สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ขับเคลื่อนหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ หวังลดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะเครียด-ซึมเศร้า ในมหาวิทยาลัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 6661 ครั้ง

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ขับเคลื่อนหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ หวังลดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะเครียด-ซึมเศร้า ในมหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ขับเคลื่อนหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ หวังลดปัญหาสุขภาพจิต-ภาวะเครียด-ซึมเศร้า ในรั้วมหาวิทยาลัย นำร่อง ‘วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม’ เป็นโมเดลต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

13 ก.พ. 2566 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งขับเคลื่อนหาแนวทางลดปัญหาสุขภาพจิต สานต่อ ‘โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หลังพบภาวะความเครียด-ซึมเศร้า ติดชาร์จปัญหาอันดับหนึ่งของนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เครือข่ายทั้ง 15 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างกังวลใจและตระหนักถึงความสำคัญเพื่อเร่งหาทางออกในการลดปัญหาดังกล่าว

โดยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย พบว่านิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา, ร้อยละ 20 รู้สึกหดหู่ วิตกกังวลและรู้สึกหมดหวัง, ร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar), ร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษามีความคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา และร้อยละ 12 เคยลงมือทำร้ายตนเอง โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

ดร. พิชญา สุรพลชัย ผู้จัดการโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงลึกของผลสำรวจฯ ว่าตัวแปรสำคัญที่ทำให้นิสิตนักศึกษาคิดฆ่าตัวตาย ได้แก่ เกรดหรือผลการเรียน การเป็นหนี้ ความรัก นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งเป็นหนี้ กยศ. หนี้ค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าหอพัก ส่งผลต่อการเกิดความเครียดสะสม นอกจากนั้น ยังพบว่า มีนิสิตนักศึกษากว่าร้อยละ 40 มีความเครียดอยู่ในระดับมาก

ยิ่งไปกว่านั้น มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัยอื่น อาทิ ชั้นปีการศึกษาที่สูงขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะมีความเครียดมากขึ้น นอกจากนี้ ครอบครัวก็มีส่วนทำให้เกิดความเครียด โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูง และครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีรายได้ก็ยิ่งส่งผลให้นิสิตนักศึกษามีความเครียดมากกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจฯ ยังแสดงผลถึงคะแนนด้านการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมใน 4 มิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม พบว่า ค่าเฉลี่ยสุขภาพทางปัญญาของนิสิตนักศึกษาอยู่ในเกณฑ์คะแนนต่ำที่สุดจาก 4 มิติดังกล่าว สะท้อนได้จากการจัดการชีวิตและการจัดสรรเวลาของตัวเองไม่ดีเท่าที่ควร มีทั้งแบบจัดการได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อีกทั้งยังมีคะแนนความพึงพอใจในตัวเองและความรู้สึกดีในชีวิตอยู่ที่ระดับปานกลางเท่านั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลในระยะยาว

ล่าสุด ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้พัฒนาหลักสูตรอบรมพิเศษ ‘เพื่อนสร้างสุข’ ขึ้นมาเพื่อช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มนิสิตนักศึกษา โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้รู้จักตัวเอง รู้จักรักและเข้าใจตนเองก่อนที่จะรู้จักรับฟังผู้อื่นอย่างเข้าใจ ฝึกการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และการพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) และมีการจำลองสถานการณ์เพื่อผู้เข้าฝึกอบรมจะได้ทดลองปฏิบัติจริง ซึ่งจะเน้นการสื่อสารรับฟังอย่างเข้าใจและใกล้ชิดเป็นสำคัญ นับเป็นอีกกลไกสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาทางด้านความคิด ปัญญา และอารมณ์ ให้แก่นักศึกษาและผู้เข้าร่วมหลักสูตรสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญนำไปถ่ายทอดและให้คำปรึกษาแนะนำแก่เพื่อนๆ และผู้อื่นได้อย่างมีหลักการและมีเหตุมีผล

โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้นำหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ มาใช้นำร่องร่วมกับ ‘วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม’ จังหวัดมหาสารคาม เป็นแห่งแรก โดยผศ. กันตา วิลาชัย คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่ได้พบปะพูดคุยและขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ต่างคนต่างเรียน และเข้ามามหาวิทยาลัยน้อยมาก ซึ่งเราเองก็พบปัญหา ทางมหาวิทยาลัยเองจึงได้มีการจัดตั้ง ‘โครงการให้คำปรึกษาเพื่อนช่วยเพื่อน’ และมีทีมคณะกรรมการให้คำปรึกษา รวมถึงหน่วยปฏิบัติเองก็มี ‘ห้องขอเล่า’ ซึ่งพอกลับมาสู่ภาวะการเรียนตามปกติ คณะครูอาจารย์และนิสิตต่างก็มีความประสงค์ขอเข้าร่วมหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสัมพันธ์อันดีทั้งระหว่างนิสิตด้วยกันเอง ระหว่างบุคลากรในมหาวิทยาลัยด้วยกัน หรือแม้แต่ระหว่างนิสิตกับคณะครูอาจารย์ ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตที่ดีและสังคมน่าอยู่ภายในมหาวิทยาลัย

หลักสูตรนี้มีประโยชน์มาก มีนิสิตและบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร่วมฝึกอบรมกว่า 50 คน ทำให้พวกเขาได้เครื่องมือจากกระบวนการเรียนรู้ ได้พัฒนาทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้กระบวนการผีเสื้อกระพือปีก คือได้รู้จักรักและโอบกอดตัวเอง และทำให้พวกเขาได้วิธีคิดติดตัวไป รู้จักที่จะยอมรับตนเอง เข้าใจตนเอง ก่อนที่จะเข้าใจและรับฟังผู้อื่น รู้จักจัดการกับความเครียด อารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง ทำให้เพื่อนๆ ที่จะเข้ามาปรึกษารู้สึกไว้วางใจที่จะพูดคุยด้วย ส่วนคนที่รับฟังก็รู้สึกภูมิใจที่ตนเป็นที่พึ่งให้เพื่อนได้ มีความเข้าใจเพื่อนมากขึ้น และแปลการสื่อสารของเพื่อนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเองมีแผนที่จะนำหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ นี้ไปต่อยอดให้เป็นกระบวนการเรียนรู้และจัดการเพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิตภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นระบบต่อไป ซึ่งก็สอดคล้องกับโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านตัวแทนนิสิต น้องเบียร์ และน้องซีเกมส์ ที่เข้าร่วมหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ เล่าให้ฟังว่า ผมได้นำประโยชน์จากการฝึกอบรมไปปรับใช้กับเพื่อนๆ บ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นเพื่อนสนิท ส่วนใหญ่จะปรึกษาเรื่องแฟนและเรื่องความรัก ซึ่งได้ใช้แนวทางของหลักสูตรมาใช้กับเพื่อน โดยก่อนหน้านี้จะฟังผ่านๆ แต่หลังจากเข้าหลักสูตรก็ตั้งใจฟังเพื่อนมากขึ้น ไม่พูดแทรก หาเหตุผลประกอบว่าทำไมเพื่อนถึงรู้สึกแบบนี้ แล้วค่อยให้คำแนะนำที่ประมวลแล้ว ซึ่งจะมีหลักการและมีเหตุผลมากขึ้น คอยย้ำเตือนสติ สังเกตอาการเพื่อน คอยถามไถ่สารทุกข์ และหากิจกรรมสนุกร่วมกับเพื่อนฝูง เพื่อจะได้ให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่คิดวนกับความคิดเดิมๆ โดยนิสิตทั้งสองต้องการสานต่อหลักสูตรนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสโมสรนิสิตและตั้งขึ้นเป็นชมรม โดยจะอยู่ใน MHU for All ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ที่สำคัญ อยากให้วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำมาต่อยอดเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบ เพราะมีประโยชน์มาก สอนให้เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นและสามารถนำไปใช้ได้จริง

ดร. พิชญา สุรพลชัย สรุปปิดท้ายว่า จากผลการศึกษาหลายๆ แห่ง ระบุว่ากลุ่มที่สามารถเข้าถึงนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหาได้มากที่สุด คือ กลุ่มเพื่อนฝูง เพราะอยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน พูดคุยสื่อสารภาษาเดียวกัน และพร้อมเปิดใจกันได้ทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว จึงจำเป็นที่จะต้องดึงกลไกเพื่อนช่วยเพื่อน ผ่านหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ เข้ามาจัดการปัญหาสุขภาพจิตกับนิสิตนักศึกษา ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่านิสิตนักศึกษายินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความไม่สบายใจให้กับกลุ่มเพื่อนมากกว่าที่จะเข้าไปปรึกษากับอาจารย์หรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพียงประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้น ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ โดยการขับเคลื่อนกลไกเพื่อนช่วยเพื่อนจะสร้างแกนนำนิสิตนักศึกษาในการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการอบรมและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา โดยในระยะแรก สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้นำร่องร่วมกับวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจะมีการติดตามผลและปรับพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะทดลองเป็นต้นแบบเพื่อปรับใช้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป และมุ่งหวังว่าหลักสูตร ‘เพื่อนสร้างสุข’ จะช่วยหนุนเสริมการเฝ้าระวังในรั้วมหาวิทยาลัยได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: