สรุปเนื้อหาเวทีแสดงวิสัยทัศน์พรรคการเมืองเลือกตั้งปี 2566 “นโยบายที่จะดูแล-คุ้มครองแรงงาน จนถึงการบังคับใช้แรงงาน-การค้ามนุษย์ในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ร่วมกับ ASIAN-AUSTRALIA Counter Trafficking ได้จัดเวทีรับฟังวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรคการเมือง ในหัวข้อ “นโยบายที่จะดูแลแรงงาน คุ้มครองแรงงาน จนถึงการบังคับใช้แรงงาน จนสู่การค้ามนุษย์ในประเทศไทย” ซึ่งในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 พรรคการเมืองที่เข้าร่วม ได้แก่ พรรครวมเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทย, พรรคเสมอภาค, พรรคประชาธิปปัตย์ , พรรคก้าวไกล, พรรคสามัญชน
สรุปนโยบายนโยบายที่จะดูแลแรงงาน คุ้มครองแรงงาน จนถึงการบังคับใช้แรงงาน จนสู่การค้ามนุษย์ในประเทศไทย มีดังนี้
“ในสมัยนั้นเรื่องประมงก็สร้างชื่อเสียให้กับไทยตั้งแต่สมัย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มาถึงรัฐบาลลุงตู่ ถามว่าทำไมแรงงานไม่เข้ามากระบวนการคัดแยก เพราะเขาไม่ไว้ใจไงครับ รัฐบาลลูงตู่ 8 ปีที่ผ่านมาไม่ทำอะไรจริงจัง ทำแบบขอไปที เรื่องปัญหาแรงงานต่างชาติ ถูกกฎหมาย/ไม่ถูกกฎหมายเรายึดมั่นในข้อกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เราเชื่อว่ากลไกทุกอย่างและแรงงานช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจ กฎหมายมันมีแต่หละหลวม ต้องให้คนที่เขาตั้งใจ ทำจริงมาเป็นหัวในการขับเคลื่อนกฎหมาย” พรรคเสรีรวมไทย
1.พรรครวมเสรีรวมไทย อภิปรายโดย ว่าที่ร้อยโท จอห์น นพดล วศินสุนทร กล่าวว่า พรรคเสรีรวมไทยมีจุดยืนอยู่ 4 ข้อ 1.ต่อต้านเผด็จการ 2. ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น 3. ต่อต้านยาเสพติด 4.นโยบายปากท้องพี่น้องประชาชน และแตกออกเป็น 14 ข้อ ซึ่ง 1 ในนั้นมีข้อหนึ่งเรื่องการปฏิรูปประมง ประเด็นต่อมาเรื่องรัฐไม่เอื้อให้แรงงานเข้าถึงง่าย ก็อาจจะมองได้หลาย ปัจจุบันการเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาถูกกฎหมายรัฐไม่เอื้อให้ทำเรื่องเหล่านี้ได้ง่าย ทั้งที่การที่ทำเรื่องนี้จะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ตอนนี้เราควรกลับมาที่หลักการพื้นฐานว่าประเทศไทยต้องการแรงงาน เราควรอยากให้พี่น้องแรงงานในอาเซียนเข้ามาร่วมกันด้วย เพราะบางอย่างแรงงานไทยก็ไม่มีฝีมือในด้านนี้แล้ว ก็ต้องช่วยกัน ความอดทนอดกลั้นไม่เท่ากัน ถ้ามีความต้องการก็ต้องมีการส่งเสริม ในเรื่องของกฎหมายแรงงานข้ามชาติการสงวนงานให้เฉพาะคนไทยนั้น มีกฎหมายระบุไว้อยู่แล้วว่ามันมีอาชีพไหนควรสงวนไว้ให้คนไทยและแรงงานต่างด้าวทำไม่ได้ แต่ปัญหาคือ กฎหมายเหล่านี้อัพเดท เราจึงต้องสร้างความเข้าใจ เอาตัวเลข ข้อเท็จจริงมาโชว์ว่าแรงงานส่วนไหนขาด ส่วนไหนคนไทยไม่ทำ ดังนั้นต้องเพิ่มเกณฑ์ กฎหมายต้องเป็นพลวัตปรับปรุงเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลไทยต้องยอมรับว่ามันมีอาชีพที่คนไทยเขาไม่ทำจริงๆ แล้วไปเสนอให้แรงงานต่างด้าวแทน ผมถึงมองว่าจุดยืนคือ มองว่าแรงงานทุกส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย เราต้องเห็นร่วมกันก่อนว่าช่วยกันพัฒนาประเทศ แล้วมันก็จะกลับไปที่ข้อแรกด้วยว่าจะให้เรามีสิทธิอะไรมากขึ้น สิ่งที่พรรคเสรีรวมไทยทำได้ก็คือ รับฟัง พร้อมผลักดันให้ในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม โปร่งใส พอไปทำจริงก็เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น เอาเปรียบทั้งที่กฎหมายบอกก็ทำแล้วไม่โปร่งใส
“ในมิติด้านแรงงานเรามองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายตลอด ซึ่งมันยากที่สำเร็จ แล้วก็มองผู้ประกอบการเป็นผู้ร้ายตลอด วันนี้ต้องมองว่าจะทำยังไงเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาที่ดินในไทย แปรรูปเกษตรเป็นอาหารไทยแล้วส่งออกไปทั่วโลกให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลและดูแลแรงงานไปในตัว เม็ดเงินประกันสังคม 2.2 ล้านล้านบาท ควรจะนำมาสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน ทุกคนจะมีความสุข เศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งสำคัญสุดคือการใช้แรงจูงใจลงไปที่เม็ดเงินเท่านั้น อย่าไปมองเรื่องกฎหมาย ผมไม่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะเลวร้ายกับแรงงาน แต่เขาต้องมีข้อจำกัดบางประการ คุยกัน แก้ไขด้วยความเข้าใจจะดีที่สุด ” พรรคเพื่อไทย
2.พรรคเพื่อไทย อภิปรายโดย วรวัจน์ เอื้ออภิญญญกุล กล่าวว่า ในเรื่องแรงงานต้องมองในฐานะที่รัฐเป็นหุ้นส่วนผู้ประกอบการ แต่วันนี้เราแยกผู้ใช้แรงงานออกไป แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ทำไมวันนี้เรามีปัญหาเรื่องการจัดการแรงงานเพราะแยกรัฐกับผู้ประกอบการ แรงงานออกจากกัน ระบบในประเทศไทยเป็นแบบอุตสาหกรรมและรัฐมองว่าอุตสาหกรรมเอาไว้เก็บค่าธรรมเนียม ตรวจสอบ แต่ไม่เคยบูรณาการส่งเสริมผู้ใช้แรงงาน แล้วกระทรวงแรงงานที่เก็บเงินของทุกคน กองทุนประกันสังคม 2.2 ล้านล้าน เก็บไว้ทำไม แรงงานวันนี้ไม่ได้มีแค่แรงงานมีทักษะ กับไร้ทักษะ แต่เป็นแรงงานที่มีเทคโนโลยี ดังนั้นประเด็นการขึ้นค่าแรงไป 600 บาท เพราะจะทำให้ให้เขามีเครื่องมือมากขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วแรงงานที่มี hospitality แบบคนไทยไม่มีแรงงานไหนในโลกสู้คนไทยได้ เป็นจุดแข็งของคนไทย ต้องส่งเสริมถ้าเอาเงินที่เก็บไปสนับสนุนผุ้ประกอบการให้เขาดูแลแรงงานให้ดีขึ้น เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ได้เม็ดลงทุนจากรัฐ กฎหมายแรงงานที่มีปัญหาทุกวันนี้มองว่าไม่มีทางบังคับใช้ได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องคิดคือว่า ผู้ประกอบการทุกคนต้องการทำงาน ภาครัฐต้องเปลี่ยนจากการควบคุมและกำกับมาให้การสนับสนุน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเลยต้องเกือบฟรี เราต้องการให้ฟรีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานและผู้ประกอบการ การศึกษาก็ต้องฟรี เพื่อให้ได้เรียนเยอะๆ แล้วรัฐก็จะได้ภาษีจากคุณ วันนี้เกษตรกรเราบอกจะขยายสู่เกษตรแปลงใหญ่ เทคโนโลยีโดรน เครื่องมือ เครื่องจักรกล เรามีให้เขาพอหรือไม่แล้วก็มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องจับมือทำงานเพื่อสร้างประเทศไทย ผลักดัน พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้งานจากงานวิจัย สามารถให้งบวิจัยกับผู้ใช้แล้วให้เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เลย สามารถให้เงินกับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ต้องมองว่ารัฐและผู้ประกอบการกับแรงงานเป็นหุ้นส่วนกัน เราถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ อย่ามองว่าการบังคับใช้กฎหมายคือสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป แรงจูงใจก็สำคัญ
“เราพบว่าการบังคับใช้กฎหมายแรงงานไทยล้าหลังมาก เอาเปรียบและให้ประโยชน์กับนายจ้าง เราต้องให้อำนาจเพิ่มแก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบเกือบทั้งหมด ประเทศไทยเราโดน Tiers 3 เข้าไปไม่สำนึกนะคะ นายทุนพึ่งเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน แล้วในสมัย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ก็มีการยกมือยอมรับเอาสิทธิมนุษยชนมาใช้บังคับใช้ในไทย แต่ก็บังคับใช้อย่างอ่อนแอ สิ่งที่เราจะทำคือเข้าไปผลักดันให้เป็นแผนระดับชาติเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ UN ต้องมีความสมัครใจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างมีการตรากฎหมายให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งระบบ ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายรวมเป็นประมวล บังคับใช้อย่างเทียมกันจะเป็นการแก้ไขปัญหากลุ่มนี้ ให้การตีความกฎหมายการค้ามนุษย์มีความชัดเจน และไม่กีดกัน เพราะไม่มีใครอยากถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และเรามีอำนาจต่อรอง ใช้บรรทัดฐานระหว่างมาต่อรองในการค้าขาย ถ้าเราไม่ปรับกระบวนการในการบังใช้กฎหมายแรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็จะทำให้เราไม่มีอำนาจไปต่อรองกับต่างประเทศได้” พรรคเสมอภาค
3.พรรคเสมอภาค อภิปรายโดย นาดา ไชยจิตต์ กล่าวว่า อย่างแรก กฎหมายประกันสังคม ม.33 ต้องคุ้มครองแรงงานทุกประเภท เพราะว่าแรงงานทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ไม่สนใจว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือคนไทย สองจัดตั้งสถาบันพัฒนาทักษะแรงงาน และส่งเสริมแรงงานอาเซียน ใช้ความเป็นอาเซียนให้เป็นประโยชน์สูงสุด จะตั้งสถาบันเหล่านี้ตามชายแดนเพื่อให้แรงงานในภูมิภาคที่เข้ามาในไทยได้รับการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ ทำเป็น MOU ระหว่างเพื่อนบ้านเราให้แรงงานมีทักษะ เพื่อส่งออกแรงงานได้ แล้วก็ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นที่ส่งผลต่อการเข้ามาของแรงงานก็จะรื้อเรื่องนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องในหลายกระทรวงทั้งกระทรวงต่างประเทศและแรงงาน การส่งเสริมให้เกิดการลงทะเบียนเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักโทษ มองเขาเป็นมิตรไม่ใช่อาชญากร แล้วก็ภาคีอนุสัญญาต่างๆ อนุสัญญา ILO ฉบับ ที่ 87 และ 98 ศึกษาความเป็นไปได้ที่เข้าอนุสัญญายกย้ายแรงงานและสมาชิกครอบครัวจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คือการติดหนี้จากการต้องทำเอกสารแรงงานที่ผ่านระบบนายหน้า งานวิจัยของ HRDF ระบุว่า 10,000 บาท แต่เราก็ไปเก็บข้อมูล ซึ่งแรงงานมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงกว่าหนึ่งหมื่นบาทนะคะ เก็บตั้งแต่ต้นทาง เสียประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทต่อคน สิ่งนี้ส่งผลเรื่องปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดจากช่องว่างการลงทะเบียนและขึ้นเอกสารแรงงาน พรรคเห็นว่าต้องมีการเจรจาให้ระดับพหุภาคี เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน โดยเสนอให้ยกเลิกระบบนายหน้าด้วยซ้ำ แต่มันจำเป็นที่ต้องมีระบบนี้ ถ้าจะสนับสนุนผู้ประกอบการต้องทำให้ระบบ power sharing แบ่งปันอำนาจกันระหว่างผู้ประกอบการไม่ว่าขนาดไหนก็ตาม เพื่อสามารถรับแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบโดยตรงก็จะเป็นการตัดกำลังของบริษัทนายหน้าที่ค้ามนุษย์
“เรื่องการบังคับใช้ บทลงโทษเรื่องการบังคับใช้แรงงานต้องมีการลงโทษอย่างเคร่งครัด ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาไม่มีบทบังคับใช้ชัดเจน ส่วนเรื่องกองทุนสวัสดิการจะสามารถดูแลคุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรมในและนอกระบบ หากมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานก็จะดูแลให้ ถ้าได้รับผลกระทบจากสารเคมี เราก็ดูแลได้จากองทุนสวัสดิการพวกนี้ รวมไปถึงชราภาพ การเกิดอุบัติเหตุแล้วทุพพลภาพก็ด้วย ถ้าเราตั้งเป็นกองทุนนี้ขึ้นมาก็จะดูแลครอบคลุมมาก แล้วเราต้องผลักดันไม่ให้ใช้สารเคมีทั้งระบบเลยนะคะ เพราะเมืองไทยเป็นเกษตรกรรมถึง 70-80% ต้องลดการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วก็การคุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรมจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ดูแลปัญหาแรงงานทั้งในและนอกระบบ มันจะลดปัญหาให้กับทางสังคมและช่วยภาครัฐได้มากขึ้น”พรรคประชาธิปปัตย์
4. พรรคประชาธิปปัตย์ อภิปรายโดย ดร.สุภาพร ราธิเสน กล่าวว่า เรื่องของแรงงานข้ามชาติ คุ้มครองสวัสดิการ เราต้องตีความให้ได้ก่อนว่าแรงงานที่จะคุ้มครองส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานต่างชาติ เราจะแบ่งเป็นกลุ่มให้มีประกันสังคม กรมจัดหาแรงงานเขาจะดูแลในส่วนผู้ประกอบการ และสวัสดิการ ถ้าพรรคประชาธิปปัตย์ ได้เป็นรัฐบาลจะพัฒนาแรงงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะตอนนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลแรงงานภาคเกษตรกรรม เรามีหน่วยงานพัฒนาขีดความสามารถ เรียกร้องให้แรงงานขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพ ไม่ได้ดูแลแค่ภาคเกษตรกรรม แต่ดูแลภาคอื่นๆ ด้วย และ ยังส่งเสริมเรื่องการส่งออก smart farmer เพิ่มแรงงานภาคเกษตรกรรมให้ทำภาคธุรกิจส่งออกได้ด้วย ปชป.มีนโยบายคุ้มครองแรงงาน ผลักดัน และส่งเสริมแรงงานเหล่านี้ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และศักยภาพที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย และหน่วยงานที่จะดูแลแรงงานที่ดีสุดคือ กรมแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ในส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงของแต่ละพรรคสามารถขึ้นได้ตอนไหน และสามารถรับประกันได้มั้ยว่าจะขึ้นให้กับทุกคน มีการควบคุมนายจ้างอย่างไร ย้ำว่าพรรคประชาธิปปัตย์ไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรง แต่พยายามดูสมดุลของภาวะเศรษฐกิจ ดูความเป็นจริงว่าจะปรับขึ้นได้เท่าไหร่ ตอนนี้เชียงใหม่ 345ขึ้นมาจากเดิม 15 บาท การขึ้นค่าแรงไม่ได้เป็นแค่เรื่องนายจ้างลูกจ้าง แต่มีคณะกรรมการจังหวัดมากำหนดเข้าร่วมด้วย การส่งเสริมศักยภาพแรงงานไทยสามารถเติบโตได้อย่างเดนมาร์ก สวีเดน หรือไม่ ดิฉันคิดว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการคุ้มครองแรงงานให้มีความเสอมภาค เท่าเทียม การปกป้องคุ้มครองสวัสดิการ มีสิทธิมีเสียงในฐานะแรงงาน เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้ ท่านก็ต้องมีสิทธิมีเสียงในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้อยู่
“จากการจัด tiers ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานควรรู้ได้แล้วว่าแรงงานมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ถ้าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานยังไม่ถูกแก้ไขการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นแน่นอน ก้าวไกลมองแรงงานทุกคนเป็นมนุษย์ ฉะนั้นการแก้ไขเดี่ยวกับแรงงานโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีความเปราะบางมาก จำเป็นต้องแบบกระบวนการให้มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้แปลกแยกจากแรงงานคนไทย เช่น ถูกเลือกปฏิบัติด้านภาษา เราต้องทำให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มอย่างแท้จริงทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานประเภทใดก็ตาม เราจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจของแรงงานให้เข้าสู่กระบวนการต่างๆ คือการสนับสนุนการรวมตัวที่เราพูดมาตลอด และสุดท้ายคือการออกแบบกระบวนการช่วยเหลือที่เป็นมนุษย์ การที่เขาไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการคัดแยก ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เราต้องออกแบบกระบวนการที่มีมิติของนักสังคมสงเคราะห์สามารถเข้าใจคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นและต้องมีล่ามที่เข้าใจภาษาเขา ทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเป็นมิตรและมนุษย์ที่สุด” พรรคก้าวไกล
5.พรรคก้าวไกล อภิปรายโดย เกศนคร พจนวรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติและแรงงานทุกประเภทต้องมองพื้นฐานว่า ‘ทุกคนเท่ากัน แรงงานทุกคนก็เป็นผู้ใช้แรงงาน ร่วมสร้างประเทศกันขึ้นมา’ กฎหมายแรงงานทุกฉบับสามารถเอามาปรับใช้กับพี่น้องแรงงานข้ามชาติได้ทั้งหมด ซึ่งในประเด็นนี้ มี นโยบาย 4 ข้อ 1.ให้แรงงานได้รับการคุ้มครองทุกกลุ่ม ไม่ต่ำกว่า พระราชบัญญัติการคุ้มครองแรงงาน การจ้างงานต้องเป็นธรรม แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครองเทียบเท่ากับแรงงานไทย ทำให้งานจ้างเหมาบริการ sub-contract รวมถึงการจ้างเหมาตามฤดูกาลในภาคเกษตร ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องได้รับการคุ้มครองไม่ต่ำกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์จากการที่เราแก้ไข พระราชบัญญัติ.คุ้มครองแรงงาน ในการลดชั่วโมงทำงานให้เหลือ 40 ชม/สัปดาห์ สิทธิการลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี 150 บาท ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ 2. เพิ่มสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มประกันสังคมให้มีสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่มี ม.33 39 40 ทุกคนที่ทำงานมีประกันสังคมถ้วนหน้ามาตรฐานเดียวกัน รวมถึงพี่น้องแรงงานข้มชาติด้วย 3.เพิ่มอำนาจให้กับแรงงาน รับรองอนุสัญญา ILO 87 98 จัดทำพระราชบัญญัติการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ยกเลิก พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ จัดทำเป็น พระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานไม่ว่าจะทำงานในภาคไหนก็สามารถรวมตัวเรียกร้อง ต่อสู้ สร้างอำนาจ 4.จัดทำการขึ้นทะเบียนเพื่อพาแรงงานข้ามชาติเข้าระบบ เสนอข้อเรียกร้องของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านมือใคร แล้วข้อสุดท้ายลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต มันเป็นช่องที่ทำให้เกิดนายหน้าค้าแรงงาน แรงงานต้องมาทำงานใช้หนี้ วิธีที่ง่ายสุดคือลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนให้ง่ายสุด จะเป็นขจัดปัญหาให้กับแรงงานข้ามชาติ
“ความไม่ชัดเจนที่ผ่านมาของการแก้ไขเรื่องแรงงานข้ามชาติทำให้เด็กไร้สัญชาติและเข้าไม่ถึง public service ... พรรคสามัญชนเราให้ความสำคัญกับแม่และเด็กอย่างมาก เราเชื่อว่าการดูแลเด็กที่ดีต้องดูแลตั้งแต่ในครรภ์ มีนโยบายพร้อมคลอด ปลอดภัย ฟรี มีคุณภาพสำหรับทุกสิทธิ และทุกคน ทุกคนในที่นี้รวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย การที่เราดูแลดี เด็กได้รับโภชนาการ ได้รับการเตรีความพร้อมตั้งแต่อยู่ในท้อง การเกิดในไทยต้องได้รับสัญชาติ ถึงแม่ไม่ได้รับก็ต้องรับสวัสดิการต่างๆ เหมือนคนไทย เข้าถึงการศึกษา หลักประกันสุขภาพที่เลี้ยงบุตรหลานในที่ทำงาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตรฐานเดียว โดยที่ลูกหลานของพี่น้องแรงงานไม่ต้องซื้อประกันวันละบาท และควรจะดูแลให้ครอบคลุมตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนไม่ว่าจะลูกหลานใครก็ตามที่เกิดในแผ่นดินไทย หรือไม่เกิดแต่อุ้มพาเข้ามารัฐก้ต้องดูแล เราต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมในการรับสวัสดิการและสิทธิในทุกด้านเหมือนคนไทย และสิทธิในการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้ง แต่เป็นตัวแทนทางการเมืองในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับตำบลหรือตัวแทนสภาค่ะ” พรรคสามัญชน
6.ลักษณารีย์ ดวงตาดำ อภิปรายโดย พรรคสามัญชน กล่าวว่า พรรคเราให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มและจัดตั้งสหภาพ คือการรับ ILO 87 98 เชื่อว่าแรงงานทุกคนสามารถจัดตั้งกลุ่มสหภาพเพื่อรวมกลุ่มกันเรียกร้องต่อนายจ้างและนายทุน สหภาพก็ต้องมีการจัดตั้งแรงงานข้ามชาติและนอกระบบ ส่วนแรงงานข้ามชาติ เรามีนโยบายยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารจัดการของคนต่างด้าว 2561 เกิดขึ้นโดยรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เราจะเขียนอันใหม่เพื่อเปิดทางให้กับการแก้ไขระบบแรงงานข้ามชาติที่ตอนนี้มาค่าใช้จ่ายสูง มีนายหน้า บริษัทเอกชนมีอิทธิพลสูงมากในการต่อรองทำเอกสารแทนเราซึ่งหาเงินมหาศาลให้กับบริษัทเหล่านี้ เป็นภาระหนี้ให้แรงงานข้ามชาติตั้งแต่ก่อนเข้างานเพื่อจะได้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย และการต่อสัญญาการทำงานก็ต้องเสียเงินมากขึ้นไปอีก แล้วภาครัฐก็เลือกปฏิบัติ ถ้าหากลูกจ้างแรงงานไม่ผ่านมาทางบริษัทเอกชนก็ต้องรอคิวนานจนอาจจะเกือบหมดสัญญาได้ จึงมองว่าแก้กฎหมายตัวนี้ที่เป็นปัญหา การแก้โครงสร้างบริหารจัดการ การตกลงกับหน่วยงานเอกชนต้องโปร่งใส ถึงจะลดการค้ามนุษย์ และเคลื่อนย้ายโรงงานผิดกฎหมาย แล้วก็ต้องคุ้มครองแรงงาน รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ทุกสัญชาติที่ทำงานบนแผ่นดินไทยต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน โดยหลักการก็คือคิดว่าแนวคิดของพรรคสามัญชนใกล้เคียงกับพรรคเสมอภาคและพรรคก้าวไกล แต่พรรคสามัญชนเพิ่มเข้าไปอีก คือ เราต้องการเห็นการมีส่วนร่วมมากที่สุดของพี่น้องแรงงานช้ามชาติในการเข้ามาออกแบบกฎกระทรวงและออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อแรงงานโดยเชื่อในการกำหนดอนาคตตัวเอง และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพเท่ากันในการบริหารจัดการ ออกแบบอนาคต การให้พื้นที่และการยอมรับความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพรรคสามัญชน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ