'Hug Project' เผยแพร่คู่มือวิธีรับมือเมื่อตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์-วิธีรับมือ เมื่อตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ | ที่มาภาพ: HUG Project
HUG Project ได้เผยแพร่ "วิธีรับมือ เมื่อตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีรับมือ เมื่อตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ โดยในส่วนของคำนำคู่มือฯ ระบุว่าภัยออนไลน์เป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะถ้าคลิปของเด็กคนไหนหลุดขึ้นไปบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้วยากที่จะสามารถลบให้หายไปอย่างถาวรได้ เด็กหลายคนเลือกที่จะเงียบ หรือไม่แจ้งความเพราะกลัวผู้ปกครองรู้ หรือกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะไม่รับแจ้ง เป็นผลทำให้คนร้ายกระทำความผิดต่อเนื่อง และทำให้เกิดผู้เสียหายหลายคน จากหลายพื้นที่ จากการกระทำความผิดของคนพียงคนเดียว
กลยุทธ์ของคนร้าย
ที่มาภาพ: HUG Project
ใครคือผู้เสียหาย? ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์เป็นได้ทั้งเพศหญิงและชาย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต กลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 12-18 ปี
ใครคือคนร้าย? คนร้ายอาจเป็นใครก็ได้ เช่นคนแปลกหน้า หรือคนใกล้ชิดกับผู้เสียหาย คนร้ายมีเทคนิคและวิธีการล่อลวงเด็กในรูปแบบต่างๆกัน เมื่อได้ภาพหรือสื่ออนาจารของผู้เสียหายแล้ว คนร้ายอาจจะล่อลวงผู้เสียหายให้ออกมาพบ หรือขู่บังคับให้ผู้เสียหายแสดงหรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้ภาพหรือคลิปวีดีโอเพิ่ม คนร้ายบางคนชอบสะสมสื่อลามกฯ และเก็บไว้ดูเพียงลำพัง แต่คนร้ายบางกลุ่มชอบเผยแพร่หรือนำสื่อลามกฯ ของเด็กผู้เสียหายไปแลกเปลี่ยน ขายต่อเพื่อสร้างรายได้ หรือ เปิดเผยบนโลกออนไลน์
สำหรับวิธีการสวมรอยยอดนิยมของคนร้ายนั้น มีอาทิเช่น หนุ่มหน้าตาดี/สาวสวยรูปร่างดี, แมวมองดารา, เอเจนซีงานถ่ายแบบหรือหาคนรีวิวสินค้า, ครูหรือเพื่อนที่โรงเรียน, ญาติพี่น้อง, ปลอมเป็นผู้เสียหายคนอื่น ๆ, โปรไฟล์จากบัตรประชาชนที่หาได้จากอินเทอร์เน็ต, แกล้งเป็นพลเมืองดี เป็นต้น
ในด้านกลวิธีการล่อลวง หากเป็นผู้หญิงคนร้ายมักจะ ทำทีเป็นแมวมอง ชวนเข้าวงการบันเทิง, ชวนทำงานถ่ายรูปรีวิวสินค้าแลกเงิน หรือแสดงความรัก ขอเป็นแฟน หากเป็นผู้ชายคนร้ายมักจะปลอมเป็นสาวสวย กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ชวนให้วิดีโอคอลช่วยตัวเอง ดึงเข้ากลุ่มลับ หรือหลอกล่อด้วยสิ่งของและไอเทมเกม
6 วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อตกเป็นผู้เสียหาย
ที่มาภาพ: HUG Project
ในคู่มือฯ แนะนำ6 วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อตกเป็นผู้เสียหาย ไว้ดังนี้
1. ห้ามบล็อกหรือลบข้อมูลการติดต่อกับคนร้ายเนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญ
2. เก็บข้อมูล ID, URL, Account name
3. บันทึกบทสนทนากับคนร้ายทั้งหมด ทั้งแบบรูปภาพและบันทึกวิดีโอหน้าจอ (บางครั้ง ภาพใช้เป็นหลักฐานไม่เพียงพอ)
4. หยุดตอบโต้กับคนร้าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. หากน้องอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้รีบแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ
6. รีบส่งเรื่องให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ โดยเฉพาะ ได้แก่ TICAC , บช.สอท , บก.ปคม และ NGOs ที่น้อง ๆ ไว้ใจ
ทั้งนี้ในการแจ้งความน้อง ๆ จะต้องให้ผู้ปกครองรับทราบ ยกเว้นว่าบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ กระทำความผิด หากน้อง ๆ ไม่กล้าบอกผู้ปกครองด้วยตัวเองสามารถประสานให้พี่ ๆในหน่วยงานเป็นคนช่วยคุยกับผู้ปกครองได้
หากเราเป็นคนรอบตัวตัว
ที่มาภาพ: HUG Project
ในคู่มือฯ ชี้ว่าหากเราเป็นคนรอบตัวผู้เสียหาย ควรเตรียมใจช่วยผู้เสียหายรับมือต่อแรงกดดันทั้ง จากตัวผู้เสียหายเองและจากสังคมภายนอก และไม่ควรนำเรื่องราวของผู้เสียหายไปเปิดเผยกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายอาจจะรับความจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้ไนช่วงแรก เราไม่ควรโกหกผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายรู้สึกดีขึ้น และหากเราไม่มีประสบการณ์พอ ควรแนะนำให้ผู้เสียหายพบผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษา
สำหรับหน้าที่ของครอบครัว ควรปฏิบัติดังนี้
สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน
- เมื่อเกิดเรื่องขึ้นคนในครอบครัวส่วนใหญ่ มักจะโทษว่าเป็นความผิดของตนเอง รู้สึกเจ็บปวดและวิตกกังวล กลัวเสียชื่อเสียง กลัวลูกหมดอนาคต ดังนั้นผู้ปกครองควรจัดการกับอารมณ์ของตนเองผ่านทางการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ
- หลีกเลี่ยงการด่าทอ หรือใช้คำแรง ๆ รับฟังและให้กำลังใจ
- ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวให้มากขึ้นเพื่อดึงความสนใจผ้เสียหายจากโลกออนไลน์
พาผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชี่ยวชาญเรื่องการสืบสวนสอบสวนคดีออนไลน์
- อยู่เคียงข้าง และรับฟังผู้เสียหายตลอดกระบวนการยุติธรรม
ทำข้อตกลงการใช้อินเทอร์เน็ต
- ทำใจยอมรับว่าข้อมูลของผู้เสียหายจะถูกนำมาเปิดเผยซ้ำ ๆ บนโลกออนไลน์
- ควรทำข้อตกลงในการใช้อินเทอร์เน็ตกับผู้เสียหาย หรือหากมีความจำเป็นควรงดใช้โทรศัพท์ส่วนตัวไปก่อนระยะหนึ่ง
- สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เสียหาย ว่ามีการทำร้ายตัวเอง อารมณ์แปรปรวนหรือ ซึมเศร้าหรือไม่ ควรแยกผู้เสียหายให้ห่างจากโลกออนไลน์ทันที และพาผู้เสียหายไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อเยียวยาจิตใจ
- เด็กบางคนอาจรู้สึกผ่อนคลายเวลาที่ได้คุยกับเพื่อนหรือคนที่เด็กไว้ใจ ผู้ปกกครองควรให้โอกาสหรือพื้นที่เพื่อให้เด็กได้ระบาย
สำหรับเพื่อน ควรปฏิบัติดังนี้
วิธีช่วยเหลือเพื่อน
- อยู่เคียงข้างเพื่อนที่เป็นผู้เสียหายและแนะนำเพื่อนให้แจ้งผู้ปกครองหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยไว
- แจ้งลิงค์ทที่มีการเผยแพร่ภาพสื่อลามกให้กับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น TICAC หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่น้อง ๆ ไว้ใจ
- ปกป้อง ให้กำลังใจ รับฟังด้วยความเข้าใจ
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ควรแชร์ภาพ/คลิป หรือเล่าเรื่องให้คนอื่นฟังต่อ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และน้อง ๆ ที่เอาภาพ/คลิปของเพื่อนไปส่งต่ออาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
- ไม่ควรสนับสนุนการกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนผู้เสียหายทุกกรณี
สำหรับครูและโรงเรียน ควรปฏิบัติดังนี้
วิธีช่วยเหลือนักเรียน
- รับแจ้งเหตุเบื้องต้น สร้างความไว้ใจกับผู้เสียหายเก็บข้อมูลเป็นความลับ รวมทั้งช่วยประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
- คอยให้กำลังใจและรับฟังด้วยความเข้าใจเฝ้าดูพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น การเข้าสังคมการใช้มือถือ ร่องรอยการทำร้ายตัวเอง
- กำหนดนโยบายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ในโรงเรียน และติดตั้ง ตัวกรองเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กในโรงเรียน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ควรแนะนำให้ผู้เสียหายลบหลักฐาน หรือลบข้อมูลการติดต่อกับผู้กระทำผิด
- ไม่พยายามติดต่อผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง
- ไม่เพิกเฉยต่อการกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนทุกกรณีในโรงเรียนต่อนักเรียนที่เป็นผู้เสียหาย
- ไม่บังคับให้ผู้เสียหายลาออกจากโรงเรียน
การดำเนินคดี
ที่มาภาพ: HUG Project
ในคู่มือฯ ระบุถึงประโยชน์ของการแจ้งความดำเนินคดี ไว้ว่าผู้เสียหายจะมีเจ้าหน้าที่ที่จะอยู่เคียงข้างจนจบกระบวนการยุติธรรม, มีเจ้าหน้าที่สามารถช่วยสื่อสารกับผู้ปกครองแทนได้, เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำวิธีการเก็บหลักฐานหรือช่วยเก็บพยานหลักฐานเบื้องต้น, มีวิธีในการในการตั้งรับและจัดการในกรณีที่มีคลิปหลุด, มีผู้ช่วยประสานงานกับโรงเรียน และลดแรงกดดันจากโรงเรียนในกรณีที่โรงเรียนทราบข่าวว่ามีคลิปหลุด, ช่วยหยุดการถูกข่มขู่จากคนร้าย ผู้เสียหายสามารถช่วยเหลือเด็กคนอื่น ๆ ที่อาจตกเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งผู้เสียหายจะได้เข้าถึงกระบวนการบำบัดเยียวยา และสิทธิต่างๆตามกฎหมาย
สำหรับคดีสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นคดีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ควรประสานงานกับตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตดังนี้
- กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) https://www.facebook.com/ATPDPOLICE
- กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต https://www.facebook.com/CybercopTH
- Thailand Internet Crimes Against Children (TICAC) https://www.facebook.com/TICAC2016
- ศูนย์ประสานงานระหว่างพนักงานอัยการ ผู้เสียหาย และองค์กร ภาคเอกชนในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย สำนักงานคดีค้ามนุษย์สำนักงานอัยการสูงสุด โทร 021423200 , 021423199
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- Application Protect U กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- Application คุ้มครองเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ