TDRI ประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1510 ครั้ง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ "การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่" ชี้รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินนโยบายหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ-ก่อให้เกิดปัญหา ทั้งการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ "การประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่" โดยคณะผู้ประเมินจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้ประเมินนโยบาย 2 ด้าน 10 นโยบาย ส่งต่อรัฐบาลใหม่ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “มั่งคั่ง”

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) ต่อเนื่องจากร้ฐบาลประยุทธ์ 1 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมายังพื้นที่ EEC โดยรวม ในขณะที่หลายโครงการยังไม่มีความคืบหน้านัก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve)

ในส่วนของการพัฒนากำลังคนระดับสูง สำนักงาน EEC ได้สนับสนุนการพัฒนากำลังคนที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยส่วนที่ปรากฏว่ามีความก้าวหน้ามากคือ หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Type B) ซึ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสถานประกอบการได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่เกินร้อยละ 50 และสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนของตนไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2.5 เท่า  ทั้งนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมกว่า 9.6 พันคน

ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ สำนักงาน EEC ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing) คนไทยจำนวน 5 หมื่นคนเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยเพื่อการศึกษาวิจัยและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยจนถึงเดือนมีนาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วกว่า 1 หมื่นตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้านัก ทั้งที่มีความสำคัญสูงในระดับเป็น “เรือธง” เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Flagship project) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งทางบกและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 ต่อมาเลื่อนการเปิดเป็นปี 2569 และล่าสุดเลื่อนการเปิดไปอีกถึงปี 2571 โดยยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างเลย ซึ่งช้ากว่ากำหนดเดิมไปอย่างน้อย 4 ปี และช้ากว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2559 และสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว แม้ช่วงเวลาในการก่อสร้างมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

เช่นเดียวกันกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  ซึ่งเดิมตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปี 2567 ก็เลื่อนออกมาเป็นปี 2570  ในขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ก็ก่อสร้างล่าช้าจนไม่น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดในปี 2568 อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และคาดว่าน่าจะเปิดท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ได้ภายในปี 2570 ตามที่กำหนด

ในด้านการดึงดูดการลงทุน โดยภาพรวมพื้นที่ EEC สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากจนอาจเกิดการกระจุกตัวของการลงทุนในพื้นที่เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งประทศ โดยในช่วงปี 2562-2565 มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC รวม 8.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 45 ของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดของบีโอไอในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังเกิดขึ้นไม่มากนัก โดยในช่วงปี 2562-2565 ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในและนอกพื้นที่ EEC 1.2 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 61ของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดของบีโอไอ) อย่างไรก็ตามการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (Existing S-Curve) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 24) ยานยนต์และชิ้นส่วน (ร้อยละ 22) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 15) การเกษตรและแปรรูปอาหาร (ร้อยละ15) ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังมีสัดส่วนต่ำมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (ร้อยละ 0.3) และอุตสาหกรรมอากาศยาน (ร้อยละ 0.8) เราจึงอาจกล่าวได้ว่า EEC ช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้แก่ประเทศไทย

รัฐบาลใหม่ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยหากจะมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยดำเนินการอย่างโปร่งใส  รัฐบาลยังควรยกระดับการพัฒนากำลังคนทักษะสูง โดยให้เงินอุดหนุนบางส่วนในการฝึกอบรมแก่สถานประกอบการ และกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐในพื้นที่ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันกระจุกตัวในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้ฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนเกิดประสิทธิผล

ที่สำคัญ รัฐบาลควรใช้การพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นต้นแบบในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน และขยายผลไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบในการประกอบธุรกิจของประเทศในวงกว้าง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้มีลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภูมิภาคอื่นๆ  แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้า ทั้งการอนุมัติโครงการและการก่อสร้าง แต่รัฐบาลก็สามารถผลักดันโครงการบางส่วนให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เริ่มเปิดให้บริการทั้งสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ และการอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางได้แก่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญอีกอย่างน้อย 4 โครงการดังต่อไปนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

1. การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งเกิดความล่าช้ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างทางช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเกิดความล่าช้าในการประมูล นอกจากนี้การดำเนินงานให้เกิดตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพง และระบบขนส่งมวลชนที่ลงทุนไปไม่ได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า
3. โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งโครงการรถรางในจังหวัดขอนแก่นที่ภาคธุรกิจและเทศบาลหลายแห่งได้พยายามผลักดันมานาน เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนของงบลงทุน
4. โครงการระบบขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ที่ยังไม่มีการเริ่มต้นก่อสร้างเลย ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เร่งรัดการจัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถเพื่อให้บริการรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และเร่งรัดการออกกฎหมายการขนส่งทางราง เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้

ประการที่สอง ควรเร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดค่าโดยสารร่วมทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลงในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประการที่สาม ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนด้านการเงินให้ท้องถิ่นสามารถให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนได้

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ทั้งนี้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ และยกระดับทักษะของคนไทย ผลงานที่สำคัญของรัฐบาลประกอบไปด้วยการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆ ซึ่งรวมถึง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566

การปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้อันดับ E-government Development Index (EDGI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 73 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 57 ในปี 2563 และอันดับที่ 55 ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก อาทิ

- การบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งออกมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้ถูกเลื่อนออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ทำให้สามารถบังคับใช้อย่างเต็มที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จากเดิมที่ควรจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมาล่าช้า ทำให้การออกกฎหมายลำดับรองล่าช้าและสร้างความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดทำ (ร่าง) พ.ร.ฎ. กำหนดลักษณะกิจการหรือหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ 2562 บางส่วนมาใช้บังคับ ซึ่งหากประกาศใช้ จะกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งในภาครัฐและเอกชน
- การบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องรับคำขอและการติดต่อที่ประชาชนส่งมาทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแจ้งผลการพิจารณา ออกใบอนุญาตหรือออกเอกสารอื่นๆ ให้ประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีผลจำกัดอยู่มาก เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย
- พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 น่าจะไม่มีประสิทธิผลมากนักในการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ก่อปัญหาผูกขาดและเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากมีข้อกำหนดเพียงบางประเด็น เช่น ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งการประกอบธุรกิจให้หน่วยงานรัฐทราบ ตลอดจนแจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ เป็นต้น ในขณะที่การกำกับดูแลอย่างเต็มรูปแบบต้องใช้ร่าง พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน

นอกจากนี้ในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการประชุมและการทำงานออนไลน์ในวงกว้าง ตลอดจนมีการใช้แอปพลิเคชันและบริการต่างๆ โดยเฉพาะ “พร้อมเพย์” ที่ได้พัฒนาขึ้นก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดด  นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดให้มีแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม”  และ “เป๋าตัง” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม บริการรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ประสบปัญหาที่หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งต่างพัฒนาบริการของตนโดยไม่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น จึงไม่มีลักษณะของ One-stop service อย่างแท้จริง แม้จะมีความพยายามพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนทั่วไป และ “Bizportal” สำหรับธุรกิจขึ้นเป็นแกนกลาง แต่ก็ยังไม่สามารถบูรณาการบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายได้อย่างครบถ้วน   นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาจากการมีแอปพลิเคชันของภาครัฐจำนวนมากที่ใช้งานไม่ได้ หรือให้บริการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนของประชาชน  การสำรวจเบื้องต้นพบว่า หน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขึ้นมาถึงประมาณ 300 แอปพลิเคชัน ยิ่งไปกว่านั้นแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐแห่งเดียวก็ยังให้ประชาชนลงทะเบียนซ้ำหลายรอบ ซึ่งทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็น

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ หนึ่ง พัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง  สอง เร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็ว  สาม เร่งพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐให้สามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชน และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด
 
การพัฒนาภาคเกษตร

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ปีที่ 1-3 (พ.ศ. 2562-2565) ระบุว่าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล  เช่นเดียวกับรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร

โครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การช่วยเหลือเกษตรกร  6 โครงการ ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม) และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการทำนา ซึ่งใช้เงินงบประมาณรวม 158,626 ล้านบาท [1] ในปี 2565-2566 (สูงกว่างบประมาณกระทรวงเกษตรฯ 111,185 ล้านบาท) จุดแข็งของโครงการดังกล่าวคือ เกษตรกรที่ลงทะเบียนได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงเข้าบัญชีที่ธกส. ทำให้มีการรั่วไหลน้อย และน่าจะมีทุจริตน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เนื่องจากรัฐไม่ได้เข้าแทรกแซงการค้าสินค้าเกษตร  นอกจากนี้เมื่อราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการประกันรายได้ เช่น ในปี 2563/64 ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนปาล์ม ส่วนปี 2564/65 และ 2565/66 ก็ไม่มีการชดเชยให้เกษตรกรสวนปาล์ม มันสำปะหลังและข้าวโพด

[1] เงินชดเชยจริงน่าจะต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ เพราะราคามันสำปะหลัง ปาล์มและข้าวโพดสูงกว่าราคาประกัน นอกจากนี้ยังมีนโยบายคู่ขนานที่ให้สินเชื่อรวบรวมและเก็บสต๊อกแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ และการส่งออก อีก 29,622 ล้านบาทในปี 2565/66

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีจุดอ่อนคือ ประการแรก มีเกษตรกรบางส่วนจดทะเบียนเกินโควตาที่รัฐบาลกำหนด เช่น โครงการประกันรายได้ชาวนาจะให้เงินชดเชยไม่เกิน 14-30 ไร่ต่อรายขึ้นกับประเภทข้าวที่ปลูก ในขณะที่โครงการสนับสนุนค่าบริการและพัฒนาคุณภาพข้าวจะให้เงินช่วยเหลือไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรบางรายซึ่งมีที่ดินเกิน 20 ไร่จึงแตกครอบครัวเพื่อให้ได้การอุดหนุนเพิ่มขึ้น และมีบางคนนำที่ดินที่ใช้เพื่อการอื่นมาจดทะเบียน ทั้งนี้เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับการอุดหนุนมากเกินไป

ประการที่สอง มีการอุดหนุนชาวนา 2 โครงการที่ซ้ำซ้อนกันคือ โครงการประกันรายได้และโครงการสนับสนุนค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยการกำหนดราคาประกันของโครงการแรกรวมต้นทุนการผลิตและบวกกำไรให้ส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่โครงการที่สองกลับเพิ่มเงินช่วยเหลือต้นทุนอีกไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเกิดจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐต่างหาเสียงด้วยนโยบายที่ต่างกัน เมื่อมาเป็นรัฐบาลร่วมกัน จึงดำเนินการทั้งสองนโยบายตามที่หาเสียงโดยไม่ได้บูรณาการกัน ทำให้เกิดภาระการคลังสูงเกินความจำเป็น

ประการที่สาม เงินอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิดไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ใช้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นภาระของประชาชนในอนาคต โดยรัฐบาลให้ ธกส. จ่ายไปก่อนเพื่อไม่ให้ปรากฏในตัวเลขหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นการผิดวินัยทางการคลัง

ประการสุดท้าย หากเงินอุดหนุนดังกล่าวทำให้เกษตรกรปรับปรุงผลิตภาพการผลิต ทั้งเกษตรกรและประเทศก็จะได้ประโยชน์ แต่ผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอชี้ว่า การอุดหนุนเกษตรกรโดย “ไม่มีเงื่อนไข” ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับตัว ดังนั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยจึงไม่เพิ่มขึ้นและยังต่ำกว่าของกัมพูชา บังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล และอินเดีย

รัฐบาลประยุทธ์ มีนโยบายที่อาจช่วยพัฒนาผลิตภาพของภาคเกษตร 4 นโยบายคือ (ก) การฝึกอบรมพัฒนาการเรียนรู้และสร้างเครือข่าย young smart farmers ไม่ต่ำกว่า 18,215 ราย ซึ่งยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน (ข) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่จำนวน 2,313 แปลง โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายเล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดการประหยัดของขนาด (economies of scale) แต่มีข้อเสียที่เกษตรกรบางกลุ่มไม่ได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ได้รับแจกไปใช้ประโยชน์ (ค) การจัดทำระบบแผนที่เกษตร (agri-map) เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยมียอดการเข้าดูเพียง 767,698 ครั้งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2562  (ง) การพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มและส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวนาเขตลุ่มเจ้าพระยาจำนวนมากหันไปใช้พันธุ์ข้าวที่ลักลอบนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าและเป็นพันธุ์อายุสั้น 90 วัน เหมาะกับการทำนาปรังในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม

รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน เพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จจริง โดยวิเคราะห์จุดอ่อนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินมาและแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น แทนการริเริ่มโครงการใหม่โดยไม่ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา  นอกจากนี้การให้การอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ และกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือของภาครัฐให้เกษตรกรต้องปรับปรุงผลิตภาพในการผลิต ใช้น้ำชลประทานอย่างประหยัด ลดการใช้สารเคมีและการเผาเศษวัสดุการเกษตรในไร่นา

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การประเมินผลนโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เป้าหมายหลักคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวิเคราะห์จากรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล และการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในระหว่างปี 2562-2566

การยกระดับคุณภาพการศึกษาควรเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยควรปรับไปสู่หลักสูตรอิงสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) ทั้งนี้ในช่วงแรก รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้พยายามพัฒนาหลักสูตรในลักษณะดังกล่าว แต่ดำเนินการได้อย่างล่าช้า และภายหลังเมื่อมีการพัฒนากรอบหลักสูตรบางส่วนขึ้นมา ฝ่ายการเมืองกลับห้ามนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

ในด้านทรัพยากรทางการศึกษา รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรบางส่วนแต่ยังไม่รอบด้าน โดยในด้านบุคลากร คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับเกณฑ์อัตรากำลังครูให้อิงกับภาระงานสอนมากขึ้น และปรับเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะที่เอื้อให้รับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียนมากขึ้น แต่ยังไม่ได้พัฒนาครูให้สามารถตอบโจทย์การสอนเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากนัก  ส่วนในด้านงบประมาณ รัฐบาลได้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวให้สอดคล้องกับต้นทุนการจัดการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น ปรับค่าไฟฟ้าและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีหลังจากที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตลอด 13 ปี อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินอุดหนุนยังไม่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่สูงกว่าทั่วไป เช่น นักเรียนพิการเรียนรวม และเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น  นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ซึ่งทำให้การจัดการศึกษามีต้นทุนสูง แต่มีปัญหาด้านคุณภาพ

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังได้สานต่อนโยบาย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งช่วยกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษาและใช้นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณบวกในบางด้าน เช่น ครูเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพมากขึ้น นักเรียนมีความสุขในการเรียนมากขึ้นและนักเรียนกลุ่มเรียนอ่อนเข้าใจในการเรียนมากขึ้น แม้ผลในการยกระดับผลสัมฤทธิ์โดยรวมจะยังไม่ชัดเจนนัก

ในด้านการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงและยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน แต่ยังมีเหตุการณ์ครูกล้อนผมนักเรียนเพราะผมยาว หรือด่าทอนักเรียนด้วยถ้อยคำรุนแรงดังปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ 3,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อลดการออกกลางคันของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว  นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกู้เงินเพื่อเรียนรู้ทักษะในสาขาวิชาที่ขาดแคลน และยกระดับทักษะของตนผ่านหลักสูตรระยะสั้นได้  อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ยืมจะทำให้เกิดปัญหาความยั่งยืนของกองทุนในอนาคต ทำให้รัฐบาลอาจต้องเพิ่มเงินให้แก่กองทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ ประการที่สอง ปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ประการที่สาม ประกาศนโยบายป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษา ตลอดจนวางกลไกป้องกันการฝ่าฝืนเช่น จัดระบบรับเรื่องร้องเรียน  ประการที่สี่ ปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น เช่น ใช้มาตรการสะกิดพฤติกรรม (behavioral nudge) ให้ผู้กู้เงินชำระเงินคืนโดยเร็ว เป็นต้น

2. ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”

การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดให้การต่อต้านทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ด้วยงบประมาณด้านต่อต้านทุจริตรวม 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563–2566 ในขณะที่อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับลดลงจากที่ 96 จาก 180 ประเทศในปี 2560 อยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปไม่สามารถลดการทุจริตอย่างได้ผล

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผลงานแก้คอร์รัปชันเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส และการ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่เพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อันเป็นต้นตอสำคัญของคอร์รัปชัน

ในด้านหนึ่งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ดำเนินการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้โปร่งใส โดยร่วมมือกับองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจขยายการใช้มาตรการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact) เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่มีมูลค่าสูงเพิ่มเติมจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 เพิ่มอีก 66 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณ 4.16 แสนล้านบาท การศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า โครงการก่อสร้างของรัฐมูลค่าสูงโดยทั่วไปมีส่วนต่างของราคากลางและราคาที่ผู้ชนะการประมูลเสนอเพียงร้อยละ 0.5 แต่โครงการก่อสร้างที่มีลักษณะคล้ายกันแต่เข้าร่วมในข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาตรวจสอบร่าง TOR และการเสนอราคามีส่วนต่างดังกล่าวร้อยละ 7.5

นอกจากนี้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังสานต่องานกิโยตินกฎระเบียบของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งจะช่วยลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่างๆ และช่วยลดการคอร์รัปชันได้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อการกิโยตินกฎระเบียบ)

อย่างไรก็ตามรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปตำรวจและกองทัพซึ่งถูกตั้งคำถามด้านความโปร่งใสอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดข่าวอื้อฉาว  ทั้งที่การปฏิรูปตำรวจเป็นวาระสำคัญตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติเพื่อกำจัดการซื้อขายตำแหน่ง และร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้งานสอบสวนและการทำสำนวนคดีเป็นอิสระจากกัน รัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้เวลาเกือบ 2 ปีทบทวนร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้งกว่าจะเสนอต่อรัฐสภาได้ในกลางปี 2565 สุดท้ายแล้วมีเพียงร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติผ่านรัฐสภาได้ในปลายปี 2565 การดำเนินการในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริงเนื่องจากขาดการปฏิรูปกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบได้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลปล่อยให้เกิดกรณีทุจริตที่มีนายตำรวจพัวพันหลายกรณี อาทิ กรณี “ตั๋วช้าง” ส่วยรถบรรทุก และกรณีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์

ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังไม่แสดงถึงความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เช่น กองทัพขอผ่อนผันไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมในโครงการจัดซื้ออาวุธ และเกิดข่าวการยักยอกเบี้ยเลี้ยงกำลังพล และการคุกคามทหารผู้เปิดโปงทุจริต

รัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง มีความเสี่ยงทุจริตสูงหรือต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างเจาะจง อาทิ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้ออาวุธและการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง

ประการสุดท้าย รัฐบาลใหม่ควรเร่งสะสางปัญหาที่ค้างคาจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยเร่งปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา และออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโปร่งใสขึ้น และควรเร่งปฏิรูปการใช้งบประมาณของกองทัพให้สามารถตรวจสอบได้

การคุ้มครองทางสังคม

ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยสามารถลดผลกระทบทางลบต่อประชาชนจำนวนมากได้ ดังเห็นได้จากสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.8 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2562 ไม่มากนัก ทั้งที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้การจ้างงานและรายได้ของประชาชนลดลงอย่างมาก โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งความช่วยเหลือและกระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตามหากประเมินจากการริเริ่มนโยบายการให้ความคุ้มครองทางสังคมในระดับโครงสร้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลประยุทธ 2 ไม่มีความโดดเด่นแต่อย่างใด โดยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเล็กน้อยน่าจะเป็นผลงานของหน่วยราชการที่ดำเนินการตามแผนที่มีอยู่แล้วมากกว่าการผลักดันจากฝ่ายการเมือง เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมโดยเพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ และการเพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เป็นต้น

การขาดนโยบายความคุ้มครองทางสังคมเชิงรุกยังเห็นได้จากความล่าช้าของการขยายความครอบคลุม (coverage) และความเพียงพอ (adequacy) ของสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต รวมทั้งการที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือประการแรก รัฐบาลอาจกังวลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นจากการให้สวัสดิการประชาชน แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้พยายามจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น  ประการที่สอง รัฐบาลเน้นแนวคิดในการให้สวัสดิการแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม เช่นผู้มีรายได้น้อยและคนจน กลุ่มเกษตรกร แรงงานนอกระบบบางกลุ่ม (คล้ายกับการเน้นแนวทางแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า) โดยใช้เครื่องมือหลักคือ “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” รวมทั้งการไม่ขยายโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ซึ่งริเริ่มในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานของการให้สวัสดิการแบบเจาะจงคือ การตกหล่นคนจน (exclusion errors) ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 51% ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 30 ในโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งที่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่านโยบายแบบเจาะจงจะมีปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูงเกือบทั้งหมด

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า โดยสวัสดิการที่สำคัญต่อการดูแลประชาชนและสามารถพัฒนาคนในอนาคตควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะประเทศไม่สามารถแบกรับค่าเสียโอกาส (opportunity cost) จากปัญหาการตกหล่นที่เรื้อรัง เช่นการพัฒนาเด็กปฐมวัย การเพิ่มศักยภาพของแรงงานนอกระบบ และการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนสวัสดิการที่สำคัญน้อยกว่าอาจสามารถช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มได้เพื่อประหยัดงบประมาณ หรือใช้ทั้งสองแนวทางร่วมกันในบางสวัสดิการ ดังข้อเสนอล่าสุดของธนาคารโลกที่ให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาทเฉพาะผู้สูงอายุที่จนที่สุดร้อยละ 20 แล้วปรับลดลงตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น โดยทุกคนยังได้เบี้ยยังชีพนี้อย่างถ้วนหน้าแต่ได้ไม่เท่ากันขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ

ประการสอง รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยอาจเรียนรู้แนวทางของประเทศจีนที่ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่ที่ถูกต้องตามหลักสถิติ ซึ่งแม่นยำกว่าการใช้แนวทางให้คนจนมาแจ้งว่าตัวเองจน โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการจัดสรรงบประมาณกระจายตามพื้นที่ (เช่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอหรือตำบล) แล้วใช้กลไกรัฐบาลท้องถิ่นหรือชุมชนในการกระจายงบประมาณไปสู่คนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการให้คนจนมาจดทะเบียนซึ่งมีความคลาดเคลื่อนมากจากปัญหา “คนจนไม่จด คนจดไม่จน” ทั้งนี้รัฐบาลอาจพัฒนา “แผนที่ความยากจน” ต่อยอดจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยจัดทำมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกระจายงบประมาณดังที่กล่าวข้างต้น

ประการสาม รัฐบาลใหม่ควรหลีกเลี่ยงนโยบายที่อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อระบบความคุ้มครองทางสังคม เช่น นโยบาย “ขอเลือก ขอคืน และขอกู้” ของรัฐบาลประยุทธ 2 ที่ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนบางส่วน ซึ่งผิดหลักการประกันสังคมและจะทำให้ประชาชนสูงอายุไม่มีเงินบำนาญเพียงพอในอนาคต

การแก้ปัญหาแรงงาน

การประเมินนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเน้น 3 ด้านที่สำคัญคือ ค่าจ้างแรงงาน  สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน และนโยบายแรงงานข้ามชาติในกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ ซึ่งผลของการดำเนินนโยบายโดยรวมยังไม่ประจักษ์ชัด ทำให้ทั้งศักยภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานไม่แตกต่างจากก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และสูงสุดเป็น 425 บาทต่อวัน  ในช่วงที่บริหารประเทศ รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้งในปี  2562 และ 2565 ซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเป็น 328-354 บาทในแต่ละพื้นที่ หรือเพิ่มโดยรวมประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปีในช่วงเดียวกันและต่ำกว่าที่หาเสียงไว้มาก ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่สามารถช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ได้รับค่าจ้างที่แท้จริงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด เนื่องจากนายจ้างเอาค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มารวมอยู่ในค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

นอกจากนี้ การดูแลสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานของรัฐบาลก็เป็นไปในเชิงรับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการระบาดของโควิด-19  โดยมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งลดผลกระทบโดยเฉพาะจากการว่างงานในภาคบริการ เช่น การจ่ายสิทธิประโยชน์จากการไม่สามารถทำงานในกรณีต่าง ๆ  โดยจนถึงเดือนเมษายน 2566 สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 18 ล้านครั้งคิดเป็นเงินประมาณ 42,000 ล้านบาท  แม้การดำเนินงานดังกล่าวถือว่าเป็นผลงานของสำนักงานประกันสังคม แต่ก็ควรให้เครดิตแก่รัฐบาลด้วยในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติ  นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว โครงการส่วนใหญ่ของรัฐบาลในด้านสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานก็เน้นการฝึกอบรมทักษะแรงงาน ซึ่งยังไม่เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน และยังไม่เห็นนโยบายในเชิงรุกของรัฐบาลในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย

รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีนโยบายแรงงานข้ามชาติซึ่งสามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่มตามทักษะคือกลุ่มทักษะสูงและกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ   การเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้แรงงานกลุ่มทักษะสูงสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว (LTR) อายุ 10 ปีแก่ 4 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยลดภาระในการรายงานตัวจากทุก 90 วันเหลือเพียงรายงานปีละครั้งและอำนวยความสะดวกต่างๆ   จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 มีแรงงานทักษะสูง (ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) สนใจสมัครขอวีซ่าดังกล่าวมากว่า 1,600 คน  นโยบายดังกล่าวถือเป็นความริเริ่มที่ดีแม้จะยังห่างไกลจากเป้าหมายในการดึงดูดคนต่างชาติทั้ง 4 กลุ่มให้ได้ 1 ล้านคนใน 5 ปี และจำนวนแรงงานต่างชาติทักษะสูงโดยรวมยังอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คือประมาณ 47,000 คน

ส่วนนโยบายแรงงานต่างชาติกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลยังไม่ได้บริหารจัดการให้ดีขึ้น โดยยังไม่มีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน แต่ใช้แนวทางการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างชาติต่อเนื่องไปเมื่อครบกำหนดแต่ละครั้ง   นอกจากนี้ การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในช่วงโควิด-19 ก็เป็นไปอย่างโกลาหล ทำให้ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถนำแรงงานกลุ่มนี้กลับมาสู่ระดับก่อนหน้าได้

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้  ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เพื่อสร้างหลักประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างในระดับที่เหมาะสม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ตลอดจนอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง

ประการที่สอง รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย  ประการที่สาม รัฐบาลใหม่ควรสานต่อนโยบายการดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูงและเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายแรงงานต่างชาติทักษะปานกลาง-ต่ำในระยะยาวให้ชัดเจน โดยมุ่งให้ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ลดลงในอนาคต จากการยกระดับภาคการผลิตของไทยให้ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น

นโยบายด้านสุขภาพ  

นโยบายสุขภาพของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนๆ รวมรัฐบาลประยุทธ์ 1 และมีนโยบายบางส่วนที่เสนอและดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะ เช่น สปสช. ที่เพิ่มบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และให้ผู้ป่วยบางโรคสามารถไปรับยาที่ร้านขายยา และเพิ่มทางเลือกในการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ที่บ้าน นอกจากนี้รัฐบาลยังคงสนับสนุนนโยบาย medical hub ให้โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย ส่วนนโยบายใหม่ที่เป็นของรัฐบาลนี้เองคือนโยบายกัญชา ที่เริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศในปี 2562 และนำไปสู่การเปิดเสรีกัญชาเมื่อกลางปี 2565 จากภาวะสุญญากาศด้านกฎหมาย จนต้องกลับมากำหนดให้ช่อดอกกัญชาให้เป็นสมุนไพรควบคุมเมื่อปลายปี 2565

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวลาส่วนใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้ไปกับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลใช้แนวทางการควบคุมการระบาดแบบรวมศูนย์โดยการตั้ง ศบค. ซึ่งมีฝ่ายความมั่นคงกำหนดทิศทางและมีอำนาจมาก แต่การรับมือส่วนใหญ่เป็นแบบตั้งรับ และไม่ได้เน้นการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะในการจัดหาวัคซีน ซึ่งหลังจากที่เห็นว่าไทยควบคุมการระบาดได้ดีในปีแรก ก็เลือกที่จะไม่จองซื้อวัคซีนจาก COVAX ในปี 2563 โดยมีแนวคิดที่จะจองซื้อวัคซีนที่ไทยรับจ้างผลิตจำนวนหนึ่งที่จะเริ่มออกมากลางปี 2564 แล้วรอซื้อวัคซีนที่คาดว่าราคาจะถูกลงมากหลังจากนั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันช้ามกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่แย่งกันจองซื้อวัคซีนเกินจำนวนที่ต้องใช้เพราะเห็นว่าการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเป็นยุทธศาสตร์หลักที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้ประเทศพ้นจากการระบาดของโควิด-19 และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด

ไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการรับจ้างผลิตวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ออกมาได้ในกลางปี 2564 แต่ก็ยังจองซื้อวัคซีนในปริมาณที่น้อย ทำให้ฉีดวัคซีนได้ช้ากว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ และในจำนวนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการในครึ่งปีหลังของปี 2564 และก่อนหน้านั้นก็ต้องซื้อวัคซีนเชื้อตายจากจีนที่มีประสิทธิภาพต่ำในราคาสูง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบมากดังที่ “รายงานการประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน” ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้

ผลลัพธ์ของการรับมือโควิด-19 ของไทยตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมาไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นมากนัก โดยมีการระบาดต่อเนื่องแล้วรุนแรงขึ้นมากในช่วงกลางปี 2564 จากสายพันธุ์เดลต้า และเกิดการระบาดรวดเร็วมากในช่วงต้นปี 2565 จากสายพันธุ์โอมิครอน หลังจากนั้นไทยก็ลดระดับการรับมือโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่กลางปี 2565 แต่โดยรวมแล้วประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ในภาพรวมได้ไม่ดีนัก ทำให้มีผลกระทบทางอ้อมที่รุนแรง ทั้งนี้เมื่อเทียบยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จากรายงานในช่วง 3 ปี (2563-2565) ที่ประมาณ 34,000 คน กับยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2563-2565 สูงถึง 2.3 แสนคน (หรือเกือบ 7 เท่าของยอดรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19)[2]

[2] องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกตัวเลขการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาว่า “การตายส่วนเกิน (excess death)” และแนะนำให้ใช้เป็นตัวชี้วัดผลกระทบรวมจากโควิด-19 ที่รวมผลกระทบทางอ้อมและตัวเลขที่รายงานไม่ครบเอาไว้ด้วย

ในช่วงท้ายรัฐบาลของรัฐบาลประยุทธ 2 มีข่าวแพทย์ลาออกจากภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเรื้อรังในระบบสุขภาพของรัฐ ความขาดแคลนนี้ยังถูกซ้ำเติมจากนโยบายส่งเสริมการรับผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามารักษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลประยุทธ 2 ดำเนินต่อเนื่องจากหลายรัฐบาลก่อนหน้า ในที่ขณะที่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐให้เพียงพอกับความต้องการได้

รัฐบาลใหม่ควรทบทวนนโยบายกัญชาโดยสร้างกลไกควบคุมที่รัดกุมและโปร่งใส เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้ขับขี่ยานพาหนะ ไม่ให้ได้รับกัญชาจากอาหารโดยไม่รู้ตัว  นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ควรลดการส่งเสริมการนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศให้มารักษาพยาบาลในประเทศไทย หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพในภาครัฐให้ลุล่วงไปได้

ที่สำคัญ รัฐบาลใหม่ควรยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว ให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และอุบัติภัยต่างๆ โดยพัฒนาหน่วยงานหลักที่ติดตามปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสั่งสมความรู้ทั้งด้านวิชาการและนโยบาย เพื่อให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น หน่วยงานดังกล่าวจะสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นฝ่าย “เสนาธิการ” ให้แก่ฝ่ายนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตั้งโครงสร้างชั่วคราวที่ขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาในเชิงรุกอย่างที่ผ่านมา

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

การประเมินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะพิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ให้คำมั่นของประเทศไทยในที่ประชุม COP26 เมื่อปี ค.ศ. 2021 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) จากการลดการปล่อยลงร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับแนวโน้มการปล่อยตามปกติภายในปี ค.ศ. 2030

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) ซึ่งวางเส้นทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้มาตรการต่าง ๆ โดยในทางปฏิบัติ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจผ่านกลไก T-VER  นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี เป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลยังขาดความชัดเจนมาก ทั้งในด้านการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาเหมาะสม

ในส่วนของการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเน้นการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการปรับตัวในระดับพื้นที่นำร่องเท่านั้น โดยยังขาดการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แรงงานที่ทำงานกลางแจ้ง และกลุ่มที่ผลกระทบจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายดังต่อไปนี้ ประการแรก ควรเร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ประการที่สอง ควรเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer ประการที่สาม ควรสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาที่เหมาะสม ประการที่สี่ ควรปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการปรับตัวของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประการที่ห้า ควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของปัญหา PM2.5 รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้การจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และได้จัดทําแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2562  นอกจากนี้รัฐบาลยังตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการไฟป่าและการเผาในที่โล่งเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าการเผาฟางและตอซังข้าวเป็นต้นเหตุอันดับสำคัญ  รองลงมาคือข้าวโพด ส่วนอ้อยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่เข้าใจ

คณะทำงานดังกล่าวได้เสนอแนะนโยบายที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว  โดยรวมแล้ว รัฐบาลยังเน้นจัดการปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละปี โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพมหานคร รัฐบาลมีมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ เช่น ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน กวดขันและตรวจจับควันดำ ล้างถนนและฉีดละอองน้ำบนยอดตึกซึ่งไม่ใช่มาตรการที่ได้ผล  ส่วนในพื้นที่ชนบท รัฐบาลมีมาตรการห้ามเผาป่าและเศษวัสดุทางการเกษตรในบางช่วง

จุดอ่อนสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้คือรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง ทั้งการจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารประจำทางที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐานยูโร 3 และการให้เกษตรกรเลิกเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวหรือจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร  นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ก่อมลพิษข้ามพรมแดนในลักษณะของกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ของสิงคโปร์

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยดำเนินการดังนี้ ประการแรก ควรเร่งจัดการกับรถยนต์เก่าโดยเฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะรถโดยสารของ ขสมก. โดยสนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถที่มีมาตรฐานการระบายไอเสียระดับยูโร 5 หรือยูโร 6 ขึ้นไป โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี

ประการที่สอง ควรสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา รวมถึงสร้างอาชีพทางเลือกแก่ผู้ที่เผาป่าเพื่อทำการเกษตรหรือเก็บของป่า

ประการที่สาม ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ลดการก่อมลพิษ และควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผลิตฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

บทส่งท้าย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ

ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความเข้าใจผิด การกำหนดนโยบายโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น การใช้กลไกของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ ตลอดจนการที่นโยบายของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่


คณะผู้ประเมิน
คณะผู้ประเมินประกอบไปด้วยบุคคลซึ่งเรียงรายชื่อตามตัวอักษรดังต่อไปนี้ คือ กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์, กิรติพงศ์ แนวมาลี, ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์, ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, ธิปไตร แสละวงศ์, นิพนธ์ พัวพงศกร, พงศ์ทัศ วนิชานันท์, วิโรจน์ ณ ระนอง, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สมชัย จิตสุชน, สุเมธ องกิตติกุล และเสาวรัจ รัตนคำฟู

หมายเหตุ
นักวิจัยในคณะผู้ประเมินบางคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ หรือให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายบางอย่าง ซึ่งภายหลังนำไปสู่การนำไปปฏิบัติของรัฐบาล   นโยบายดังกล่าวรวมถึงนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การทำ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) การจัดทำการศึกษาเพื่อยกร่าง พ.ร.บ. กฎหมายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และการร่วมยกร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: