ปัจจุบันการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บุคคลที่สนใจอยากเรียนต่อ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งครูสอนพิเศษ เห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ผู้ปกครองหลายคนอยากให้ลูกได้เรียนสูง ๆ โตไปเป็นเจ้าคนนายคน จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่กว่าเราจะได้เรียนสูง ๆ ก็ต้องผ่านการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยระบบการคัดเลือกบุคคล เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันที่เรียกว่า TCAS โดยมีจุดประสงค์ในการลดการกีดกันที่นั่ง ลดค่าใช้จ่ายใน การสมัครและจัดระเบียบการรับสมัครของมหาวิทยาลัย แต่จุดประสงค์นี้เป็นจริงหรือไม่ ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
เมื่อพูดถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกับผู้ปกครองหรือบุคคลทั่วไปหลายคนคงพูดถึงการสอบเอ็นหรือนั่นคือการสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ที่ใช้เมื่อปี พ.ศ. 2504-2542 โดยแรกเริ่มเอ็นทรานซ์เป็นการจัดสอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดสอบคัดเลือกกันเอง จนในปีพ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ร่วมกันจัดทำระบบกลางขึ้น โดยในปีต่อมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในระบบกลางนี้เพิ่มเติม จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2516 เกิดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และมีการจัดระบบกลางคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ สามารถเลือกอันดับได้ทั้งหมด 6 อันดับ และสอบได้ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ต้องใช้เกรด ดังนั้นจึงสามารถสอบเทียบได้ ทำให้เกิดสถาบันกวดวิชาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยข้อสอบเอ็นทรานซ์จำแนกเป็น 2 สาย คือ
1. สายวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยข้อสอบ 5 วิชาได้แก่ อังกฤษ, คณิตศาสตร์, เคมี, ชีววิทยาและฟิสิกส์
2. สายศิลป์ ประกอบด้วยข้อสอบ 4 วิชาได้แก่ ภาษาไทย, อังกฤษ, คณิตศาสตร์และสังคมศึกษา
รูปแบบข้อสอบดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่องมายาวนานถึง 21 ปี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบข้อสอบบางอย่างขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ทำให้มีการเพิ่มวิชาภาษาไทย, วิชาสังคมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ และเพิ่มวิชาชีววิทยาในสายศิลป์
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นจุดด้อยคือการใช้คะแนน Entrance ล้วนๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดปัญหาเด็กไม่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนจากระบบที่ให้เด็กสามารถสอบเทียบได้ นอกจากนี้ การสอบแค่ครั้งเดียว ยังทำให้นักเรียนที่ต้องการแก้ตัว ต้องใช้เวลารอสอบใหม่อีก 1 ปี และสถาบันกวดวิชาในไทยจึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากปัญหา Entrance ครั้งก่อน ทำให้เกิดการปฏิรูปการสอบครั้งใหญ่ คือ Entrance (2543-2548) แบบใหม่โดยจัดสอบสองครั้งในเดือนตุลาคมและมีนาคม โดยผู้สอบจะรู้คะแนนก่อนทำให้สามารถเอาคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการสมัคร สามารถเลือกอันดับได้สี่อันดับ รวมถึงเก็บคะแนนสะสมไว้ได้อีกสองปีแต่การสอบในเดือนตุลาคม ทำให้เด็กยังไม่จบ ม.6 เท่ากับว่า ทำให้ครูต้องเร่งสอนให้ทันจบ ม.ปลาย ทั้งหมดภายในสองปีครึ่ง ในตอนแรก มีแผนจะใช้คะแนนสอบ 90 เปอร์เซ็นต์ รวมกับ GPA (เกรดเฉลี่ยแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ตลอดหลักสูตรมัธยมปลายหรือเทียบเท่า) และ PR (เปอร์เซ็นต์ไทล์ในช่วงมัธยมปลาย) รวมเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดปัญหาเรื่องนักเรียนเรียน ม.ปลาย ไม่ครบ แต่การวางแผนใช้ระบบ GPA และ PR ไม่ได้บังคับใช้ในปีพ.ศ. 2542 เนื่องจากเด็กที่จบ ม.6 ในปีพ.ศ. 2542 ต่อต้าน เพราะไม่ได้เตรียมสะสมเกรดมาตั้งแต่เริ่มมัธยมปลาย GPA และ PR ถูกใช้จริงในปีพ.ศ. 2543 โดยคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์และคะแนนสอบอีก 90 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นไม่กี่ปี มีความพยายามเพิ่มสัดส่วนระบบเกรดเป็นทั้งหมด 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความแตกต่างของแต่ละโรงเรียน แผนนี้ก็เลยถูกต้านและพับเก็บไป เหตุการณ์เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นจุดเด่นและจุดด้อยของการคัดเลือกระบบใหม่ดังนี้
- จุดเด่นของการคัดเลือกระบบใหม่ คือ ต้องนำผลการเรียนของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาร่วมด้วย มีการสอบปีละถึง 2 ครั้ง ทำให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาตนเอง คะแนนสอบเก็บไว้ใช้ 2 ปี โดยสามารถเลือกคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการสมัครคัดเลือกและทราบผลคะแนนสอบล่วงหน้าก่อนการเลือกคณะ ทำให้มีโอกาสเลือกได้ตรงกับความสามารถของตน
- จุดด้อยของการคัดเลือกระบบใหม่ คือ ทำให้นักเรียนมีภาระการสอบและเกิดความเครียดมากขึ้นจากเดิม เนื่องจากมีการสอบสองครั้งและโรงเรียนพยายามเร่งสอบให้จบก่อนการสอบเดือนตุลาคม เพื่อที่จะให้นักเรียนมีความพร้อมในด้านเนื้อหามากที่สุดเป็นเหตุให้เกิดผลเสียต่อระบบการเรียนการสอนตามปกติ
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2549 ต้องการแก้ปัญหานักเรียนไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนและลดความสำคัญของการสอบแข่งขัน จึงเกิดระบบ Admissions (2549-2552) ขึ้นโดยใช้คะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม GPAX (เกรดเฉลี่ยของทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) และเกรดเฉลี่ยกลุ่มสาระ GPA รวมเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ เกิดการสอบ A-NET (Advanced National Educational Test) และ O-NET (Ordinary National Educational Test) แต่มีปัญหาตามมาคือ ระบบ Admission นี้ไม่ยุติธรรม เพราะแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานการเรียน และการให้เกรดที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองเพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้น ได้มีการแก้ไขปัญหาสัดส่วนคะแนนจนเป็น Admissions (2553–2555) ขึ้นโดยลดสัดส่วนของ เกรดลงเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ และคิดคะแนน Onet เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ เปลี่ยนจากการสอบ A-NET มาเป็น GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional Aptitude Test) GAT/PAT ซึ่งคะแนนสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 2 ปี จะสอบสี่ครั้งต่อปี ต่อมาลดลง 3 และ 2 ครั้งตามลำดับ แม้ว่าจะมีการปรับรูปแบบการสอบอีกครั้ง แต่ทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ยังคงมองว่าไม่ตอบโจทย์จึงจัดสอบ ความถนัดทางแพทย์ และ 7 วิชาสามัญ เอง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดรับตรงเองมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากปัญหาดังกล่าวจึงได้เกิด Admissions (2556–2560) จนทำให้มีข้อสอบกลางสำหรับรับตรงขึ้นมาและเพิ่มจาก 7 วิชาสามัญ เป็น 9 วิชาสามัญในปีพ.ศ. 2558 และเกิดระบบเคลียริ่ง เฮาส์ เพื่อป้องกันการกันที่นั่งโดยคนที่ได้รับตรงจะถูกตัดสิทธิ์ในการคัดเลือกในระบบแอดมิชชันโดยเกณฑ์คะแนนสอบที่ต้องใช้ มีการใช้ GPAX, O-NET (8 กลุ่มสาระ), GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional Aptitude Test)
จนกระทั่งเปลี่ยนระบบใหม่เป็น TCAS (2561-2565) ซึ่งย่อมาจาก Thai University Central Admission System โดยจุดประสงค์คือสามารถเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการเข้ามหาวิทยาลัย ลดปัญหาการกันสิทธิ์คนอื่น อีกทั้งแก้ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจนและยังแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบเพราะระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาการสอบหลังจากที่เด็กชั้น ม.6 เรียนจบการศึกษาแล้วและรวมวิธีการรับสมัครทั้ง 5 รูปแบบเข้าด้วยกัน
โดยการยื่นทั้ง 5 รอบได้แก่
1) รอบรับตรงแบบยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยสถาบันหรือมหาวิทยาลัยคัดเลือกโดยตรงจากผลงาน
2) รอบรับตรงแบบโควตา เป็นรอบที่เน้นในภาคหรือพื้นที่เฉพาะกลุ่มโดยอาจมีการคัดเลือกผ่านข้อสอบข้อเขียน
3) รอบรับตรงแบบร่วมกัน เป็นรอบที่มีการคัดเลือกตามรูปแบบของแต่ละสถาบัน แต่จะกำหนดให้มาสมัครที่ระบบเดียวกัน (ในปีการศึกษา 2564 ถูกรวมไปกับรอบ Admission แล้ว)
4) รอบแอดมิชชั่น (Admission) เป็นรอบที่ให้สมัครที่ระบบเดียวกันเหมือนกัน แต่จะใช้เกณฑ์คะแนน เกรด, O-NET และ GAT/PAT มาเป็นตัวคัดเลือก
5) รอบรับตรงอิสระ เป็นรอบที่เปิดให้มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครเอง ใช้เกณฑ์ของตนเอง โดยที่มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดรูปแบบการคัดเลือกได้อย่างอิสระ
จนในปัจจุบันเป็นระบบ TCAS (2566-ปัจจุบัน) มีการปรับเป็นการสอบ TGAT TPAT ให้มุ่งเน้นเรื่องความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาชีพ โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวข้อสอบและชื่อวิชาสอบต่างๆ มีการเพิ่มวิชาภาษาสเปนในการสอบ เพิ่มการสอบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีทั้งหมด 4 รอบคล้าย TCAS แบบเดิม คือ รอบที่ 1 (แฟ้มสะสมผลงาน) รอบที่ 2 (โควตา), รอบที่ 3 (รับตรงร่วมกัน) และ รอบที่ 4 (รับตรงอิสระ)
ถึงแม้ว่า TCAS ในปัจจุบันอาจดูเหมือนไม่มีข้อเสีย แต่นักเรียน ผู้ปกครอง และ บุคคลทั่วไปยังคงมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนสถาบันกวดวิชา, ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบรอบต่างๆ, การมีโอกาสสร้างแฟ้มสะสมผลงานที่ดีกว่าคนทั่วไปในการสมัครรอบที่1(แฟ้มสะสมผลงาน) โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งจะไม่มีการสอบข้อเขียนในการสมัคร TCAS รอบแรกโดยอาจมีเกณฑ์ให้ยื่นคะแนนสอบจากหน่วยงานภายนอก เช่น IELTS, A-LEVEL, TOEFL ที่ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในราคาแพง, การสมัครเข้าคณะแพทยศาสตร์ในรอบแรก หรือ รอบแฟ้มสะสมงาน มีเกณฑ์ต้องยื่นคะแนนสอบ BMAT ซึ่งมีค่าสอบสูงถึง 7,100 บาท ร่วมกับการทดสอบภาษาอังกฤษอย่าง IELTS และ TOEFL ที่มีค่าใช้จ่ายเกือบหนึ่งหมื่นบาท นักเรียนที่ไม่มีกำลังจ่ายจึงอาจจะมีสิทธิ์ในการสอบแค่รอบโควตาและรอบรับตรงร่วม รวมไปถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมากเนื่องจากมีค่าเทอมที่สูง
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยบางแห่งยังคงเล็งเห็นถึงปัญหาทำให้เกิดแนวทางการแก้ไขต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย(กลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ), โครงการจุฬาฯ-ชนบท, โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแบบเปิดที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้ระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงล่าสุด วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีประกาศข่าวดีว่ากระทรวง อว. และ ทปอ. จะนํางบประมาณมาอุดหนุนการสมัครในรอบแอดมิชชั่น โดยจะเริ่มตั้งแต่ “TCAS 67” ในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 นี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยให้นักเรียน แต่ละคน สามารถสมัครเลือกคณะ 1 - 10 อันดับได้ฟรี เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระได้สูงสุดคนละ 900 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงว่าในปัจจุบันภาครัฐเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของคนไทย
เหตุการณ์ต่าง ๆ ของระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นได้ว่าระบบต่าง ๆ ในการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหามากมายตั้งแต่ระบบ Entrance, ระบบ Admissions จนถึง ระบบ TCAS ที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยความเหลื่อมล้ำในทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมของนักเรียน, ความไม่เท่าเทียมกันจากความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการจัดการศึกษา รวมถึงการได้สร้างข้อจํากัดบางประการโดยผ่านการคัดกรองคุณสมบัติด้วยเกณฑ์อย่างความพร้อมและความพึงประสงค์ที่อุดมศึกษาต้องการ ซึ่งได้ลดทอนโอกาสทางการศึกษาต่อของนักเรียน ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้จึงสะท้อนแนวคิดถึงการปรับปรุงระบบการศึกษาที่จะปรับปรุงอย่างไรแต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอดจากปัญหาต่าง ๆ ที่ยังคงต้องได้รับการแก้ไขต่อไป
บรรณานุกรม
ธนกร วรพิทักษานนท์. และศยามล เจริญรัตน์ (2565). ผลกระทบของความเหลื่อมล้ำในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของนักเรียนไทย. วารสารวิจยวิชาการ, 5. (6), 6-8. สืบค้นจาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jra/article/view/256495/174490
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (ไม่ปรากฏปีพิมพ์). TCAS คืออะไร ? เข้าใจได้ใน3นาที. สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.enttrong.com/tcas
ณัฐธยาน์ พงสุวรรณ. และชุติญา แสงวิทยเวช. (2560). เอนทรานซ์ – แอดมิชชัน –TCAS" ต้องเปลี่ยนกี่รอบ ถึงถูกใจเธอ. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.komchadluek.net/scoop/328170
โตมร ศุขปรีชา. (2561). TCAS จะลดความเหลื่อมล้ำ หรือกลายเป็น T-Caste ที่เพิ่มชนชั้นวรรณะในการศึกษาไทย. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://thematter.co/thinkers/tcas-or-t-caste/52202
สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย. (2566). ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.mytcas.com
กรกมล ศรีวัฒน์. (2561). สมัครเรียนแต่ละที มีแต่ค่าใช้จ่าย เข้าใจน้ำตาความจนที่ TCAS ไม่ช่วยแก้ปัญหา. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://themomentum.co/tcas-inequality-in-education/
นางสาวพรชิตา รุกขชาติ. (2566). เริ่มทันที “อนุทิน” ประกาศ TCAS 67 สมัครเลือกคณะฟรี หนุน “ศุภมาส” ดัน อว. สู่กระทรวงเศรษฐกิจ. สืบค้น 13 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.mhesi.go.th/index.php/news-and-announce-all/news-all/106-minister-supamas/9691-tcas-67.html
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ