จับตา: ครีมเปลี่ยนสีผิวอันตรายกว่าที่คิด

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 2564 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าการที่ผิวหนังของคนมีสีต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามกรรมพันธุ์ ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของเม็ดสีผิวหนัง ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดสามารถเปลี่ยนสีผิวได้อย่างถาวร แต่เราสามารถดูแลผิวไม่ให้หมองคล้ำมากกว่าเดิมได้

ปัจจุบันพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเครื่องสำอางสามารถเปลี่ยนสีผิวได้  ซึ่งเมื่อส่งตรวจวิเคราะห์พบสารที่ก่อให้เกิดอันตราย ที่แม้จะช่วยให้ผิวขาวขึ้นในระยะแรก แต่มีอันตรายในระยะยาว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผิดกฎหมาย จัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้  อย.ได้ประกาศผลวิเคราะห์เพื่อเตือนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ (สามารถสืบค้นรายละเอียดการประกาศผลวิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ได้ที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Pages/Main.aspx หัวข้อ ประกาศผลการวิเคราะห์) และสารอันตรายที่พบบ่อย เช่น

1. สารประกอบของปรอท ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอท ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ

2. ไฮโดรควิโนน ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน อาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคือง อักเสบหน้าแดง อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับสารนี้เกินขนาด สารนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

3. กรดวิตามินเอ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ อาจทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

4. สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อาจทำให้ผิวบาง เกิดรอยแตก เส้นเลือดใต้ผิวหนังผิดปกติ หน้าแดงตลอดเวลา เกิดผื่นแพ้ เกิดสิวผด ผิวหนังมีสีจางลง หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว

ปัจจุบันไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถเปลี่ยนสีผิวให้ขาวขึ้นได้อย่างถาวร การดูแลให้ผิวสวย ผ่องใส ไม่หมองคล้ำกว่าเดิม สามารถทำได้โดยรับประทานอาหาร ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนออกจากบ้านควรทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด และเมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรหาอุปกรณ์ป้องกันแดดมาใช้ด้วย เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางร่ม

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจัดเป็นเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ก่อนใช้อ่านฉลากภาษาไทยให้ละเอียด โดยเฉพาะวิธีใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาหรือรีวิวเกินจริง เช่น อ้างว่าเครื่องสำอางเปลี่ยนสีผิวได้รวดเร็ว ลบฝ้ากระ จุดด่างดำได้ภายใน 3 วัน 7 วัน เพราะมักจะมีส่วนผสมของสารอันตรายข้างต้น

 

ข้อมูลอ้างอิง :

http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=55
ครีมเปลี่ยนสีผิว ครีมฟอกสีผิว | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (mahidol.ac.th)
ครีมเปลี่ยนสีผิว ครีมฟอกสีผิว | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (mahidol.ac.th)
อันตรายจากขบวนการฟอกหน้าขาว | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/11182020-1629
กลูต้าไธโอน (glutathione) ทำให้ขาวจริงหรือ?? | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: