ปัญหาข้อกฎหมายจากการเร่งขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในยุคเผด็จการทหาร คสช.

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 74466 ครั้ง


อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกควบคุมและแทรกแซงอย่างเข้มงวดจากรัฐ  โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมพื้นที่ปลูกอ้อยและการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย (ทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตโดยโรงงานเดิม  โรงงานเดิมที่ขอย้ายไปตั้งที่ใหม่  และโรงงานใหม่) จะต้องเป็นไปในลักษณะรักษาสมดุลระหว่างปริมาณอ้อยที่ปลูกได้ในแต่ละปีให้สอดคล้องกับความต้องการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานในแต่ละปีด้วย  โดยจะต้องบริหารจัดการไม่ให้อ้อยเหลือล้นจนโรงงานไม่สามารถรับซื้อได้หมด  และไม่ให้โรงงานขาดแคลนอ้อยที่จะผลิตน้ำตาล  ซึ่งส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงของทั้งสองฝ่าย

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวที่มีกฎหมายทำหน้าที่ควบคุมและแทรกแซงเพื่อสนับสนุนอุ้มชูชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานอย่างเป็นระบบ  มีการคุ้มครองสิทธิ ผลประโยชน์และความช่วยเหลือจากรัฐแทบทุกด้านตั้งแต่ต้นทางที่การผลิตอ้อยไปจนถึงปลายทางที่การจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและนอกประเทศ  จึงทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยและกำลังการผลิตของโรงงานมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่สอดคล้องเหมาะสมและตามศักยภาพที่สร้างสมดุลของทั้งสองฝ่าย  ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอำเภอใจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตามไม่ทัน  เพื่อจะเป็นหลักประกันว่าอุตสาหกรรมนี้จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงงานและประชาชนผู้บริโภคตามที่ระบุไว้ในกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย (พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527)

ซึ่งการสร้างสมดุลของทั้งสองฝ่ายถูกควบคุมและกำกับโดยกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายให้ต้องคำนึงถึงท้องที่ที่เหมาะสม  เพื่อให้การส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับแผนการปลูกและผลิตอ้อย และการผลิตน้ำตาลทราย  ซึ่งอ้อยที่ปลูกในท้องที่ที่เหมาะสมจะได้รับการประกันให้เป็นพื้นที่รับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลทราย  และได้รับการคุ้มครองและดูแลจากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย

ปัจจุบัน  ท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย  ความสมดุล  เสถียรภาพและความเป็นธรรมในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากการที่อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การผลิตน้ำตาลทรายอีกต่อไป  แต่มันกำลังถูกต่อยอดและขยายตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าและรายได้มากกว่าการผลิตน้ำตาลทรายอีกหลายเท่าตัว  ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย  เอทานอล  ปุ๋ยชีวภาพ  วัสดุทดแทนไม้  ภาชนะถ้วย-จาน-ชาม-ช้อน-ส้อม-หลอดดูด-ฯลฯ  กรดแลคติกเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร-การเครื่องสำอาง-พลาสติกชีวภาพ-ยา-ฯลฯ  เป็นต้น

การต่อยอดและขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยและโรงงานเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก  อย่างน้อยเพิ่มอีก 6 ล้านไร่ จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 10.5 ล้านไร่  เพื่อเพิ่มปริมาณอ้อยให้ได้ 180 ล้านตันอ้อยภายในปี 2569 จากที่สามารถผลิตอ้อยได้ประมาณ 100 ล้านตันอ้อยในแต่ละปี  โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน  โดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่างซึ่งแม้จะเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นเยี่ยมของประเทศแต่ก็ถูกด้อยค่าเป็นแค่เพียงนาน้ำฝนนอกเขตชลประทานที่ล้าหลังและขาดศักยภาพ  ต้องถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าแทน  โดยเฉพาะอ้อย  ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย (Roadmap) พ.ศ. 2558 – 2569 ที่ถูกระบุไว้ชัดเจนว่าต้องสนับสนุนการปลูกอ้อยทดแทนข้าวในพื้นที่นาดอนและนาน้ำฝน

ทั้งชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานต่างก็เห็นพ้องต้องกันที่อยากจะทลายกำแพงของกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานได้ช้าเกินไป  ด้วยข้ออ้างว่าจะต้องทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่กำลังถูกต่อยอดและขยายตัวออกไปเกิดการแข่งขันอย่างเสรี

‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558’ ที่ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (ไม่ได้ออกตามความพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527) จึงเกิดขึ้นเพื่อทลายกำแพงดังกล่าว  โดยการตั้งโรงงานขึ้นใหม่และย้ายโรงงานเดิม (โดยยังคงกำลังการผลิตเดิมหรือเพิ่มกำลังการผลิตก็ตาม) ไปตั้งยังที่อื่นให้กระทำได้ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  เมื่อโรงงานที่จะตั้งนั้นมีระยะห่างจากเขตโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่าห้าสิบกิโลเมตร  โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง  ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่ในที่เดิมก็ให้กระทำได้ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน

สาระสำคัญอยู่ตรงคำว่า ‘ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร’ ที่ปรากฏอยู่ในประกาศดังกล่าว  ต่างจากพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 (2) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ต้องมีหน้าที่กำหนด ‘ท้องที่ที่เหมาะสม’ สำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย  ซึ่งก็ได้มี ‘ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ. 2548’ เพื่อกำหนดท้องที่ที่เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกอำเภอใน 52 จังหวัดออกตามมา 

ในขณะที่ ‘ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ. 2548’ ที่ออกตามความพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระบุว่าให้ท้องที่ตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้เป็นท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย โดยต้องมีรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากโรงงานน้ำตาลที่ใกล้ที่สุด  แต่ ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558’ ที่ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กลับระบุว่าการตั้งโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรให้กระทำได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะตั้งนั้นมีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง  เพื่อที่จะทำให้โรงงานมีการเพิ่มจำนวนมากและเร็วขึ้น

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการทหาร คสช. ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างสับสนอลหม่านไปหมด  ไม่สนใจลำดับศักดิ์ของกฎหมาย  ไม่สนใจว่าอะไรควรเป็นกฎหมายหลักอะไรควรเป็นกฎหมายรองที่ใช้บังคับสำหรับเรื่องหรือกิจการนั้น ๆ  ไม่สนใจว่าจะเกิดลักษณะการขัดกันของกฎหมายจนทำให้เกิดความบกพร่องในการใช้บังคับ  มุ่งแต่จะสร้างตัวแบบการพัฒนาใหม่เพื่อเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของสังคมและการเมืองด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้วยการดึงเศรษฐี นายทุน เจ้าของโรงงาน ผู้ประกอบการให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาประเทศ  ด้วยการตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานหลายสิบชุดเพื่อให้เศรษฐีนายทุนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐและใช้ทรัพยากรของรัฐที่ขับเคลื่อนโดยภาษีของประชาชนรับใช้เป้าหมายทางธุรกิจของตน

กระบวนการที่เศรษฐีนายทุนเข้ามาเป็นกรรมการ/คณะทำงานในโครงสร้างอำนาจรัฐมีกระบวนการต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดมานับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557  ไล่ไปตั้งแต่การเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ  คณะกรรมการบริหารการกำหนดยุทธศาสตร์หลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ประชารัฐ)  คณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (สานพลังประชารัฐ) 12 คณะ  คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)  คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model  จนถึงปัจจุบันที่คณะกรรมการ/คณะทำงานส่วนใหญ่ก็ยังคงมีสถานะอยู่  จนทำให้เศรษฐีนายทุนเหล่านั้นมีบทบาทนำรัฐมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ 

ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย  และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่กำลังถูกต่อยอดและขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ  ก็มีตัวแทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ/คณะทำงานที่กล่าวมา  ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิด ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558’ ขึ้นมา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่กลับพบว่าประกาศดังกล่าวมีปัญหามาก  เช่น  โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด  เริ่มจากบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้รับหนังสือรับรองตั้งโรงงานน้ำตาล  กำลังการผลิต 24,000 ตันอ้อย/วัน  มีอายุ 5 ปีนับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2558  แต่ก็ไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดตามเงื่อนไขของประกาศดังกล่าวได้ (ที่กำลังการผลิต 24,000 ตันอ้อย/วัน  ตลอดฤดูการหีบอ้อย 120 วัน  ต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 288,000 ไร่  เพื่อจะให้ได้ผลผลิตอ้อย 2,880,000 ตัน)  แต่หาพื้นที่ปลูกอ้อยได้เพียง 14,027 ไร่  ซึ่งจะได้ผลผลิตอ้อย 74,332 ตัน  สามารถหีบอ้อยได้เพียงแค่ 3 วันเท่านั้น  ทั้ง ๆ ที่ อ.ปทุมรัตต์ทั้งอำเภอเป็น ‘ท้องที่ที่เหมาะสม’ ตาม ‘ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ. 2548’  แต่บริษัทฯก็ยังหาพื้นที่ปลูกอ้อยไม่ได้ 

แต่บริษัทฯก็ยังไม่ลดละความพยายาม  หลังจากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบในเวลากระชั้นชิดกับที่หนังสือรับรองใกล้หมดอายุ  ส่งผลให้สร้างโรงงานไม่ทันภายในอายุของหนังสือรับรอง  บริษัทฯก็ได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด เพื่อขอหนังสือรับรองฉบับใหม่ในที่ตั้งโรงงานเดิมที่ซื้อที่ดินพร้อมก่อสร้างโรงงานไว้แล้ว  ด้วยกำลังการผลิตเท่าเดิม  แต่ผ่านมาเกือบสามปีก็ประสบปัญหาเดิม  คือ  ไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งตามเงื่อนไขของประกาศดังกล่าวได้  จึงปรับแผนใหม่ด้วยการไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อาหารและเครื่องดื่มร้อยเอ็ด จำกัด  โดยปรับลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 300 ตันอ้อย/วัน  น้อยกว่าของเดิมถึง 80 เท่า  เพื่อจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแดงขนาดเล็กไปพลางก่อนแล้วค่อยไปขอขยายกำลังการผลิตเพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายขนาดใหญ่ในภายหน้า

แม้ว่า อ.ปทุมรัตต์จะถูกประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย  แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนาขึ้นตามวันเวลา  พื้นที่ อ.ปทุมรัตต์และอำเภอใกล้เคียงทั้งใน จ.ร้อยเอ็ดและจังหวัดอื่นได้กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นเยี่ยมของทุ่งกุลาซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  รวมถึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของแผนพัฒนาภาคอีสานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อ 15 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมาให้เป็นพื้นที่เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์  ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและยกระดับกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานสินค้าอย่างครบวงจร  จึงไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อตอบสนองการเพิ่มกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ได้  

ดังนั้น  หาก ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558’ ยังฝืนบังคับใช้ต่อไป  จะเกิดการคุกคามท้องที่ที่เหมาะสมตาม ‘ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ. 2548’ ที่มันได้กลายเป็น ‘ท้องที่ที่ไม่เหมาะสม’ สำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อยไปแล้วมากมาย  เหมือนดังเช่นพื้นที่ทุ่งกุลาที่ อ.ปทุมรัตต์ 

และเมื่อไม่สามารถหาที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ปลูกอ้อยในท้องที่ที่เหมาะสมใหม่ ๆ ได้แล้ว  ก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างน้อยสองประการ  หนึ่ง-เกิดการไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ใกล้กับโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่แล้วในระยะใกล้กันมากขึ้น  ซึ่งเมื่อดูการขัดกันของประกาศทั้งสองฉบับก็ยังสับสนว่าโรงงานใหม่ควรอยู่ใกล้โรงงานเดิมที่ระยะไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร หรือ 50 กิโลเมตรกันแน่  และเมื่อรัศมีของพื้นที่ปลูกอ้อยทับกันก็จะเกิดการแย่งอ้อยของชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานอื่นจนเกิดปัญหาวุ่นวายหนักขึ้นตามมา  สอง-เกิดการไปตั้งโรงงานและปลูกอ้อยในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ถูกประกาศเป็นท้องที่ที่เหมาะสมตาม ‘ประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ. 2548’  ซึ่งมีคำถามตามมาว่าอ้อยที่ปลูกและโรงงานใหม่ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในท้องที่ที่เหมาะสมตามประกาศฯจะได้รับการประกันให้เป็นพื้นที่รับซื้ออ้อยของโรงงานน้ำตาลทราย และได้รับการคุ้มครองและดูแลจากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายหรือไม่  และจริง ๆ แล้วการตั้งโรงงานและการปลูกอ้อยที่ไม่ได้อยู่ในท้องที่ที่เหมาะสมตามประกาศฯควรงดเว้นหรือหวงห้ามไม่ให้กระทำหรือไม่

 

                                                           

 

บรรยายภาพประกอบบทความ :

29 พฤษภาคม 2566 ‘เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา’ ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  ขอให้เพิกถอนท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ออกจากท้องที่ที่เหมาะสมตามบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ.2548  และขอให้ผู้ว่าฯรับฟังความเห็นของประชาชนกรณีโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและน้ำตาลทรายแดงของเอกชนในพื้นที่ (เครดิตภาพจาก https://thecitizen.plus/node/81404)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: