แอมเนสตี้ชี้การไล่รื้อ-ขับไล่ประชาชนในเขตนครวัดละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 30896 ครั้ง

แอมเนสตี้ชี้การไล่รื้อ-ขับไล่ประชาชนในเขตนครวัดละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ชี้การไล่รื้อ-ขับไล่ประชาชนในเขตนครวัดที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันครอบครัวในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

14 พ.ย. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การไล่รื้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันครอบครัวในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยได้เผยแพร่งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งเผยให้เห็นวิธีที่ทางการกัมพูชาบังคับให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานโดยอ้างการอนุรักษ์ และเรียกร้องให้ยูเนสโกประณามการบังคับขับไล่รื้อที่ดำเนินการในนามของตนต่อสาธารณะ 

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทางการกัมพูชาเริ่มการขับไล่ผู้คนที่ตามรายงานมีจำนวน 10,000 ครอบครัวออกจากพื้นที่ศาสนาสถานที่กว้างใหญ่ในเมืองเสียมราฐ โดยอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องสถานที่อายุประมาณพันปีจากความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของยูเนสโกของนครวัด 

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้มาจากจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คน การลงพื้นที่ด้วยตนเอง 9 ครั้งสำหรับพื้นที่บริเวณนครวัด และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ 2 แห่ง แสดงให้เห็นว่าทางการกัมพูชาล้มเหลวในการแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเพียงพอหรือมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารืออย่างจริงใจก่อนที่จะมีการไล่รื้อ นอกจากนี้ยังข่มขู่หลายคนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการไล่รื้อครั้งนี้ และให้ย้ายไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่มีทั้งที่พักอาศัย น้ำที่เพียงพอ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย และการเข้าถึงการดำรงชีพอื่นๆ  

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการกัมพูชาได้ไล่รื้อขับไล่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนครวัดมาหลายชั่วอายุคนออกไปอย่างโหดร้าย บังคับให้พวกเขาต้องมีชีวิตอย่างแร้นแค้นในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ ทางการต้องยุติการบังคับไล่รื้อหรือขับไล่ผู้คนและการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยทันที 

“หากยูเนสโกมุ่งมั่นที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการทั้งหมด ก็ควรประณามการบังคับไล่รื้อที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มีการสอบสวนสาธารณะที่เป็นอิสระ” 

แม้ว่าจะทราบดีถึงการไล่รื้อและสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ยูเนสโกก็ยังไม่ได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณนครวัดต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าไม่ได้ดำเนินการสอบสวนสาธารณะเกี่ยวกับข้อค้นพบของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

รัฐกัมพูชาอ้างยูเนสโกเป็นเหตุผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับโครงการ "ย้ายถิ่นฐาน" โดยมีอย่างน้อย 15 กรณีที่ครอบครัวบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ทางการระบุว่ายูเนสโกคือสาเหตุที่ผู้คนต้องย้ายออกจากนครวัด 

ผู้นำชุมชนพยายามยื่นคำร้องต่อสำนักงานยูเนสโกในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับการไล่รื้อ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่ายูเนสโกไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน 

สืบเนื่องจากสิ่งที่ค้นพบในรายงาน ยูเนสโกแจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าไม่เคยเรียกร้องให้มี “การโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร” เมื่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหาว่ามีการไล่รื้อในนามของยูเนสโก ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกตอบกลับมาว่าการกระทำของรัฐภาคีไม่ใช่ความรับผิดชอบของยูเนสโก “แม้ว่ารัฐสมาชิกจะอ้างความชอบธรรมในการดำเนินการในนามขององค์กรก็ตาม”  

แต่ความจริงที่ว่าการบังคับไล่รื้อในปัจจุบันกำลังดำเนินการโดยอ้างการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ดังนั้นควรต้องมีการตอบสนองที่ชัดเจนและเข้มแข็ง 

“หากไม่มีการตอบโต้อย่างจริงจังจากยูเนสโก ความพยายามในการอนุรักษ์อาจกลายเป็นอาวุธของรัฐต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ของตนเองเพิ่มมากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านสิทธิมนุษยชนได้” มอนต์เซ กล่าว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: