันลูกเรือทั้ง 32 คน ยังคงไม่ได้รับเงินค่าจ้างและค่าชดเชยจากการทำงานในอดีตขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดียังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีการตัดสินใหม่อีกครั้ง คณะทำงานในคดียังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกเรือที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป เพื่อให้ลูกเรือทั้ง 32 คน ได้รับการชดเชยเยียวยาและเกิดกลไกในการคุ้มครองแรงงานประมงอย่างเหมาะสมต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ