‘ทิ้งพม่าผ่านไทย’ แกะรอยเส้นทางขนขยะพลาสติกต่างประเทศ

เรื่อง: เทวฤทธิ์ มณีฉาย, ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล, กรรณิกา เพชรแก้ว (เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท) 12 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 4272 ครั้ง

เครือข่ายผู้สื่อข่าวนานาชาติไลต์เฮ้าส์รีพอร์ต (Lighthouse Reports) และประชาไท ตรวจสอบข้อมูลกรณีขยะพลาสติกจากยุโรปและอเมริกาเหนือถูกทิ้งในเมียนมา พบว่าไทยถูกใช้เป็น ‘ทางผ่าน’ ชวนแกะรอยเส้นทางและบทบาทที่ถูกซ่อนไว้ | ภาพคนเก็บขยะกำลังคัดแยกขยะ ในอำเภอชเวปยีทา ถ่ายโดย ราเชล มูน

และแม้ว่ารัฐบาลไทยประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ในปี 2568 แต่นั่นไม่รวมถึง ‘การผ่านแดน’  จึงหมายถึงไทยจะยังเป็นเส้นทางส่งต่อขยะพลาสติกไปยังประเทศอื่นต่อไป

เมื่อบ้านกลายเป็นจุดทิ้งขยะ

"จู่ๆ สามเดือนก่อนเขาก็พากันเอาขยะมาทิ้งหน้าบ้านฉัน ตรงนั้นมันเคยเป็นที่ว่าง เคยเป็นสวนสาธารณะของเทศบาล"

เอเอถั่น* แม่บ้านวัย 60 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่อาศัยใกล้จุดทิ้งขยะในอำเภอชเวปยีทา ทางตอนเหนือของภาคย่างกุ้ง เปิดเผยกับสื่อฟรอนเทียร์

ขยะเกลื่อนตามทางเดินหน้าบ้านของผู้พักอาศัย ในล็อค 27 ใกล้จุดทิ้งขยะ | ภาพ: ไม โทมัส, กันยายน 2566

ชเวปยีทา (Shwe Pyi Thar) เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานกระจายอยู่ทั่วไปเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด 

“ชเวปยีทา” แปลว่า สีทองและความรื่นรมย์ แต่สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านกลับไม่เป็นเช่นนั้น ขยะจำนวนมากจากโรงงานถูกนำมาทิ้งในชุมชน ย่านพักอาศัยแทบทั้งหมดแวดล้อมไปด้วยกองขยะพลาสติก บ้างสูงเทียบเท่าบ้าน 1 ชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชาวพุทธ ภูเขาขยะตระหง่านเงื้อมวัดที่เป็นศูนย์รวมใจของชุมชน

ขยะจำนวนมากถูกนำมาทิ้งอยู่หน้าวัด | ภาพ: แหล่งข่าว

ที่หมู่บ้านอะโลต่อพเย (Alo Taw Pyae) คนที่นั่นต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกัน อากาศร้อนจัด เสี่ยงว่าสักวันขยะจะติดไฟลุกไหม้ ชาวบ้านต้องยกใต้ถุนบ้านให้สูง เนื่องจากขยะปิดกั้นทางไหลของน้ำ น้ำเลยท่วมอยู่เรื่อยๆ 

"ตรงที่มีขยะกองใหญ่นั่นเคยเป็นถนน อีกกองนั่นเคยเป็นสนามสาธารณะ มันไม่ใช่จุดทิ้งขยะเลย"

เอมิ* แม่บ้านซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2561 บอกว่าถึงกระท่อมของเธอไม่ได้อยู่ใกล้จุดทิ้งขยะ แต่ก็ตั้งอยู่บนดงน้ำครำ

เด็กๆ เดินลุยน้ำที่เต็มไปด้วยขยะ | ภาพ: แหล่งข่าว

แม้จะโกรธแต่พวกเขาก็กลัวเดินกว่าจะพูดอะไรได้ รัฐประหารพม่าในปี 2564 ทำลายกลไกธรรมมาภิบาลตามหลักประชาธิปไตย เผด็จการพม่าจับกุมทุกคนที่พวกเขาเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เมียนมาปกคลุมไปด้วยความหวาดกลัว

นอกจากขยะในท้องถิ่นแล้ว สื่อฟรอนเทียร์ยังพบขยะจากต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และแคนาดา ภายใต้เครื่องหมายการค้า  ลิเดิล (Lidl),  ยูนิโก เพนเน ริกาเต (Unico Penne Rigate), โฟร์โมสต์ (Foremost), คาซเตลัน (Kasztelan), สปอมเลก (Spomlek) และ ออยคอส (Oikos)

สื่อฟรอนเทียร์ ระบุด้วยว่า ขยะจากต่างประเทศที่พบเป็นจำนวนมากที่สุดในชเวปยีทา เป็นขยะบรรจุภัณฑ์จาก “ห้างลิเดิล สาขาในสหราชอาณาจักร” ทั้งนี้ ลิเดิลเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติเยอรมันที่มีสาขากระจายทั่วยุโรป และประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

ลิเดิล สหราชอาณาจักร ชี้แจงว่า ขยะพลาสติกทั้งหมดของบริษัทได้รับการจัดการในประเทศ และบริษัทเองก็มีนโยบายที่เข้มงวดในการไม่ส่งขยะไปยังประเทศใดๆ ในเอเชีย

นอกจากยังนี้ ในชเวเปยีทาก็ยังพบเทปกาวติดพัสดุจาก ลิเดิล โปแลนด์ ขณะที่ตัวแทนฝ่ายสื่อสารองค์กรของลิเดิล โปแลนด์ ชี้แจงว่า บริษัทฯ มอบหมายให้การจัดการขยะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทเอาท์ซอร์ซ มีกำหนดในสัญญาว่าขยะบรรจุภัณฑ์จะต้องรีไซเคิลในยุโรป

ส่วน คาร์ลสเบิร์ก โพลสกา (Carlsberg Polska) ที่เป็นผู้ผลิตเบียร์คาซเตลัน ชี้แจงว่าไม่มีการส่งออกขยะไปนอกโปแลนด์ หรือการส่งสินค้าไปยังเมียนมา

ผู้สื่อข่าวติดต่อขอความคิดเห็นจากบริษัท ยูนิโก เพนเน ริกาเต และ โฟร์โมสต์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ 

ส่วน ดานอน นอร์ท อเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตโยเกิร์ตออยคอส ก็ไม่ตอบกลับเช่นกัน ทั้งนี้ ดานอนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำของโลก ที่กำลังเผชิญกับการฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหามลพิษในฝรั่งเศส

ขยะพลาสติกจากต่างประเทศที่พบในล็อคที่ 27 | ภาพ: แหล่งข่าว

ช่องโหว่ของ Basel Convention

ปี 2565 เครือข่ายปฏิบัติการบาเซล (Basel Action Network) ที่ติดตามการละเมิดอนุสัญญาบาเซลฯ โดยเฉพาะการส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศนอกกลุ่ม OECD ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ติดตามตู้สินค้าที่ส่งมายังไทยและต้องสงสัยว่าบรรจุขยะพลาสติก หรือพลาสติกอันตราย ซึ่งอาจเป็นการละเมิดอนุสัญญานี้

หลังแจ้งกรมควบคุมมลพิษของไทยทราบ และต่อมาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย 2 ตู้ พบว่าตู้หนึ่งบรรจุเศษพลาสติกปกติไม่ใช่ขยะ แต่อีกตู้ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นตู้สินค้าที่ระบุว่าเป็นสินค้าผ่านแดนไปประเทศเมียนมา

“เป็นจุดที่เราเริ่มตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ว่าไทยจะเป็นจุดเคลื่อนย้าย (transit) ขยะพลาสติกไปประเทศเพื่อนบ้าน” นักวิจัยที่ร่วมในการตรวจสอบดังกล่าวระบุ

การนำผ่านเศษพลาสติกชนิดที่ระบุว่าใช้เพื่อการรีไซเคิล ภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ สามารถดำเนินการได้ตาม พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 หมวด 4 ส่วนที่ 1 การผ่านแดนและการถ่ายลำไม่ต้องขอความยินยอมล่วงหน้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม การผ่านแดนส่วนใหญ่จึงระบุว่าเป็นการนำผ่านเศษพลาสติกเพื่อการรีไซเคิล

ขณะที่อำนาจในการตรวจสอบสินค้าผ่านแดนนั้น ประกาศกรมศุลกากร ระบุว่าพนักงานศุลกากรสามารถตรวจค้นของผ่านแดน โดยไม่ต้องมีหมายค้นได้ใน 4 กรณี คือ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ของนั้นมีไว้เพื่อใช้ในการก่อการร้ายหรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้าย ,ของนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง สันติภาพ และความปลอดภัยระหว่างประเทศ ,มีการแสดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ และเป็นของผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการผ่านแดนหรือการถ่ายลำ

เจ้าหน้าที่ที่จะตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัยในกรณีนี้ จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษ จะเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของไทยในการดำเนินการตามพันธะสัญญาบาเซลฯ (Basel Convention Competent authority -CA) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม

ขณะที่ สมพงษ์* เจ้าหน้าที่ศุลกากรรายหนึ่ง บอกว่าในทางปฏิบัติ ของผ่านแดนที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ศุลกากรจะตรวจแค่เอกสารที่ประทับแน่นที่ประตูตู้ว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ เพราะต้องการยืนยันแค่ว่าของออกจริง และไม่มีใครมาเปลี่ยนของ ส่วนการตรวจของนั้น เป็นหน้าที่ของศุลกากรประเทศที่มีการนำเข้า หรือประเทศปลายทาง

อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศมุ่งหมายจะลดการเคลื่อนย้ายของเสีย (hazardous waste) จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง เพื่อป้องกันการถ่ายโอนของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศด้อยพัฒนา  

อย่างไรก็พบว่าอนุสัญญาดังกล่าวยังไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามที่จะยัดเยียดขยะให้กับประเทศด้อยพัฒนาได้ หลายประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานี้ มีรายงานในสื่อตะวันตกว่ามีการส่งออกขยะพลาสติกจากอเมริกากระจายไปยังประเทศยากจนและกำลังพัฒนา

ในกรณีของประเทศไทยที่ลงนามรับรองอนุสัญญาบาเซล การขนย้ายขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนและอาจเป็นอันตรายผ่านไทย ประเทศต้นทางจะต้องขอความยินยอมล่วงหน้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามมีช่องว่างในทางปฏิบัติที่ระบุว่าหากกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ตอบกลับภายใน 60 วัน ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมโดยนิ่งเฉย (Tacit Consent)  ประเทศดังกล่าวสามารถนำผ่านขยะดังกล่าวผ่านไทยไปยังประเทศปลายทางได้

แหล่งข่าวจากคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ดำเนินการภายใต้อนุสัญญาบาเซล ระบุว่าเบื้องต้นอนุสัญญาเน้นควบคุมเพียงของเสียอันตราย เมื่อเร็วๆ นี้ได้เพิ่มขยะพลาสติกเข้ามา โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละประเทศว่าของประเภทใดจึงจะจัดเป็นขยะพลาสติก ไม่มีการกำหนดร่วมโดยอนุสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ัมีการแจ้งนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกที่ถูกสงสัยว่าอาจเป็นขยะพลาสติกไม่มากนัก “อยู่ในหลักสิบไม่ถึงหลักร้อยในแต่ละปี” และประเทศไทยตรวจสอบทุกครั้งที่มีการแจ้งจากประเทศต้นทาง  

“เช่นครั้งหนึ่งมีตู้สินค้าต้องสงสัยว่าจะเป็นขยะพลาสติกจากอิตาลี เราไปตรวจสอบ พบว่าเป็นชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมรีไซเคิล ไม่ใช่ขยะ และจนถึงปัจจุบันเราไม่เคยตรวจพบขยะพลาสติก แต่ยินดีตรวจสอบทุกครั้งที่มีการแจ้งมา”  

แหล่งข่าวแจ้งว่าเมื่อไม่มีข้อกำหนดร่วมภายใต้อนุสัญญาบาเซล ว่าของประเภทใดจัดเป็นขยะพลาสติก จึงทำให้การตีความของแต่ละประเทศต่างกัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างร่างข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าขยะพลาสติกมีลักษณะและองค์ประกอบเช่นไร พลาสติกประเภทไหนลักษณะใดจึงจะจัดเป็นขยะพลาสติก คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ จากนั้นจึงจะนำข้อกำหนดมาบังคับใช้กับการขนส่งมายังประเทศไทยต่อไป

ขยะพลาสติกที่ สื่อฟรอนเทียร์ พบเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ตามข้อมูลของ UN Comtrade  ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 ขยะพลาสติกซึ่งอยู่ใต้พิกัดศุลกากร HS 3915 จากต่างประเทศมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ถูกส่งไปยังเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่ไปจากประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นอาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา โปแลนด์ สเปน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ก็มีแต่ถ้าเทียบกับไทยก็เป็นปริมาณที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

จากสถิติการส่งออกของไทยตามพิกัดศุลกากร 3915 (KG) เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก โดยอ้างข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร พบว่าในรอบ 2561-2565 พม่ายังเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าประเภทนี้ติด 1 ใน 5 โดยเฉพาะปี 2561 เป็นประเทศอันดับ 1 ที่ได้ส่งออกหรือกว่า 61 ล้านกิโลกรัม หรือปีที่แล้วก็กว่า 6 ล้านกิโลกรัม ซึ่งข้อมูลจาก The World Integrated Trade Solution (WITS) ก็ยืนยันว่าไทยเองก็เป็นประเทศที่พม่านำเข้าสินค้าประเภทนี้มากที่สุดเช่นกัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ‘ตารางสถิติประกอบ’ ท้ายรายงานนี้ )

ไทยถูกใช้เป็นทางผ่านได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติกตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาราคาเศษพลาสติกในประเทศตกต่ำ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมรายงานคำพูดของ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Earth) ซึ่งติดตามปัญหาขยะพิษมากว่า 10 ปี กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของภาคประชาชน แต่ก็ยังเรื่องที่ยังต้องจับตา อาทิ การลักลอบนำเข้า สำแดงเท็จ หรือแจ้งพิกัดอื่นที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งภาคประชาชนจะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

ย้อนไปเมื่อปี 2561 รัฐบาลจีนออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศ หลังจากพบว่าขยะกำลังล้นประเทศ ทำให้ขยะจำนวนมหาศาลได้ย้ายจุดหมายมายังหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2561 และมีความพยายามแก้ปัญหามาตลอด แต่ยังไม่สามารถห้ามนำเข้า 100%

 

ในช่วงปี 2566-2567 ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงผ่อนปรน ให้มีการจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับ 14 โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว ใน “พื้นที่เขตปลอดอากร” เพื่อการผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น และเมื่อถึงสิ้นปี 2567 ก็จะไม่มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากนอกประเทศอีกต่อไป

จากการสืบสวนพบว่า หากมีผู้ต้องการส่งออกขยะพลาสติกจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา สามารถดำเนินการได้  2 วิธี

  1. ผ่าน “บางบริษัท” ที่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบในพื้นที่ปลอดอากรเพื่อผลิตและส่งออก และมีสิทธิ์เก็บวัตถุดิบนี้ไว้ในครอบครองเป็นเวลา 2 ปี
  2. ลำเลียงผ่านไทยในฐานะของ “สินค้าผ่านแดน” ซึ่งในทางปฏิบัติจะไม่มีการเปิดคอนเทนเนอร์สินค้าจนกว่าจะถึงประเทศปลายทาง

รถบรรทุกต่อแถวยาวบนถนนในเมืองเมียวดี | ภาพ วรรณา แต้มทอง, กันยายน 2566

ช่องโหว่จากบางบริษัท

การนำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต จะต้องเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในรูปผลิตภัณฑ์สำเร็จเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับพบช่องโหว่ 

“บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องผลิตก็ได้ เราแค่คัดแยกแล้วก็ส่งออก”

พอล* กรรมการของหนึ่งในบริษัทที่มีใบอนุญาตฯ ให้สัมภาษณ์ว่ามีการนำส่งขยะพลาสติกที่ไม่ได้ผลิตใหม่ ไปยังเมียนมาทางด่านแม่สอด

ขยะต่างประเทศถูกบรรทุกใส่คอนเทนเนอร์จะมาถึงไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นโหลดลงรถพ่วงเพื่อลำเลียงผ่านไทยไปยังเมียนมา 

พอล บอกว่าบริษัทที่ตนทำงานส่งออกขยะพลาสติกทั้งแบบที่รีไซเคิลแล้วและแบบที่แค่คัดแยกไปยังหลายประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง ในกรณีของเมียนมานำส่งไม่ได้เยอะมากเทียบเท่าประเทศอื่น เดือนละประมาณ 10-12 คอนเทนเนอร์ จากสมัยก่อนได้ยอดถึงประมาณ 30-40 คอนเทนเนอร์

ส่วนสาเหตุที่นำส่งได้น้อยลง เขาไม่ได้ระบุแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบชายแดน

ขณะที่ พลอยใจ* พนักงานบริษัทโลจิติกส์แห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด บอกว่า บริษัทตนจัดการเอกสารผ่านแดนให้สินค้าทุกชนิดรวมทั้งเศษพลาสติกด้วย กระทั่งขยะพลาสติกสกปรกก็นำออกจากไทยไปฝั่งเมียนมาได้ “อยู่ที่ว่าคุณเคลียร์กับพม่าได้ไหม” ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของลูกค้า บริษัทตนมีหน้าที่ทำเอกสารให้ทั้งหมด คิดค่าบริการเดินเอกสารสำหรับนำสินค้าข้ามสะพานจากไทยไปยังเมียนมา ราคา  5,000 บาทต่อหนึ่งรถบรรทุกห่วงซึ่งปกติบรรทุก 2 คอนเทนเนอร์

ทอง* พนักงานบริษัทโลจิสติกส์รายหนึ่ง ใน จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่าปกติบริษัทขนส่งเศษพลาสติกผ่านแดนและข้ามพรมแดนไปยังเมียนมา  ลาว  กัมพูชา อยู่แล้ว ในกรณีที่ลูกค้าต้องการนำผ่านแดนไปยังเมียนมา ใช้แค่ใบอนุญาตผ่านเมียนมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ลูกค้าจะต้องส่งพิกัดสินค้าอย่างละเอียดให้บริษัททางอีเมลเท่านั้น เนื่องจาก “มีหลายเจ้าที่บอกพิกัดเรามา แต่บางทีมาทำเลี่ยงพิกัด”

โรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในเมืองเมียวดี | ภาพ วรรณา แต้มทอง, กันยายน 2566

ขยะพลาสติกที่พบในโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในเมืองเมียวดี | ภาพ วรรณา แต้มทอง, กันยายน 2566

จากภาพด้านบน ประชาไทสอบถามผู้เชี่ยวชาญ 3 ราย ถึงความเป็นไปได้ที่ขยะพลาสติกที่ถูกบีบอัดจะนำเข้ามาทางตู้คอนเทนเนอร์

ทั้งสามระบุว่า มีความเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นขยะจากต่างประเทศ เพราะขยะในประเทศก็ถูกบีบอัดได้เช่นกันด้วยเหตุผลเรื่องความประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง หลักฐานที่จะชี้ว่าเป็นขยะนำเข้าคือฉลากสินค้า

ช่องโหว่จากของผ่านแดน

ประชาไท พูดคุยกับคนในแวดวงโลจิสติกส์และเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ไม่ประสงค์ออกนาม พบความเป็นไปได้ว่าขยะพลาสติกต่างประเทศที่พบในเมียนมา ถูกนำผ่านแดนประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์จากการที่ศุลกากรไม่ได้ตรวจสอบ และการคอร์รัปชันระหว่างทาง

ชัยวัฒน์* คนขับรถบรรทุกข้ามชายแดนมากว่า 10 ปี ยืนยันว่ามีการนำเข้าและส่งออกขยะระหว่างกันทั้งไทยและเมียนมา เขาเคยเห็นพลาสติกอัดก้อนและกระดาษอัดก้อน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ บ้างมาทางเรือไม่ก็ทางรถบรรทุก

การส่งสินค้าออกไปทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ เส้นทางหลักคือสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 และเส้นทางรองคือข้ามโป๊ะ โดยจะขึ้นอยู่กับลูกค้าฝั่งเมียนมาว่าจะรับของทางไหน ถ้าเป็นตู้คอนเทนเนอร์มักจะมีผู้รับเป็นชาวจีน ตัวเขาจึงขับรถข้ามสะพานเป็นส่วนใหญ่ 

ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ถูกลำเลียงผ่านเส้นทางบกของประเทศไทยในฐานะ “ของผ่านแดน” ที่จะไม่มีการเปิดจนกว่าจะถึงปลายทาง

หนึ่งในไม่กี่คนที่มีโอกาสเห็นของภายในตู้คือคนขับรถที่ข้ามไปลงของฝั่งเมียนมา ตัวเขาเคยขนตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังนิคมอุตสาหกรรมจีนฝั่งเมียนมา จากต้นทางสำแดงว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่เมื่อถึงปลายทางแล้วเปิดตู้ ปรากฏว่าเป็นไม้อัด 4-5 แผ่น ที่เหลือเป็นเหล้าเบียร์ น้ำผลไม้บรรจุขวดแก้วมาจากประเทศจีนทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น มีตู้คอนเทนเนอร์บางประเภทที่จะไม่เปิดเลยแม้กระทั่งช่วงที่ลงของ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการยกตู้ไปเลย จากนั้นก็นำตู้เปล่ามาสลับให้คนขับนำกลับมา

“ที่นี่เงินแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง”

ชัยวัฒน์* ระบุ พร้อมเล่าถึง “ตู้เคลียร์” คำศัพท์ที่รู้กันในวงการโลจิสติกส์ หมายถึง ตู้ที่จะรอดจากการตรวจสอบของศุลกากร เมื่อถึงด่านจะไม่มีทั้งการถอยตรวจและการเอ็กซเรย์ก่อนข้ามฝั่ง หรือเลี่ยงการข้ามสะพานมาข้ามโป๊ะแทน ซึ่งเมื่อเขาเห็นมาตรการการตรวจสอบที่หละหลวมก็พอเดาได้ว่าเป็นตู้ที่ “เคลียร์กันมาแล้ว”

“พอไปถึงปุ๊บ บางงานที่ยกตู้ลง ก็เอาตู้เปล่ากลับมาคืนแหลม (ฉบัง) คนรถก็จะไม่เห็นของข้างใน” 

อีกเสียงยืนยันจาก ไก่* คนขับรถพ่วงข้ามชายแดนไทย-เมียนมา ระบุด้วยว่าเมื่อข้ามฝั่งไปเมียนมาต้องพกเงินสำรองไว้จ่ายส่วย หลังรัฐประหารพม่าปี 2564 ทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟเก็บส่วยจากรถบรรทุกมากขึ้นอย่างมีนัยยะ จากเดิมแต่ละด่านเคยเก็บ 10-20 บาทก็พุ่งขึ้นมาเป็น 100 บาท

“ที่เขาบอกว่ามีไม่ถึงพันไม่ต้องมา มันคือเรื่องจริง ถ้ามีเงินจวนตัวนี่ลำบาก เพราะให้ 10 มันจะเอา 100 ถ้าเราไม่ให้ก็จะมีปัญหา”

ภาพแคปจากคลิปติ๊กต็อกของคนขับรถบรรทุกข้ามแดนรายหนึ่ง เจ้าของคลิปยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ในภาพคือฝั่งเมียนมา ทหารบีจีเอฟรีดไถเงินคนขับคันหน้า

เผยเทคนิครอดการตรวจสอบ

“ถ้าเอกสารระบุไว้ชัดเจนว่ามันเป็นของต้องห้าม ของผิดกฎหมาย ยังไงก็ไม่สามารถผ่านด่านมาได้ มันต้องเป็นการปลอมแปลงเอกสารมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว”

ศิริชัย* พนักงานแผนกโลจิสติกส์ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ตามปกติเอกสารนำเข้าจะมีทั้งหมด 3 อย่างที่มีข้อมูลล้อกัน คือ

  1. Invoice : ระบุสินค้า ราคา จำนวน
  2. Tracking list : ระบุน้ำหนัก ความกว้าง ยาว สูง และลักษณะบรรจุภัณฑ์ 
  3. B/L (ใบตราส่ง หรือใบ BL :Bill of Lading) 

แต่เอกสารหลักที่กรมศุลกากรจะตรวจเวลานำเข้า-ส่งออก คือ “ใบขนสินค้า” ทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำมาชี้แจงต่อศุลกากร โดยเนื้อหาก็จะอิงมาจากเอกสาร 3 อย่างข้างต้น

วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสำแดงเท็จคือ การปลอมแปลงเอกสาร 3 อย่างมาตั้งแต่ต้นทาง โดยใช้วิธีเปลี่ยนคำอธิบายสินค้าเพื่อให้ไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ

ในเอกสาร shipping document จะมี 2 ช่อง ที่บอกว่าใครคือ shipper (ผู้ส่งออก) หรือ consignee (ผู้นำเข้า) โดยจะระบุทั้งชื่อและที่อยู่บริษัท ส่วนบริษัทขนส่งก็อาจไม่รู้เห็น เพราะว่าเป็นแค่ตัวกลางที่ถูกจ้างมาขนของ 

“ฉะนั้นถ้าเกิดการสำแดงเท็จในกรณีส่งออก ตัว shipper (ผู้ส่งออก) ก็เป็นคนปลอมแปลงเอกสารมาตั้งแต่ต้นเลย ของเป็น A แต่ปลอมแปลงเป็น B เพื่อเลี่ยงศุลกากร แล้วก็ทำเอกสารล้อไป ศุลกากรก็ตรวจสอบตามเอกสารก็ไม่รู้แล้ว”

ในกรณีของขยะพลาสติกต่างประเทศที่ถูกขนไปเมียนมาโดยมีไทยเป็นทางผ่าน ศิริชัยยืนยันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้วิธีการสำแดงเท็จเพื่อนำผ่านแดน โดยใช้ประโยชน์จากการที่ศุลกากรไทยไม่ตรวจสอบ และอาจเกี่ยวกับเรื่องเส้นสาย

ขณะที่ วีรยุทธ์* พนักงานโลจิสติกส์จากอีกบริษัทหนึ่ง ยืนยันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตู้คอนเทนเนอร์เศษพลาสติก 3915 ที่ค้างอยู่ตามศุลกากรท่าเรือใหญ่ๆ จะเป็น “ตู้เคลียร์” ที่ต้นทางกับปลายทางเคลียร์กันไม่ได้

การสำแดงเท็จเป็นเรื่องที่พบบ่อยสำหรับการนำเข้า ทั้งสำแดงเท็จเรื่องมูลค่าสินค้าเพื่อจ่ายภาษีถูกลง หรือ ตั้งใจแจ้งเป็นสินค้าอย่างอื่นเพื่อเลี่ยงภาษี

เศษขยะในฐานะของตกค้าง ของกลางและของผ่านแดนที่ถูกประมูลตามด่านศุลกากร พร้อมเงื่อนไขต้องนำออกนอกราชอาณาจักร

สำหรับข้อมูลเศษพลาสติก (Plastic Scrap) ที่ถูกขายทอดตลาดที่มีทั้ง บัญชีของตกค้าง ของกลางและของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดินตามด่านศุลกากรต่างๆ ในไทย โดยเงื่อนไขสำคัญของการประมูลคือต้องนำออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่ประสานงานขายทอดตลาดของศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อธิบายว่าเนื่องจากสินค้าพวกนี้ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าประเทศ รวมทั้งไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีเงื่อนไขในการประมูลเพื่อส่งออกเท่านั้น

สำหรับประเภทต่างๆ นั้น ของตกค้างคือของที่ผู้นำเข้าไม่มานำสินค้าออกภายใน 30 วัน

ส่วนของกลางนั้นคือของที่ถูกจับกุม และของผ่านแดนคือสินค้าผ่านแดน สินค้าถ่ายลำที่ไม่นำออกจากท่าเรือภายใน 30 วัน นับจากวันที่เรือนำเข้า มีลักษณะคล้ายของตกค้าง แต่ในใบเอกสาร Manifest เที่ยวเรือที่ระบุก่อนนำเข้าก็จะเขียนว่าเป็นสินค้าผ่านแดนไปที่ไหน เช่น ผ่านแดนไปลาว ไปเมียนมา เป็นต้น 

เจ้าหน้าที่ศุลกากรรายหนึ่งให้ความเห็นว่า การที่มีเศษขยะพลาสติกถูกทิ้งค้างที่ศุลกากรท่าเรือใหญ่ๆ อาจมีสาเหตุได้หลายข้อ เช่น ไม่มีคนมารับของ หรือเป็นของผ่านแดนที่ติดต่อปลายทางไม่ได้

ภาพบันทึกบางส่วนจากประกาศขายทอดตลาด ของกลาง ของตกค้าง และของที่ตกเป็นของแผ่นดิน ครั้งที่ 1/2566 9 มี.ค. 2566 นอกจากเงื่อนไขการประมูลที่ระบุว่า ต้องนำออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้นแล้ว ยังระบุด้วยว่า เว้นแต่หากผู้ประมูลมีความประสงค์จะนำเข้าไปใช้ในประเทศ ผู้ประมูลต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและยังมีโควต้านำเข้าเศษพลาสติก ส่วนการการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าต้องกระทำในพื้นที่กำหนด ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น และการส่งออกต้องออกทางท่าหรือด่านศุลกากรดังนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรนครพนม ด่านศุลกากรหนองคาย ด่านศุลกากรช่องเม็ก ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรแม่สอด ด่านศุลกากรคลองใหญ่ ด่านศุลกากรสะเดา และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ เป็นต้น รวมทั้งรายการสินค้ายังระบุกหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์และตัวย่อของประเทศต้นทาง เช่น US, JP, KR และ AE เป็นต้น

ตัวอย่างเศษพลาสติก Plastic Scrap ที่ถูกประกาศขายทอดตลาดของกลางตามด่านศุลกากรต่างๆ ในไทย ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง 9 มี.ค. 2566 ของกลางที่บางชุดมีนำหนักรวมสูงสุดกว่า 24 ตัน ศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ รอบเมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 มีเศษพลาสติกที่เป็นของกลางที่เปิดประมูลนำหนักถึง 25 ตัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย รอบเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.65 รวม 2 รายการกว่า 90 ตัน แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จากมีหลายรายการที่เปิดประมูล ในจำนวนนี้บัญชีของตกค้างบางรายการยอดน้ำหนักกว่า 100 ตัน ด้วย (รายละเอียดยอดรวมตามตารางด้านล่าง) 

ภาพตัวอย่างเศษพลาสติกที่เปิดประมูลขายทอดตลาดตามประกาศสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ประกาศขายทอดตลาด ของกลางของตกค้าง และของที่ตกเป็นของแผ่นดิน ครั้งที่ 2/2566 ที่จัดประมูลไปเมื่อ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามบัญชี LIST F ฉบับที่ 1/2562 (ล.820/01/03/64) ระบุตัวย่อประเทศต้นทาง AU หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ HLBU1771310, HLXU6453475 และ UACU5081790 น้ำหนัก 51,280 กิโลกรัม ซึ่งมีลักษณะเป็นเศษพลาสติกใกล้เคียงกับที่พบในโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในเมืองเมียวดี (ตามภาพด้านล่าง)

มาตรการห้ามนำเข้าไทยยังไม่เพียงพอ

“ขยะ HS 3915  ถูกนำเข้ามาเยอะสุด  การแบนอย่างเดียวก็ย่อมเป็นการปิดช่องใหญ่ในการนำเข้า  แต่คงไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์ที่สุด”

ปุณญธร จึงสมาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและสื่อสาร จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2568 ว่าเป็นหมุดหมายที่ดีแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะอาจมีการแอบนำเข้าโดยเลี่ยงไปใช้พิกัดอื่น ซึ่งภาคประชาชนตรวจสอบได้ยาก ฉะนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มเติมในการติดตามป้องกันและควบคุมการนำเข้าขยะพลาสติกด้วย เช่น ขยายขอบเขตการควบคุมให้รวมถึงพิกัดศุลกากรทั้งหมด เพื่อที่จะตรวจว่ามีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกนำเข้ามาในพิกัดอื่นหรือไม่

ย้อนไปเมื่อปี  2561  ภาคประชาสังคมเริ่มมีการคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติก เพราะเห็นว่าไทยเป็นประเทศผู้รับขยะพลาสติกจำนวนมากมาตลอด  ยิ่งเวลาผ่านไปก็ปรากฏหลักฐานขึ้นมาเรื่อยๆ ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกและจุดนำผ่านด้วย  

เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 วราวุธ ศิลปอาชา ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันกับประชาไทว่า การห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2568 ไม่รวมถึงการนำเข้าเพื่อส่งผ่านแดน

“ควรจะเขียน (กฎหมาย) ไว้เลยว่าห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่าน”   

ปุณญธร กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ระบุว่า ต้องป้องกันไม่ให้เรากลายเป็นจุดที่มีการเอาพลาสติกนำผ่านไปยังประเทศอื่น ในแง่หนึ่งไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายปัญหามลพิษ 

“ในทางทฤษฎี กฎหมายเราอาจหยุดเรื่องการส่งผ่าน (transit) ได้  แต่ถ้าประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายยังเป็นอย่างนี้ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง จะทำให้เกิดการธุรกิจสีเทาเข้ามาอยู่ดี” 

ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และเลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึง มาตรการการจัดการขยะพลาสติกที่หย่อนยานตามความสนใจของสาธารณะ 

หลังจากปี 2561 ที่รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นวาระแห่งชาติ กลุ่มผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานพลาสติก มีความพยายามเจรจากับรัฐบาลเพื่อยืดระยะเวลาในการนำเข้าขยะพลาสติกออกไป โดยอ้างเหตุผลว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศขาดแคลนวัตถุดิบ 

ส่วนสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมมีข้อสังเกตว่าการนำเข้าขยะพลาสติกอาจจะเบาลง แต่ก็จะมีขยะประเภทอื่นเข้ามาแทน เช่น ขยะกระดาษมาเพื่อซัพพอร์ตธุรกิจรีไซเคิลต่อไป 

“ปัจจุบันก็เห็นอยู่แล้วว่าวัตถุดิบในประเทศก็เหลือเฟือ ปัญหาคือไม่ใช่ในเรื่องไม่มีวัตถุดิบ  เป็นปัญหาของการคัดแยกมากกว่า” 

เพชร บอกว่านโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่ดี แต่การมีกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนน่าจะทำให้เราได้เห็นภาพรวมว่าจะจัดการขยะในประเทศให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคือการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก  เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนหรือทำให้เกิดเห็นเป็นรูปธรรม จะต้องมีการบังคับให้เกิดการแยกขยะให้มีประสิทธิภาพ

ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการสืบสวน ประชาไทติดต่อขอความคิดเห็นจากกรมศุลกากรหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ตารางสถิติประกอบ :

ตัวอย่างสถิติการนำเข้าของไทยตามพิกัดศุลกากร 3915 (KG) เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร)

ตัวอย่างสถิติการส่งออกของไทยตามพิกัดศุลกากร 3915 (KG) เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร)

พม่าหรือเมียนมาเป็นประเทศที่ไทยส่งออกพิกัดศุลกากร 3915 (KG) เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติกลำดับต้นๆ ลำดับ 1 ใน 5 ของทุกปี โดยเฉพาะปี 2561 เป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากอันดับ 1 และเมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้าในพิกัดศุลกากร 3915 ของพม่าเองไทยก็เป็นอันดับ 1 เช่นกัน

ดูการนำเข้าสินค้าในพิกัดศุลกากร 3915; waste, parings and scrap ของพม่าระหว่างปี 2561-2565 (ข้อมูลจาก The World Integrated Trade Solution (WITS)

*ใช้นามสมมติเพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท
เรื่อง: เทวฤทธิ์ มณีฉาย, ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล, กรรณิกา เพชรแก้ว / รายงานเพิ่มเติมโดย อัลเลกรา เมนเดลสัน, ราเชล มูน, นอว์ เบตตี้ ฮัน, หม่องเล, มิอา แร็บสัน, ชาร์ล็อต เอลเฟรด, อีวา คอนสแตรนทาราส, นลินี มาลีญากุล, มาริอุส เซปิโอโล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: