แหล่งรายได้สำหรับระบบหลักประกันรายได้เพื่อป้องกันวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 พ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1585 ครั้ง


ในช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง คนไทยไม่น้อยน่าจะมีความหวังจากนโยบายหาเสียงมากมาย ซึ่งหากสามารถทำได้ ย่อมเกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ข้อเสนอจะเป็นไปได้เพียงใด และพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายหาเสียง จะมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สำเร็จหรือไม่ หรืออาจจะเหมือนในอดีตก่อนที่เคยหาเสียงไว้ แต่ไม่สามารถทำให้เป็นจริง

ในเรื่องของระบบบำนาญผู้สูงอายุสำหรับประเทศไทยในอนาคตก็เช่นเดียวกัน มีข้อเสนอจากหลายพรรค ตั้งแต่มีระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนไปถึงอีกฝั่งที่เป็นแค่นโยบายขายฝันหวังผลระยะสั้นให้ได้คะแนนเสียงเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจพิจารณาความน่าเชื่อถือและความจริงใจของนักการเมืองที่เสนอนโยบาย

ข้อกังวลที่สำคัญ คือ เราจะหาเงินจากไหนสำหรับบำนาญผู้สูงอายุ ก็มักได้รับคำตอบว่า “ไม่มีงบประมาณ” อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเป้าหมายดำเนินการตามแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศหลายท่านได้เสนอไว้เป็นทศวรรษ ก็ควรที่จะมีเงินมาลงทุนให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชนและอนาคตของประเทศได้

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งปี 2566 ผู้เขียนจึงขอนำเรียนรับใช้สังคมในเรื่องแหล่งรายได้สำหรับระบบหลักประกันรายได้เพื่อป้องกันวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ โดยขออ้างอิงศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากปาฐกถาเรื่อง “แนวทางการสร้างระบบภาษีและการปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ” ในงาน “ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2” และ ปาฐกถาเรื่อง “โควิดเป็นโอกาสให้ปรับสู่สวัสดิการถ้วนหน้า” ในงานครบรอบ "89 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม"

โดยสรุป แหล่งรายได้ที่สำคัญ ได้แก่

  1. จัดระบบความสำคัญก่อนหลังในการจัดสรรงบประมาณประจำปี กล่าวคือ ลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
  2. ยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น BOI และ Capital Gain Tax
  3. เก็บภาษีเพิ่มจากส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์และที่ดิน
  4. ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ
  5. ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ควรจะปรับลดลงมาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้
  6. เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล
  7. ปรับระบบภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีรายได้ที่จัดเก็บจากเงินเดือน เงินปันผล กำไร หรือ ที่ดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนรวยเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ามนุษย์เงินเดือน
  8. หน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรนำมาให้ประชาชนเช่าทำมาหากิน เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า หากไม่ทำอะไรเลย งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น ก็ควรจะใช้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: