ไทยขึ้นเป็นประเทศผลิต 'เม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืช' อันดับ 2 ของโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 5197 ครั้ง

ไทยขึ้นเป็นประเทศผลิต 'เม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืช' อันดับ 2 ของโลก

สถาบันพลาสติก เผยแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 ปี 2566-70 เล็งลดใช้-ลดผลิตถุงพลาสติกชัดเจน แนะไทยต้องเดินหน้าสู่พลาสติกชีวภาพ ด้านสมาคมพลาสติกชีวภาพไทยเผยไทยขึ้นเป็นประเทศผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืชใหญ่อันดับ 2 ของโลก | ที่มาภาพประกอบ: Gianeco

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2566 ว่านายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เข้าร่วมประชุมกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (2566-2570) มาตรการที่ 2 การลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค

โดยในแผนดังกล่าวได้ลงรายละเอียดถึงเรื่องการกำหนดว่าผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ควรลดก่อนไปถึงหลุมฝังกลบและควรต้องลดการผลิตพลาสติกประเภทใดลง ลดผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single use) เช่น ลดถุงหิ้ว หลอด เป็นต้น ให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างนำไปสู่การเป็น BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก ปัจจุบันมีการผลิต 360 ล้านตัน โดยในส่วนของประเทศไทยผลิตได้ 9.5 ล้านตัน นำเข้า 2 ล้านตัน ส่งออก 5.5 ล้านตัน ที่เหลือใช้ในประเทศ

โดยส่วนใหญ่ผลิตเป็นสินค้า commodity สัดส่วน 83% เป็นสัดส่วนการใช้ 75% และผลิตเป็นสินค้า specialty สัดส่วน 17% เป็นสัดส่วนการใช้ 25% รวมแล้วมูลค่าการใช้และส่งออก 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.6% ของ GDP และคาดว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจะโต 3%

“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน อุตสาหกรรมพลาสติกโตประมาณ 6% แต่ในปัจจุบันเราโต 3% สาเหตุที่ลดลงเพราะฐานการผลิตมันเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจะมีพลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้อง และในอนาคตยิ่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทุกอย่างเป็นสมาร์ทมากขึ้น การใช้พลาสติกยิ่งมีแนวโน้มเติบโต และเป็นตัวดึงดูดการลงทุนเข้ามาอย่างมาก”

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ไทยมีนโยบาย BCG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) อย่างจริงจัง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน

และปัจจุบันไทยขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืชใหญ่อันดับ 2 ของโลก เพราะไทยเองมีวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากกากอ้อยที่มาจากโรงงานน้ำตาลในประเทศ

ซึ่งในไทยขณะนี้จะมีพลาสติกชีวภาพ (bio plastic) 2 ประเภท คือ ที่เป็น PLA หรือเม็ดพลาสติกที่ผลิตขึ้นรูปเป็นสินค้าพลาสติกที่ย่อยสลายได้เอง และอีกส่วนของพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพืชไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ซึ่งไทยจะไปสู่แนวทางนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยไปสู่ชีวภาพแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะขายในราคาที่สูงกว่าพลาสติกธรรมดา 3 เท่า

“เราขึ้นเป็นที่ 2 ของโลกได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยอยู่แล้วอย่าง บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเขามีพันธมิตรรายใหญ่ของของโลกคือ บริษัท เนเจอร์เวิร์ก จากสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อผลิต PLA ผลิตเม็ดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ กำลังการผลิต 75,000 ตัน/ปี

ในอนาคตการใช้พลาสติกชีวภาพจะทยอยเพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงเป็นการขอความร่วมมือและเป็นนโยบายของประเทศ ต่างจากประเทศที่พลาสติกชีวภาพโตมาก ๆ เพราะเขาบังคับใช้เป็นกฎหมาย อย่างที่จีนกับอินเดีย และในบางรัฐของอเมริกา”

และในวันที่ 10-13 พ.ค. 2566 จะจัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2023 : Plastic & Rubber Thailand 2023” ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพื่อโชว์ศักยภาพของไทย ในฐานการผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมยางที่สำคัญของโลก

ด้านนายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ระยะ 2 ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟฟ้า

และจัดเตรียมวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับทางบริษัท NatureWorks พันธมิตรจากผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ในสหรัฐ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า และจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2567

“ปีนี้จีจีซีมีแผนลงทุน 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และอีก 2,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ วางเป้าหมายว่าจะรักษาระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ 25,084 ล้านบาท”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: