ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากท่าทีประนีประนอมกับพรรคเพื่อไทยของกลุ่มพลังทางสังคม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 14 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 14533 ครั้ง


*ชื่อบทความเดิม: ‘การเมืองเรื่องประชาธิปไตย’ และ ‘การเมืองเรื่องการพัฒนา’ : ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากท่าทีประนีประนอมกับพรรคเพื่อไทยของกลุ่มพลังทางสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมแต่ไหนแต่ไรมา  แม้จะมีความเป็นปัจเจกในร่างกายและจิตใจที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยลำพังอยู่ก็ตาม  แต่ความเป็นปัจเจกนั้นก็ได้สร้างความผูกพันกันทางสังคมขึ้นตลอดวิวัฒนาการที่เนิ่นนานมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์  จนทำให้เกิดโครงสร้างสังคมที่โยงใยสลับซับซ้อนมากขึ้น  ซึ่งก็ได้ส่งผลให้มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองด้วยอีกสถานะหนึ่ง  เพราะเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่มนุษย์จำเป็นต้องสร้างสถาบันการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและค้ำจุนสถาบันทางสังคมให้พัฒนาไปข้างหน้า

ซึ่งในโลกสมัยใหม่  พัฒนาการทางสังคมและการเมืองแทบทุกประเทศบนโลกนี้ต่างอยู่บนครรลองของคุณค่าและหลักการสำคัญประการหนึ่ง  นั่นคือ  เรา, ประชาชนในฐานะผู้ประกอบสร้างสังคมและการเมืองคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง  ที่มอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ในสถาบันสังคมและการเมืองที่ทุก ๆ คนได้ยึดโยงและผูกพันกัน

เมื่อเรามอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำหน้าที่ตามที่กล่าวไป  เรา, ประชาชนนอกจากมีความเป็นปัจเจกแล้ว  ก็ยังได้รวมตัวกันเป็น ‘กลุ่มพลังทางสังคม’ อีกสถานะหนึ่งด้วย  เพื่อที่จะตรวจสอบ  สอดส่อง  ดูแล  กำกับ  ติดตาม  ควบคุม  เรียกร้องอำนาจของเราหรืออำนาจรัฐที่ตัวแทนเอาไปใช้  ว่าอำนาจของเราถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง  มันถูกใช้ไปในทางที่ดีหรือเลวร้าย  หรือกลับมากดขี่ข่มเหงเราที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

เมื่อเราพินิจพิจารณาอำนาจของเรา  เราก็เห็นข้อเท็จจริงว่าเมื่อเรามอบอำนาจของเราไปให้ตัวแทน  มันได้สร้างรัฐที่เป็น ‘โครงสร้างส่วนบน’ ขึ้นมา  ส่วนเราประชาชนที่เป็นรากฐานของอำนาจและรากฐานของรัฐก็ไปสถิตอยู่ที่ ‘โครงสร้างส่วนล่าง’ ที่ต้องสัมพันธ์และยึดโยงกันกับรัฐตลอดเวลา

ในส่วนของประชาชนที่เป็นโครงสร้างส่วนล่าง  นอกจากความเป็นปัจเจกที่อยู่ติดเนื้อติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดพร้อม ๆ กับสิทธิและเสรีภาพแล้ว  เราก็ยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มพลังทางสังคมอีกด้วย  เพื่อใช้สิทธิและเสรีภาพไปสร้างบทบาทและหน้าที่ตามที่กล่าวไป  และในส่วนของกลุ่มพลังทางสังคมนี่เองก็มีโครงสร้างส่วนบนและล่างเช่นเดียวกัน  ที่โครงสร้างส่วนบนของกลุ่มพลังทางสังคมคือกลุ่มคนที่ต่อสู้เรียกร้องในเรื่องเกี่ยวกับระบบการปกครองและกลไกต่าง ๆ ของการใช้อำนาจรัฐ  เช่น  การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย  เขียนรัฐธรรมนูญใหม่  ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ในสถานการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา  เป็นต้น  ที่โครงสร้างส่วนล่างของกลุ่มพลังทางสังคมคือกลุ่มคนที่ทำงานอยู่กับพื้นที่/กรณีปัญหาต่าง ๆ  ทำการผลิตหรือทำการงานเพื่อเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวัน  ที่ต้องเจอหรือปะทะหรือต่อกรกับโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เข้ามากระทบกับการดำเนินชีวิต  จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย  และพยายามแสวงหาหรือนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่าแทน

ซึ่งทั้งโครงสร้างส่วนบนและล่างของกลุ่มพลังทางสังคมมีความสัมพันธ์กันเหมือนเป็นกงล้อ  พึ่งพาอาศัย  ถ่ายทอด  เชื่อมผสาน  สัมพันธ์  เรียนรู้  ทำความเข้าใจทั้งสองส่วนไปด้วยกันตลอดมา  โดยมีงานสองด้านที่ต้องทำไปด้วยกันเพื่อทำให้กลุ่มพลังทางสังคมมีพลังต่อสู้กับอำนาจรัฐมากยิ่ง ๆ ขึ้น  ก็คือ  ‘งานความคิด’ และ ‘งานเคลื่อนไหว’  ที่ไม่สามารถบกพร่องหรือลดทอนส่วนใดส่วนหนึ่งได้  ถ้าบกพร่องก็คล้าย ๆ กับจักรยานไม่มีโซ่  ต้องจูงเอา  ไม่สามารถขี่ได้

แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด  ยังมีกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนอีกมากที่ไม่ตระหนักในเรื่องนี้  เป็นเพียงแค่ ‘ประชาสังคม’ อันเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นส่วนขยายของรัฐเพื่อทำการครอบงำความคิดของ ‘กลุ่มพลังทางสังคม’ ไม่ให้มีพลังแย่งชิงหรือทำลายอิทธิพลทางความคิดหลักของสังคมที่เป็นของรัฐ  เพื่อทำให้กลุ่มพลังทางสังคมอ่อนแอ  หรือถูกขจัด  หรือเกิดการสะดุด  ติดขัด  ผิดพลาดเป็นช่วง ๆ 

เหตุการณ์ระยะใกล้ในช่วงเวลาสิบกว่าปีของรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา  มีบทเรียนสำคัญเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างที่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับเผด็จการรัฐประหาร  ทำให้อำนาจอันแท้จริงของประชาชนเสียสมดุลอย่างรุนแรง  จนบัดนี้ก็ยังเป็นบาดแผลเรื้อรังในสังคมและการเมืองไทย  ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ได้มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่โครงสร้างส่วนบนและล่างของกลุ่มพลังทางสังคมเรียนรู้  ซึมซับรับบทเรียนจนเปลี่ยนแปลงตนเองไปมาก  ไม่ยอมให้ประชาสังคม  เอ็นจีโอ  นักวิชาการฉุดรั้ง  จูงจมูกหรือชี้นำในหนทางผิด ๆ อีกต่อไป  และสร้างความสัมพันธ์  เชื่อมผสานความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองร่วมกันได้อย่างมีพลังในหลายสถานการณ์ 

โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่โครงสร้างส่วนล่างของกลุ่มพลังทางสังคมได้เรียนรู้และเข้าใจการเมืองอย่างก้าวกระโดด  ด้วยความหวัง  แม้จะอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของประชาธิปไตยจากน้ำมือของเผด็จการรัฐประหารและพวกประชาสังคม  เอ็นจีโอ  นักวิชาการที่เป็นส่วนขยายของรัฐที่พยายามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดก็ตามที 

และในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันก็มีเหตุการณ์ย้อนกลับ  พรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการเสนอพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี  และไม่สามารถเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลได้อีกต่อไป  จึงมอบให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลแทน  และหวังว่าก้าวไกลจะได้อยู่ในรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยด้วย  แต่เพื่อไทยกลับตระบัดสัตย์โดยเลือกจับมือกับพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลายจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา  รวมทั้งพรรค 2 ลุง  คือ  พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ  ที่เพื่อไทยประกาศไว้ตอนหาเสียงว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคทั้งสองด้วย  และผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น  ไม่มีใครมองไม่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของ ส.ว. แต่งตั้ง เพียงฝ่ายเดียว  แต่เกิดจากเพื่อไทยด้วย

แต่การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีและกดดันเรียกร้องต่อเพื่อไทยไปพร้อม ๆ กับโจมตี ส.ว. แต่งตั้งของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างดูเหมือนดังไม่พอ  และไม่พยายามมากพอ  เหมือนมีสิ่งติดขัดอะไรบางอย่างจนกลายเป็นมีท่าทีประนีประนอม

ในมุมมองของผู้เขียน  ท่าทีประนีประนอมดังกล่าวมีสาเหตุอย่างน้อยสามข้อ  ดังนี้ 

(1) แม้เพื่อไทยจะรวมกับพรรค 2 ลุง  และพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่าง ๆ  ผลักก้าวไกลที่เคยเป็นพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยไปเป็นฝ่ายค้าน  ยอมตระบัดสัตย์จากที่หาเสียงไว้  ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในครรลอง  เพราะอย่างน้อยก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  เป็นเรื่องที่เสียหายแต่พอยอมรับได้  แม้จะกล้ำกลืนฝืนทนก็ตาม  ดีกว่าดื้อรั้นทนจับมือกับก้าวไกลต่อไปแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้  เกิดสุญญากาศขึ้นในช่วงที่ปล่อยให้เวลายืดเยื้อไปประมาณสิบเดือนเพื่อให้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. แต่งตั้งหมดไปก่อน  ซึ่งอาจจะเกิดภาวะความไม่พอใจของชนชั้นนำจนนำไปสู่อำนาจนอกระบบ  เช่น  รัฐบาลแห่งชาติ  หรือรัฐประหาร  เป็นต้น  ดังนั้น  ต่อให้รู้สึกว่าถูกทรยศหักหลังก็คว้ามันไว้ก่อน  เพื่อทำให้ประชาธิปไตยที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดินหน้าไป

(2) ที่ผ่านมามีความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องประชาชนที่นิยมเพื่อไทยและก้าวไกลมาโดยตลอด  โดยเฉพาะการชุมนุมบนท้องถนนในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาที่มีข้อเสนอสูงสุดต่อสังคมในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ซึ่งการรวมตัวกันของพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยอันหลากหลายช่วยทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังมาก (ถ้าเหลือแต่มวลชนอิสระและที่นิยมพรรคก้าวไกลก็จะทำให้มีพลังน้อยลง)  แต่เหตุการณ์ที่พิธาไม่ถูกรับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี  จนก้าวไกลไม่สามารถเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อไป  และถูกเพื่อไทยผลักไปเป็นฝ่ายค้าน  ได้ทำให้ความสัมพันธ์อันดีของมวลชนทั้งสองฝ่ายแตกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  จึงต้องพยายามหยุดยั้งความแตกแยกนี้ด้วยการไม่วิพากษ์วิจารณ์และชุมนุมเคลื่อนไหวที่โจมตีหรือกระทบถึงเพื่อไทย  ควรมุ่งโจมตีแค่ ส.ว. แต่งตั้งเท่านั้น  แต่ในข้อเท็จจริงต่อให้วิพากษ์วิจารณ์และชุมนุมเคลื่อนไหวมุ่งโจมตีเฉพาะ ส.ว. ฝ่ายเดียว  ไม่พาดพิงถึงเพื่อไทย  ก็กระทบกระทั่งถึงเพื่อไทยที่สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี  สุดท้ายการชุมนุมเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็ยุติลงไปดื้อ ๆ  พร้อมกับข้อสรุปว่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นประชาชนไม่พร้อมเคลื่อนไหว  หรืออาจจะพร้อม  แต่เป็นความพร้อมที่มีมวลชนเข้าร่วมชุมนุมน้อย  ไม่ส่งผลสะเทือนใด ๆ

(3) ความเคารพและศรัทธาต่อการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพี่น้องเสื้อแดงที่ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสุดกำลังตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา  เกิดการบาดเจ็บ  ล้มตาย  อุ้มหาย  ลี้ภัย  บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจเหลือคณานับ  เพื่อสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยให้ดีขึ้นนั้น  เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประวัติศาสตร์การสร้างประชาธิปไตยให้สูงขึ้นในสังคมไทย  รวมถึงการชุมนุมของพี่น้องประชาชนและคนรุ่นใหม่ตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมาก็มีการสนับสนุน ช่วยเหลือ เข้าร่วมของพี่น้องเสื้อแดงจำนวนมาก

ซึ่งผลของการประนีประนอมเช่นนี้นำมาซึ่งความเสียหายพอสมควร  อาจจะเล็กกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนรัฐประหารสองครั้งล่าสุดของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่าง  แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ  ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไปอย่างดูดาย  เพื่อทำให้ความผิดพลาดและเสียหายของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างลดน้อยลงเรื่อย ๆ  และส่งผลดีในการทำให้หลุมบ่อหรือช่องว่างระหว่างกันถูกถมให้เต็มยิ่งขึ้น  กล่าวคือ  ก็ในเมื่อการเมืองแทรกซึมอยู่ทุกอณูของชีวิตจิตใจเรา  แทรกซึมอยู่ในทุกมิติ  บริบทและแง่มุมของการดำเนินชีวิต  อำนาจที่อยู่ในการเมืองก็ทำให้การเมืองห่างไกลไปจากเจ้าของอำนาจที่แท้จริง  การเมืองจึงไม่ได้มีแค่ ‘การเมืองเรื่องประชาธิปไตย’  หรือการเมืองเรื่องระบบการปกครองเท่านั้น  อย่างที่ขบวนประชาชนบนท้องถนนในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาเรียกร้องประชาธิปไตย  เขียนรัฐธรรมนูญ  ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ฯลฯ  ที่จะสามารถพอใจเพียงแค่ว่าถึงแม้เพื่อไทยจะตระบัดสัตย์  แต่อย่างน้อยก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่ยังมีการเมืองในมิติอื่น ๆ อีกที่เป็นส่วนเติมเต็มให้การเมืองเรื่องประชาธิปไตยเกิดความสมบูรณ์ขึ้น  โดยเฉพาะ ‘การเมืองเรื่องการพัฒนา’ ที่ส่วนใหญ่จะกระทบต่อกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนล่างที่ทำการผลิตหรือทำการงานเพื่อเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวัน  ที่ต้องเจอหรือปะทะหรือต่อกรกับโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เข้ามากระทบกับการดำเนินชีวิต  จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และพยายามแสวงหาหรือนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่าแทน

การได้คะแนนอันดับหนึ่งของก้าวไกลจึงมีความสำคัญมากต่อกระบวนทัศน์ใหม่ใน ‘การพัฒนา’  ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ ยังอยู่ในกระบวนทัศน์เก่าของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด  อ่อนข้อต่อระบบศักดินาและเจ้าขุนมูลนายที่ขูดรีดความมั่งคั่งไปจากประชาชน  แต่ก้าวไกลต้องการขจัดทุนผูกขาดและทำให้บ้านเมืองเป็นรัฐและสังคมสวัสดิการอย่างจริงจังมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ได้ ส.ส.  รวมทั้งการลดอำนาจรัฐส่วนต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาในการถ่วงรั้งความเจริญของบ้านเมือง  เช่น  ลดอำนาจกองทัพ  ยกเลิกเกณฑ์ทหาร  เป็นต้น  ดังนั้น  การวิพากษ์วิจารณ์และชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อกดดันเพื่อไทยไปจนถึงขอบเขตหรือเพดานสูงสุดของความรับผิดชอบต่อการหักหลังหรือตระบัดสัตย์และผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร  จะต้องรับผิดชอบอย่างไร  จึงต้องสร้างแรงกระเพื่อมไปให้สุดหนทาง  โดยต้องพยายามอย่างกล้าได้กล้าเสียมากกว่านี้

ในข้อเท็จจริง  กลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างก็ไม่ได้มีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยไปเสียทั้งหมด  ยังมีส่วนที่ไม่มีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยด้วย  ซึ่งก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการวิพากษ์วิจารณ์และสร้างการชุมนุมเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม  แต่กลุ่มพลังทางสังคมที่มีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยมีจำนวนมากกว่า  จึงกลบเสียงการวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทางสังคมที่มีท่าทีไม่ประนีประนอมกับเพื่อไทยลง  ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีมุมมองที่แตกต่างกัน  นั่นคือ  กลุ่มพลังทางสังคมที่มีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค 2 ลุงและพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมอื่น ๆ ของเพื่อไทยเมื่อดูช่องทางของกฎหมายแล้วก็ยากที่จะคัดง้างอะไรได้  จึงมีความชอบธรรม  แต่กลุ่มพลังทางสังคมที่ไม่ประนีประนอมกับเพื่อไทยมองว่าความชอบธรรมของก้าวไกลที่ถูกหักหลังและตระบัดสัตย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าและไม่ควรยอมรับ  ดังนั้น  แรงจูงใจนี้ต้องปรากฏตัวในการวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมเคลื่อนไหวให้มากกว่านี้  ไม่ใช่ยอมจำนนโดยประนีประนอม

 

เมื่อมองโดยภาพรวม  กลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างที่มีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยอาจจะมองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการมีท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยนั้น  อย่างน้อยก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลด้วย  ถือเป็นการก้าวไปทีละก้าวที่จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตยในขั้นต่อ ๆ ไปให้มากยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัด ๆ ไป  ถึงแม้จะเสียหาย  แต่ก็เสียหายน้อยมาก  ซึ่งเป็นการประเมินหรือวิเคราะห์จากมุมของ ‘การเมืองเรื่องประชาธิปไตย’ เท่านั้น  ถ้านำมุมของ ‘การเมืองเรื่องการพัฒนา’ มาประเมินหรือวิเคราะห์ด้วยจะเห็นถึงความเสียหายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนล่างที่ทำการผลิตหรือทำการงานเพื่อเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวัน  ที่ต้องเจอหรือปะทะหรือต่อกรกับโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เข้ามากระทบกับการดำเนินชีวิต  จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และพยายามแสวงหาหรือนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่าแทน  จะเห็นได้ว่าท่าทีประนีประนอมกับเพื่อไทยของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนบนและล่างเป็นการประนีประนอมที่ทิ้งกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนล่างไว้ข้างหลังมากเกินไป  หรือเป็นการประนีประนอมที่ไม่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกลุ่มพลังทางสังคมที่โครงสร้างส่วนล่างมากนัก  หรือเป็นการประนีประนอมที่ให้ความสำคัญกับ ‘การเมืองเรื่องการพัฒนา’ น้อยเกินไป  หรือเป็นการประนีประนอมที่ทำให้ ‘การเมืองเรื่องประชาธิปไตย’ เองเสียโอกาสที่จะพัฒนาให้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจมากยิ่งขึ้น.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: